28 ธันวาคม 2554

ขออัญเชิญสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั่วสากลโลก...


ในโลกบิดๆเบี้ยวๆใบนี้ คงจะไม่มีชนชาติไหนที่จะช่างจินตนาการและเป็นนักเล่านิทานเท่าแขกอินเดีย และก็ไม่มีชนชาติไหนอีกเช่นกันที่นิยมชมชอบนิทานของแขกอินเดียเท่าชนชาติไทย ฟังนิทานของเขาแล้วยังไม่พอ แถมยังอุตริไปนับถือตัวละครในนิทานตามเขา แล้วเอามาเป็นเครื่องขจัดปัดเป่าความทุกข์ความไม่สมหวังและอ้อนวอนร้องขอสิ่งที่ตัวเองอยากได้นาๆชนิด  ความเชื่อไม่ต้องการข้อพิสูจน์ แค่ได้ยินได้ฟังความเชื่อก็เกิดขึ้นได้แล้ว และเมื่อได้ผสมผสานเข้ากับความอยากได้อยากมีที่มีอยู่แล้วเป็นทุนในใจของคนทั่วไปทุกอย่างก็ไปกันได้ด้วยดี  และก็เป็นนักคิดนักแสวงหาชาวอินเดียโบราณท่านหนึ่งอีกเช่นกันที่ขบถต่อความเชื่อดั้งเดิม ชี้ให้เห็นว่าอัน"ความอยาก"และ"สิ่งที่เป็นที่ตั้งแห่งความอยาก"นั่นแหละคือต้นตอบ่อเกิดแห่งปัญหาทั้งปวง หากกำจัดสองสิ่งนี้เสียได้ ก็ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาอะไรทั้งสิ้นรวมไปถึงทพเจ้าในนิยาย คนส่วนใหญ่ถูกยัดเยียดเรื่องศาสนามาจากบรรพบุรุษ พวกที่ก่อปัญหาที่สุดในบ้านเราเห็นจะได้แก่พวกมั่วสะเปะสะปะ ตัวอย่างเช่นพวกที่เอาฮินดู(หรือพราหมณ์)มาปนกันกับพุทธแล้วกล่าวหาคนอื่นว่าไม่นับถือศาสนา เช่นไม่กราบไหว้สัตว์ประหลาดและวัตถุศักดิ์สิทธิ์นานาชนิดเหมือนตัวเอง

ตอนนี้มีวัดพุทธมากมายหลายวัดที่นิยมสร้างรูปพระพิฆเณศหรือGanesha เทพครึ่งคนครึ่งช้างแห่งศาสนาฮินดูไว้บูชา วัดทางภาคกลางและภาคตะวันออกแข่งกันสร้าง แข่งกันว่าของใครจะใหญ่กว่าใคร สถานที่ราชการหลายๆแห่งรวมทั้งสถานศึกษาก็แข่งกันสร้างไว้ในสนามหญ้าหน้าอาคาร ชาวพุทธคนใดที่ไม่ทำความเคารพกราบไหว้บูชาจะถูกกล่าวหาว่าไม่เป็นชาวพุทธและลบหลู่ศาสนาพุทธ เทพที่มีตัวเป็นคนแต่มีหัวเป็นช้างนับเป็นจินตนาการชนิดสุดยอดไร้เทียมทาน หากว่าต่อยอดจินตนาการออกไปอีกนิด คิดให้ลึกลงไปอีกหน่อย ถ้าหากว่าผู้เป็นพ่อไปสมสู่กับช้างนี่อาจจะพอเป็นไปได้ ถึงแม้ว่าจะทุลักทุเลเต็มทีถ้าหากว่าไม่โดนช้างตัวเมียเหยียบเอาเสียก่อนที่จะทำได้สำเร็จ แต่ถ้าพ่อเป็นช้างแล้วแม่เป็นคนนี่ยังนึกไม่ออกว่าจะทำอีท่าไหนถึงจะออกลูกมาได้ ขนาดของช้างกับคนมันต่างกันมากนัก

ท่านปัญญานันทะภิกขุเป็นหนึ่งในบรรดาผู้ซึ่งพยายามแก้ไขความนอกรีตวิตถารของชาวพุทธ ทั้งที่ทำไปด้วยความเข้าใจผิดและที่ทำไปเพื่อหวังลาภสักการะ ท่านเคยเล่าในการปาฐกถาธรรมที่วัดชลประทานปากเกร็ดนนทบุรี ว่าเมื่อครั้งที่ท่านได้รับการนิมนต์จากคนไทยในเมืองชิคาโก มลรัฐอิลลินอยส์ประเทศสหรัฐอเมริกาให้ไปจำพรรษาและแสดงธรรมทีวัดธัมมาราม วัดไทยในเมืองดังกล่าว สมภารของวัดซึ่งเป็นพระผู้มีสมณะศักดิ์ชั้นราชาคณะซึ่งใครๆควรจะวางใจในเรื่องความรู้เกี่ยวกับพระธรรมและวินัยสงฆ์  มหาเถรสมาคมเป็นผู้คัดเลือกและส่งไปเผยแพร่พุทธศานาในอเมริกา แทนที่จะประกอบกิจตามความมุ่งหมาย ท่านได้แต่ประกอบพิธีกรรมเป็นงานหลัก สวดนั่นเจิมนี่เพื่อที่จะรับปัจจัย เพียงไม่กี่ปีท่านก็มีรถเบนซ์ใหม่เอี่ยมนั่ง ไปไหนสะพายกล้องถ่ายรูปอย่างดีซูมยาวเป็นฟุต มีคนเห็นท่านเดินชมการแสดงรถถยนต์และงานแสดงสินค้าระดับอินเตอร์อื่นๆซึ่งจะมีอยู่บ่อยๆในเมืองชิคาโก คนไทยส่วนหนึ่งที่นั่นขนานนามให้ลับหลังว่าเสี่ยซูมยาว

ท่านเสี่ยได้สร้างห้องพระพรหมผู้เป็นเทพเจ้าแห่งศาสนาพราหมณ์ไว้หน้าอุโบสถให้คนมาวัดได้บูชา ท่านปัญญาเห็นว่าเป็นเรื่องไม่ถูกต้องสำหรับพระสงฆ์ที่ทรยสต่อคำสอนของพระพุทธเจ้าและหันไปนำศาสนาอื่นเข้ามาปะปน ท่านเลยเริ่มเทศน์ชี้ให้คนที่มาฟังธรรมเห็นว่าอะไรเป็นอะไร อันไหนเป็นพุทธอันไหนเป็นฮินดู กลายเป็นว่าพระผู้มาอาศัยจำพรรษาเกิดขัดกันขึ้นมากับสมภารเจ้าวัด หลังจากนั้นมาเวลาท่านจะเทศน์จึงมักจะไม่มีไฟฟ้าในห้องที่ท่านใช้เทศน์ ตามหาใครที่รับผิดชอบก็ไม่เจอ ท่านต้องเทศน์โดยไม่มีเครื่องขยายเสียงและไม่มีแสงสว่าง ซึ่งผิดกับเวลาท่านฤาษีลิงดำมา ทุกสิ่งทุกอย่างพร้อมสมบูรณ์หมดและคนจะแน่นกว่ารายการเทศน์ของท่าน ท่านปัญญาเล่าว่าท่านลิงดำท่านไม่เทศน์แต่เล่านิทานเกี่ยวกับผีสางเทวดา เอาพระเครื่องและวัตถุมงคลมาขายให้ญาติโยม กลับเมืองไทยย่ามตุงด้วยดอลลาร์ไปทุกคราว เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงภาวะของพระและคนไทยในต่างแดน ที่สืบทอดเอาความไม่ถูกต้องเอาไว้ไม่ว่าจะไปอยู่ที่ไหน

เมื่อไม่กี่ปีก่อนกระแสความนิยมจตุคามรามเทพมาแรง  จริงๆแล้วจตุคามรามเทพเป็นแค่เทพระดับปลายแถวที่ลูกหลานเจ้าของนิทานดั้งเดิมในอินเดียอาจจะไม่รู้จัก หลังจากมีการโปรโมทของคนหัวใสบ้านเราพักเดียว ว่ามีสารพัดสรรพคุณครอบจักรวาล เป็นสิริมงคล ทำมาค้าขึ้น เป็นบุญเป็นกุศลและเป็นวิถีทางอันถูกต้องของชาวพุทธที่ต้องซื้อหามาไว้ ความต้องการจตุคามในตลาดพุ่งพรวดๆแบบเอ็กโพเนนเชียลจนผลิตและเข้าพิธีปลุกเสกแทบไม่ทัน ดีมานด์มาแรงกว่าไอพ็อด ไอโฟน และไอแพดของแอปเปิ้ลเป็นไหนๆ หลวงหนุ่ยแห่งวัดคอหงส์คือสตีฟจ็อบส์ของจตุคาม ท่านพยอมแห่งวัดสวนแก้วก็ไม่ยอมปล่อยให้กระแสผ่านไปเฉยๆ พลอยทำจตุคำคุกกี้ขายกะเขาด้วย

ความเชื่อในของวิเศษ ผู้วิเศษ และอะไรๆที่วิเศษได้ฝังหัวเสียแล้วสำหรับคนไทยส่วนหนึ่ง เชื่อกันตั้งแต่พวกไร้เดียงสาไปจนถึงระดับผู้นำผู้บริหารของประเทศ ข่าวไทยรัฐเรื่องไข่พยานาค หมูสามหัว วัวสี่หาง และฯลฯจึงยังมีมาให้อ่านกันเป็นประจำ มีคนไปกราบไหว้บนบาน เห็นอะไรประหลาดๆก็เหมาเอาว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์และมีอิทธิฤทธิ์ดลบันดาล....

...พอปีใหม่ที ใครๆก็มีการเชิญสิ่งศักสิทธิ์ทั่วสากลโลกมาดลบันดาลให้กันและกันเสียทีหนึ่ง...ถึงแม้จะไม่เคยเห็นผล แต่ก็ยังคงอัญเชิญกันอยู่ต่อไป...

10 ธันวาคม 2554

หมอดูลูกแก้วและผู้ช่วย


เมื่อครั้งกระโน้นแม่ทอมคือหมู่บ้านที่เงียบเหงา ใครๆก็มีเวลาว่างมากมายแทบทั้งปี และต่างคนต่างก็ไม่รู้ว่าจะทำอะไร ตกกลางคืนทุกบ้านก็ดับตะเกียงนอนกันตั้งแต่ทุ่มครึ่ง บรรดาคนที่มีครอบครัวแล้วก็ดูเหมือนจะชื่นชอบเพราะจะได้ประกอบกิจอันน่าตื่นเต้นที่ไม่ต้องซื้อต้องหาและรอคอยกันมาทั้งวัน แต่ละบ้านจึงมีลูกหัวปีท้ายปีเลี้ยงกันไม่หวาดไม่ไหว ส่วนเด็กๆนั้นหากเป็นช่วงโรงเรียนเปิดก็ค่อยยังชั่วที่ต้องมีภาระเรื่องโรงเรียนให้ได้ช่วยลดความเบื่อหน่าย หากเป็นช่วงโรงเรียนปิดวันๆที่ผ่านไปมันเต็มไปด้วยความยาวนาน  ทั้งๆที่ผู้ใหญ่ทุกคนเคยเป็นเด็ก แต่ก็แทบจะไม่มีเลยที่จะเข้าใจเด็ก ว่าเด็กนั้นโดยวัยต้องการเล่นนั่นเล่นนี่สนุกสนานตามประสาเด็กที่กำลังเจริญเติบโต แต่จะไปหวังว่าชาวบ้านธรรมดาๆจะเข้าใจจิตวิทยาพัฒนาการนั้นคงจะเป็นการเหลือวิสัย เพราะแม้กระทั่งครูที่โรงเรียนส่วนใหญ่ก็ยังไม่เข้าใจ เด็กที่มีความกระฉับกระเฉงฉับไวอยู่ไม่นิ่งกลับถูกมองว่าเป็นเด็กมีปัญหา เด็กที่กล้าแสดงออกและโต้แย้งครูด้วยเหตุผลกลับถูกมองว่าเป็นเด็กเหลือขอแข็งข้อกระด้างกระเดื่อง ดังนั้นจึงไม่ใช่ของแปลกที่บรรดาเด็กดีของครูนั้นมักจะเป็นพวกซึมเศร้าเฉื่อยชา ซึ่งดูเหมือนว่าจะว่านอนสอนง่าย ค่านิยมดังกล่าวได้ถูกถ่ายทอดมายังพ่อแม่ผู้ปกครอง เด็กๆส่วนใหญ่ในหมู่บ้านจึงไม่ค่อยที่จะกล้าแสดงออกด้วยความคิดและสติปัญญาของตัวเอง เด็กๆส่วนใหญ่จึงกลายเป็นคนไม่กล้าแสดงออกเพื่อแลกกับการยอมรับว่าเป็นเด็กดีในสายตาของผู้ใหญ่ บังผ่านไปบ้านไหนก็เห็นแต่เพื่อนๆรุ่นราวคราวเดียวกันนั่งแหง่วอยู่กับบ้านทั้งวัน นั่งอยู่เฉยๆ จะเข้าไปเล่นด้วยพ่อแม่เขาก็ตวาดเอาดื้อๆ

ครอบครัวบ่าวเจือนั้นค่อนข้างจะอิสระเสรี น้าเณรแก้วและป้าเลี่ยนแกเลี้ยงลูกแบบอย่างไรก็ได้ น้าเณรแก้วนั้นเป็นเป็นลูกชายตายอดและยายทองสี ทั้งสองคนเป็นคนรอบรู้ฉลาดหลักแหลมซึ่งตกทอดมาถึงรุ่นถัดๆมา ด้วยความเป็นคนใจใหญ่ใจกว้างและใจนักเลงของหมู่บ้าน บ้านนี้ไม่มีใครสนใจว่าใครจะว่าจะคิดอย่างไรมาตั้งแต่ไหนแต่ไร ทำนองว่าเราจะอยู่ของเราอย่างนี้ใครจะทำไม แต่ก็เป็นมิตรกับทุกๆคน ด้วยเหตุนี้ใครไปใครมาจากต่างถิ่นก็จะมากินมานอนที่นี่ บังจึงมักจะไปขลุกอยู่ที่นี่กับบ่าวเจือ และเรียนรู้เรื่องราวที่หาไม่ได้ที่บ้านตัวเองและบ้านอื่นๆ นั่งฟังผู้ใหญ่เขาพูดกันสารพัดเรื่อง ตั้งแต่เรื่องการทำมาหากินไปจนถึงเรื่องเซ็กส์ คนส่วนใหญ่ไม่ได้สนใจว่าจะมีเด็กนั่งฟังอยู่ด้วยเพราะถือว่าอายุยังน้อยฟังไม่รู้เรื่อง เขาจึงพูดกันตามสบายแบบไม่ยั้ง แรกๆก็ฟังไม่รู้เรื่อง แต่หลังจากฟังหลายๆครั้งเข้าและไปซักเอากับบ่าวเจือในส่วนที่ไม่เข้าใจ หลังๆจึงรู้แจ้งทุกกระบวนความที่ได้ยิน นานๆเข้าก็เลยเที่ยวลองนั่นลองนี่ ตั้งแต่ยนหมาก กินหมาก นัตถ์ยา ไปจนถึงลองสูบยาใบจาก สูบเสร็จอ้วกแตกและนอนมึนอยู่หลายชั่วโมง เข็ดไม่กล้าลองอีกนานตั้งแต่นั้น ยังจำเสียงยายทองสีหัวหัวเราะได้จนกระทั่งทุกวันนี้

น้าเณรแก้วปลูกบ้านอยู่ติดๆกับบ้านยายทองสี ส่วนตายอดนั้นตายไปก่อนที่บังจะจำความได้ อีกฟากหนึ่งของคลองอู่ตะเภาตรงกันข้ามกับบ้านน้าเณรแก้วคือวัดเก่าหรือวัดอู่ตะเภา มองออกนอกหน้าต่างด้านทิศตะวันออกของบ้านน้าเณรแก้ว จะเห็นโบสถ์และพระประธานในโบสถ์อย่างชัดเจนเนื่องจากโบสถ์ไม่มีฝาผนัง น้าเณรแก้วและป้าเลี่ยนอยู่บ้านหลังนี้มากว่าสิบปี หลังจากคลอดไข่เค ลูกชายคนสุดท้องได้สักสี่ห้าปี ป้าเลี่ยนก็ล้มป่วยและตายหลังจากเจ็บกระเสาะกระแสะอยู่พักหนึ่ง ในขณะที่แกยังเจ็บ ตาหนี่หมอไสยศาสตร์ต่างถิ่นพเนจรผ่านมาและทำนายว่าสาเหตุแห่งการเจ็บป่วยของป้าเลี่ยนนั้นมีสาเหตุมาจากสร้างบ้านอยู่ในเงาโบสถ์ เท่าที่ได้ยิน น้าเณรแก้วไม่ได้ศรัทธาในคำทำนาย แกว่าโบสถ์ในพุทธศาสนาเป็นสัญลักษณ์แห่งความดีและไม่เบียดเบียน ไม่ใช่การการมีพิษภัยและการทำร้ายทำลาย

ความเจ็บไข้ไม่สบายนั้นเป็นสิ่งที่มาพร้อมๆกับคนเราและสิ่งมีชีวิตทุกชนิด มีอยู่ร้อยแปดพันประการ พี่เปี่ยมลูกสาวป้าพร้อมและลุงเชือนนั้นมีอาการทางโรคจิต ลุงเชือนพาไปโรงพยาบาล ซึ่งก็รู้ๆกันอยู่ว่าไม่ได้รับการสนใจเท่าที่ควรสำหรับคนบ้านนอก เนื่องจากไม่ค่อยจะมีสตางค์ แกลองหมอบ้านมาแล้วแทบทุกสาขาวิชาเฉพาะ(ใช่แล้ว หมอบ้านก็มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน) ไปถามหมอทอง(คนละทองกับกับทองที่สถานีอนามัย)ซึ่งเชี่ยวชาญทางพระเคราะห์และอุบาทว์ แกก็บอกว่าถูกอุบาทว์ ทำพิธีแก้แล้วหลายรอบก็ไม่หาย เสียไก่ไปแล้วหลายตัว ไปหาหมอบ้านผู้เชี่ยวชาญเรื่องครูหมอ หมอบอกว่าถูกบรรพบุรุษที่เป็นครูหมอโนราห์ลงโทษ ให้ทำการเล่นโนราห์โรงครูขอขมา เอาโนราห์มาเล่นขอขมาบรรพบุรุษอยู่สามวัน อาการของพี่เปี่ยมก็ไม่ดีขึ้น บรรพบุรุษจะมาดูหรือเปล่านั้นไม่มีใครบอกได้ แต่ชาวบ้านและเด็กๆได้ดูโนราห์ฟรีและได้พลอยกินข้าวกินแกงสำหรับเลี้ยงโนราห์กันหลายมื้อ ตาหนี่หมอพเนจรมาได้จังหวะ แกบอกลุงเชือนว่าแกสามารถที่จะรักษาพี่เปี่ยมได้ด้วยวิชาไสยศาสตร์ของแก แต่ต้องใช้เวลาอย่างน้อยสามเดือน แกต้องการแค่ข้าวสามมื้อและที่นอนเท่านั้นในขณะที่ทำการรักษา ลุงเชือนกำลังหมดหวัง ลองอีกครั้งจะเป็นไรไป ตาหนี่จึงกลายเป็นสมาชิกครอบครัวคนใหม่ของลุงเชือน

ตาหนี่พูดภาษาใต้ไม่ได้ แกบอกว่าแกมีพื้นเพอยู่ทางภาคกลาง แกอายุประมาณเจ็ดสิบเศษ ท่าทางเป็นคนพูดเก่งและจิตวิทยาดี การรักษาของแกก็ไม่มีอะไรมาก มีเพียงการเป่ากระหม่อมวันละครั้งและให้กินยาสมุนไพรของแก เพียงชั่วไม่กี่วันจากปากต่อปาก ข่าวก็แพร่ออกไปทั้งตำบลว่ามีหมอวิเศษมารักษาพี่เปี่ยมและพักอยู่ที่บ้านลุงเชือน ทุกๆคืนตั้งแต่ย่ำค่ำจนดึกจะมีคนนับสิบๆมาที่บ้านลุงเชือนด้วยสาเหตุต่างๆกัน บ้างมาด้วยความอยากรู้อยากเห็น บ้างมาเพราะอยากถามและให้รักษาตัวเองบ้าง ส่วนบังและเด็กๆอีกหลายคนอยากไปฟังนิทานและเล่นเกมส์แปลกๆที่ตาหนี่เอามาเผยแพร่ กิติศัพย์ของตาหนี่โด่งดังไปอย่ารวดเร็ว ส่วนแกจะรักษาโรคได้จริงหรือไม่นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ไม่อาจจะเห็นผลทันที

บังกลายเป็นขาประจำไปแล้ว หลังจากกินข้าวค่ำเสร็จ ก็เป็นเผ่นผลุงกระโดดนอกชานไปบ้านลุงเซือนก่อนใครๆ ตาหนี่แกคุ้นกะบังพอสมควรขนาดจำชื่อได้ บังได้ยินมาแว่วๆว่าตาหนี่กำลังหาเด็กไว้ดูลูกแก้ว เนื่องจากแกเป็นหมอดูลูกแก้วเวลาทำนายทายทัก แกจะจ่ายค่าจ้างวันละห้าบาทสำหรับคนที่แกเลือก คุณสมบัติของเด็กที่แกเลือกนั้นต้องเป็นเด็กเรียบร้อย อายุไม่เกินแปดขวบแต่อาจจะผ่อนปรนได้นิดหน่อยสำหรับอายุ ต้องว่านอนสอนง่าย และไม่เคยโดนหมากัด บังนั้นรู้ตัวดีว่าขาดคุณสมบัติครบถ้วนทุกอย่าง แต่กะอีแค่ดูลูกแก้วมันจะยากอะไร แต่ตอนนั้นยังนึกไม่ออกว่าทำไมแกจึงกำหนดคุณสมบัติเช่นนั้น ในขณะที่แกกำลังสอบสัมภาษณ์บังอยู่นั้น ป้าเอียดโผล่เข้ามาพอดี แกบอกตาหนี่ว่าบังเคยโดนหมาของแกกัดเอาจนต้องฉีดยาป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าจนสะดือจุ่น...โน่นไอ้นุ้ยหรือไอ้ตีบบ้านถัดไปโน่น...แต่ไอ้นุ้ยสาท่าจะอายุเกิน แต่ไอ้ตีบไม่เกินแน่นอน...ไอ้นุ้ยเป็นน้า ส่วนไอ้ตีบเป็นหลานแต่อายุห่างกันแค่3-4ปี ทั้งสองคนอย่าว่าแต่จะโดนหมากัด อาจจะไม่เคยโดนมดกัดด้วยซ้ำไปด้วยความว่านอนสอนง่าย บังเลยหมดโอกาสในทันใด

ตาหนี่พาไอ้ตีบตระเวรดูลูกแก้วทำนายทายทักรักษาสารพัดโรค ตาหนี่เป็นคนถามส่วนไอ้ตีบเป็นคนดูลูกแก้วแล้วตอบ ทั้งในและต่างตำบล ส่วนบังก็ค่อยๆห่างเหินออกมาหลังจากนิทานที่ตาหนี่เล่าเริ่มจะซ้ำและเกมส์ก็ไม่มีอะไรใหม่ ไม่เฉพาะแต่บัง คนอื่นๆก็ค่อยๆหายหน้าไป จนไม่มีใครไปอีก สี่เดือนให้หลังอาการของพี่เปี่ยมก็ยังเหมือนเดิม ตาหนี่เองก็ไม่ได้แสดงความวิเศษอะไรให้ปรากฏ แล้วจู่ๆตาหนี่ก็อันตรธานไปจากหมู่บ้าน ได้ข่าวหลังจากนั้นว่าแกไปหากินแบบเดิมอยู่ที่อำเภอจะนะ....

....บังได้โอกาสถามไอ้ตีบหลังจากตาหนี่สพายย่ามจากไปหลายเดือน ว่ามึงเห็นอะไรในลูกแก้วจริงหรือเปล่า ไอ้ตีบบอกว่า...ผมไม่เห็นอะไรหรอก ตาหนี่แกบอกผมไว้ก่อนทุกครั้งว่าจะให้เห็นอะไรและพูดว่าอย่างไร ถ้าผมลืมแกก็พูดล่อให้ แกขู่ผมว่าถ้าผมบอกความจริงให้ใครรู้ แกจะเสกหนังควายเข้าท้องผม ผมกลัวเลยไม่บอกใคร....

บังก็เลยเข้าใจเรื่องคุณสมบัติของเด็กดูลูกแก้วที่ตาหนี่กำหนดเอาไว้อย่างทะลุปรุโปร่ง ถ้าป้าเอียดไม่ชิงปากเปียกเสียก่อน ดีไม่ดีทั้งตาหนี่และบังอาจจะโดนตึ๊บเพราะไปขัดคอกันจนเขาจับโกหกได้

24 พฤศจิกายน 2554

Maethom...Past and Present (Part 2)



Before 1970, Maethom communicated with the rest of the world via the river, either up stream to Hatyai or down stream to the lake and ocean. For one way, it would take 3 hours to Hatyai, and 4 hours to Songkhla by motor boat. During the 1970s, dramatic political changes took place in Bangkok. The change resulted in more funds appropriated for rural area developments. Politicians national and local tried to find creative ways to spend such funds. Roads, bridges, and modern infrastructures such as power and telephone lines came to the village. All of the sudden, a tiny sleeping agrarian society opened itself to the world. It was a quantum leap adjustment for majority of the people, especially from the socioeconomic point of view. In the mid 1970s, less than 30% of households in Maethom had toilets. Actually, they didn’t even have a privy. They would go to the bush and didn’t even bother to bury their feces.  This may sound very primitive, but it was the way of life back then.

Demand for consumer goods came with the roads and power lines. Villagers had no disposable incomes for luxurious items such as car, truck, refrigerator, TV, and so on. Only a small number of people had steady incomes, mostly were government’s employee. It was rare that any families would own more than 15 acres of land. A large scale agriculture operation was not possible. They either sold part of their lands or go to work in the factories in towns to earn enough money for new expenses. After a few years, agriculture lands were left almost totally empty as it was more effective to earn wage and buy food rather than self-producing. The only remaining profitable agriculture was rubber plantation. This was the most reliable source of earning for those without regular employment. Unemployment was not a problem when the consumption was low, but it became highly visible when Maethom transformed to join high consumption societies. Drug-uses among juveniles in the village became prevalent. Unemployment and drug are a good combination for crimes. A lot of community’s efforts went into battling the problems. As in all developed countries, drug is still there and not easy to be completely eradicated.

Education perceived as a ticket for better life by newer generations of parents in Maethom, shared by a contemporary thought in Thai society. As steady government jobs dried out, new college graduates without jobs becomes a brand new problem. By a conventional wisdom, this won’t be all bad. Well educated young people become a driving force of local politic and developments. It is not a surprise these days to see college graduates run for head of the village or Sub-District Administration Organization(Thai:อบต). It is quite certain that these young people bring a lot of valuable modern ideas from their studies to a real use in the village.

In recent years, Hatyai and Songkhla grew rapidly in all aspects, from industries, government, to higher education. Hatyai is a center for business, finance, and tourism. Songkhla has maintained its important role as a seaport city from the past and will be well into the future. There are many education institutions offering programs up to doctorate level. As economy becomes global, the areas also become inseparable from the rest of the country and the world. There is no exception for Maethom, a forgotten village only a few years ago. Roads crisscrossing areas around Songkhla Lake the way unimaginable 50 years earlier. It would take only 15 minutes or less from Hatyai business districts to Maethom, and only a few more minutes to go all the ways to Laem-po, a lakeside recreation area. Maethom's original identity is almost gone. It is now just a suburb of Hatyai and Songkhla.

Our cultures worship heroes and leaders. Quite often, the leaders just rob all of the fames and successes from the ordinary people. They are left with nothing to be proud of while laboring the works. There are a lot of stories of individuals and leaders in the village who made the history, but I prefer not praising the community leaders here. At the same time, I cannot cover all ordinary people.

Recent major infrastructure developments in Maetom

Electricity:                       1984
Paved road:                    1995
Land line phone:             1996
Highs peed internet:       2011


Maethom points of interest


Wat Narungnok
Wat Kutao (Original school building, after restoration in 2010)










The second Wat Kutao school building










Old sling bridge (Wat Kutao)










Hua-non-Wat Kutao










Tah-Oh (Old shipyard site)










Toong-Koh-Lai (1)










Toong-Koh-Lai (2)










Toong-Koh-Lai (3)










Thom (1)










Thom (2)










Thom (3)










Tuad Thom 

21 พฤศจิกายน 2554

Maethom ... Past and Present (Part 1)


     Throughout the last 1000 years of Thailand history, centers of power were in the north and middle parts of the today territory. Warfare between the states and internal power struggles caused destructions and reconstructions of the capitals over and over again. History of Thailand is all about what was going on where the administrative power located. There were a few major cities in the south such as Pattani, Songkhla, Pattalung, Nakorn-Srithammarat, and Chaiya. These cities were regarded as colonies or satellites, no mention in the national archives unless there were uprisings from time to time. In such events, the capital would send troops to suppress and regain the supremacy. Normally, those who rebelled against the central ruling power ended up being brutally and completely annihilated.


After the decay of Srivichai kingdom which ruled Java and Malay Peninsula in 12th century, southern seaport cities such as Songkhla were not strategically important for Sukhothai, the newly established kingdom. While this area known to be under the control of Sukhothai, it was largely neglected. During the reign of king Narai of Ayutthaya kingdom, Songkhla was a city ruled by Persian merchants and pirates. The ruler was sultan Suleiman. He refused to surrender and pay tribute to Ayutthaya. King Narai sent troops to suppress the rebellion. After a few failed attempts, sultan Suleiman was badly defeated. The city of Songkhla, which is now at Khao-Daeng, was destroyed. King Narai appointed a new ruler loyal to him, and the city was moved across the strait to where it is today.


Even though Maethom is only 25km from Khao-Daeng, what happened in Songkhla at the time probably did not affect on people in Maethom at all. Perhaps Maethom was very small and the area was invisible or insignificant for authorities and taxations. Early settlers were a mixture of Persian, Malay, Chinese, and local people from around Songkhla Lake.


Geologically, Maethom was once part of the Songkhla Lake. Deposits from many small rivers around the Lake, including Klong-U-Tapao, formed deltas that reclaimed land from water and became Maethom and other nearby villages today. Maethom ground is only a few feet above sea level. Only less than 6 feet under the ground surface, black mud is the next layer. Old seashells and fossils could be found just like in the lake. Below the mud layer, water is salty. Flooding in the rainy season is the fact of life on the banks of Klong-U-Tapao River. Each years flooding enriches the land with new deposits, forever naturally keeping the land fertile.


Some settlers migrated to the area from the ocean, to the lake, and then up the river. Many traveled up as far as Hatyai or beyond, while many settled down along the river banks near the lake. Muslim, mostly fishermen preferred to stay near the lake. Thai and Chinese went further inland to claim land for agriculture.  Pomelo and orange were two popular fruits planted in the area. Due to the uniqueness of soil and climate, both kinds of fruits became very famous for its sweetness.  


The first community institution, a Buddhist temple, was founded approximately in 1760. It was in Nonghin, used as a cemetery after the temple was moved. It was moved to where it is now in 1890 and received the name “Wat Kutao”. It became the first Buddhist temple in the area. The new location is on the west bank of Klong-U-Tapao River, more convenient for transportation. “Ubosot”, the official sacred place for Buddhist monks to perform religious ceremony, was not finished until 1902. King Rama V, during his tour of Songkhla Lake, wrote in his journal while visiting Wat Kutao in 1896 that it was under construction. 


Wall paintings inside are essentially the masterpiece, reflecting capability of local artists at that time. It depicted the tale of Vessantara, the king who gave up everything he owned to pave the way for achieving enlightenment. It was done at the same time of the construction of the building. Even though the paint was chipped and faded away over the period of over 150 years, it still retains great beauty, imagination, and wisdom of self-taught local artists. 


There is an inscription on a piece of slate at the east entrance, showing the date when it was finished along with a short description of how the Ubosot came into existent.
Before the year 1900, Maethom had no conventional school to educate children. For those who wanted to learn how to read and write, they had to be ordained to become monks. However, the monastery could not formally educate a large number of monks because lacking of qualified instructors. While Maethom seemed very primitive for education, just about this time, the Wright brothers invented and flew their first airplane in the US. And at just about the same time, an unknown patent clerk name Albert Einstein in Switzerland published a paper on the theory of relativity. The first school for Maethom and nearby areas was not established until 1917. Even so, it took many more years until it was mandated by law for kids to be in school for at least 4 years. The literacy rate in Maethom went up, from very few people to a few. Parent preferred to keep kids at home and help in the field rather sending them to school.
Maethom was named after the large swamp in the village bearing the same name. There are many theories where the name came from. The most plausible could be coming from, Krathom, a large tree with scientific name of “Mitragyna speciosa”. Substance in its leaves is classified as a narcotic drug, having effects similar to amphetamines. Krathom trees were abundant around the swamp in the early days. Before 1975, the swamp was in its natural condition, full of weeds, forming bogs thick enough to walk on. Every few years, bogs would be swept away by stream during the big flood. Around the swamp were dense sago palm trees, giving mysterious feeling about the swamp from its look. The swamp was transformed into merely a pond in later years by the power of politic and creative ways to do something to get funds from the central government in Bangkok. The office of "Sub-district Administration Organization" was built on the east rim of the swamp. It is a local government similar to municipality, but under the administration of the Ministry of Interior. Maethom people elect new team from the local political parties every 4 years to run the office. 


Satellite pictures revealed that the swamp was essentially part of the network of small natural waterways which became shallower over time by both human hands and deposits from yearly flood. The swamp used to be a true public property for everyone to share. It was the place where villagers went fishing to covered basic needs for fishes and water vegetables all year round. Water in the swamp was clean enough and drinkable without being treated first. In the later years, a walkway was built around the swamp, and only limited fishing is allowed for recreation.





14 พฤศจิกายน 2554

ราม่าคูเต่า โรงหนังแห่งแรกของลุ่มน้ำอู่ตะเภา

แม่ทอมและคูเต่าห่างกันแต่ความกว้างเของคลองอู่ตะเภา เนื่องจากสะพานเชื่อมสองตำบลมีอยู่ที่เดียวที่วัดคูเต่า สองตำบลจึงเหมือนกับอยู่ห่างกันสุดแสนไกล เรือที่จะใช้ข้ามฟากก็แสนที่จะหายาก หากว่าบ้านใครเกิดมีจอดไว้ที่ท่าสักลำ ก็เป็นอันว่าวันๆไม่ต้องทำอะไร เพราะจะมีคนมาขอให้ไปส่งอีกฟากหนึ่ง คนจากอีกฟากหนึ่งก็ตะโกนเรียกให้เอาเรือข้ามไปรับให้ได้วุ่นวายอยู่ทั้งวัน บ้านที่มีเรือส่วนใหญ่จึงหามขึ้นมาเก็บไว้ใต้ถุน จะเอาลงน้ำก็ต่อเมื่อถึงหน้าน้ำเดือนอ้าย ตลอดสองฟากคลองตั้งแต่นารังนกไปจนถึงวัดคูเต่าต่างอยู่ในสภาพเดียวกัน บ้านริมคลองทั้งสองฝั่งที่อยู่ห่างกันไม่กี่ว่าจึงดูเหมือนไกลกันเหมือนอยู่คนละซีกโลก
เมื่อครั้งกระโน้นบ้านเราก็มีคนหัวเซ็งลี้หรือที่ทางสากลเขาเรียกว่าentrepreneurอยู่บ้างเหมือนกัน แต่ก็ไม่มากนัก โดยทั่วๆไปใครๆมักจะเป็นประเภทสะดวกนิยมเสียส่วนมาก คือมีก็กินไม่มีก็ไม่กิน ไม่ค่อยจะมีใครคิดการใหญ่เพื่อความมั่งคั่งร่ำรวย ซึ่งโดยสภาพทางเศรษฐกิจและสังคมก็ไม่เอื้ออำนวยให้คิดเช่นนั้นอยู่แล้ว ใครๆก็ทำนาแค่พอกินและส่วนใหญ่มีที่นาของตัวเองที่เป็นมรดกตกทอดมาจากบรรพบุรุษ ไม่มีเจ้าที่ดินรายใหญ่ที่จะได้ตั้งตัวเป็นผู้ผลิตเพื่อการค้า ความรู้ทางเครื่องยนต์กลไกก็มีพอแค่ประกอบรถรุน(รถเข็น)ไว้ขนข้าว เทคโนโลยีอุตสาหกรรมที่ก้าวหน้าสูงสุดของพื้นที่ก็เห็นแต่การต้มเหล้า ซึ่งก็เป็นการไปขัดผลประโยชน์กับรัฐและนายทุนในเมือง เลยกลายเป็นอุตสาหกรรมเถื่อนเพราะทำโดยคนเถื่อน ผลผลิตจึงกลายเป็นเหล้าเถื่อน ตำรวจและสรรพสามิตต้องใช้เวลาเป็นวันในการเข้ามาตรวจค้นทำลายและจับคนทำไปปรับและขัง พวกนายเขาว่าเหล้าเถื่อนนั้นมันทำลายสุขภาพแต่เหล้าโรงนั้นคือน้ำอมฤต

บ้านลุงพูนอยู่ระหว่างวัดเก่า(วัดอู่ตะเภา)และวัดใหม่(วัดชลธารประสิทธิ์) ใครๆต่างก็นับลุงพูนเป็นคนหนึ่งในบรรดาผู้มีหัวการค้า หลายๆคนจึงเรียกแกว่าเถ้าแก่พูน แกเป็นรายแรกในละแวกนี้ที่ริเริ่มสร้างโรงสีข้าวสมัยใหม่ที่เรียกกันว่าโรงสีใหญ่ รับบริการสีข้าวเปลือกให้เป็นข้าวสาร โรงสีของแกตั้งอยู่ริมคลอง เป็นความสะดวกของผู้ใช้ เพราะ๙๕%ของการขนส่งของหนักในสมัยนั้นทำโดยทางเรือ โรงสีทำให้แกมีรายได้พอที่จะส่งลูกชายคนหัวปีและคนรองๆไปเรียนหนังสือในเมือง คนหนึ่งคือหลวงนันจบจากสถานศึกษาสูงสุดในพื้นที่ของเวลานั้นคือวิทยาลัยเทคนิคภาคใต้หรือมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสงขลาในปัจจุบัน หลวงนันนั้นก็ไม่แพ้พ่อในด้านเซ็งลี้ ในระหว่างที่กำลังเรียน แกเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงผลักดันให้ลุงพูนสร้างโรงภาพยนต์ขึ้นใกล้ๆกับโรงสีเมื่อประมาณปีพ.ศ.๒๕๐๘ ชื่อว่า"ราม่าคูเต่า"

อาคารโรงหนังสร้างค่อนข้างดีเมื่อเทียบกับยุคสมัย พื้นที่ ผู้บริโภค เป็นอาคารคอนกรีตผสมไม้ถอดแบบมาจากโรงหนังชั้นนำที่หาดใหญ่และสงขลาในสมัยนั้น นอกจากบรรดาพรรคพวกญาติพี่น้องของลุงพูนแล้ว บังเป็นรุ่นจิ๋วที่มักจะไปป้วนเปี้ยนสังเกตุการณ์ตั้งแต่เขาลงมือก่อสร้าง ลุงพูนหาเรือข้ามฟากมาไว้บริการคนที่ข้ามฟากไปสีข้าว บังจึงสามารถข้ามไปมาได้ทั้งวัน ไปบ่อยจนคุ้นเคยกับหลวงนันดี พอสร้างโรงหนังเสร็จถึงเวลาเปิดโรงหนังและฉายรอบปฐมฤกษ์ เป็นช่วงหน้าร้อนโรงเรียนปิดเทอมใหญ่ บังเลยได้ติดเรือหางยาวไปกับคณะโฆษณาของหลวงนันซึ่งติดเครื่องขยายเสียงในเรือประกาศให้คนทั้งสองฝั่งคลองมาดูหนัง ชมชนที่คนหนาแน่นที่สุดในสมัยนั้นคือบ้านใต้ ชึ่งประชากรเกือบ๑๐๐%เป็นชาวมุสลิม มีอาชีพประมงในทะเลสาบ และดูเหมือนว่าจะเป็นกลุ่มเดียวที่มักจะมีเงินในกระเป๋า

บังขึ้นจากเรือเดินแจกใบปลิวโฆษณาที่บ้านใต้ แขกบ้านใต้มองบังด้วยความทึ่ง ว่าเด็กตัวเล็กอายุไม่ถึงสิบขวบ นุ่งกางเกงขาสั้นตูดขาดไม่ใส่เสื้อเดินแจกใบปลิวพร้อมทั้งเชิญชวนให้ไปดูหนังด้วยความมั่นใจ แถมยังเล่าเรื่องย่อๆของหนังให้ฟังทั้งทั้งที่ตัวเองก็ไม่เคยดู แต่อาศัยจากที่ฟังหลวงนันเล่าให้ฟัง ได้ยินบางคนพูดว่าสงสัยเป็นลูกคนเล็กของเถ้าแก่พูน บังไม่รับและก็ไม่ปฏิเสธตั้งหน้าตั้งตาทำหน้าที่อย่างสุดความสามารถ เพราะหลวงนันกระซิบเอาไว้ว่า...ไอ้เหล็ม ถ้ามึงทำได้ดีแล้วกูจะให้มึงมาแจกใบปลิวอีกในรอบต่อไปและจะให้ดูหนังฟรีทุกรอบ...ทุกรอบนั้นหมายถึงทุกอาทิตย์ เพราะเขามีกำหนดฉายอาทิตย์ละครั้ง ทุกๆคืนวันพฤหัส วันนั้นทั้งหลวงนันและทุกคนที่ไปด้วยกันเห็นพ้องกันหมดว่าบังทำหน้าที่ได้ยอดเยี่ยม บังก็แอบดีใจที่จะได้ดูหนังฟรี

การโฆษณาทำกันอย่างอึกทึกครึกโครมล่วงหน้าหลายวัน เป็นหนังไทยเรื่อง"สมิงบ้านไร่"นำแสดงโดยมิตร ชัยบัญชาและเพชรา เชาวราษฎร์ พระเอกนางเอกยอดนิยมในขณะนั้น กลับจากโฆษณาทางเรือ ลำโพงสองตัวก็ถูกนำขึ้นไปติดบนยอดหยีสูงริมคลองเพื่อทำการโฆษณาต่อโดยการปีนของหลวงช่วย เพราะแกเคยมีอาชีพคาบตาลและถนัดในเรื่องปีนป่าย และตอนนี้เองที่ชาวหัวควายและชาวแม่ทอมได้รู้จักหลวงช่วย โฆษกรายใหม่ที่ไม่มีใครรู้จักมาก่อน ปกติแกช่วยงานอยู่ที่โรงสีคอยยกชันข้าวเปลือกแบกข้าวสาร พายเรือข้ามฟากและฯลฯแล้วแต่ลุงพูนจะใช้

ความรู้ทั่วไปและทักษะในการพูดภาษากลางของหลวงช่วยค่อนข้างจำกัด คงจะแย่กว่าหนังตะลุงหลายเท่าตัว และแกไม่ยอมใช้ภาษาถิ่น แต่พยายามที่จะพูดภาษากลาง การโฆษณาหนังของแกจึงมีความพิศดารแสลงหูได้อย่างไร้เทียมทาน บรรดาเด็กและผู้ใหญ่ทั้งสองฝั่งคลองแรกๆก็นั่งหัวเราะกันหน้าดำหน้าแดง แต่พอผ่านไปได้สักพัก เสียงหลวงช่วยก็กลายเป็นเสียงหนวกหู เพราะแกพูดวกไปวนมาอยู่ที่เดิมด้วยภาษาที่ไม่มีใครฟังรู้เรื่อง แต่หลวงช่วยก็พูดได้ไม่หยุดเหมือนแผ่นเสียงตกร่อง แกชอบและมีความพากพูมใจในการพูดเข้าเครื่องขยายเสียงเอามากๆ และยึดหน้าที่นี้มาตลอดทั้งๆที่โดนหลวงนันและลุงพูนบอกให้ลดๆลงหน่อย...ต่อมาแกจึงได้ฉายาว่า"ช่วยหัวชัว" เวลามีงานมีเครื่องขยายเสียงที่ไหนหากว่าไมค์ติดเข้าไปอยู่ในมือหลวงช่วยก็ยากที่ใครจะเข้าไปแย่งออกมาได้ แกจะจ้ออยู่ได้อย่างไม่รู้เบื่อ

และวันที่ทุกคนรอคอยก็มาถึง รอบปฐมฤกษ์เบิกโรงของรามาคูเต่า คนแห่กันมาจนแทบจะล้นโรง ตั๋วผู้ใหญ่๔บาท เด็ก๒บาท บังไปทวงตั๋วฟรีก็ไม่ได้ คนขายตั๋วบอกให้ไปทวงกับหลวงนัน พอเจอหลวงนันแกก็บอกว่ารอให้คนที่ซื้อตั๋วเข้าไปให้หมดก่อนแล้วจะพาบังเข้าไป รอไปรอมาที่นั่งก็หมด หลวงนันก็ยังไม่มาพาบังเข้าไปเสียที จะซื้อตั๋วก็ไม่มีตังค์ เลยถือโอกาสตอนคนเฝ้าประตูเผลอแว็บเข้าประตูไปอย่างรวดเร็ว ในใจก็นึกด่าหลวงนันอยู่ตลอด...เห็นว่าเราเป็นเด็กเบี้ยวเราได้ดื้อๆ...แต่ก็ดูไปด้วยความตื่นเต้นจนจบเหมือนกัน ทั้งๆที่ไม่ปะติดปะต่อ คนดูไม่มีใครบ่น เปลี่ยนม้วนฟีล์มอย่างน้อยสี่ครั้ง หนังขาดก็หลายครั้ง กว่าจะต่อได้ก็ครั้งละอย่างน้อย๑๕นาที ทุกคนกลับบ้านด้วยความเบิกบาน

หนังรอบปฐมฤกษ์ผ่านไป รอบวันพฤหัสถัดไปก็อีกไม่กี่วัน บังก็ไปป้วนเปี้ยนอยู่กับหลวงนันและพรรคพวกเช่นเคย หวังจะให้เขาชวนไปแจกใบปลิวอีก... แต่เอ๊ะ...แปลกแฮะ...หลวงนันทำเป็นไม่เห็น ไม่ทักไม่ทายเช่นเมื่อก่อน พอถึงตอนเขาลงเรือติดเครื่องขยายเสียง บังจึงพอจะเดาออกว่าเกิดอะไรขึ้น คราวนี้มีคนใหม่สามคนที่ไม่ได้ไปคราวที่แล้ว...เป็นหลวงช่วย ไอ้ร่วยลูกชายหลวงช่วยและไอ้ชัยน้องชายหลวงนันซึ่งอายุมากกว่าบัง๓-๔ปี...เพราะเหตุนี้นี่เอง...บังถึงบางอ้อและมาจนถึงบางพลัด...พลัดเพราะโดนเขาไม่ยอมให้ร่วมกระบวนการอีกต่อไป บังจึงหมดความสำคัญ..โดนเบี้ยวไม่ยอมให้ตั๋วฟรีในรอบแรกอีกต่างหาก...แค้นนัก น้ำตาทำท่าจะไหลเอาให้ได้...

เรือของคณะโฆษณาออกจากท่าไปแล้ว ริมคลองหน้าโรงหนังจึงเหลือแต่บังคนเดียว ความเสียใจยังคับอก แต่ก็ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร จึงเดินแตร่ไปทางหน้าโรงหนัง เดินเฉียดไปทางห้องขายตั๋ว ซึ่งเป็นคอกสูงผนังซีเมนต์ใต้ถุนห้องฉายหนัง มีประตูเข้าอยู่ด้านในของโรงหนัง มีช่องหน้าต่างเล็กๆขนาดพอยื่นมือผ่านได้สำหรับซื้อขายตั๋ว ปิดไว้ประตูเลื่อนอันเล็กๆไม่มีกลอนจากข้างในตอนที่ไม่ได้ใช้ บังเตร่เข้าไป ด้วยความอยากรู้อยากเห็น อยากจะรู้ว่าห้องขายตั๋วมันเป็นอย่างไร ก็เลยหาเก้าอี้มารองปีนขึ้นไปเปิดบังตาดู ที่ต้องรองเก้าอี้ก็เพราะช่องขายตั๋วเขาทำไว้สำหรับผู้ใหญ่ มันสูงท่วมหัวบังในตอนนั้น...ข้างในมีโต๊ะวางชิดผนังตรงช่องขายตั๋ว และตรงมุมโต๊ะด้านหนึ่งมีตั๋ววางอยู่หลายเล่ม...อ้อตั๋วหนังนี่เขาทำเป็นเล่มอย่างนี้เองบังคิดในใจ วันก่อนให้เราสักใบก็ไม่ได้...ได้โอกาสแล้วขอสักใบซิ...อยากโกงเราทำไม...ลักเอาดีกว่า แต่จะเอาอย่างไรล่ะอยู่ไกลเกินไปเอื้อมไม่ถึง เข้าไปก็ไม่ได้...ไม่เป็นปัญหา ลิงมันยังแก้ปัญหาชนิดนี้ได้ บังฉลาดกว่าลิง แค่หาไม้มาสอย ก็ได้ตั๋วมาหนึ่งเล่ม พอดีได้ยินเสียงใครเดินคุยกันมาแต่ไกลก็เลยไม่มีเวลาพอที่จะฉีกเอาแค่หนึ่งใบ ก็เลยเอามาทั้งเล่ม ก่อนที่ใครจะมาเห็น

ได้ตั๋วแล้วก็ข้ามฟากกลับมานั่งที่หลาทอม ตั๋วเล่มนั้นมีอยู่ประมาณ๕๐ใบ บังแค่ต้องการสักใบที่โดนเบี้ยว จะทำอย่างไรดีหว่ากับส่วนที่เหลือ พอดีหนุ่มๆในหมู่บ้านเดินผ่านมากลุ่มหนึ่ง บังจึงให้เขาไปทั้งเล่มที่เหลือบอกเขาว่าบังเจอตกอยู่ที่หน้าห้องขายตั๋ว ในใจก็คิดว่าคงจะไม่เป็นไร เขาคงจะไม่ปากเปียก เพราะถ้าเขาเอาไปพูดก็คงจะอดดูหนังฟรี บังคิดง่ายๆ และเป็นการคิดผิดถนัดสำหรับอนาคต เขาไม่พูดในขณะที่ยังได้ประโยชน์ แต่พอพ้นจากนั้นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง...

ราม่าคูเต่ารอบถัดจากนัดปฐมฤกษ์คนไม่แน่นเท่าคราวที่แล้ว แต่ก็ยังเกือบเต็มโรงอยู่ดี ไม่มีอะไรกระโตกกระตาก เนื่องจากทุกสิ่งทุกอย่างยังใหม่ ระบบจัดการยังไม่เข้ารูปเข้ารอย เรื่องตั๋วหายและตั๋วฟรีจึงไม่มีใครเห็นอะไรผิดปกติมากนัก ประกอบกับพวกที่ได้ตั๋วจากบังไปคงจะเอาไปทะยอยใช้ซึ่งก็คงจะกินเวลานานกว่าจะหมด ยังไม่หมดก็คงจะยังไม่มีใครพูดมาก แต่ก็ไม่วายที่บังจะได้ยินแว่วๆจากคนอื่นๆเรื่องบังแจกตั๋ว บังเริ่มจะกลัวความผิด และไม่ยอมไปเตร็ดเตร่แถวๆโรงหนังอีกหลังจากนั้น...

...และก็จริงอย่างที่มาคิดได้ทีหลัง พอพวกที่ได้ตั๋วไปเอาไปใช้จนหมดหลายเดือนให้หลัง เรื่องไอ้เหล็มแจกตั๋วฟรีก็เป็นที่รู้กันทั่วไปทั้งสองฝั่งคลอง...สองสามปีถัดมารามาคูเต่าก็ประสบกับภาวะขาดทุนเพราะไม่ค่อยมีคนดู พวกปากเปียกหลายคนบอกว่าโรงหนังเถ้าแก่พูนเจ๊งเพราะไอ้เหล็ม..

23 ตุลาคม 2554

กว่าจะมาถึงมือถืออเนกประสงค์

หลายบ้านในแม่ทอมตอนนี้มีจานทีวีดาวเทียม มีทีวีจอแบนขนาดความกว้างยาวน้องๆสาดใบเตย พอต่อกับเครื่องเล่นวิดิโอก็ได้ภาพคมชัดขนาดแมวหลงกระโดดเข้าไปในจอเพื่อจับนกจับหนูกิน และอีกหลายๆบ้านก็มีอินเทอร์เนตไหลแรงให้ได้ดูรูปโป๊หนังลามกและวิดิโอยูตูดกันชุ่มฉ่ำ เดี๋ยวนี้ตั้งแต่หลานถึงพ่อเฒ่าแม่เฒ่าต่างก็พกมือถือจอรูด ฮัลโหล ไอโหล โหลๆ กันให้แซ่ดทั้งหมู่บ้าน พอมีงานก็มีคาราโอเกะเสียงกระหึ่มเหมือนโลกจะแตกให้บรรดาพวกร้องเพลงไม่ได้เรื่องได้มั่วเอาเสียงตัวเองผสมเสียงดนดรีทำทีเป็นนักร้องชื่อดัง ใครๆก็เห็น ใครๆก็มีและใครๆก็ทำ ทุกสิ่งทุกอย่างจึงกลายเป็นเรื่องปกติธรรมดาไปแล้วสำหรับชาวแม่ทอมในยุคนี้

เมื่อราวๆช่วงต้นของทศวรรษ พ.ศ.๒๕๐๐ ทางการได้ก่อตั้งสถานีวิทยุขึ้นสองสถานีและสถานีโทรทัศน์หนึ่งสถานีขึ้นในภาคใต้ ทั้งสามแห่งอยู่ที่อำเภอหาดใหญ่ สถานีวิทยุคือสถานีวิทยุ วปถ๕ และสถานีวิทยุและโทรทัศน์ของกรมประชาสัมพันธ์ นอกเหนือไปจากสามสถานีนี้ ที่ตั้งสถานีทั้งหมดอยู่ในกรุงเทพฯและภาคอื่นๆ ในระยะนั้นเครื่องอีเลคทรอนิคส์ทุกชนิดยังคงใช้หลอด หรือvacuum tube หลอดอีเลคทรอนิคส์สุญญากาศเป็นเทคโนโลยีที่พัฒนามาจากหลอดไฟที่เอดิสันคิดขึ้นเมื่อปีพ.ศ.๒๔๒๗ โดยการใส่ชิ้นส่วนเพิ่มเติมเข้าไปให้สามารถใช้ในการขยายสัญญานไฟฟ้าและใช้เป็นตัวควบคุมปิดเปิดการไหลของอีเลคตรอนได้เมื่อประมาณปีพ.ศ.๒๔๔๕ การใช้วิทยุในการกระรายเสียงเพื่อการค้าและการบันเทิงได้เกิดขึ้นราวๆปีพ.ศ.๒๔๖๕ ในต่างประเทศ และเข้ามาในเมืองไทยประมาณปีพ.ศ.๒๔๗๐ กว่าจะแพร่หลายในเมืองไทยก็ล่วงมาอีกยี่สิบกว่าปี ทั้งนี้เนื่องจากราคาของเครื่องนั้นแพงมาก ขนาดของเครื่องใหญ่พอๆกับเครื่องทีวีจอแก้วขนาด๒๗นิ้ว หากเป็นเครื่องที่ต้องใช้แบตเตอรีเพราะที่บ้านคนซื้อไม่มีไฟฟ้าใช้ ก็จะยิ่งแพงขึ้นไปอีก แบตเตอรีก้อนใหญ่น้ำหนักและขนาดพอๆกับแบตเตอรีรถยนต์ในปัจจุบัน มีแรงดันมากกว่า๖๐โวลท์ ก้อนหนึ่งราคาหลายร้อยบาทสำหรับเงินในสมัยนั้น ใช้ได้ประมาณเดือนกว่าๆก็ต้องโยนทิ้งแล้วเปลี่ยนใหม่ หลอดก็มีการเสื่อมคุณภาพเร็วมาก ต้องเอาไปให้ร้านซ่อมเปลี่ยนใหม่ปีละหลายครั้ง

วิทยุหลอดเข้ามาในแม่ทอมครั้งแรกเมื่อ๕๐กว่าปีมาแล้ว เริ่มจากบ้านครูเพิ่ม กุลนิล ติดตามด้วยบ้านนายบ้านเกลี้ยงและบ้านบังเฉมตามลำดับ ทุกๆวันจะมีชาวบ้านมานั่งฟังวิทยุที่สามบ้านนี้ตลอดทั้งวัน รายการส่วนใหญ่ก็เป็นข่าวจากสถานีวิทยุในกรุงเทพฯสลับด้วยเพลงและละครวิทยุ กระจายเสียงในระบบเอเอ็มทั้งคลื่นสั้นและคลื่นยาว หากดูกันถึงระยะทางที่อีกาบิน แม่ทอมห่างจากกรุงเทพฯแค่๗๕๐กิโลเมตร และน้อยคนที่จะรู้ว่าแม่ทอมอยู่ห่างจากประเทศเวียตนามเพียงแค่๔๙๕กิโลเมตร ใกล้กว่ากรุงเทพฯเสียอีก สัญญาณวิทยุจากกรุงเทพฯและประเทศเพื่อนบ้านจึงเสียงดังฟังชัดตลอดปี ชาวบ้านแม่ทอมหลายคนในสมัยนั้นกลายเป็นคนทันโลกทันสมัยก็ด้วยเครื่องรับวิทยุทั้งสามเครื่องของตำบล

ในประมาณปีพ.ศ.๒๔๙๐ จอห์น บาร์ดีนและวิลเลียม ช็อคเลย์ซึ่งเป็นนักฟิสิกส์ของเบลล์แลปในอเมริกาได้ค้นพบทรานซิสเตอร์ โดยการกำหนดสภาพของสารกิ่งตัวนำในตารางธาตุให้อยู่ในลักณะที่เหมาะสม การค้นพบอันนี้นับเป็นก้าวแรกของการพัฒนาของอีเลคทรอนิคส์จนถึงขั้นที่เราเห็นกันอยู่ในปัจจุบัน ทรานซิสเตอร์มีขนาดเล็ก กินไฟน้อย และสามารถที่จะใช้แทนหลอดได้ อย่างไรก็ตาม ในขณะนั้นหลอดเปรียบเสมือนหนุ่มฉกรรจ์ที่กำลังโดดเด่น กว่าทรานซิสเตอร์จะเริ่มแย่งความเป็นใหญ่ก็อีกหลายปีถัดมา ช่วงนี้เองที่ญี่ปุ่นกำลังฟื้นตัวจากภาวะของการเป็นผู้แพ้สงครามโลกครั้งที่สอง และพยายามสร้างอุตสาหกรรมตามติดสหรัฐอเมริกาโดยเฉพาะด้านอีเลคทรอนิคส์ ประมาณปีพ.ศ.๒๕๐๕ เครื่องรับวิทยุทรานซิสเตอร์ก็ปรากฎขึ้นในตลาดหาดใหญ่ ใช้ถ่านไฟฉายธรรมดา๔หรือ๖ก้อน ราคาประมาณ๕๐๐บาท ในขณะที่เครื่องหลอดยังราคาไม่ต่ำกว่าพัน เครื่องรับวิทยุกลายเป็นสมบัติชิ้นใหม่ที่ใครๆก็มีโอกาสที่จะเป็นเจ้าของได้ บังสบแห่งบ้านใต้ แขกหัวใสกลายเป็นเถ้าแก่ขึ้นมาทันทีทันใด เพราะแกไปรับวิทยุมาจากร้านในหาดใหญ่ ใส่เรือประกาศขายไปตามลำคลอง วันพฤหัสก็เอาไปขายที่ตลาดนัดวัดคูเต่า ขายทั้งสดทั้งผ่อน จากที่เคยขายผ้าไม่ค่อยจะมีกำไร หันมาขายวิทยุกำไรงดงามกว่า ชาวคูเต่าและแม่ทอมจึงได้อาเสี่ยแขกเป็นคนแรกตั้งแต่นั้น

มาถึงประมาณปีพ.ศ.๒๕๑๐ บ้านชาวแม่ทอมกว่าครึ่งมีเครื่องรับวิทยุทรานซิสเตอร์ สถานีวิทยุวปถ๕กลายเป็นสถานียอดนิยม สมาน ตัณฑนุตโฆษกประจำสถานีได้กลายเป็นดาราใหญ่ของชาวบ้านไม่เฉพาะแต่ชาวแม่ทอม แต่รวมไปถึงชาวบ้านในตำบลต่างๆของจังหวัดสงขลาและจังหวัดใกล้เคียง สมานจัดรายการวิทยุต่างๆที่ถูกใจตั้งแต่เด็กไปจนถึงผู้ใหญ่ พอถึงวันอาทิตย์๙โมงเช้า เด็กๆจะล้อมวงฟังสมานอ่านนิทานทางวิทยุวปถ๕ สำหรับหนุ่มๆสาวๆสมานจัดรายการเพลงตามคำขอทางจดหมายจากแฟนคลับในตำบลต่างๆ เขียนจดหมายไปแล้วต่างคนก็รอฟังสมานตอบจดหมายออกอากาศและเปิดเพลงให้ฟัง สมานดังไปทั่วจนแฟนๆอยากเห็นหน้า สมานหัวใสจังตั้งวงดนตรี "ทีมงานสมานโชว์" ออกเดินสายแสดงตามตำบลต่าง แสดงได้รอบสองรอบก็หาคนดูยาก สมานเลยวงแตกรายการวิทยุก็พลอยซบเซาทันทีเหมือนกัน ความคลั่งใคล้ในตัวสมานก็หมดไป ต้องตามสุภาษิตนอกตำราของชาวแม่ทอมที่ว่า "พอออกน้ำความหรอยก็หมดไป" หากใครอ่านแล้วไม่เข้าใจก็ต้องไปศึกษาต่อที่แม่ทอม

ในประมาณช่วงเวลาไล่เรี่ยกันและสมานกำลังตกความนิยม ทางวปถ๕ได้นำเอาเทปลิเกมาออกอากาศทางวิทยุ ชื่อลิเกบุษบา เจ้าของวงชื่อบุษบา อัมพรรัตน์ หากินด้วยการแสดงอยู่แถวๆภาคกลาง ไม่มีชื่อเสียงและคนแทบจะไม่รู้จัก หลังจากออกอากาศไม่กี่ครั้งลิเกคณะบุษบาก็โด่งดังอย่างไม่มีใครคาดคิด ลิเกไม่ใช่ศิลปะการแสดงของภาคใต้หลายๆคนจึงไม่เข้าใจว่าทำไมจึงได้รับความนิยมอย่างท่วมท้น อาจจะเป็นเพราะบุษบาเข้าใจในการนำเรื่องจักรๆวงค์ๆที่ใครๆคุ้นเคยอยู่แล้วจากหนังและโนราห์มาตัดความยืดยาดออกผสมเข้ากับวิธีการของละครวิทยุ ผลออกมาเป็นการเล่านิทานในแนวใหม่ทางสื่อชนิดใหม่คือวิทยุ ความคลั่งไคล้ในลิเกคณะบุษบาของผู้ฟังสถานีวปถ๕สมัยนั้นได้ถูกหนังพร้อมน้อย(คลิ๊กเพื่อฟังเสียงหนังพร้อม)ได้บรรยายเอาไว้อย่างพิศดารในบทตลกของหนังตลุงที่แกเล่น...ตัวตลกพูดว่า "สมัยก่อนคนคนบ้านเรา (หมายถึงชาวพัทลุง)เขาบ้าบุษบาไม่เห็นเหอ...หวันเที่ยงพอบุษบาอีส่งทางวิทยุเท่านั่นแหละ...อยู่กลางนาแล่นชนโคนโหนด...แล่นให้ถึงวิทยุ...ถือว่าอีตายสักทีกะให้ตายข้างวิทยุ..เหมือนกับได้ตายในตักบุษบาแล้ว...คนมันบ้าบุษบากันพักนั้น...ลางคนวิทยุไม่ถ่านเสียงไม่ใคร่ดัง...แยงหูเข้าไนวิทยุ...แมงสาบขบเอาไปบ้านหมอกะยัง.."

ที่แม่ทอมก็ไม่แพ้ที่พัทลุง สาวหนอมน้องสาวนายบ้านแถ็กลูกลุงแข้งป้าอิ้นนั้นก็ติดบุษบาอาการหนักเหมือนกัน สาวหนอมแกเป็นคนขยันหัวเซ็งลี้ ทำนั่นขายนี่ไม่ได้หยุด แกจึงเป็นคนมีสตางค์ สามารถที่จะซื้อหาเครื่องรับวิทยุทรานซิสเตอร์มาเป็นเจ้าของกะเขาได้เครื่องหนึ่ง ถ้าถึงเวลาที่บุษบาออกอากาศแล้วใครจะเรียก ใครจะธุระ สาวหนอมจะไม่ได้ยินและไม่รู้เรื่องด้วย ป้าอิ้นเห็นลุงแข้งฮึดฮัดกัดฟันอยู่หลายรอบแล้วก็เป็นห่วงสาวหนอม เพราะลุงแข้งนั้นเวลาแกโมโห ทุกอย่างที่ขวางหน้าจะให้ถึงแก่การพังพินาศย่อยยับ ป้าอิ้นจึงไปเตือนสาวหนอมให้ระวังเอาไว้ ว่ากูเห็นพ่อมึงตาเขียวเหมือนใบสาคูอยู่หลายหนแล้วเรื่องบ้าบุษบา...

...และแล้ววันที่ป้าอิ้นหวั่นอยู่ก็มาถึง...วันหนึ่งลุงแข้งกลับจากสวน มาถึงบ้านแล้วไม่มีข้าวกิน...หันไปถามสาวหนอมซึ่งกำลังใจจดใจจ่ออยู่กับการฟังลิเก แต่ก็ไม่ได้รับคำตอบ แกเดินเข้าไปคว้าได้วิทยุที่บุษบากำลังร้องลิเกเสียงเจื้อยแจ้วฟาดเข้ากับโคนเสา เสียงของบุษบาก็หายไปในบัดดล วิทยุหักสองท่อน ...ชิ้นส่วนข้างในเนียนปึด...

16 ตุลาคม 2554

แม่ทอมจากวันนั้นจนถึงวันนี้


สังคมมนุษย์ไม่เคยมีความยุติธรรม ไม่ว่าจะเป็นที่ไหนในโลกกลมๆแต่เบี้ยวใบนี้ ผู้มีอำนาจเอารัดเอาเปรียบผู้ที่ด้อยกว่า คนแข็งแรงเอาเปรียบคนอ่อนแอทั้งกดทั้งขี่จนขี้เล็ด คนฉลาดก็เอาเปรียบคนโง่ ส่วนพวกที่มีสติปัญญาเหนือกว่าปกติชนมักจะค้นพบสุดยอดแห่งสัจจธรรมแล้วหลีกเร้นไม่ข้องแวะกับความขัดแย้งใดๆในสังคมอีกต่อไป สังคมมนุษย์จึงวนเวียนอยู่ในวัฏจักรเดิมซึ่งขับดันโดยความโลภและคนโลภ จะเปลี่ยนแปลงไปบ้างก็เพียงแต่รูปแบบที่พัฒนาไปตามเหตุและปัจจัยชนิดใหม่

ในครั้งโบราณกาล ผู้มีอำนาจใช้กำลังและอาวุธในการปกครองและสร้างความมั่งคั่งให้กับตัวเองและพวกพ้อง ภายใต้การขู่เข็ญบังคับ ผู้ที่ด้อยกว่าต้องทำตามทุกอย่างโดยไม่มีข้อแม้ เหล่าผู้นำก่อสงครามต่อกันและกันก็เพียงเพื่อผลประโยชน์ต่อตัวเอง คนส่วนใหญ่ถูกดึงเข้าร่วมด้วยวิธีการต่างๆตั้งแต่การบังคับ สร้างความหลงในตัวผู้นำ การแบ่งพรรคแบ่งพวกทำนองเดียวกับการมอมหน้าไก่ให้ตีกัน ไปจนถึงปลุกความแตกต่างในเชื้อชาติศาสนารวมทั้งสร้างความงมงายต่างๆขึ้นแล้วใช้ให้เป็นประโยชน์ทางการทหารและการเมือง

ในยุคปัจจุบัน การขู่เข็ญบังคับให้คนส่วนใหญ่ทำในสิ่งที่ผู้นำต้องการได้ลดน้อยลงไปมาก อันเป็นผลมาจากวิวัฒนาการของสังคมในช่วงไม่กี่สิบปีที่ผ่านมา แต่อย่างไรก็ตาม ปัจจัยอย่างอื่นที่กล่าวถึงข้างต้นยังมีอยู่อย่างพร้อมมูล คนจำนวนมากยังคงหลงในตัวผู้นำ ยังคลั่งชาติ ยังแบ่งพรรคแบ่งพวก ยังเข้าไม่ถึงตัวแท้ของศาสนาและยังโง่งมงาย ความโกลาหลวุ่นวายในสังคมโลกจึงยังไม่ได้ลดลงมากนัก ถึงแม้ว่าการขู่เข็ญบังคับด้วยกำลังของใครคนใดคนหนึ่งจะไม่ได้รับการยอมรับอีกต่อไปในสังคมโลก ลักษณะการบังคับดังกล่าวที่ส่งผลได้ในลักษณะคล้ายๆกันนั้นถูกทดแทนด้วยกลไกทางเศรษฐกิจและสังคมอันใหม่ที่มีความลึกซึ้งยากที่จะมองเห็น นั่นคือเงื่อนไขและปัจจัยในการอยู่รอดของคนส่วนใหญ่ในสังคมยุคปัจจุบัน...ค่าผ่อนบ้าน ค่างวดรถ ค่าเล่าเรียนลูก ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าน้ำมัน ค่าโทรศัพท์มือถือและค่าฯลฯ ทุกอย่างรวมแล้ว คนระดับล่างและระดับกลางๆต้องทำงานรับใช้คนคนหยิบมือเดียวที่นั่งอยู่บนยอดปิระมิดไปจนตาย นี่คือสภาพรวมที่เป็นจริงทุกหนทุกแห่งในโลกทุกวันนี้

หากว่าจะย้อนเวลาไปสัก๕๐ปี ถึงแม้ว่า๕๐ปีเป็นเพียงแค่ชั่วขณะจิตหนึ่งเมื่อเทียบกับประวัติศาสตร์อันยาวนานของมนุษยชาติ แต่เมื่อ๕๐ที่แล้วแม่ทอมยังเป็นตำบลที่ห่างไกลกันดารจากความเปลี่ยนแปลงแทบทุกอย่างในโลกภายนอก ชาวบ้านยังใช้ชีวิตแบบเดียวกันกับที่เคยเป็นมาหลายชั่วอายุคน ใช้น้ำคลองและน้ำทอมในชีวิตประจำวัน อยู่บ้านที่ทำเอาง่ายๆจากวัสดุที่หาได้ในท้องถิ่น ไม่มีห้องน้ำห้องส้วม ไม่มีไฟฟ้า ใช้ไม้ฟืนที่หาได้ในพื้นที่สำหรับหุงต้ม ว่าไปแล้วก็มียังไม่ครบครึ่งแม้กระทั่งปัจจัย๔ในการดำรงชีวิต การเพาะปลูกก็ทำกันแต่พอกิน ไม่มีเครื่องทุ่นแรงใดๆ อาศัยแรงกล้ามเนื้อจากคนและวัวควายเป็นหลัก การคมนาคมกับโลกภายนอกก็อาศัยเรือในคลองอู่ตะเภา ทั้งที่ขึ้นไปเหนือน้ำสู่เมืองหาดใหญ่ และออกไปยังทะเลสาบสู่เมืองสงขลาและทะเลหลวง ถนนยังอยู่ในสภาพเหมือนกับคันนา ปีหนึ่งๆจะมีรถยนต์เข้ามาถึงไม่เกินสามคัน และต้องเข้ามาพร้อมๆกับคนจำนวนหนึ่งสำหรับช่วยลากและเข็นรถเวลาติดหล่ม บางคันติดอยู่ถึงสองสามวันกว่าจะฉุดขึ้นมาได้ ความกันดารทำให้ระยะทางไม่กี่กิโลเมตรระหว่างแม่ทอมและหาดใหญ่ในอดีตเป็นเสมือนระยะทางเป็นร้อยๆกิโลเมตร แม่ทอมจึงคงสภาพเดิมๆเอาไว้ได้จนกระทั่งเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองขนานใหญ่ของเมืองไทยเริ่มจากปีพ.ศ.๒๕๑๖

การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในส่วนกลางทำให้มีการกระจายการพัฒนาประเทศออกสู่ชนบทมากขึ้น ตั้งแต่ในสมัยเงินผันของท่านคึกฤทธิ์ ถนนหนทางจากเมืองสู่แม่ทอมจึงได้รับการปรับปรุงบูรณะจนสามารถใช้เป็นทางสัญจรโดยรถยนต์ได้ ความห่างไกลกันดารในอดีตจึงค่อยๆลดน้อยลงไป มีการพัฒนาพื้นที่ริมทะเลสาบเช่นหาดหอยและแหลมโพธิ์เป็นรีสอร์ทและและสถานที่ท่องเที่ยว แม่ทอมจึงกลายเป็นทางผ่าน ไฟฟ้าและสายโทรศัพท์จึงเข้ามาในหมู่บ้าน เมื่อมีบริการก็มีคนใช้เพราะเป็นความสะดวกสบาย มีไฟฟ้าก็ต้องมีอุปกรณ์ไฟฟ้า สาธารณูปโภคสมัยใหม่ที่มากับถนนนั้นไม่ใช่บริการให้ฟรี ปัญหาจึงเกิดขึ้นเพราะชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่มีงานประจำทำที่จะได้เงินมาใช้จ่าย การเปลี่ยนแปลงอย่างปุบปับได้ก่อให้เกิดปัญหาเรื่องค่าครองชีพ หนุ่มสาวส่วนหนึ่งจึงต้องเข้าไปหางานทำในเมือง บรรดาผู้ประกอบการและโรงงานต่างๆที่ต้องการแรงงานราคาถูกจึงเกิดขึ้นมากมาย และท้ายที่สุด ชาวแม่ทอมก็เลิกทำนา ปล่อยให้ที่นารกร้างว่างเปล่าและอาศัยค่าแรงจากการเป็นลูกจ้างในภาคอุตสาหกรรมมาซื้อข้าวสารและปัจจัยอื่นๆในการใช้ชีวิตแทน ในที่สุดเช่นเดียวกันกับผู้ยากไร้ในส่วนอื่นของโลก ชาวแม่ทอมก็ตกอยู่ภายใต้พันธนาการของกลไกแห่งสังคมสมัยใหม่เหมือนที่กล่าวข้างต้น ที่ต้องแก่งแย่งแสวงหาให้ได้อยู่อย่างเทียมหน้าเทียมตาคนรอบข้าง ทั้งนี้ก็ยังมีชาวแม่ทอมอีกจำนวนหนึ่งที่ยังประกอบอาชีพกสิกรรมเช่นทำสวนยางและเลี้ยงสัตว์ หรืออีกส่วนหนึ่งที่เป็นข้าราชการแต่ก็ตกอยู่ในสภาพเดียวกันกับที่ไปเป็นลูกจ้าง คือการใช้เงินเกินรายได้และมีหนี้สิน และยิ่งมีหนี้มากเท่าไหร่ ก็ยิ่งดิ้นไม่หลุด เป็นหลักประกันว่าจะต้องกลายเป็นทาสรับใช้ให้กับกลุ่มคนที่นั่งอยู่บนยอดปิระมิดของเศรษฐกิจทุนนิยมตลอดไป ทาสรับใช้สมัยใหม่ที่มองไม่เห็นคนที่เป็นนายและโซ่ตรวนเครื่องพันธนาการ...

...แต่ก็ยังมีชาวแม่ทอมอีกหลายๆคนเอาที่สวนที่นาเล็กๆน้อยๆที่พ่อแม่ทิ้งไว้ให้ หรือไม่ก็ตำแหน่งงานไปเป็นประกันเพื่อกู้ยืมเงินมาซื้อรถกระบะสำหรับขับไปขับมา ช็อปปิ้งคาร์ฟูร์บิ๊กซี มีทีวีจอแบนขนาดหกสิบนิ้วพร้อมทั้งจานดำจานแดง และฯลฯที่สนองความอยากอันเกินความจำเป็น บางรายซื้อไอโฟนใหม่เอี่ยมมาแต่ก็ไม่ได้ใช้...ไม่กล้าเปิดเพราะกลัวเจ้าหนี้จะโทรเข้า...

29 สิงหาคม 2554

ข้าวต้มมัดเป็นเหตุ


เมื่อสมัยที่บังเรียนอยู่ชั้นป๓ กำนันเจือ(หรือบ่าวเจือในเวลานั้น)ลูกพี่ใหญ่ได้จบชั้นป๔ล่วงหน้าออกไปท่องยุทธจักรแม่ทอมก่อนแล้วหลายปี สภาพดินฟ้าอากาศของแม่ทอมนั้นค่อนข้างจะเป็นวัฏจักรที่โดยรวมๆแล้วค่อนข้างจะแน่นอน ราวๆเดือนมิถุนายนฝนก็เริ่มตก ชาวบ้านก็เริ่มไถนาเป็นครั้งแรก เรียกว่า"ไถดะ" เดือนถัดมาก็หว่านข้าว พอย่างเข้าเดือนตุลาคมก็ถึงหน้ามรสุม ซึ่งฝนและระดับน้ำจะมีอยู่สามละลอกยาวไปจนถึงเดือนมกราคม ละลอกแรกจะเบา ละลอกสองหนักขึ้นหน่อย ละลอกสามจะหนักที่สุด โดยปกติน้ำในคลองอู่ตะเภาจะมีระดับสูงขึ้นและลดลงสามครั้งเช่นเดียวกันตามอัตราน้ำฝนที่มากับมรสุม จะมากบ้างน้อยน้อยบ้างในแต่ละปี แต่ลักษณะโดยทั่วๆไปก็ยังคงสภาพที่ชาวบ้านพอจะรู้ว่ควรจะเตรียมตัวอย่างไรในแต่ละปี ชาวแม่ทอมสมัยก่อนจึงไม่เดือดร้อนนักกับปัญหาน้ำท่วม เพราะรู้กันอยู่ว่าเป็นเรื่องปกติ บ้านแทบทุกหลังจะเป็นแบบใต้ถุนสูงซึ่งน้ำไม่มีโอกาสจะถึงชานเรือน แม้แต่ปีที่ท่วมหนักที่สุด โดยทั่วไป บันไดบ้านจะมีห้าถึงเจ็ดขั้น หากท่วมถึงสามขั้น ก็เป็นอันรู้กันว่าท่วมหนัก นอกจากรังไก่แล้วก็ไม่มีอะไรต้องกังวลสำหรับใต้ถุนเรือน รังไก่เองก็ทำจากลำไม้ไผ่สูงเกือบถึงเพดานใต้ถุน นอกจากจะช่วยให้ไก่ปลอดภัยจากมูสัง พังพอน และงูเหลือมแล้ว หน้าน้ำก็ไม่ต้องวุ่นวาย นอนจนเช้าจึงรู้ว่าน้ำพะใหญ่ก็ไม่ต้องเดือดร้อนอะไร วัวที่เคยผูกไว้ข้างบ้านหรือใต้ถุนก็มีการนำไปไว้บนที่สูงล่วงหน้าแล้ว

พอเดือนกุมภาฯน้ำเริ่มจะแห้ง ถนนหนทางที่เต็มไปด้วยโคลนก็ค่อยแข็งตัว เข้าเดือนมีนาคมพื้นก็แห้งสนิท ข้าวในนาก็เริ่มจะเก็บได้ ชาวแม่ทอม"เก็บ"ข้าวเพราะใช้แกะตัดเอาทีละรวง ไม่ได้เกี่ยวด้วยเคียวทีละกำมือแบบทางภาคกลาง พอสิ้นเดือนมีนาคมย่างขึ้นเดือนเมษายน ชาวแม่ทอมก็เก็บข้าวเรียบร้อย แดดเริ่มทวีความแรง ซังข้าวเปลี่ยนจากเขียวเป็นเหลือง และเป็นสีน้ำตาลในที่สุดด้วยการแผดเผาของเปลวแดด วัวที่เคยต้องล่ามก็มีการปล่อยให้หากินตามสบาย เนื่องจากเป็นช่วงปิดเทอมใหญ่ เด็กๆนักเรียนจึงกลายเป็นเด็กเลี้ยงวัว ซึ่งจริงๆแล้วไม่ต้องเลี้ยงอะไร แต่เป็นข้ออ้างไว้บอกพ่อบอกแม่ว่าไปแลวัวเพื่อที่จะได้ไปเที่ยวเล่น บังไปตั้งแต่กินข้าวเที่ยงเสร็จ จุดหมายคือหลาแหวะ เด็กๆทุกคนชอบที่จะไปชุมนุมกันอยู่ที่นั่น เด็กรุ่นใหญ่หรือผู้ใหญ่ที่มาผสมโรงมีเรื่องมากมายมาเล่า เด็กรุ่นเล็กก็ไปพลอยเงี่ยหูฟัง ทำให้ได้ความรู้รอบตัวไปโดยปริยาย ตั้งแต่เรื่องสัพเพเหระในหมู่บ้าน ไปจนถึงเรื่องที่หนุ่มๆไปขึ้นโรงแรมที่หาดใหญ่ รุ่นเล็กจะให้ความสนใจเป็นพิเศษ มีการซักถามซอกแซกถึงรายละเอียดอย่างถี่ยิบ คนเล่าก็เล่าแล้วเล่าอีกอย่างพากพูมใจ คนฟังก็ฟังแล้วฟังอีกอย่างไม่รู้จักเบื่อ หากคนเล่าเกิดเล่าตกหล่นไปสักนิดจากการเล่าคราวก่อน ก็จะมีการทักท้วงให้เล่าใหม่ให้ครบ บ่าวเจือมักจะแอบเอายางเส้นยิงไข่ หากเห็นกางเกงหรือผ้าถุงของใครตึงในขณะนั่งฟัง เล่นเอารุ่นเล็กต้องระวังตัวแจไม่เปิดโอกาสให้ใครจับพิรุธได้ในขณะที่นั่งฟัง

หน้าร้อนของแม่ทอมสมัยนั้นแห้งแล้งเหลือประมาณ อย่าว่าแต่ผลไม้ที่พอจะมีกินบ้างในฤดูอื่นๆ น้ำก็แทบจะหากินไม่ได้ บ่อน้ำกินที่น้ำพอจะกินได้ก็มีอยู่ไม่กี่แห่ง หากจะพูดถึงขนมและของหวาน ก็แทบจะไม่มีขายนอกจากวันที่มีตลาดนัด สาเหตุเพราะไม่ค่อยมีคนซื้อเนื่องจากเงินหายาก ถ้าจะมีขายบ้างก็ตามวงการพนัน ซึ่งมีการลักลอบเล่นกันเป็นล่ำเป็นสันในหน้าร้อน ซึ่งมักจะเป็นวงปอ(หรือโป) อันว่าวงการพนันนั้นมีเอกลักษณ์อยู่สองสามอย่างที่ทำให้มีคนเอาอาหารไปขาย นักการพนันเล่นติดพันจนไม่อยากกลับไปหาอะไรกินที่บ้านและที่วงการพนันคนมักจะมีเงินในกระเป๋า จะเล่นได้หรือเล่นเสียก็ตาม คนขายจึงโก่งราคาได้ถนัด เช่นไข่ต้มหากซื้อกินที่นัดคูเต่าฟองละห้าสิบสตางค์ แต่ที่ข้างวงปอแม่ค้าจะขายฟองละ๒ถึง๓บาท นอกจากนั้นข้างวงปอมักจะมีจะมีขนมขาย เช่นข้าวต้มมัด กล้วยทอด และลอดช่องเป็นต้น

หวามหิวและความกระหายของเด็กแม่ทอมสมัยโน้นในขณะที่อยู่กลางทุ่งแดดเปรี้ยงๆนั้นมันมีความพิศดารเหลือบรรยาย มีการฝันกลางวันถึงน้ำแข็งบอก ซึ่งนานๆอาแป๊ะจากหาดใหญ่จะถีบรถเข้ามาขายเสียที และวันที่อาแป๊ะมาก็ดันไม่มีตังค์เสียอีก มีการหาของกินหลายรูปแบบเพื่อสนองความหิว เช่นหาปลาในแหวะมาปิ้ง ทั้งปลาน้ำแห้งและปลาในหนอง ขุดหนูรู ขุดปลาไหลและฯลฯ

บ่ายวันนี้ก็เช่นกัน หลังจากฟังนิทานที่หลาแหวะ บ่าวเจือมากระซิบบังว่าไอ้เหล็มมึงไปกะกู ที่ข้างเปลวหนองหินเขาเล่นปอกันอยู่ เราไปซื้อข้าวต้มมัดกินกัน บังน้ำลายสอทันที... กล้วยน้ำว้าหวานๆห่อด้วยข้าวเหนียวผสมกะทิมันตุ๊บ ได้สักอันแล้วอร่อยขาดใจ บังตัดสินใจไปด้วยทันที เราเดินข้ามทุ่งแหวะอันร้อนระอุ มุ่งไปทางตะวันตกอันเป็นที่ตั้งของเปลวหนองหิน ในใจก็ฝันถึงข้าวต้มมัดไปตลอดทาง มาถึงชายป่าฝั่งทุ่งตรงกันข้าม บ่าวเจือบอกว่าไอ้เหล็มมึงรอกูอยู่ตรงนี้ มึงยังเล็กนักถ้าเข้าไปเดี๋ยวคนเฒ่าเขาจะว่ากู ได้ข้าวต้มแล้วกูจะออกมา ที่ๆเขากำลังเล่นปอกันอยู่นั้นอยู่ลึกเข้าไปประมาณร้อยกว่าเมตร เป็นป่าทึบมองเข้าไปไม่เห็น

บังนั่งรอ ยืนรอ ชะเง้อรอ รอจนขี้เกียจรอ บ่าวเจือก็ยังไม่ออกมาเสียที นานเต็มที เอ๊ะชักจะยังไงเสียแล้ว...บังนั้นเจอลูกเล่นของบ่าวเจอมาจนชิน คราวนี้คงจะเจออีกแน่นอน หลอกให้เรามาเป็นเพื่อน ได้ข้าวต้มแล้วแอบกินคนเดียว หรือไม่ก็หนีออกไปอีกทางหนึ่งเสียแล้ว...

แกล้งเราได้เราก็แกล้งตอบได้นิ...ไวเท่าความคิด...บังเอามือป้องปากตะโกนไปทางที่บ่าวเจือเดินเข้าไป...นึกถึงแต่บ่าวเจือ แต่ลืมนึกถึงนักการพนันเสียสนิท...
"นายมาแล้วเว้ย...นายมาแล้วเว้ย...นายมาแล้วเว้ย" ตะโกนเสร็จบังก็รอดูผล
สักครู่หนึ่งใครคนหนึ่งก็วิ่งออกมา...ทีแรกบังคิดว่าเป็นบ่าวเจือเอาข้าวต้มมาให้จึงยืนรอ พอเห็นชัด กลับเป็นลุงเถ็กขุ้ย แกตะโกนถามถามว่า ไหนนายอยู่ไหน...บังบอกว่าบังขี้หกบ่าวเจือหรอกเด้ ไม่มีนาย...ลุงเถ็กขุ้ยคว้าได้ไม้อันหนึ่งวิ่งตรงมาที่บัง...เห็นท่าไม่ดีบังก็เผ่นแน่บ ลุงเถ็กขุ้ยก็วิ่งตามมาอย่างไม่ลดละ...แต่มีหรือที่จะตามทัน...แกวิ่งได้สักสองร้อยเมตรก็หยุดนั่งหอบบนหัวนา ทำท่าจะเป็นลม บังจึงค่อยๆเลี่ยงออกมา ข้ามทุ่งกลับไปที่หลาแหวะ รอจนได้เวลาก็ต้อนวัวกลับบ้าน...คิดว่าเรื่องคงจะหมดกันแค่นั้น...

กลับถึงบ้านมีคนรออยู่ก่อนแล้วหลายคน น้าหลวงบุญบอกว่าวงแตก วิ่งกันไปคนละทิศละทาง บางคนเข้าไปติดอยู่ในกอเตยออกไม่ได้ต้องถาง ลุงเถ็กขุ้ยเป็นเจ้ามือ ทีแรกก็วิ่งหนี แต่วิ่งไปทางเดียวกับบ่าวเจือ จึงรู้ว่าเป็นบังและสงสัยว่าบังจะแกล้ง ก็เลยกลับออกมาดู ไล่บังเสร็จกลับไปสำรวจความเสียหาย ปรากฏว่าลูกกงฉีหายไปหลายห่อ ไม่มีใครคิดเอาเรื่องเด็กเก้าขวบ ส่วนใหญ่ของนักการพนันถือเป็นเรื่องตลก อาการของแต่ละคนในวงปอได้รับการเอามาเล่ากันอย่างสนุกสนาน และเล่ากันมาจนเป็นตำนาน หลวงตุด(ผู้ซึ่งชาวแม่ทอมตั้งให้เป็นรองอธิการม.อ.สมัยหมอทองจันทร์เป็นอธิการฯ)ต้องพูดเรื่องนี้ทุกครั้งที่เจอบัง...

แต่ก็ไม่ทุกคนนักในวงปอวันนั้นที่มองเห็นเป็นเรื่องสนุก ครูเจริญ ครูโรงเรียนวัดคูเต่า ผู้เคยต้องคดีร่วมปล้น และอยู่ในระหว่างภาคทัณต์ แกเป็นคนที่ตกใจมากที่สุด จะเป็นเรื่องร้ายแรงหากแกโดนจับ  แกวิ่งหนีบุกดงหนามปีดาษ โดนหนามเกี่ยวยับเยินทั้งตัว...พอถึงวันโรงเรียนเปิด นักเรียนทั้งชั้นจึงประหลาดใจว่าทำไมครูเจริญจึงตีบังเสียยี่สิบทีโดยไม่เข้าใจว่าบังทำอะไรผิด ได้ยินแต่ที่ครูเจริญพูดว่าบังทำตัวเหมือนเด็กเลี้ยงแกะในนิทานอีสป และบังเถียงว่าเปรียบเทียบกันไม่ได้ เพราะมันคนละเรื่องกัน เจ็บแสนเจ็บ เลือดซิบๆ แต่ไม่มีน้ำตาสักหยดให้ใครเห็น...ด้วยเหตุผลอะไรบังก็เหลือเดา ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา ครูเจริญไม่เคยทำโทษบังอีกเลย แกเรียกใช้บ่อย ให้ตังค์ซื้อขนมหลายครั้ง ปกป้องบังทุกอย่างจนออกหน้าเวลาบังมีปัญหาที่โรงเรียน จนหลายๆครั้งแกสร้างความไม่พอใจให้ครูใหญ่เป็นอย่างมากที่มีคนมาขัด...

ส่วนลุงเถ็กขุ้ยก็ดูเหมือนว่าจะไม่เคยถือโทษโกรธเคืองบังแม้แต่น้อย สิบกว่าปีหลังจากวันเกิดเหตุ ลุงเถ็กขุ้ยและหลวงขิ้มลูกชายอุตส่าห์มาส่งบังที่สนามบินหาดใหญ่ตอนบังจากบ้านเดินทางไกลไปเรียนต่อ แกแถมเงินให้อีกร้อยบาท ซึ้งใจแกจริงๆ...แกบอกว่ากูลืมเหตุการณ์วันนั้นไม่ลง...ทั้งโกรธทั้งขำ...