23 ตุลาคม 2554

กว่าจะมาถึงมือถืออเนกประสงค์

หลายบ้านในแม่ทอมตอนนี้มีจานทีวีดาวเทียม มีทีวีจอแบนขนาดความกว้างยาวน้องๆสาดใบเตย พอต่อกับเครื่องเล่นวิดิโอก็ได้ภาพคมชัดขนาดแมวหลงกระโดดเข้าไปในจอเพื่อจับนกจับหนูกิน และอีกหลายๆบ้านก็มีอินเทอร์เนตไหลแรงให้ได้ดูรูปโป๊หนังลามกและวิดิโอยูตูดกันชุ่มฉ่ำ เดี๋ยวนี้ตั้งแต่หลานถึงพ่อเฒ่าแม่เฒ่าต่างก็พกมือถือจอรูด ฮัลโหล ไอโหล โหลๆ กันให้แซ่ดทั้งหมู่บ้าน พอมีงานก็มีคาราโอเกะเสียงกระหึ่มเหมือนโลกจะแตกให้บรรดาพวกร้องเพลงไม่ได้เรื่องได้มั่วเอาเสียงตัวเองผสมเสียงดนดรีทำทีเป็นนักร้องชื่อดัง ใครๆก็เห็น ใครๆก็มีและใครๆก็ทำ ทุกสิ่งทุกอย่างจึงกลายเป็นเรื่องปกติธรรมดาไปแล้วสำหรับชาวแม่ทอมในยุคนี้

เมื่อราวๆช่วงต้นของทศวรรษ พ.ศ.๒๕๐๐ ทางการได้ก่อตั้งสถานีวิทยุขึ้นสองสถานีและสถานีโทรทัศน์หนึ่งสถานีขึ้นในภาคใต้ ทั้งสามแห่งอยู่ที่อำเภอหาดใหญ่ สถานีวิทยุคือสถานีวิทยุ วปถ๕ และสถานีวิทยุและโทรทัศน์ของกรมประชาสัมพันธ์ นอกเหนือไปจากสามสถานีนี้ ที่ตั้งสถานีทั้งหมดอยู่ในกรุงเทพฯและภาคอื่นๆ ในระยะนั้นเครื่องอีเลคทรอนิคส์ทุกชนิดยังคงใช้หลอด หรือvacuum tube หลอดอีเลคทรอนิคส์สุญญากาศเป็นเทคโนโลยีที่พัฒนามาจากหลอดไฟที่เอดิสันคิดขึ้นเมื่อปีพ.ศ.๒๔๒๗ โดยการใส่ชิ้นส่วนเพิ่มเติมเข้าไปให้สามารถใช้ในการขยายสัญญานไฟฟ้าและใช้เป็นตัวควบคุมปิดเปิดการไหลของอีเลคตรอนได้เมื่อประมาณปีพ.ศ.๒๔๔๕ การใช้วิทยุในการกระรายเสียงเพื่อการค้าและการบันเทิงได้เกิดขึ้นราวๆปีพ.ศ.๒๔๖๕ ในต่างประเทศ และเข้ามาในเมืองไทยประมาณปีพ.ศ.๒๔๗๐ กว่าจะแพร่หลายในเมืองไทยก็ล่วงมาอีกยี่สิบกว่าปี ทั้งนี้เนื่องจากราคาของเครื่องนั้นแพงมาก ขนาดของเครื่องใหญ่พอๆกับเครื่องทีวีจอแก้วขนาด๒๗นิ้ว หากเป็นเครื่องที่ต้องใช้แบตเตอรีเพราะที่บ้านคนซื้อไม่มีไฟฟ้าใช้ ก็จะยิ่งแพงขึ้นไปอีก แบตเตอรีก้อนใหญ่น้ำหนักและขนาดพอๆกับแบตเตอรีรถยนต์ในปัจจุบัน มีแรงดันมากกว่า๖๐โวลท์ ก้อนหนึ่งราคาหลายร้อยบาทสำหรับเงินในสมัยนั้น ใช้ได้ประมาณเดือนกว่าๆก็ต้องโยนทิ้งแล้วเปลี่ยนใหม่ หลอดก็มีการเสื่อมคุณภาพเร็วมาก ต้องเอาไปให้ร้านซ่อมเปลี่ยนใหม่ปีละหลายครั้ง

วิทยุหลอดเข้ามาในแม่ทอมครั้งแรกเมื่อ๕๐กว่าปีมาแล้ว เริ่มจากบ้านครูเพิ่ม กุลนิล ติดตามด้วยบ้านนายบ้านเกลี้ยงและบ้านบังเฉมตามลำดับ ทุกๆวันจะมีชาวบ้านมานั่งฟังวิทยุที่สามบ้านนี้ตลอดทั้งวัน รายการส่วนใหญ่ก็เป็นข่าวจากสถานีวิทยุในกรุงเทพฯสลับด้วยเพลงและละครวิทยุ กระจายเสียงในระบบเอเอ็มทั้งคลื่นสั้นและคลื่นยาว หากดูกันถึงระยะทางที่อีกาบิน แม่ทอมห่างจากกรุงเทพฯแค่๗๕๐กิโลเมตร และน้อยคนที่จะรู้ว่าแม่ทอมอยู่ห่างจากประเทศเวียตนามเพียงแค่๔๙๕กิโลเมตร ใกล้กว่ากรุงเทพฯเสียอีก สัญญาณวิทยุจากกรุงเทพฯและประเทศเพื่อนบ้านจึงเสียงดังฟังชัดตลอดปี ชาวบ้านแม่ทอมหลายคนในสมัยนั้นกลายเป็นคนทันโลกทันสมัยก็ด้วยเครื่องรับวิทยุทั้งสามเครื่องของตำบล

ในประมาณปีพ.ศ.๒๔๙๐ จอห์น บาร์ดีนและวิลเลียม ช็อคเลย์ซึ่งเป็นนักฟิสิกส์ของเบลล์แลปในอเมริกาได้ค้นพบทรานซิสเตอร์ โดยการกำหนดสภาพของสารกิ่งตัวนำในตารางธาตุให้อยู่ในลักณะที่เหมาะสม การค้นพบอันนี้นับเป็นก้าวแรกของการพัฒนาของอีเลคทรอนิคส์จนถึงขั้นที่เราเห็นกันอยู่ในปัจจุบัน ทรานซิสเตอร์มีขนาดเล็ก กินไฟน้อย และสามารถที่จะใช้แทนหลอดได้ อย่างไรก็ตาม ในขณะนั้นหลอดเปรียบเสมือนหนุ่มฉกรรจ์ที่กำลังโดดเด่น กว่าทรานซิสเตอร์จะเริ่มแย่งความเป็นใหญ่ก็อีกหลายปีถัดมา ช่วงนี้เองที่ญี่ปุ่นกำลังฟื้นตัวจากภาวะของการเป็นผู้แพ้สงครามโลกครั้งที่สอง และพยายามสร้างอุตสาหกรรมตามติดสหรัฐอเมริกาโดยเฉพาะด้านอีเลคทรอนิคส์ ประมาณปีพ.ศ.๒๕๐๕ เครื่องรับวิทยุทรานซิสเตอร์ก็ปรากฎขึ้นในตลาดหาดใหญ่ ใช้ถ่านไฟฉายธรรมดา๔หรือ๖ก้อน ราคาประมาณ๕๐๐บาท ในขณะที่เครื่องหลอดยังราคาไม่ต่ำกว่าพัน เครื่องรับวิทยุกลายเป็นสมบัติชิ้นใหม่ที่ใครๆก็มีโอกาสที่จะเป็นเจ้าของได้ บังสบแห่งบ้านใต้ แขกหัวใสกลายเป็นเถ้าแก่ขึ้นมาทันทีทันใด เพราะแกไปรับวิทยุมาจากร้านในหาดใหญ่ ใส่เรือประกาศขายไปตามลำคลอง วันพฤหัสก็เอาไปขายที่ตลาดนัดวัดคูเต่า ขายทั้งสดทั้งผ่อน จากที่เคยขายผ้าไม่ค่อยจะมีกำไร หันมาขายวิทยุกำไรงดงามกว่า ชาวคูเต่าและแม่ทอมจึงได้อาเสี่ยแขกเป็นคนแรกตั้งแต่นั้น

มาถึงประมาณปีพ.ศ.๒๕๑๐ บ้านชาวแม่ทอมกว่าครึ่งมีเครื่องรับวิทยุทรานซิสเตอร์ สถานีวิทยุวปถ๕กลายเป็นสถานียอดนิยม สมาน ตัณฑนุตโฆษกประจำสถานีได้กลายเป็นดาราใหญ่ของชาวบ้านไม่เฉพาะแต่ชาวแม่ทอม แต่รวมไปถึงชาวบ้านในตำบลต่างๆของจังหวัดสงขลาและจังหวัดใกล้เคียง สมานจัดรายการวิทยุต่างๆที่ถูกใจตั้งแต่เด็กไปจนถึงผู้ใหญ่ พอถึงวันอาทิตย์๙โมงเช้า เด็กๆจะล้อมวงฟังสมานอ่านนิทานทางวิทยุวปถ๕ สำหรับหนุ่มๆสาวๆสมานจัดรายการเพลงตามคำขอทางจดหมายจากแฟนคลับในตำบลต่างๆ เขียนจดหมายไปแล้วต่างคนก็รอฟังสมานตอบจดหมายออกอากาศและเปิดเพลงให้ฟัง สมานดังไปทั่วจนแฟนๆอยากเห็นหน้า สมานหัวใสจังตั้งวงดนตรี "ทีมงานสมานโชว์" ออกเดินสายแสดงตามตำบลต่าง แสดงได้รอบสองรอบก็หาคนดูยาก สมานเลยวงแตกรายการวิทยุก็พลอยซบเซาทันทีเหมือนกัน ความคลั่งใคล้ในตัวสมานก็หมดไป ต้องตามสุภาษิตนอกตำราของชาวแม่ทอมที่ว่า "พอออกน้ำความหรอยก็หมดไป" หากใครอ่านแล้วไม่เข้าใจก็ต้องไปศึกษาต่อที่แม่ทอม

ในประมาณช่วงเวลาไล่เรี่ยกันและสมานกำลังตกความนิยม ทางวปถ๕ได้นำเอาเทปลิเกมาออกอากาศทางวิทยุ ชื่อลิเกบุษบา เจ้าของวงชื่อบุษบา อัมพรรัตน์ หากินด้วยการแสดงอยู่แถวๆภาคกลาง ไม่มีชื่อเสียงและคนแทบจะไม่รู้จัก หลังจากออกอากาศไม่กี่ครั้งลิเกคณะบุษบาก็โด่งดังอย่างไม่มีใครคาดคิด ลิเกไม่ใช่ศิลปะการแสดงของภาคใต้หลายๆคนจึงไม่เข้าใจว่าทำไมจึงได้รับความนิยมอย่างท่วมท้น อาจจะเป็นเพราะบุษบาเข้าใจในการนำเรื่องจักรๆวงค์ๆที่ใครๆคุ้นเคยอยู่แล้วจากหนังและโนราห์มาตัดความยืดยาดออกผสมเข้ากับวิธีการของละครวิทยุ ผลออกมาเป็นการเล่านิทานในแนวใหม่ทางสื่อชนิดใหม่คือวิทยุ ความคลั่งไคล้ในลิเกคณะบุษบาของผู้ฟังสถานีวปถ๕สมัยนั้นได้ถูกหนังพร้อมน้อย(คลิ๊กเพื่อฟังเสียงหนังพร้อม)ได้บรรยายเอาไว้อย่างพิศดารในบทตลกของหนังตลุงที่แกเล่น...ตัวตลกพูดว่า "สมัยก่อนคนคนบ้านเรา (หมายถึงชาวพัทลุง)เขาบ้าบุษบาไม่เห็นเหอ...หวันเที่ยงพอบุษบาอีส่งทางวิทยุเท่านั่นแหละ...อยู่กลางนาแล่นชนโคนโหนด...แล่นให้ถึงวิทยุ...ถือว่าอีตายสักทีกะให้ตายข้างวิทยุ..เหมือนกับได้ตายในตักบุษบาแล้ว...คนมันบ้าบุษบากันพักนั้น...ลางคนวิทยุไม่ถ่านเสียงไม่ใคร่ดัง...แยงหูเข้าไนวิทยุ...แมงสาบขบเอาไปบ้านหมอกะยัง.."

ที่แม่ทอมก็ไม่แพ้ที่พัทลุง สาวหนอมน้องสาวนายบ้านแถ็กลูกลุงแข้งป้าอิ้นนั้นก็ติดบุษบาอาการหนักเหมือนกัน สาวหนอมแกเป็นคนขยันหัวเซ็งลี้ ทำนั่นขายนี่ไม่ได้หยุด แกจึงเป็นคนมีสตางค์ สามารถที่จะซื้อหาเครื่องรับวิทยุทรานซิสเตอร์มาเป็นเจ้าของกะเขาได้เครื่องหนึ่ง ถ้าถึงเวลาที่บุษบาออกอากาศแล้วใครจะเรียก ใครจะธุระ สาวหนอมจะไม่ได้ยินและไม่รู้เรื่องด้วย ป้าอิ้นเห็นลุงแข้งฮึดฮัดกัดฟันอยู่หลายรอบแล้วก็เป็นห่วงสาวหนอม เพราะลุงแข้งนั้นเวลาแกโมโห ทุกอย่างที่ขวางหน้าจะให้ถึงแก่การพังพินาศย่อยยับ ป้าอิ้นจึงไปเตือนสาวหนอมให้ระวังเอาไว้ ว่ากูเห็นพ่อมึงตาเขียวเหมือนใบสาคูอยู่หลายหนแล้วเรื่องบ้าบุษบา...

...และแล้ววันที่ป้าอิ้นหวั่นอยู่ก็มาถึง...วันหนึ่งลุงแข้งกลับจากสวน มาถึงบ้านแล้วไม่มีข้าวกิน...หันไปถามสาวหนอมซึ่งกำลังใจจดใจจ่ออยู่กับการฟังลิเก แต่ก็ไม่ได้รับคำตอบ แกเดินเข้าไปคว้าได้วิทยุที่บุษบากำลังร้องลิเกเสียงเจื้อยแจ้วฟาดเข้ากับโคนเสา เสียงของบุษบาก็หายไปในบัดดล วิทยุหักสองท่อน ...ชิ้นส่วนข้างในเนียนปึด...

1 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ12/11/54 22:40

    ชอบครับ ว่าอีกด like แต่หาไม่พบ..อิอิ ผมเกิดรุ่นหลังยังทันละครคณะเกศทิพย์(ถ้าจำไม่ผิด) การฟังทำให้เกิดจินตนาการได้ดี สมัยนี้ไม่ต้องคิดไหรแล้ว ทีวี ภาพยนต์ สร้างภาพให้หมดแล้ว ต่อมจินตนาการเด็กรุ่นหลังเลยค่อนข้างตีบตัน

    ตอบลบ