30 มกราคม 2553

แม่ทอม เพี้ยนมาจากคำว่า"แม่ทอง" จริงหรือ?

ตามสภาพทางภูมิศาสตร์ แหล่งน้ำที่เรียกกันว่า"ทอม"คือบริเวณที่สายคลองเก่าซึ่งแยกออกจากสายหลักที่นารังนกมาบบรจบกับคลองอู่ตะเภาอีกครั้งหนึ่ง(โปรดดูในรูป) ร่องรอยนี้เห็นได้จากภาพถ่ายจากดาวเทียมเช่นของกูเกิ้ลเอิร์ท หลังจากเกิดการตื้นเขิน ส่วนที่เหลืออยู่กลายเป็นบึงใหญ่ที่ได้ชื่อว่า"ทอม" ถึงแม้เวลาจะผ่านไป สายน้ำก็ยังคงรักษาแนวของมัน เวลาที่น้ำล้นคลองที่นารังนก กระแสน้ำจะไหลผ่านมาตามแนวทุ่งหลังเปลวโหนด ผ่านทอม ผ่านนาใน แล้วมาบรรจบคลองอู่ตะเภาอีกครั้งหนึ่งตรงใกล้ๆบ้านลุงเปี้ยน(ตระกูลสุขสว่าง) จริงๆแล้วพื้นที่แถบแม่ทอม คูเต่า ท่าเมรุ บางเหรียง นั้นครั้งหนึ่งเคยเป็นส่วนหนึ่งของทะเลสาบสงขลาอาจจะเมื่อหลายล้านปีก่อน เกิดการตื้นเขินขึ้นตามเวลา หากขุดลงไปใต้พื้นดินไม่เกิน๕เมตร ก็จะพบตมและซากสัตว์ทะเลนาๆชนิด หากขุดลึกต่อไปอีกหน่อยก็จะพบน้ำกร่อยซึ่งเป็นน้ำทะเลเก่าที่ติดอยู่ในชั้นหินดินดาน จริงๆแล้วสภาพทางภูมิศาสตร์ของทอมเปลี่ยนไปเร็วมาก จากคำบอกเล่าของคนรุ่นก่อนๆ บึงทอมเมื่อ๑๐๐ปีก่อนเริ่มจากหลังเปลวโหนดมีความลึกทำให้มีน้ำขังเกือบตลอดปี ไปจนถึงจุดที่บรรจบกับคลองอู่ตะเภา

มีผู้สัณนิษฐานถึงที่มาของคำว่าแม่ทอม ซึ่งค่อนข้างจะไร้น้ำหนัก สงสัยว่าจะมาจากครูนพ ว่าเพี้ยนมาจากคำว่า"แม่ทอง"หรือ"แหมทอง" นี่เป็นเพียงหนึ่งทรรศนะที่ว่าเอาตามที่ตัวเองคิด เมื่อมีคนหนึ่งว่าขึ้นมา หลายๆคนก็เอาไปว่าต่อ อ้างกันไปอ้างกันมา ในที่สุดก็กลายเป็นสิ่งที่ใครๆยอมรับและเชื่อถือในยุคถัดๆมา หากวิเคราะห์ให้ดี การที่คำว่า"ทอง"ซึ่งเป็นคำพื้นฐานในภาษาไทยของทุกภาคจะเพี้ยนไปเป็น"ทอม"ซึ่งไม่มีความหมายนั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย โดยทั่วไปการเพี้ยนของภาษานั้นจะเป็นการเพี้ยนเข้าหาคำที่มีความหมาย การเพี้ยนจากทอมเป็นทองจึงมีความน่าจะเป็นไปได้มากว่า คำว่าทอมนอกจากจะไม่มีความหมายในภาษาไทยแล้ว ยังไม่มีความหมายในภาษามลายูหรือภาษาชวาซึ่งมีใช้อยู่มากในภาษาท้องถิ่นปักษ์ใต้ การสัณนิษฐานข้างต้นจึงเป็นสิ่งไม่น่าเชื่อถือและเลื่อนลอย

จากคำบอกเล่าที่ตกทอดต่อๆกันมา ว่าสมัยก่อนพื้นที่รอบๆบึงทอมมีต้นไม้ใหญ่นาๆชนิด และที่มากที่สุดชนิดหนึ่งคือต้นกระท่อม เล่ากันว่ารอบๆบึงเป็นป่ากระท่อมเอาเลยทีเดียว เป็นที่รู้จักกันดีในบรรดาคนที่เสพย์กระท่อมในพื้นที่และละแวกใกล้เคียง เป็นแหล่งที่คนมาเก็บกันมากจนเป็นที่เลื่องลือ ภาษาปักษ์ใต้เรียกกระท่อมว่าท่อมเฉยๆโดยตัดคำว่ากระออก คำว่าท่อมนั้นใกล้เคียงกับคำว่าทอมมากในสำเนียงภาษาถิ่น โดยธรรมเนียมของชาวบ้าน หากจะบรรยายอะไรที่มีมากหรือมีความเกินจากปกติ ก็จะมีการใส่คำนำหน้า เช่น โคตร ทวด พ่อ และแม่เป็นต้นเพื่อจะบ่งบอกให้รู้ว่าใหญ่กว่าปกติ จึงอาจจะไม่เป็นการแปลกที่ชาวบ้านยุคนั้นจะพูดถึงสถานที่แห่งหนึ่งที่มีต้นกระท่อมอยู่มากมายและอาจจะมีต้นใหญ่พิเศษอยู่ด้วยว่า "แม่ท่อม" และกลายมาเป็นแม่ทอมเมื่อมีการตั้งชื่อหมู่บ้านตามความสะดวกหูและปากของเจ้านายจากกรมเมือง เนื่องจากที่ตรงที่เรียกว่าแม่ทอมนั้นอยู่ใกล้บึงใหญ่ บึงจึงมีชื่อว่าแม่ทอมหรือทอมไปด้วยโดยปริยาย ส่วนนิทานเรื่องไหเงินไหทองนั้นก็เป็นเรื่องที่เล่ากันมาจริงๆ แต่น่าจะมาแต่งกันขึ้นในยุคกำนันรุย เพราะมีสถานที่ในเรื่องซึ่งเพิ่งมาเกิดทีหลังที่เรียกว่า"ท่าโคก"เข้ามาเกี่ยวข้อง เล่ากันว่าว่าไหเงินไหทองจะเคลื่อนตัวเองขึ้นมาจากบึงอาบแดดอยู่บนลานท่าโคก แต่ท่าโคกเคยเป็นป่าต้นกระท่อมก่อนที่จะถูกถางทำเป็นที่สวน ซึ่งมีลักษณะเป็นลานเตียน

อีกจุดหนึ่งตามลักษณะทางภูมิศาสตร์โบราณของแม่ทอมซึ่งเป็นจุดน่าสนใจ หากใครเชื่อตามตามนัยแห่งคัมภีร์พระเวทย์ (Vedas)ในศาสนาพราหมณ์ซึ่งเชื่อว่าที่ๆลำน้ำสองสายมาบรรจบกันคือที่ศักดิ์สิทธิ์ จุดนี้คือบริเวณใกล้ๆบ้านของต้นตระกูลสุขสว่าง เป็นจุดที่ทอมมาเชื่อมต่อกับคลองอู่ตะเภา เมื่อตอนเด็กๆเคยได้ยินผู้เฒ่าผู้แก่หลายคนบอกว่าจุดที่ทอมและคลองอู่ตะเภาบรรจบกันนั้นอยู่ที่ท่าน้ำเยื้องๆกับบ้านพ่อของท่านอดีตนายกเกษม เพราะมีอุโมงค์ธรรมชาติขนาดใหญ่อยู่ใต้ดินตรงท่าน้ำ ชาวบ้านเชื่อกันว่าอุโมงค์นี้เชื่อมคลองอู่ตะเภาและบึงทอมอยู่ด้วยกัน หลังจากได้ศึกษาภาพถ่ายทางดาวเทียมจึงรู้ว่าจุดบรรจบจริงๆของทอมและคลองอู่ตะเภาอยู่ที่ใกล้ๆบ้านลุงเปี้ยน

พูดถึงลุงเปี้ยน สุขสว่าง คนรักศิลปะท่านหนึ่งของแม่ทอม แกมีความสามารถในทางแกะสลักหยวกกล้วยเป็นลวดลลายต่างๆ ซึ่งความรู้อันนี้ได้รับการถ่ายทอดไปยังลูกชายคือหลวงแอบ ป้าจันสุกเมียของแกเป็นคนช่างพูดและมีมนุษยสัมพันธ์ดีเยี่ยม สืบทอดมาถึงหลวงเอิบลูกชายหัวแก้วหัวแหวนคนเล็ก ลูกๆส่วนใหญ่ก็มีหัวไปในทางศิลป์และการแสดง ลูกๆของแกเคยตั้งคณะกลองยาว เด็กๆยุคโน้นจำลุงเปี้ยนได้ดีในฐานะคนที่สูบยาใบจากมวนโตที่สุดในโลก ทุกๆวันพฤหัส ลุงเปี้ยนจะไปถึงตลาดนัดคูเต่าก่อนใครเพื่อเลือกซื้อใบจากที่ใบใหญ่ที่สุด แกมีความชำนาญในการมวนมาก แกจะเอาใบจากที่ตัดได้ขนาดหลายๆใบมาประกอบกัน มวนได้ขนาดข้อมือเด็ก ดูดควันโขมงขนาดเอาไปไล่ผึ้งรังใหญ่ได้สบายๆ เจ้าของยาใบจากมวนใหญ่ที่สุดในโลกก็ให้ต้องประสบเคราะห์กรรมเช่นเดียวกับ Marlboro Manคือเป็นมะเร็งที่ปอด ลุงเปี้ยนจากไปนานแล้ว แต่ตำนานของแกยังเหลืออยู่ ลูกหลานของแกก็เป็นคนดีทุกคน แต่ก็ไม่รู้ว่าเป็นคนไหนที่สืบทอดยามวนใหญ่ที่สุดในโลกกันต่อไป

23 มกราคม 2553

กำลังจะตาย แต่ทำไมถึงต้องใส่กระจับ?

เป็นที่ได้ยินกันอยู่บ่อยๆถึงการการสละชีวิตตัวเองของคนจะนวนหนึ่งในประเทศมุสลิมเพื่อที่จะให้คนอื่นได้พลอยตายไปด้วย หลายๆคนตั้งคำถามว่าทำไมเขาถึงกล้าที่จะทำอย่างนั้น เขาไม่มีความรักและเสียดายในชีวิตของตัวเองและผู้อื่นหรือ? ศาสนาอิสลามสอนอย่างนั้นจริงหรือ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ชาวมุสลิมส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยและเชื่อว่าไม่ได้อยู่ในคำสอน แต่ก็ยังมีคนที่เรียกตัวเองว่ามุสลิมยังทำอยู่โดยอ้างว่าเป็นการทำเพื่อการพิทักษ์อิสลามตามที่กำหนดอยู่ในพระคัมภีร์

ในประเทศทางตะวันออกกลาง หากมีการจับตัวคนที่กำลังจะระเบิดตัวเองและทำให้คนอื่นพลอยตายได้ก่อนที่จะปฏิบัติการได้สำเร็จ เมื่อมีการตรวจค้นตัวซึ่งนอกจากจะพบระเบิดแล้ว ก็จะพบว่าหากบุคคลดังกล่าวเป็นผู้ชาย ก็จะมีการใส่อุปกรณ์คล้ายๆกระจับนักมวยเพื่อปกป้องอวัยวะเพศ ทีแรกก็เป็นเรื่องน่าพิศวงสำหรับพนักงานสอบสวน ว่าในขณะที่คนเหล่านี้รู้ว่าตัวเองกำลังจะตายแล้ว แต่ทำไมยังมาเป็นห่วงอวัยวะเพศของตัวเอง หลังจากมีการสอบสวนถึงรายละเอียด จึงพบว่าคนเหล่านี้มีความเชื่อว่าหากเขายอมตายเพื่ออิสลาม เขาจะได้เข้าเฝ้าและได้อยู่ในสวรรค์กับพระอัลเลาะห์ ด้วยคุณงามความดีอันนี้ พระอัลเลาะห์ จะประทานหญิงสาวบริสุทธิ์จำนวน ๔๐ นางให้เป็นภรรยา บรรดาบุคคลผู้พลีชีพเพื่อศาสนาตามที่เขาเชื่อเหล่านี้จึงต้องการที่จะปกป้องชิ้นส่วนสำคัญเอาไว้ไม่ให้ขาดหายไปเพราะแรงระเบิด ก็เป็นที่น่าเห็นใจคนที่กำลังจะไปมีเมียสาวๆถึง๔๐คนในเวลาเดียวกัน หากไปถึงเมืองสวรรค์ในลักษณะที่กุดเหลือแต่ตอ สาเหตุที่เขาเหล่านั้นต้องใส่กระจับในการปฏิบัติการจึงเป็นเรื่องสมเหตุสมผลอย่างยิ่ง

พวกหัวรุนแรงแถวบ้านเราก็เอาอย่าง แต่ก็ยังไม่ถึงขนาดพลีชีพ มักจะก่อเหตุตามที่ชุมนุมชนสาธารณะและห้างสรรพสินค้า หากเป็นถึงขนาดนั้นเมื่อไหร่ก็ขอแนะนำให้ทางการหรือเจ้าของกิจการจัดวิธีป้องกัน ซึ่งคงจะไม่ยากนักเมื่อได้ทราบความจริงที่กล่าวถึง ซึ่งทำได้โดยการจัดให้รปพ. คอยสังเกตุหาคนที่บริเวณตรงระหว่างขามีความตุงมากกว่าปกติ หากสงสัยไม่แน่ใจก็ให้ขอคลำดู ในส่วนของผู้หญิงนั้นก็มีข่าวเหมือนกันว่าได้เข้าร่วมขบวนการระเบิดพลีชีพเหมือนกัน แต่ก็ไม่มีการยืนยันเกี่ยวกับรางวัลที่จะได้รับจากพระอัลเลาะห์ แต่คาดกันว่าอาจจะเป็นไปในลักษณะเดียวกันเพื่อความยุติธรรม คือจะได้รับการประทานชายหนุ่มบริสุทธิ์๔๐คนมาให้เป็นสามี ซึ่งอาจจะมีส่วนเป็นแรงจูงใจให้ผู้หญิงเข้าร่วมขบวนการมากขึ้น ดังนั้นการสงวนอวัยวะส่วนสำคัญเอาไว้ใช้งานในสวรรค์ก็คงจะต้องเป็นไปในทำนองเดียวกัน การป้องกันตามห้างสรรพสินค้าก็น่าจะช้วิธีเดียวกันกับผู้ชาย แต่การสังเกตุขนาดคงจะใช้ไม่ได้ผลเพราะการแต่งตัวต่างกัน คงจะมีวิธีคลำอย่างเดียวที่ใช้ได้ผลที่สุด อาชีพรปพ.ห้างสรรพสินค้าคงจะกลายเป็นอาชีพยอดนิยม

เนื่องจากชายหนุ่มและหญิงสาวบริสุทธ์ในยุคนี้ค่อนข้างจะหายากทั้งในโลกมนุษย์และสวรรค์ ในโลกมนุษย์นั้นนิยมเอาไปเล่นไปลองกันตั้งแต่อายุยังไม่ถึง๑๕เสียเป็นส่วนมาก อีกทั้งผู้ที่ล่วงหน้าไปก่อนแล้วและมีสิทธิ์ที่จะได้รับรางวัลก็มีอยู่เป็นจำนวนมาก อาจจะมากเกินกว่าจำนวนชายหนุ่มและหญิงสาวบริสุทธ์ที่พระอัลเลาะห์จะหามาให้ได้ทันความต้องการ อาจจะมีการเปลี่ยนกฏเกณฑ์บ้างเพื่อความเหมาะสม เช่นแทนที่จะเป็นชายหนุ่มบริสุทธิ์ก็จะเป็นชายแก่บริสุทธิ์และได้ยาไวอากร้าเป็นของแถม ส่วนหญิงสาวบริสุทธิ์ก็กลายเป็นสาวแก่บริสุทธิ์อายุ๗๐ คงจะเหนียวหนึบๆเหมือนเคี้ยวขี้ยาง ด้วยเหตุนี้แนวโน้มของพวกระเบิดพลีชีพในตะวันออกกลาง ปากีสถาน และอัฟกานิสถานจึงน่าจะลดลงอย่างรวดเร็วในอนาคต

16 มกราคม 2553

เกี่ยวกับหนังสือที่บังพูดถึงในโปรไฟล์

มีผู้อ่านหลายท่านได้อ่านprofileของบัง แล้วอยากจะทราบว่าทำไมบังจึงชอบหนังสือสามเล่มที่พูดถึง บังเลยถือโอกาสตอบเสียพร้อมกันที่นี่ เผื่อว่ามีใครอยากรู้อีกก็จะได้ไม่ต้องเสียเวลาถาม ถือว่าเป็นการแนะนำหนังสือดีในทรรศนะของบังไปในตัวด้วยก็แล้วกัน

Heart-wood from the Bo Tree หรือ"แก่นพุทธศาสตร์" เป็นบทความที่ถอดจากเทปคำบรรยายของท่านพุทธทาสที่โรงพยาบาลศิริราชเมื่อปีพ.ศ.๒๕๐๕ ได้มีการแปลเป็นหลายภาษารวมทั้งภาษาอังกฤษ บังเลือกที่จะอ้างอิงเป็นภาษาอังกฤษเพราะจะได้เป็นสากลมากขึ้น ถึงแม้ว่าบล็อกศาลาทอมจะเป็นภาษาไทย แต่คนที่ท่องอินเทอเน็ตมาเจออาจจะไม่ใช่คนที่ใช้และเข้าใจภาษาไทยเสมอไป แก่นพุทธศาสตร์เป็นธรรมะขั้นลึกและเป็นตัวแท้ของพุทธศาสนาที่ท่านพุทธทาสได้ค้นคว้าจากพระไตรปิฏก ซึ่งมีทั้งน้ำและเนื้อปะปนกันอยู่ ซึ่งจริงๆแล้วไม่มีอะไรมาก แต่ค่อนข้างยากที่จะเข้าใจ ท่านจึงเลือกที่จะบรรยายเรื่องนี้ให้กับพวกที่มีสติปัญญาแก่กล้าเช่นนักศึกษาแพทย์และนายแพทย์เป็นการเริ่มต้น โดยสรุปการบรรยายทั้งสามตอนเป็นเรื่องของการทำจิตให้ว่างจากการยึดถือในตัวตน เนื่องจาก"ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา" ซึ่งหมายความว่าสรรพสิ่งที่เราสัมผัสโดยอายตนะนั้นจริงๆไม่ใช่ตัวตน(self) ความทุกข์เกิดจากการที่เราไปยึดติดอยู่กับสิ่งเหล่านั้น เลิกยึดถือเมื่อไหร่ ความว่างก็จะปรากฏขึ้น พุทธศาสนาก็มีอยู่แค่นั้นเอง คนสมัยพุทธกาลจึงสามารถบรรลุธรรมกันได้ง่ายๆเพราะคำสอนยังตรงไปตรงมาและไม่เพี้ยนจนหาของเดิมแทบไม่เจอในปัจจุบัน อยากจะอธิบายมากกว่านี้ แต่ยิ่งพูดมากก็ยิ่งทำให้เลอะเลือน


The Foundation เป็นงานเขียนของ Isaac Asimov นักเขียนนวนิยายวิทยาศตร์ผู้ยิ่งใหญ่ตลอดกาล เขาเริ่มเขียนเรื่องนี้เมื่อตอนเขาอายุได้๒๑ปี ในขณะที่กำลังเป็นนักศึกษาในสาขาbiochemistryอยู่ที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบียประเทศสหรัฐอเมริกาเมื่อประมาณปีค.ศ.๑๙๔๒ เขาเอาประวัติศาสตร์การล่าอาณานิคมของมหาอำนาจในยุโรปเมื่อศตวรรษที่แล้วและการค้นพบใหม่ทางวิทยาศาสตร์ในช่วงนั้นมาผนวกกันและแต่งเป็นนิยาย การค้นพบทางวิทยาศาสตร์ในตอนนั้นก็คือการค้นพบปรากฎการณ์ต่างๆในระดับอะตอมซึ่งไม่สามารถทีจะอธิบายได้โดยกฏเกณฑ์ของวิชาฟิสิกส์ที่มีอยู่ จึงได้มีการพัฒนาวิชาฟิสิกส์แขนงใหม่ขึ้น ที่เรียกว่าQuantum Mechanicsหรือกลศาสตร์ควอนตัม เพื่อที่จะใช้อธิบายปรากฎการณ์ใหม่ที่เพิ่งค้นพบ โดยเนื้อหา อนุภาคพื้นฐานเช่นอีเลคตรอนเมื่อมีอยู่เพียงตัวเดียวหรือจำนวนน้อยๆ ไม่มีใครสามารถที่จะบอกได้ถึงพฤติกรรมของมัน แต่ถ้าหากมันอยู่ด้วยกันจำนวนมากๆ กฏเกณฑ์ของกลศาสตร์ควอนตัมซึ่งเป็นสมการทางคณิตศาสตร์ก็สามารถที่จะนำมาใช้คำนวณและเข้าใจพฤติกรรมของกลุ่มอีเลคตรอนเหล่านั้นได้ Asimovเลยคิดว่า หากเขาเอาสมการดังกล่าวมาใช้กับกลุ่มคนจำนวนมากบ้าง เขาก็คงจะสามารถที่จะทำนายความเป็นไปในสังคมมนุษย์ได้ แต่เนื่องจากจำนวนพลโลกน้อยเกินไปที่จะใช้สมการในการทำนายอนาคตของสังคมได้อย่างแม่นยำ เขาเลยเอาความคิดเรื่องอาณานิคมระดับทวีปและโลกไปใช้ในระดับกาแลกซี เขาจินตนาการว่าในอนาคตคนจากโลกจะออกไปสร้างอานานิคมในโลกอื่นๆซึ่งมีอยู่เป็นล้านๆโลกในกาแลกซี่ทางช้างเผือกที่ระบบสุริยะตั้งอยู่ ความสนุกของเรื่องจึงเริ่มขึ้น หลังจากที่การอพยพออกไปตั้งอาณานิคมในกาแลกซี่ได้หลายพันปี ได้มีนักคณิตศาสตร์ชื่อHari Seldonซึ่งอยู่บนโลกชื่อทรานสตอร์ ได้ค้นพบสมการที่สามารถใช้คำนวณทำนายอนาคตได้อย่างแม่นยำ เขาเลยกลายเป็นคนที่บรรดาผู้มีอำนาจในโลกต่างๆต้องการตัว นอกนั้นก็เป็นความสนุกของเรื่องที่ได้รับการสอดใส่เข้าไปตามแบบนวนิยายโดยทั่วๆไป แต่ก็ยังคงนำเสนอความคิดที่น่าสนใจหลายอย่าง เช่นในบางโลก ทุกสิ่งทุกอย่างรวมกันเป็นหนึ่ง โลกทั้งโลกมีพฤติกรรมเหมือนคนๆหนึ่งแต่คนและสัตว์บนโลกนั้นทำหน้าที่ของตัวเองไปอย่างอิสระ เขาคงจะได้ความคิดมาจากร่างกายของคนหรือสัตว์ ซึ่งมีชีวิตอิสระนาๆชนิดที่อาศัยอยู่ในตัว ทำหน้าที่ของตัวเองไปโดยที่ไม่ได้ถูกควบคุมโดยตรงจากร่างกายเจ้าของ เช่นเม็ดโลหิตขาวที่ช่วยทำลายเชื้อโรค แบคทีเรียในกะเพาะที่ช่วยย่อยอาหาร และฯลฯ มีคนเคยแปลนิยายชุดนี้เป็นภาษาไทยหลายครั้ง แต่ส่วนใหญ่สร้างความเสียหายให้ของเดิมเพราะคนแปลอาจจะไม่เข้าใจถึงเนื้อหาตามที่ตาAsimovตั้งใจ ซึ่งต้องอาศัยพื้นความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่ค่อนข้างลึกซึ้งในฐานะคนแปล แต่ถ้าอ่านเองคนเดียวก็ไม่เป็นไร

The Tao of Physics เป็นงานเขียนของ Fritjof Capra นักฟิสิกส์ชาวออสเตรีย หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือขายดีอยู่หลายปี พิมพ์มาแล้วเป็นสิบๆครั้ง Capra ได้ค้นคว้าปรัชญาตะวันออกและเอาไปเปรียบเทียบกับวิชาฟิสิกส์ แกสรุปว่าจริงๆแล้วจุดประสงค์ของฟิสิกส์และศาสนาขั้นลึกซึ้งนั้นใกล้เคียงกัน คือความต้องการที่จะเข้าใจและอธิบายสรรพสิ่ง เพียงแต่วิธีการที่ใช้นั้นต่างกัน เขาพบว่าว่าในบรรดาศาสนาทั้งหมด หลักการทางศาสนาพุทธและกฎเกณฑ์ทางฟิสิกส์นั้นคือแนวคิดอันเดียวกัน คนที่คิดค้นทฤษฏีทางกลศาสตร์ควอนตัมเช่นบอร์ โชดิงเจอร์ และไฮเซนเบิร์กนั้นไปได้ความคิดเกี่ยวกับ"สุญญตา"มาจากธิเบต แล้วนำมาใช้เป็นพื้นฐานทางปรัชญาในการตีความผลจากการแก้สมการของกลศาสตร์ควอนตัม สาเหตุที่การตีความผลของการแก้สมการเป็นเรื่องยาก ก็เพราะมันเป็นเรื่องที่ไม่มีในชีวิตประจำวันที่เราคุ้นเคย ตัวอย่างเช่นกลศาสตร์ควันตัมทำนายเกี่ยวกับปรากฎการณ์ที่เรียกว่า Tuneling ซึ่งขยายความออกได้ในลักษณะที่ว่า ถ้าหากใครคนหนึ่งกระโดดเข้าหากำแพงที่ทำด้วยวัสดุอะไรก็ตาม โอกาส(probability)ที่เขาจะไปปรากฏอยู่อีกข้างหนึ่งของกำแพงโดยที่กำแพงร่างกายของเขายังคงสภาพเดิม๑๐๐%นั้นมีอยู่ ซึ่งปรากฎการณ์นี้ได้รับการพิสูจน์โดยทางอ้อมแล้วว่าเป็นจริง แต่คงจะไม่มีใครอยากลองกระโดดเข้าหากำแพงเพื่อทดสอบ เพราะถึงแม้ว่าความเป็นไปได้นั้นมีอยู่ แต่ก็มีอยู่น้อยมาก

หากใครอยากอ่านหนังสือทั้งสามเล่ม บังมีฉบับอีเลคทรอนิคส์ภาษาอังกฤษอยู่(pdf) ส่วนของท่านพุทธทาสมีภาษาไทยด้วย ใครอยากได้ก็อีเมลล์มาบอก แล้วบังจะส่งไปให้ สองเล่มหลังลงเว็ปไม่ได้เพราะเป็นลิขสิทธิ์ของเจ้าของ ส่วนของท่านพุทธทาสนั้นเป็นที่แน่นอนว่าท่านไม่ถือลิขสิทธิ์ เพราะท่านได้ปล่อยวางทุกสิ่งทุกอย่างไปแล้วตั้งแต่เมื่อสมัยที่ท่านยังมีชีวิตอยู่

09 มกราคม 2553

หมอเลาะ

หมอเลาะเป็นลูกชายของหวะแหมะ มีพี่ชายชื่อบังหละซึ่งเป็นป๊ะของบังเส็นอดีตนายกอบตแม่ทอม หวะแหมะเป็นคนมีที่ดินเยอะ เป็นพื้นที่ตรงที่บังเส็นอยู่ในปัจจุบันไปจนถึงหนองเบา ที่แถวๆนาออกซึ่งในปัจจุบันเป็นสมบัติของพวกตระกูลธรรมชาติก็เคยเป็นของหวะแหมะ ที่สวนครงกันข้ามกับหลาทอมก็เคยเรียกกันว่าสวนหมอเลาะ หมอเลาะกับบังหละตกลงกันไม่ได้เรื่องมรดก เรื่องไปถึงศาล ทรัพย์สินจำนวนมากต้องถูกขายไปเพื่อนำไปใช้เป็นค่าทนายและค่าใช้จ่ายอื่นๆในการทำคดีความ ในที่สุดแทนที่จะได้กันเต็มเม็ดเต็มหน่วยก็เหลืออยู่เพียงน้อยนิด หมอเลาะและบังหละก็ให้มีอันต้องขาดความเป็นพี่น้องจวบจนกระทั่งวาระสุดท้ายของชีวิต
หมอเลาะไม่ได้เป็นหมอผ่าตัดหรือฉีดยารักษาคนไข้ในโรงพยาบาลหรือคลีนิค แต่แกเป็นหมอผี เล่ากันว่าหมอเลาะแกเลี้ยงผีเอาไว้มากมายในหนำของแกซึ่งอยู่ค่อนไปทางหนองเบา ซึ่งเป็นบริเวณป่ารกทึบในสมัยก่อน ที่ตรงปากคูเคยเป็นป่าช้าเก่าและมีต้นตะเคียนใหญ่อยู่มากมายหลายต้น ไม่มีใครอยากจะเดินเข้าไปแถวนั้นเพราะกลัวผีที่หมอเลาะแกเลี้ยงเอาไว้ เล่ากันว่าวันดีคืนดีแกจะปล่อยผีของแกออกมาเที่ยวอาละวาดในละแวกนั้น ใครผ่านเข้าไปก็ต้องวิ่งหนีกันชนิดไม่คิดชีวิต ก่อนที่จะอยู่คนเดียวและเอาผีมาเลี้ยงไว้เต็มหนำนั้น บังเลาะแกเคยอยู่ที่บ้านอีกแห่งหนึ่งซึ่งไม่ห่างออกไปนัก แกอยู่กับป้าจันซึ่งเป็นเมียของแก แกมีลูกหลายคน คนโตสุดคือป้าแหมะไหลหรือแดงภรรยาท่านจวน บัวสายประธานสภาฯ เจ้าแม่ข้าวหลามรายใหญ่ของแม่ทอมในปัจจุบัน ส่วนนอกนั้นจมน้ำตายไปบ้าง ไข้ตายไปบ้างตั้งแต่ยังเด็ก อาจะมีลูกชายของแกอีกคนหนึ่งที่ชื่อเสิดที่ยังเหลืออยู่ เอกลักษณ์ของลูกๆหมอเลาะก็คือจะพูดมึงกูกับทุกคนไม่ว่าเด็ก ผู้ใหญ่ หรือครู จนเป็นคำพูดเปรียบเทียบติดตลกของชาวบ้าน หากใครพูดมึงกูกับผู่ใหญ่ก็จะโดนเปรียบเปรยในเชิงขบขันว่าเป็นลูกหลานหมอเลาะ จริงๆแล้วหมอเลาะนอกจากจะเป็นคนหน้าตาดีหล่อเหลาแล้ว แกยังเป็นคนที่เป็นคนหัวดีฉลาดหลักแหลม และทันสมัย ป้าแหมะไหลก็เป็นคนหัวดีเรียนหนังสือเก่ง แต่ก็เป็นที่น่าเสียดายที่ไม่ได้เรียนต่อ แต่ก็ยังคงถ่ายทอดเอาความสามารถไปสู่รุ่นลูกให้ได้ประสบความสำเร็จในการเรียนระดับสูงในเวลาต่อมา

สาเหตุที่หมอเลาะได้ตั้งตัวเป็นหมอผีนั้นคงจะมีน้อยคนนักที่รู้สาเหตุที่แท้จริง โดยทั่วไปแล้วชาวบ้านแทบทั้งหมดจะคาดไปไม่ถึง ถึงแผนการอันแยบยลของแกในการอยู่รอด เมื่อช่วงราวๆปีพ.ศ.๒๔๙๐นั้น ในตำบลแม่ทอมมีเสือร้ายรายหนึ่งที่มีชื่อเสียงโด่งดังในทางปล้นสดมภ์มาอย่างโชกโชน เรียกกันว่าเสือหลี ลักษณะการปล้นของเสือหลีนั้นเล่ากันว่าเป็นไปแบบในหนังไทย คือจะมีการประกาศยี่ห้อในขณะที่เข้าทำการปล้น ด้วยเหตุนี้เสือหลีจึงมีชื่ออยู่ในบัญชีจับตายของตำรวจมานาน เสือหลีมีเมียชื่อยายเชือบ เคยมีบ้านอยู่ห่างจากบ้านบังเส็นไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ๕๐๐เมตร มีลูกชายหญิงเล็กๆอยู่หลายคนในขณะนั้น ด้วยเหตุผลใดไม่ปรากฎชัด บังเลาะนั้นไม่ถูกกับเสือหลี แกจึงหาทางกำจัดเสือหลีโดยการไปแจ้งเบาะแสให้ตำรวจที่หาดใหญ่มาจับเมื่อแกรู้ว่าเสือหลีกลับมาอยู่กับเมียที่บ้าน ซึ่งจะมาเพียงเป็นครั้งคราว นอกนั้นจะไปซ่อนตัวอยู่ที่อื่น เสือหลีก็เป็นนกรู้ ส่วนมากก็จะสามารถหลบเลี่ยงไปได้ก่อนที่ตำรวจจะมาถึง แต่จนแล้วจนรอดก็พลาดเข้าจนได้ในคราวหนึ่ง ตำรวจมาล้อมบ้านอยู่ตั้งแต่หลังเที่ยงคืน พอตอนย่ำรุ่งตำรวจจึงประกาศให้เสือหลีออกมามอบตัว มีหรือที่เสือหลีจะยอม เพราะเคยทั้งปล้นทั้งฆ่าเจ้าทรัพย์มาหลายราย โดนจับก็คงจะโดนประหาร เสือหลีจึงแหกวงล้อมออกมา หนีออกไปทางสวนยางริมพรุพร้อมกับลูกน้อง ยิงต่อสู้กับตำรวจดังสนั่นหวั่นไหว เสือร้ายพลาดท่าโดนกระสุนของตำรวจตายคาที่ ลูกน้องก็เลยยอมมอบตัว บังเลาะในฐานะคนนำจับเลยกลายเป็นคนดัง ตำรวจและเจ้าหน้าที่สดุดีเสร็จแล้วก็กลับไป เสือหลีก็ไม่ใช่คนไร้ญาติและพรรคพวก บังเลาะจึงตกเป็นเป้าของการล้างแค้นอย่างช่วยไม่ได้ ทางการตอบแทนหมอเลาะด้วยเงินนำจับนิดหน่อย ไม่พอแม้กระทั่งจะเอาไปซื้อปืนดีๆมาไว้ป้องกันตัว ทางการก็เลยอนุญาตให้แกซื้อโค้ลท์ตราควายกระบอกหนึ่งและให้ไปขึ้นทะเบียนได้ถูกต้องตามกฏหมาย

บังเลาะเริ่มระวังตัวเป็นอย่างมากเพราะลูกน้องเสือหลีที่ยังไม่ถูกตะครุบยังมีอีกมากมาย บังเลาะทิ้งลูกๆเอาไว้กับป้าจัน ส่วนตัวเองออกไปทำหนำอยู่ที่ป่าใกล้ๆหนองเบา บ้านล้อมด้วยหนามนาๆชนิดหลายชั้น คนเริ่มเล่าลือเรื่องหมอเลาะเลี้ยงผีขึ้นทีละน้อย เวลาผ่านไป จากปีเป็นหลายปี จากหลายปีเป็นสิบปี หลายๆคนก็ลืมเรื่องนี้ไป คนรุ่นใหม่ก็ได้ยินบ้างจากการบอกเล่าของคนรุ่นก่อน หมอเลาะก็ยังอยู่รอดปลอดภัย กิตติศัพท์เรื่องผีหมอเลาะที่ห้อยโหนอยู่ตามต้นไม้รอบๆหนำของแกก็มีการเล่าลืออย่างพิศดารเป็นที่ขนพองสยองเกล้า หมอเลาะก็ขลังขึ้นเรื่อยๆในความรู้สึกของชาวบ้าน ไม่มีใครอยากจะเดินผ่านไปทางหนำของแกทั้งกลางวันกลางคืน

ประมาณปีพ.ศ. ๒๕๑๒  วันหนึ่งเวลาโพล้เพล้ เป็นเวลากินข้าวค่ำของชาวแม่ทอมสมัยโน้น ท่ามกลางความเงียบสงัด ใครๆก็ต้องสะดุ้งเมื่อได้ยินเสียงปืนดังสั่นขึ้นหนึ่งนัด และตามด้วยเสียงตีเกราะจากบ้านนายบ้านเกลี้ยงประมาณ๑๕นาทีต่อมา ใครๆในละแวกนั้นจึงรู้ว่าบังเลาะโดนยิงด้วยตราควายเข้าที่หลังในขณะกำลังนั่งกินข้าว แกยังพอพูดได้อยู่จึงมีการนำแกส่งโรงพยาบาลหาดใหญ่ การเข้าเมืองหาดใหญ่ในสมัยนั้นมีแต่ทางเรือ รถยนต์ในหมู่บ้านไม่มีเลยเพราะถนนยังคงเป็นทางเดินเ้ท้า เรือหางยาวแถวนั้นก็ไม่มี หมดทางเลือก ชาวบ้านหลายคนจึงเอาแกใส่รถรุนเข็นไปโรงพยาบาลที่หาดใหญ่ สะพานที่นารังนกก็ยังไม่มี จึงเข็นกันไปทางท่าแซ บังเลาะไปขาดใจตอนใกล้สว่างเพราะเสียเลือดไปมากที่กุโมท่ายาว ห่างจากหาดใหญ่แค่ไม่ถึง๒กิโเมตร นับว่าแกตายได้ถูกที่และถูกเวลา เพราะกุโมอยู่ริมถนน ไม่ต้องเดือดร้อนคนให้ต้องหาที่ฝังให้ลำบาก พอรุ่งเช้าเขาก็เลยฝังศพแกไว้ที่นั่น

ในที่สุดก็มีคนฝ่าดงผีเข้าไปฆ่าแกจนได้ หลังจากเสือหลีโดนตำรวจยิงตายไปแล้วเกือบ๒๐ปี ก็นับว่าแกฉลาดมากที่แกสามารถสร้างผีนาๆชนิดขึ้นมาได้อย่างแนบเนียน ช่วยหลอกหลอนแหกตาศัตรู ช่วยคุ้มกันภัยให้กับตัวเองได้ แต่ก็เป็นที่น่าเสียดายที่ความชะล่าใจว่าเรื่องมันผ่านมานานต้องทำให้แกต้องมาจบชีวิตลงก่อนเวลาอันสมควร เมื่อตอนที่แกโดนลอบทำ้ร้ายเสียชีวิตนั้น รั้วหนามสามชั้นรอบหนำถูกปล่อยปละละเลยจนกั้นอะไรไม่ได้เหมือนเมื่อก่อน

05 มกราคม 2553

หนังสือเรื่องแก่นพุทธศาสน์ (ตอนที่๑)


คำนำ

หนังสือเรื่องแก่นพุทธศาสน์

เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๕o๔ ท่านพุทธทาสภิกขุ ได้เข้ามากรุงเทพฯ เพื่องานประกาศธรรมะ คณะนายแพทย์แห่งโรงพยาบาลศิริราช ร่วมด้วยนักศึกษาวิชาแพทย์ ณ โรงพยาบาลนั้น ได้นิมนต์ท่านแสดงปาฐกถารวม ๓ ครั้ง ปรากฏว่าข้อความที่ท่านแสดงนั้น คือ ใจความทั้งหมดของพระพุทธศาสนา อันเป็นเรื่องย่อเอาแต่แก่นของพุทธธรรมมากล่าว เหมือนกับบอกว่าสิ่งที่สำคัญที่ชาวพุทธควรศึกษา ควรปฏิบัติ อยู่ที่ตรงนี้ เป็นการตัดปัญหายุ่งยากมีประการต่าง ๆ ที่ชอบเถียงกันในเรื่อง หลักของพุทธธรรม ท่านนำพระพุทธดำรัสมาบอกให้ทราบว่า "ใจความแท้ ๆ" นั้นคืออะไร ?

ต่อมาท่านแสดงอีกครั้งถึงเรื่อง "ความว่าง" อันเป็นใจความสำคัญที่ควรสนใจมาก เราได้ยินพุทธภาษิตบททนื่งว่า นิพฺพานํ ปรมํ สุญฺญํ อันแปลว่า พระนิพพานเป็นความว่างอย่างยิ่ง แต่ยังไม่ทราบชัดว่า ว่าง อย่างไร ความว่างอยู่ที่ตรงไหน ถ้าได้ฟังกัณฑ์นี้อันว่าด้วยความว่างแล้วจะชัดเจนขึ้นและมองเห็นว่า "พระนิพพาน" เป็นสิ่งที่ทุกคนอาจเข้าถึงได้ในชีวิตนี้

ครั้งต่อมาท่านพูดถึงเรื่อง วิธีปฏิบัติเพื่อเป็นอยู่ด้วยความว่าง เป็นการชี้ทางให้เดินตรงไปตามแนวนี้ เป็นเรื่องที่ชาวโลกผู้หมกมุ่นโนการงานควรศึกษา พึงนำมาปฏิบัติในชีวิตประจำวัน เพราะการปฏิบัติตนตามวิธีเพื่อเป็นอยู่ด้วยความว่างจะช่วยให้อยู่อย่างสงบ ปองกันโรคทางวิญญาณได้เป็นอย่างดี

ปาฐกถาทั้งสามครั้งนี้ เป็นที่พอใจคณะนายแพทย์เป็นอย่างมาก จึงได้ถอดจากเครื่องอัดเสียงมาเป็นตัวหนังสือ อ่านแล้วก็พอใจใคร่จะให้ได้อ่านกันทั่วถึง จึงคิดกันว่าควรจะพิมพ์เป็นเล่มให้แพร่หลาย ประจวบกับท่านพุทธทาส กำลังสร้าง โรงมหรสพทางวิญญาณ อยู่ นายแพทย์ผู้หนึ่ง ได้นำความเรื่องนี้ไปหารืออาตมา อาตมาเห็นด้วย หนังสือเล่มนี้จึงได้เกิดขึ้น ด้วยประการฉะนี้ ท่านซื้อหนังสือนี้ไปอ่าน ท่านได้กุศลทำบุญ ถึงสองสถาน กระสุนนัดเดียวได้นกถึงสองตัว

แต่ว่าหนังสือเรื่องนี้ เป็นธรรมะส่วนลึกในพระพุทธศาสนา ย่อมยากบ้างเป็นธรรมดา ผู้อ่านจึงด้องอ่านด้วยความตั้งใจ อ่านช้า ๆ คิดตามไปด้วย อย่าทิ้งเสียเมื่ออ่านบทแรกแล้วไม่เข้าใจ จงพยายามอ่านแล้วอ่านอีก อ่านด้วยจิตใจทีเยือกเย็น - สงบจนเข้าใจชัด ท่านจะได้รับประโยชน์ตามควรอย่างคุ้มค่าสมกับที่ ท่านได้พบพระพุทธศาสนา อย่างน้อย ๆ ท่านก็รู้เองว่า "แก่นแท้ของพระพุทธศาสนา" นั้นอยู่ตรงนี้เอง

ปัญญานันทะ



คำปรารภ

คณะ ผ.ช.ป.เล็งเห็นความสำคัญจากประโยชน์ในหนังสือ "แก่นพุทธศาสน'์' เล่มนี้ ว่าเป็นใจความที่เป็นแก่นแท้ทาง พุทธศาสนา อันเปรียบเสมือนรากแก้วที่หยั่งลึกลงไปในพื้นพิภพ ให้ความอุดมสมบูรณ์และความแข็งแกร่งต่อไม้ยืนต้นอย่างนิรันดร์กาล ความเป็นแก่นแท้ก็ดี รากเหง้าก็ดีในทางพุทธศาสนา ซึ่งพุทธบริษัททุกคนควรจะได้สัมผัส อย่างน้อยการได้อ่านและศึกษาสักเที่ยวหนึ่ง น่าจะเอื้ออำนวยให้ผู้อ่านสามารถจับใจความความสำคัญตามที่ท่านอาจารย์พุทธทาสภิกขุได้แสดงธรรมกถาไว้อย่างครบถ้วนบริบูรณ์ที่สุด

ไม่เป็นที่น่าสงสัยเลยแต่ประการใด ในการที่องค์การยูเนสโกแห่งสหประชาชาต,ิ ได้ตัดสินมอบรางวัลชนะเลิศหนังสือดีประจำปี พ.ศ. ๒๕๐๘ แก่ "แก่นพุทธศาสน'์' เล่มนี้

คณะ ผ.ช.ป. ขออนุโมทนาและกราบขอบพระคุณแด่ทุกท่านที่มีส่วนร่วมมือกันในการช่วยกันเข้าถึงพระธรรมอย่างถูกวิธี และช่วยกันจรรโลงพระพุทธศาสนาโดยถ้วนทั่วในวาระนี้ด้วย

ด้วยความปรารถนาดี

คณะเผยแพร่ชีวิตประเสริฐ





เรื่อง

ใจความทั้งหมด

ของพระพุทธศาสนา

พระราชชัยกวี (ภิกขุ พุทธทาส อินทปัญโญ)

ธรรมกถาในโอกาสพิเศษ ณ ชุมนุมศึกษาพุทธธรรม (ศิริราช)

ในอุปการะของคณะแพทย์ศาสตร์และศิริราชพยาบาล

มหาวิทยาลัยแพทย์ศาสตร์ ๑๗ ธันวาคม ๒๕o๔

------------------------------------------

ท่านสาธุชนผู้สนใจในธรรมทั้งหลาย!

โอกาสของการบรรยายครั้งเดียวเป็นพิเศษเช่นนี้ อาตมามีความเห็นว่า ควรจะได้กล่าวถึงเรื่องซึ่งเป็นใจความสำคัญเป็นข้อสรุปความของหลักธรรมะจะเหมาะกว่าอย่างอื่น ฉะนั้นจึงได้ตั้งใจที่จะกล่าวถึงใจความทั้งหมดของพระพุทธศาสนา โดยหวังอยู่ว่า ถ้าจับใจความหรือแนวที่เป็นใจความสำคัญทั้งหมดของ พุทธศาสนาได้แล้ว จะเป็นการง่ายสะดวกอย่างยิ่งในการที่จะศึกษาก้าวหน้าออกไปอย่างกว้างขวาง ถ้าจับใจความหรือแนวไม่ได้จะสับสน และจะรู้สึกว่ามันมากมาย แล้วจะเพิ่มขึ้น ๆ จนมากมายเทลือที่จะจำ จะเข้าใจ หรือจะปฏิบัติ

อันนี้เป็นมูลเหตุของความล้มเหลว เพราะทำให้เกิดความท้อถอย และมีความสนใจที่พร่าหรือลางเลือนออกไปทุกที ในที่สุดก็คล้าย ๆ กับว่า เหมือนกับแบกความรู้ตั้งมากมายเข้าไว้ แล้วไม่สามารถที่จะศึกษา หรือประพฤติปฏิบัติให้เป็นชิ้นเป็นอันได้.

ฉะนั้น ขอให้สนใจที่จะทบทวนหรือฟังในลักษณะที่จะจับใจความสำคัญทั้งหมดของพระพุทธศาสนา เพื่อจะได้ ความรู้ชนิดที่เป็นหลักมูลฐาน สำหรับ เข้าใจธรรมะอย่างถูกต้อง อาตมาขอเน้นตรงที่ว่ามันเป็นหลักมูลฐานเพราะความรู้ชนิดที่ไม่ใช่หลักมูลฐานก็มี และเข้าใจอย่างไม่ถูกต้องก็มี คือมันเขวออกไปทีละน้อย ๆ จนเป็นพุทธศาสนาใหม่ หรือถึงกับเป็นพุทธศาสนาเนื้องอก ที่งอกออกไปเรื่อย ๆ

ที่ว่า หลักพุทธศาสนาขั้นมูลฐาน นั้น หมายความว่ามันเป็นหลักที่มีจุด มุ่งเฉพาะไปยังความดับทุกข์ นี้อย่างหนึ่ง แล้วมันก็เป็นสิ่งที่ มีเหตุผลอยู่ในตัวมันเองที่ทุกคนอาจเห็นได้ โดยไม่ต้องเชื่อตามบุคคลอื่น นี้อย่างหนึ่ง นี่คือส่วนประกอบที่สำคัญของสิ่งที่เป็นหลักมูลฐาน

ถ้าเป็นสิ่งที่ไม่เป็นไปเพื่อความดับทุกข์พระพุทธเจ้าท่านทรงปฏิเสธไม่ยอมเกี่ยวข้องด้วย ไม่ยอมพยากรณ์ อย่างปัญหาที่ว่าตายแล้วเกิดหรือไม่ อะไรไปเกิด เกิดอย่างไร ได้รับผลอย่างไร อย่างนี้มันไม่ใช่เป็นปัญหาที่มุ่งตรงไปยังเรื่องความดับทุกข์ และยิ่งกว่านั้นมันยังไม่เป็นพุทธศาสนา ไม่เกี่ยวกับพุทธศาสนา ไม่อยู่ในขอบวงของพุทธศาสนา เพราะไม่ได้มุ่งหมายที่จะดับทุกข์ นี้อย่างหนึ่ง ;.แล้วอีกอย่างหนึ่งผู้ถามนั้นก็ได้แต่เชื่อตามผู้พูดดายไปเพราะว่าผู้ตอบ ก็ไม่อาจจะเอาอะไรมาแฉให้เห็นได้ ได้แต่พูดไปตามความจำและความรู้สึก ผู้ฟัง ก็ไม่อาจจะเห็นสิ่งนั้นได้ ก็ต้องเชื่อตามผู้พูดดายไป มันก็เลยเตลิดออกไปนอกเรื่องทีละนิด ๆ จนเป็นเรื่องอื่นไป ไม่เกี่ยวกับความดับทุกข์ และอยู่ในลักษณะที่ผู้ฟังต้องเชื่อตามผู้พูดอย่างหลับหูหลับตาเรื่อยไป แล้วเดินออกไปนอกขอบวงของความดับทุกข์ยิ่งขึ้นทุกที

ทีนี้ ถ้าหากว่าไม่ตั้งปัญหาอย่างนั้น จะตั้งปัญหาเรื่องว่า มีความทุกข์หรือไม่ และ จะดับทุกข์ได้อย่างไร นี่พระพุทธเจ้าท่านยอมตอบ ตอบทุก ๆ คำ ผู้ฟังจะเห็นจริงได้ทุกคำ โดยไม่ต้องเชื่อดายไป ไม่ต้องเชื่อตามผู้พูดดายไป ก็เลยยิ่งเห็นจริงขึ้นทุกที ๆ จนเข้าใจในเรื่องนั้นได้ และ ถ้าtข้าใจถึงขนาดทำความดับทุกข์ได้นั้น นั่นหมายถึงความเข้าใจที่เป็นไปถึงที่สุด จนถึงกับรู้ว่าแม้เดี๋ยวนี้ มันก็ไม่มีคนที่กำลังมีชีวิตอยู่ คือ มีความรู้ถึงขนาดที่มองเห็นโดยประจักษ์ว่า ไม่ได้มีตัวตนหรือของตน มันเป็นแต่ความรู้สึกว่าตัวกู - ของกู ที่รู้สึกขึ้นมาตามความโง่ ความเขลาที่ไปหลงตามสิ่งที่มาแวดล้อมปรุงแต่งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย อะไรเหล่านี้ พอมองเห็นชัดขนาดที่ดับทุกข์ได้อย่างนี้แล้ว สิ่งที่เรียกว่าตัวเรานั้นก็หายไป ความรู้สึกว่าตัวกู - ของกูเทล่านี้ไม่มีเหลืออยู่ เพราะฉะนั้นจึงไม่มีใครเกิดอยู่ที่นี่ มันจึงไม่มีใครตายแล้วไปเกิดใหม่ ปัญหาที่ถามว่าตายแล้วเกิดใหม่หรือไม่? จึงเป็นปัญหาที่เขลาที่สุด และไม่เกี่ยวกันกับพุทธศาสนาเลยเพราะเหตุนี้

เพราะเหตุว่า พุทธศาสนามุ่งหมายที่จะบอกให้รู้ว่า ไม่มีคนที่เป็นตัวเราหรือของเรานั้นไม่มี มีแต่ความเข้าใจผิดของจิตที่ไม่รู้สิ่งที่มีอยู่ก็เป็นเพียงแต่ร่างกายกับจิตใจ ซึ่งก็ล้วนแต่เป็นธรรมชาติ มันมีอาการเป็นกลไก mechanism ปรุงแต่งเปลี่ยนแปลงอะไร ได้อยู่ในตัวมันเอง ถ้าผิดวิธีก็เกิดความโง่ความหลงขึ้นมา จนทำให้รู้สึกว่า มีตัวเรามีของเรา ; ถ้าถูกวิธีมันก็จะไม่เกิดความรู้สึกอย่างนั้น แต่จะเป็นสติปัญญาอยู่ตามเดิม รู้แจ้งเห็นจริงอยู่ตามเดิม ว่าว่างจากตัวเราหรือของเรา

นี่เมื่อเป็นอย่างนี้ก็เป็นอันว่า ในขอบวงพุทธศาสนานั้น ไม่มีปัญหาที่ว่า ตายแล้วเกิดหรือไม่ อะไรทำนองนั้น แต่มีปัญหาว่าทุกข์หรือไม่ จะดับมันอย่างไร และก็รู้จักมูลเทตุให้เกิดทุกข์แล้วดับทุกข์เสียได้ และมูลเหตุให้เกิดทุกข์ก็คือความหลง ความเข้าใจผิดว่ามีตัวเรา - ของเรานั่นเอง

ฉะนั้น เรื่องตัวเรา เรื่องของเรา เรื่องตัวกู เรื่องของกู นี้ คือปัญหาเพียงอันเดียว ข้อเดียว และเป็นใจความสำคัญของพุทธศาสนาเพียงข้อเดียว เรื่องเดียวที่จะต้องสะสางให้หมดไป แล้วจะเป็นอันว่ารู้ เข้าใจ และปฏิบัติพุทธศาสนาทั้งหมดโดยไม่มีเหลือ เพราะฉะนั้น. ขอให้ตั้งใจฟังให้ดี.

ที่ว่าหลักมูลฐานนั้น มิส่วนที่เป็นหลักอยู่ไม่มากมาย จนถึงกับพระพุทธเจ้าท่านเรียกของท่านว่า "มันกำมือเดียว" มันมีเรื่องเพียงกำมือเดียว ไม่มากมายเต็มไปทั้งบ้านทั้งเมืองหรือทั้งป่า ซึ่งในสูตรที่มีอยู่ในสังยุตนิกายเล่าเรื่องนี้ไว้ชัดว่า ; เมื่อกำลังเดินกันอยู่ในป่า พระพุทธเจ้าท่านกำใบไม้ที่เรี่ยราดอยู่ขึ้นมากำมือหนึ่ง แล้วถามภิกษุทั้งทลายในที่นั้นว่า ใบไม้ที่กำขึ้นมานี้กับใบไม้หมดทั้งป่ามันมากน้อยกว่ากันกี่มากน้อย ทุกคนก็เห็นได้ว่า มันมากกว่ากันมาก จนเปรียบกันไม่ไหว ถึงแม้พวกเราที่นี่ เดี๋ยวนี้ก็ลองทำมโนภาพถึงของจริงในเรื่องนี้ดูให้เห็นชัดว่ามัน มากมายยิ่งกว่ากันเสียทีหนึ่งก่อน พระพุทธเจ้าจึงบอกว่านี่มันอย่างนี้ คือว่าเรื่องที่ตรัสรู้และรู้นั้นมันมาก เท่ากับใบไม้ทั้งป่า แต่เรื่องจำเป็นที่ควรรู้ ควรนำมาสอนและนำมาปฏิบัตินั้นเท่ากับ ใบไม้กำมือเดียว

ข้อความเรื่องนี้ มีคนเอาไปเขียนเป็นนวนิยายอย่างเรื่อง กามนิต คนที่เคยอ่านเรื่องกามนิตก็คงจะสังเกตเห็นเรื่องที่มีอยู่จริงในพระบาลีจึงเป็นเหตุให้ถือได้ว่า หลักมูลฐานที่จะประพฤติปฏิบัติเพื่อดับทุกข์โดยสิ้นเชิงนั้น เทียบส่วนแล้วมันกำมือเดียว ในเมื่อไปเปรียบเทียบกับของทั้งบ้านทั้งเมืองทั้งป่าทั้งดง

คำว่ากำมือเดียวนี้เราก็ต้องรู้สึกได้ว่า มันเป็นของไม่มากมาย หรือไม่เหลือวิสัย ไม่เกินวิสัยของคนเราที่จะเข้าถึงได้และเราอาจเข้าใจอย่างถูกต้องได้ นี่คือใจความสำคัญในวาระแรก ที่เราต้องทำความเข้าใจกัน ในเมื่อทุกคนจะต้องเข้าใจหลักมูลฐาน สำหรับเข้าใจพุทธศาสนาอย่างถูกต้อง

ทีนี้ก็มาถึงคำว่า พุทธศาสนา ขอให้เข้าใจคำนี้ตรง หรืออย่างถูกต้องอีกเช่นเดียวกันด้วย ว่าสิ่งที่เรียกว่าพุทธศาสนานั้น เมื่อตกมาถึงสมัยนี้แล้วมันพร่ามาก คือมันกว้างขวางไม่ค่อยมีขอบเขต ถ้าเป็นอย่างสมัยพุทธกาลก็ใช้คำอื่นคือคำว่าธรรม หมายถึงธรรมเฉพาะที่ดับทุกข์ เขาไม่ได้เรียกกันว่าพุทธศาสนาอย่างที่เราเรียกกันเดี๋ยวนี้ เขาเรียกกันว่า "ธรรม"

ถ้าธรรมะของพระพุทธเจ้าก็เรียกธรรมของพระสมณะโคดม ถ้าธรรมะของลัทธิอื่นเช่นนิคันถนาฎบุตรก็เรียกว่าธรรมของนิคันถนาฎบุตร

ใครชอบใจธรรมของใครก็พยายามศึกษาจนเข้าใจแล้วก็ปฏิบัติตามแนวนั้น ดังนั้น จึงมีชื่อเรียกว่า "ธรรมล้วน ๆ แล้วก็เป็นธรรมะล้วนจริง ๆ ไม่มีเปลือกกะพี้หรือส่วนที่มาเกี่ยวข้องทีหลังมากมายเหมือนเดี๋ยวนี้ เดี๋ยวนี้เรามาเรียกสิ่งนั้นว่าพุทธศาสนาแล้วเราเผลอไป หรือจะด้วยเหตุใดก็ตาม คำว่าพุทธศาสนาของเรานี้มันพร่ากว้างออกไปจนถึงกับรวมเอาสิ่งเกี่ยวข้องกับพุทธศาสนาเข้ามาด้วย

ท่านต้องสังเกตดูให้ดีว่า มันมีพุทธศาสนาอยู่ส่วนหนึ่งแล้ว มันมีสิ่งที่เกี่ยวข้องหรือเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกันอยู่กับพุทธศาสนาอีกส่วนหนึ่ง ส่วนนี้มากมายเหลือเกินแล้วเราเอามารวมเป็นอันเดียวกันเรียกว่าพุทธศาสนา อย่างที่เข้าใจกันเดี๋ยวนี้

ลำพังตัวพุทธศาสนาแท้ ๆ มันก็มากอยู่แล้ว มากเท่ากับใบไม้ทั้งป่า ส่วนที่ต้องศึกษาปฏิบัติมีเพียงกำมือเดียวนี่ก็เรียกว่ามากอยู่แล้ว ทีนี้ไปเอาเรื่องที่เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนาเข้ามาอีก เช่น เรื่องประวัติศาสตร์ของพุทธศาสนา เรื่องจิตวิทยาที่ขยายออกไป เช่น ในแง่ของอภิธรรม บางส่วนก็กลายเป็นเรื่องจิตวิทยา บางส่วนก็เป็นรูปของปรัชญาขยายออกไป ๆ เพื่อวัตถุประสงค์ในทางฝ่ายนั้น ก็ยังมีอีกมากมายหลายแขนง เรื่องที่เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนามันจึงมากมาย และถูกกวาดเอามารวมเข้าไว้ในคำว่าพุทธศาสนา มันเลยทำให้มาก

ถ้าคนไม่รู้ ก็ไม่รู้จักจับเอาใจความสำคัญ มันก็เลยเหมือนกับว่าเห็นเป็นของมาก แล้วก็ไม่รู้จะเลือกเอาอันไหนดีเหมือนกับเราเข้าไปในร้านขายของที่มีสารพัดอย่าง จนงงไปหมดทำนองนี้ ก็เลยปล่อยไปตามความรู้สึกสามัญสำนึก นั่นบ้าง นี่บ้าง ตามเรื่องตามราว แล้วส่วนมากก็ไปถูกเอาเรื่องที่ตรงกับกิเลส มากกว่าที่จะเป็นเรื่องของสติปัญญา เลยกลายเป็นเรื่องทำพิธีรีตองต่าง ๆ ทำบุญพอสักแต่ว่าให้แล้ว ๆ ไป หรือเพื่อประกันความหวาดกลัวอะไรบางอย่าง มันเลยไม่ถูกพุทธศาสนาตัวจริง

เพราะฉะนั้น ขอให้เรารู้จักแยกสิ่งที่เป็นตัวพุทธศาสนาให้ออกไปเสียจากสิ่งซึ่งเป็นเพียงเรื่องที่เกี่ยวข้องกันกับพุทธศาสนาแต่เข้ามารวมในชื่อ ของพุทธศาสนาด้วยเหมือนกัน

แม้ในส่วนที่เป็นพุทธศาสนานั้น ก็ยังต้องรู้จักแยกออกไปว่า อะไรเป็นหลักมูลฐาน หรือเป็นใจความสำคัญ ฉะนั้นอาตมาจึงตั้งใจจะกล่าวถืงเรื่องที่เป็นหลักมูลฐานอันสำคัญที่เป็นใจความสำคัญ แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังรู้สึกงงว่าจะพูดในรูปไหนดี

ทีนี้ในการที่เข้ามาในโรงพยาบาลนี้ นับเป็นความรู้สึกที่ดลใจหรือเกิดขึ้นเอง คือทำให้นึกขึ้นมาได้เอง ถึงลักษณะอรรถกถาทั้งหลายใต้เรียกพระพุทธเจ้าโดยชื่อ ๆ หนึ่งว่า "แพทย์ในทางฝ่ายวิญญาณ" นี่บัดนี้ ท่านได้ยินคำว่า "แพทย์ในทางฝ่ายวิญญาณ" แล้ว อาตมาก็กล่าวไปตามตัวหนังสือท่านไม่อาจเข้าใจในทันทีก็ได้ จึงต้องการคำอธิบายบ้าง

ตามความหมายของพระพุทธเจ้าได้ตรัสธรรมะไว้บางหมู่และตามอรรถกถาที่ต้องการจะอธิบายธรรมหมู่นั้น จึงเกิดมีหลักที่ถือกันว่า มีโรคภัยไข้เจ็บอยู่ ๒ ประเภท คือโรคทางกายกับโรคทางจิต, บาลีใช้คำว่า "โรคทางจิต" ในครั้งกระโน้น แต่เดี๋ยวนี้คำว่าโรคทางจิตนี้มันมีความหมายไม่ตรงกับโรคทางจิตในสมัยอรรถกถาหรือในสมัยพุทธกาล โรคทางจิตในสมัยพุทธกาล หมายถึงโรคทางความคิดเห็นหรือทางกิเลสตัณหา แต่ก็เรียกว่า โรคทางจิต

เดี๋ยวนี้เราเอาคำว่าโรคทางจิตไปใช้กับโรคทางจิตธรรมดาที่เนื่องกันอยู่กับร่างกาย ไปปนกันอยู่กับโรคทางกาย จึงเป็นเหตุให้ไม่เข้าใจโรคทางฝ่ายวิญญาณ เพราะฉะนั้นจึงขอบัญญัติคำขึ้นมาใหม่เป็น ๓ คำว่า โรคทางกาย หวือ Physical disease โรคทางจิตหรือ Mental disease สองอย่างนี้เอาไว้ในฝ่ายโรคทางกายหมด แล้วก็มีคำว่า spiritual disease นี่แหละคือโรคในทางวิญญาณ ซึ่งตรงกับโรคทางจิตในสมัยพุทธกาล

คำว่า spiritual และ Mental นี้ต่างกันไกลลิบ Mental หมายถึงจิตที่เกี่ยวเนื่องกันอยู่กับกาย สัมพันธ์กันกับกาย ถ้าหากเราเป็นโรคทาง Mental นี้ก็ไปโรงพยาบาลประสาท หรือโรงพยาบาลบ้านสมเด็จ มันก็เป็นเรื่องโรคทาง Mental มิได้เป็นโรคทาง spiritual นั้น

คำว่า "วิญญาณ" ในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าวิญญาณภูตผี ปีศาจ ถูกผีสิง อะไรทำนองนั้นไม่ใช่ มันหมายถึงวิญญาณหรือจิตหรือมโนส่วนลึกที่มันเป็นโรคได้ด้วยอำนาจของกิเลส โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ก็คืออวิชชาหรือมิจฉาทิฏฐิมันเป็นจิตที่ประกอบอยู่ด้วยอวิชชาหรือมิจฉาทิฏฐิ แล้วก็เป็นโรคทางวิญญาณ คือเห็นผิด เห็นผิดก็เป็นเหตุให้คิดผิด พูดผิดทำผิด แล้วก็เป็นโรคตรงที่ คิดผิด พูดผิด ทำผิด

ท่านจะเห็นได้ทันทีว่า Spiritual disease นี้เป็นกันทุกคน ไม่ยกเว้นใคร ส่วน Physical disease, Mental disease นั้นเป็นกับคนบางคน และเป็นบางเวลา และเรื่องมันก็ไม่มากมายเสียหายใหญ่โตอะไรนัก คือมันไม่ทำให้ใครเป็นทุกข์อยู่ทุกลมหายใจเข้าออก ได้เหมือนกับ โรคทางวิญญาณ

เพราะฉะนั้น โรคทาง Physics หรือทาง Mental นี้ ไม่เกี่ยวกันกับพุทธศาสนา ซึ่งเป็นยาแก้โรคทางวิญญาณหรือไม่เกี่ยวกันกับพระพุทธเจ้าที่เป็นแพทย์ในทางวิญญาณโดยตรง มันเหลือแต่โรคที่อรรถกถาเรียกว่า "โรคทางจิต" หรือในบัดนี้เราต้องบัญญัติลงไปว่า spiritual disease และ เรียกว่า "โรคทางวิญญาณ" ดีกว่า

เมื่อมันทำให้อาตมานึกถึงข้อที่อรรถกถาเรียกพระพุทธเจ้า ว่าเป็นนายแพทย์ทางวิญญาณ ก็รู้อีกต่อไปว่าถือเอาแนวนี้พูดกันรู้เรื่องง่ายกว่า โดยเหตุที่คนทุกคนเป็นโรคทางวิญญาณจึงทุกคนต้องรักษาเยียวยาในทางวิญญาณนั่นแหละคือธรรมะนั่นแหละ คือพุทธศาสนากำมือเดียวที่จะต้องเข้าให้ถึง คือเอามาใช้ มากิน มาเยียวยารักษาโรคให้จนได้

ที่ต้องสนใจต่อไปอีกก็คือว่า มนุษย์เราสมัยนี้ไม่สนใจเรื่องโรคทางวิญญาณ เพราะฉะนั้น มันจึงเป็นโรคทางวิญญาณกันหนักขึ้นทั้งทางส่วนตัว และส่วนรวมเพราะเมื่อทุกคนเป็นโรคทางวิญญาณแล้ว โลกนี้ทั้งโลกก็เป็นโรคทางวิญญาณไปหมด เป็นโลกที่มีโรคทางจิตทางวิญญาณ เพราะฉะนั้นสิ่งที่เรียกว่าวิกฤตการณ์ถาวรก็เข้ามาแทนที่ของสันติภาพถาวรจะปลุกปล้ำกันอย่างไร ๆ มันก็ไม่เป็นสันติภาพ แม้ชั่วขณะขึ้นมาได้ อย่าพูดถึงสันติภาพถาวรให้ป่วยการ เพราะว่าทั้งสองฝ่ายมันเป็นโรคทางวิญญาณ คือทั้งสองฝ่ายที่เรียกตัวเองว่าเป็นฝ่ายถูกและเรียกฝ่ายอื่นว่าเป็นฝ่ายผิดนั้น มันทั้งสองฝ่ายนั้นเป็นโรคทางวิญญาณ จึงมีแต่เรื่องที่จะสร้างความทุกข์ขึ้นทั้งแก่ตัวเองและแก่ผู้อื่น มันเหมือนเครื่องจักรผลิตความทุกข์ขึ้นมาในโลก แล้วโลกนี้จะสงบได้อย่างไร

การแก้ไขมีอยู่ว่า ต้องทำให้ทุกดนในโลกนี้หยุดเป็นโรคทางวิญญาณ แล้วมันจะมีอะไรมาแก้ ? มันก็ต้องมีหยูกยาที่มีไว้เฉพาะโรคนี้ คือธรรมะกำมือเดียวในพระพุทธศาลนาที่จะต้องเข้าให้ถึงให้ได้ นั่นแหละคือคำตอบที่ว่า ทำไมพุทธศาสนาจึงไม่เป็นที่พึ่งแก่คนในโลกนี้ให้เต็มตามความมุ่งหมายของพระพุทธศาสนาได้ทั้ง ๆ ที่เราถือกันว่าเดี๋ยวนี้พระพุทธศาสนาเจริญแพร่หลายมากขึ้นกว่าแต่ก่อน หรือมีส่วนที่เข้าใจถูกต้องกันยิ่งกว่าแต่ก่อน

จริงอยู่ในข้อที่ว่ามีการศึกษาพุทธศาสนากันมาก และเข้าใจกันมากขึ้น แต่ถ้าไม่รู้สึกว่าตัวเองกำลังเป็นโรคทางวิญญาณแล้วจะเอาพุทธศาสนาไปกินไปใช้ได้อย่างไร ถ้าเราไม่รู้สึกว่าป่วยเราก็ไม่มาหาหมอ เราก็ไม่กินยา นี่ใคร ๆ ก็เห็นกันอยู่ ทีนี้คนเราในโลกโดยมาก ส่วนมากก็เป็นอย่างนี้มันเลยเป็นเรื่องเห่อยา ไปฟังธรรมะไปศึกษาธรรมะในฐานะที่เป็นยา แต่ก็ไม่รู้สึกตัวว่าตนเป็นโรค ไปเอามาไว้เพียงสำหรับเก็บไว้ให้รกรุงรัง หรือเอา ไว้พูดไว้เถียงกันเล่น จนกลายเป็นทะเลาะวิวาทไปก็มี นี่แหละธรรมะยังไม่เป็นที่พึ่งให้แก่โลกได้เต็มที่ก็เพราะเหตุนี้

ฉะนั้น ถ้าเราจะตั้งกลุ่มพุทธบริษัทขึ้นอย่างที่นี่ เดี๋ยวนี้ ก็ควรจะรู้ความมุ่งหมายที่แท้จริง ให้กิจการนี้ดำเนินไปตรงจุด คือโดยประการที่ธรรมะนี้จะช่วยรักษาเยียวยาโรคทางวิญญาณได้โดยตรงและโดยเร็ว อย่าให้พร่าจนไม่รู้ว่าจะไปทางไหน ทิศไหน ขอให้เป็นไปในรูปที่ว่าเป็นยาอมฤต ศักดิ์สิทธิ์เพียงกำมือเดียว และใช้มันให้ถูก ใช้มันให้ตรงมันก็จะแก้โรคได้หมด แล้วการที่ตั้งกลุ่มหรือสมาคมขึ้นมาอย่างนี้ก็จะเป็นบุญกุศลอย่างยิ่ง หรือเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง เพราะฉะนั้น ขอให้พวกเราทำให้มันสำเร็จประโยชน์อย่างยิ่งอย่าให้เป็นที่น่าหัวเราะเยาะแต่ประการใดแม้แต่นิดเดียว

ทีนี้ข้อที่ว่าเป็น โรคทางวิญญาณนั้นคืออย่างไร แล้วจะรักษากันด้วยธรรมะกำมือเดียวอย่างไรนั้น จะวินิจฉัยกันต่อไป

คำ "โรคทางวิญญาณ" นั้น ก็คือโรคที่มีเชื้ออยู่ที่ความรู้สึกว่าตัวเรา ว่าของเรา หรือว่าตัวกู หรือว่าของกูนั่นเอง ที่มีอยู่ในใจ ประจำอยู่ที่ใจ เป็นเชื้อโรคอยู่แล้วก็เบิกบานออกมาเป็นความรู้สึกว่าตัวกู-ของกู แล้วก็ทำไปตามอำนาจความเห็นแก่ตัว มันจืงเป็นความโลภ ความโกรธ ความหลงทำให้เดือดร้อนกันทั้งตัวเองและผู้อื่น นี่คืออาการของโรคทางวิญญาณมันเป็นอยู่ในภายใน ฉะนั้นให้เรียกกันเพื่อจำง่าย ๆ ว่าโรค ตัวกู-ของกู จะดีกว่าง่ายกว่า

พวกเรามีโรค "ตัวกู-ของกู" กันอยู่ทุกคน แล้วก็รับเชื้อนี้เพิ่มเติมเข้ามาทุกคราวที่เห็นรูป ฟังเสียง ดมกลิ่น ลิ้มรส สัมผัสทางผิวหนัง และคิดในใจตามประสาคนที่ไม่รู้ เขาเรียกว่า รูป เสียง กลิ่นรส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ๖ อย่าง คู่กันกับ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ๖ อย่างด้วยเหมือนกัน คือว่ามีการรับเชื้อหรือสิ่งแวดล้อมที่จะทำให้เป็นโรคนี้ ที่ปรุงแต่งให้เป็นโรคนี้อยู่ทุกคราวที่มีการเห็นรูป ฟังเสียง ดมกลิ่น ลิ้มรส ฯลฯ

เพราะฉะนั้นเราจะต้องรู้จัก เชื้อ คือ ความยึดมั่นถือมั่น ซึ่งเรียกโดยภาษาบาลีว่า "อุปาทาน" อุปาทานแปลว่าความ ยืดมั่นถือมั่น ความยึดมั่นถือมั่นมี ๒ อย่าง คือยึดมั่นว่าเราและยืดมั่นว่าของเรา

ยึดมั่นว่าเรานั้น คือรู้สึกว่า เราเป็นเรา เราเป็นอย่างนั้น เราเป็นอย่างนี้ เราเป็นลูกผู้ชายแพ้ใครไม่ได้อะไรทำนองนี้ นี่เรียกว่าเรา

ทีนี้ของเราคือว่านั่นของเรา นั่นของที่เรารักที่เราชอบ แม้ที่เราเกลียดก็ถือว่าเป็นศัตรูของเรา นี่เรียกว่าเป็นของเรา

ถ้าเรียกอย่างบาลีก็เรียกว่า "อัตตา" นี่คือตัวเรา, "อัตนียา" นี่คือของเรา ถ้าเรียกกว้างออกไปอย่างที่ใช้เรียกให้ทุกแขนงของปรัชญาในอินเดีย เขาเรียกว่าอหังการนี้คือตัวเรา มมังการนี้คือของเรา อหังการ แปลว่าทำความรู้สึกว่าเรา เพราะคำว่า อหัง แปลว่าเรา และ มมังการ แปลว่าทำความรู้สึกว่าของเรา เพราะคำว่า มะมะ แปลว่าของเรา

ความรู้สึกเป็นอหังการ มมังการ นี้คือตัวอันตรายที่ร้ายกาจที่สุด หรือตัวสิ่งที่เป็นพิษที่ร้ายกาจที่สุด ซึ่งเราเรียกว่าโรคในทางวิญญาณ ในที่นี้ ซึ่งทุกแขนงของปรัชญาหรือธรรมะในอินเดียครั้งพุทธกาล ต้องการจะกวาดล้างสิ่งนี้ด้วยกันทั้งนั้น แม้จะเป็นลัทธิอื่นนอกไปจากพุทธศาสนา ก็ต้องการจะกวาดล้างสิ่งที่เรียกว่า อหังการ และ มนังการนี้ทั้งนั้น มันมาผิดกันตรงที่ว่า ถ้ากวาดล้างสิ่งนี้ออกไปแล้วเขาไปเรียกมันใหม่ว่าตัวตนที่แท้จริง อาตมันบริสุทธิ์ ที่ต้องการ ส่วนพุทธศาสนาเราไม่ยอมเรียกว่า ตัวตนที่บริสุทธิ์ หรืออาตมันที่ต้องการ เพราะไม่ต้องการจะยึดถือตัวตนหรือของตนอะไรขึ้นมาอีก เลยจัดเป็นความว่างที่สุด ที่เรียกว่านิพพานอย่างในบทที่ว่า นิพฺพานํ ปรมํ สุญญํ ชื่ง แปลว่า ว่างที่สุดนั่นแหละคือนิพพาน ก็แปลว่าว่างจากตัวกู ว่างจากของกู โดยเด็ดขาดโดยประการทั้งปวง ไม่เหลือเยื่อใย นั่นแหละคือนิพพาน หรือความหายจากโรคทางวิญญาณ

ในเรื่องความรู้สึกว่าตัวกู-ของกูนี้ มันมีความลับมากถ้าไม่สนใจจริง ๆ แล้วก็เข้าใจไม่ได้ ว่ามันเป็นตัวการของความทุกข์ หรือเป็นตัวการของโรคทางวิญญาณ

สิ่งที่เรียกว่าอัตตาหรือตัวตนนี้ มันก็ตรงกับคำว่า Ego ในภาษาลาตินที่รู้จักกันดี ถ้าความรู้สึกที่เห็นแก่ตัวตนเกิดขึ้นเราเรียกว่า Egoism เพราะว่าถ้ารู้สึกว่ามีตัวเราแล้วมันก็ต้องคลอดความ รู้สึกว่าของเรานี้ออกมาด้วยเป็นธรรมดาช่วยไม่ได้

เพราะฉะนั้นความรู้สึกกว่า ตัวตน และของตน Egoism ความรู้สึกที่เป็นตัวตน Ego นี้ กล่าวได้ว่าเป็นธรรมชาติธรรมดาที่ต้องมีอยู่ในสิ่งที่มีชีวิด แล้วยังแถมเป็นศูนย์กลางด้วย

Ego ถ้าแปลเป็นภาษาอังกฤษต้องแปลว่า soul และมันก็ตรงกับภาษากรีกว่า Kentricon ซึ่งแปลเป็นภาษาอังกฤษว่า Centre คำ Kentricon นี้ตรงกับคำว่า Centre ในภาษาอังกฤษซึ่งแปลว่าศูนย์กลาง เมื่อ Ego Jละ Kentricon คือสิ่ง ๆ เดียวกันแล้ว soul อัตตานี้ก็เป็นสิ่งที่ถือกันว่าเป็นศูนย์กลางของสิ่งมีชีวิต เป็น Nucleus ที่จำเป็นสำหรับสิ่งที่มีชีวิต เพราะฉะนั้นจึงเป็นสิ่งเรา ไม่สามารถเอาออกไปได้หรือไม่สามารถละเว้นจากสิ่งนี้ได้สำหรับคนธรรมดา

จึงเป็นอันว่าทุกคนที่เป็นปุถุชนจะต้องมีความรู้สึกที่เป็น Egoism อยู่เป็นประจำ แม้ไม่แสดงออกมาให้เห็นชัดตลอดเวลาก็จริง แต่ก็จะแสดงออกมาทุกคราวที่เห็นรูป ฟังเสียง ดมกลิ่น ลิ้มรส สัมผัสทางผิวหนังหรือคิดนึกอะไรขึ้นในใจ ฉะนั้นทุกคราวที่มันเกิดเต็มรูปขึ้นมาเป็นความรู้สึกว่า ตัวกู-ของกูให้ถือว่าเป็นโรคโดยสมบูรณ์แล้ว จะโดยอาศัยการเห็นรูป หรือฟังเสียง หรือ ดมกลิ่น หรือลิ้มรส หรืออะไรก็ตาม ถ้าในขณะนั้นเกิดความรู้สึกว่าตัวกู-ของกูแล้วละก็ ถือว่าเป็นโรคโดยสมบูรณ์ คือมันเกิดความรู้สึกที่เห็นแก่ตัวจัดขึ้นมา

ตอนนี้เราไม่เรียกว่า Egoism แล้ว แต่เราจะเรียกว่า selfishness หรืออะไรทำนองนั้น คือมันเป็น Egoism ที่เดือดพล่านและน้อมไปในทางตา หรือผิด หรือข้างที่เห็นแก่ตัวจนไม่ดูหน้าใคร คือไม่เห็นแก่ผู้อื่น ฉะนั้นมันจึงทำอะไรไปข้างเห็นแก่ตัวหมด เป็นความโลภ ความโกรธ ความหลง ที่ปรารภตัวเองหมด นี้คืออาการของโรค แสดงออกมาเป็น selfishness แล้วมันก็ทำอันตรายผู้อื่น และรวมทั้งตัวเองด้วย คือเป็นอันตรายแก่โลกมากที่สด

ที่โลกเรากำลังลำบากยุ่งยากอยู่เดี๋ยวนี้มันก็ไม่มีอะไรนอกไปจากสิ่งที่เรียกว่า selfishness ของแต่ละคน ของแต่ละฝ่ายที่คุมกันเป็นพวก ๆ อยู่ในโลกในเวลานี้ การที่ต้องรบกันอย่างที่ไม่อยากจะรบ ก็จำต้องรบกันนี้ มันก็เพราะบังคับสิ่งนี้ไม่ไต้ หรือทนต่ออำนาจของสิ่งที่ไม่ได้มันจึงเกิดเป็นโรคขึ้นมา

โลกนี้มันตั้งขึ้นมาได้ คือมันรับเชื้อเข้ามาแล้วก่อเป็นโรคขึ้นมาได้ ก็เพราะว่าทุกคนไม่รู้จัก สิ่งที่เป็นเครื่องต้านทานโรค กล่าวดือ หัวใจของพุทธศาสนา

เดี๋ยวนี้อาตมาได้กล่าวคำว่า "หัวใจของพระพุทธศาสนา" ขอให้เข้าใจคำว่าหัวใจของพุทธศาสนาต่อไป

เมื่อเราถามขึ้นว่า อะไรเป็นหัวใจของพุทธศาสนา อาจชิงกันตอบจนปากสลอนไปหมด คือใคร ๆ ก็ตอบได้ แต่มันอาจจะถูกหรือผิดนั้นอีกเรื่องหนึ่ง และที่เขาตอบนั้นมันตอบตามที่ไปจำ ๆ เขามา หรือว่าเขามองเห็นด้วยสติปัญญาของเขาเอาเองว่ามันเป็นหัวใจของพุทธศาสนาจริง ขอให้ลองสังเกตในส่วนนี้เถอะ ว่ามันเป็นกันอยู่อย่างไรในบัดนี้ ใครรู้จักหัวใจของพุทธศาสนาจริง ๆ และเข้าถึงจริง ๆ บ้าง

เมื่อถามกันว่าอะไรเป็นหัวใจของพุทธศาสนา? คงจะมีคนตอบว่า อริยสัจ ๔ ประการบ้าง หรือเรื่อง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตตา บ้าง หรือบางดนก็อ้างหลักว่า สพฺพปาปสฺส อกรณํ กุสลสฺสูปสมฺปทา สจิตฺตปริโยนปนํ เอตํ พุทฺธานสาสนํ "ไม่ทำชั่วทั้งปวง ทำความดีให้เต็ม ทำจิตใจให้บริสุทธิ์ นี้คือหัวใจของพุทธศาสนา อย่างนี้ก็ได้ ก็ถูกเหมือนกัน แต่มันถูกน้อยที่สุด และว่าเอาเองด้วย ; แล้วก็ยังเป็นเรื่องว่าตาม ๆ กันไปด้วย ไม่ได้เห็นเอง เห็นจริงด้วยตนเอง

สิ่งที่เป็นหัวใจของพุทธศาสนานั้น อาตมาอยากจะแนะถึงประโยคสั้น ๆ ที่มีกล่าวอยู่ว่า "สิ่งทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น"

คือเรื่องมันมีอยู่ในพระบาลี มัชฌิมนิกายว่า คนไปทูลถามพระพุทธเจ้า โดยทูลว่า พระพุทธวจนะทั้งหมดที่ตรัส ถ้าจะสรุปให้สั้นเพียงประโยคเดียวได้หรือไม่จะว่าอย่างไร พระพุทธเจ้าท่านว่าได้ พระองค์ตรัสว่า "สพฺเพ ธมฺมา นาลํ อภินิเวสาย" สพฺเพ ธมฺมา แปลว่า สิ่งทั้งปวง นาลํ แปลว่า ไม่ควร, อภินิเวสาย เพื่อจะยึดมั่นถือมั่น ; สิ่งทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น แล้วพระองค์ก็ย้ำลงไปอีกทีหนึ่งว่าถ้าใครได้ฟังความข้อนี้ คือได้ฟังทั้งหมดในพระพุทธศาสนา ถ้าได้ปฏิบัติข้อนี้ก็คือได้ปฏิบัติทั้งหมดในพระพุทธศาลนา ถ้าได้รับผลจากการปฏิบัติข้อนี้ ก็คือได้รับผลทั้งหมดในพระพุทธศาสนา

นี่ลองคิดดูเองว่ามันเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนาหรือยัง เพราะมันเป็นทั้งเรื่องวิชชา เป็นทั้งเรื่องปฏิบัติและเป็นทั้งเรื่องผลของการปฏิบัติ มันสมบูรณ์ถึงอย่างนี้ คือรู้ว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น แล้วก็ปฏิบัติเพื่อไม่ยึดมั่นถือมั่น แล้วก็ได้รับผลมาเป็นจิตที่ไม่ยึดมั่นถือมั่นอะไร เป็นจิตที่ว่างที่สุดจึงถือว่าเป็นหัวใจของพุทธศาสนา

ทีนี้ถ้าใครเข้าถึงความจริงข้อนี้ว่า สิ่งทั้งปวงล้วนแต่ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น ก็แปลว่ามันไม่มีเชื้อที่จะเกิดโรค เป็นโลภ โกรธ หลง หรือเป็นการกระทำผิดอย่างอื่น ทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ และเมื่อรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ประดังกันเข้ามา เชื้อต่อต้านภายในที่ว่า "สิ่งทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น"' จะเป็นเชื้อต้านทานโรคอย่างยิ่ง มันไม่รับเชื้อโรค หรือว่าถ้ารับก็รับเข้ามาเพื่อทำลายให้หมดไป มันไม่ก่อเชื้อลุกลามเป็นโรคขึ้นมาได้ เพราะมันมีสิ่งต้านทานคอยทำลายอยู่เรื่อย เป็นอำนาจต้านทานโรค (Immunity) อย่างสูงสุดอยู่เรื่อย

นี่แหละคือหัวใจของพุทธศาสนา หรือหัวใจของธรรมะทั้งหมด ที่ว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น หรือเป็นบาลีว่า สพฺเพ ธมฺมา นาลํ อภินิเวสาย

เพราะฉะนั้นบุคคลชนิดนี้ จึงเป็นบุคคลที่เหมือนกับมีเชื้อต้านทานโรค หรือเชื้อทำลายโรคอยู่ในตัวเขา เขาจึงเป็นโรคทางวิญญาณไม่ได้ แต่คนธรรมดาสามัญที่ไม่รู้หัวใจของพระพุทธศาสนานั้น มันก็ต้องเป็นตรงกันข้ามคือเป็นเหมือนกับบุคคลที่ไม่มีอำนาจต้านทานโรค หรือ Immunity ในตัวเสียเลยแม้แต่นิดเดียว มันจึงลุกลามเป็นโรคทางวิญญาณโดยเร็ว และเป็นอยู่เป็นประจำ

เมื่อพูดถึงตรงนี้ก็คงจะเข้าใจได้แล้วว่าคำว่า "โรคทางวิญญาณ" หรือแพทย์ผู้รักษาโรคทางวิญญาณนี้มันหมายความว่าอย่างโร และได้แก่ใคร แต่เมื่อเราเห็นว่ามันได้แก่พวกเรา เมื่อนั้นเราก็จะกระตือรือร้นกันอย่างยิ่ง และถูกทางด้วยที่จะรักษาโรคของเรา ก่อนหน้านี้เราไม่รู้ เราก็สนุกสนานกันไปตามเรื่อ ง เหมือนกับคนเป็นโรคร้าย ๆ เช่น โรคมะเร็ง วัณโรค หรืออะไรก็ตาม เขาไม่รู้เขาก็หลงใหลเพลิดเพลินไปตามเรื่องตามราว ไม่คิดจัดการเยียวยารักษาโรค จนกระทั่งสายเกินไป แล้วจะต้องตายเพราะโรคนั้น

เราจะไม่เป็นคนประมาทถึงขนาดนั้น อย่างนั้นเรียกว่าประมาท ให้สมตามที่พระพุทธเจ้าท่านสอนว่า อย่าประมาท จงสมบูรณ์ด้วยความไม่ประมาท หมายถึงอย่างนี้ เพราะฉะนั้น เราเป็นผู้ไม่ประมาทก็ต้องเหลือบตาดูเสียบ้างว่ามันเป็นโรคทางวิญญาณกันอย่างไร หรือพยายามสอบสวนให้รู้จักเชื้อโรคทางมาของโรคในทางวิญญาณ อย่างถูกต้องอยู่เสมอ ๆ แล้วก็จะได้รับสิ่งดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้รับ ทันในชาตินี้เป็นแน่นอน

เราจะต้องดูกันให้ละเอียดต่อไปอีก ถึงข้อที่ ความยึดมั่นถือมั่นนี้เป็นตัวโรค หรือว่าเป็นเชื้อโรค แล้วก็ลุกลามเป็นโรคได้อย่างไร ถ้าท่านสังเกตสักนิดหนึ่งก็จะเห็นได้ด้วยกันทุกคนว่าความรู้สึกยึดมั่นถือมั่นเป็นตัวกูก็ตาม เป็นของกูก็ตามนี่แหละคือแม่บทของกิเลสทั้งปวง

กิเลสนั้นเราจะแจกเป็น โลภะ โทสะ โมหะ ก็ได้ ราคะ โกธะ โมหะ ก็ได้ หรือจะซอยลง ไปให้ละเอียดเป็น ๑๖ อย่าง เป็นกี่อย่างก็ได้ ผลสุดท้ายมันก็รวมเป็น โลภ โกรธ หลง แต่ว่าทั้งโลภ ทั้งโกรธ ทั้งหลง ทั้งสามอย่างนั้นรวมเหลืออย่างเดียวก็ไค้ คือความรู้สึกว่าตัวกู ว่าของกู

- ความรู้สึกว่าตัวกู -ของกูที่เป็นศูนย์กลาง (Nucleus) อยู่ภายในนั้น มันคลอดออกมา เป็นโลภ เป็นโกรธ เป็นหลง

- ออกมาเป็นโลภ คืออยากได้ หรือกำหนดรักใคร่ คือออกมาดึงดูด หรือรับเอาอารมณ์ที่มากระทบ

- ถ้าในขณะอื่น มันออกมาในรูปที่ผลักดันผลักไสอารมณ์ออกโป มันก็เป็นเรื่องของความโกรธหรือโทสะ

- แต่ในบางคราว มันก็โง่อยู่ไม่รู้ว่าจะอย่างไรดี ได้แต่วนเวียนอยู่รอบ ๆ คือว่าไม่แน่ใจว่าจะดึงดูดเข้ามาหรือผลักออกไป มันก็เป็นโมหะ

ที่กล่าวอย่างนี้ก็กล่าวเพื่อให้สังเกตง่าย ราคะหรือโลภะนั้นคือดูดเอาอารมณ์เข้ามา มีการดึงดูดเข้ามากัน ; ที่เป็นโกธะหรือโทสะนั้น คือผลักออกจากกัน ; ที่เป็นโมหะความหลงนั้นมันวนเวียนอยู่โดยไม่แน่ใจว่าจะทำอย่างไรดีคล้ายกับวนเวียนอยู่รอบ ๆ จะผลักออกก็ไม่กล้า จะดึงเข้ามาก็ยังไม่กล้า

อาการของความรู้สึกที่เป็นกิเลสนี้จะมีอยู่ ๓ ประเภทที่มันจะมีต่ออารมณ์คือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส มันแล้วแต่อารมณ์นั้น มันจะมาในรูปไหน คือมาในรูปเปิดเผยหรือเร้นลับ มาในรูปที่ยั่วให้เข้าหาหรือยั่วให้ผลักออก หรือว่ามันไม่อาจจะเข้าใจได้ มันงง ๆ อยู่อย่างนี้ทั้งนั้น

แต่ว่าแม้จะแตกต่างกัน ทั้งสามอย่างนี้มันก็เป็นกิเลสเพราะมันมีมูลมาจากตัวกู-ของกู ที่รู้สึกอยู่ในภายใน

เพราะฉะนั้นจึงกล่าวได้ว่า ความรู้สึกว่าตัวกู-ของกู ที่เป็นแม่บทของกิเลสทั้งปวงนี้ เป็นมูลเหตุของความทุกข์ทั้งปวงคือเป็นมูลเหตุของโรคทั้งปวง

อย่างที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสถึงความทุกข์เราไม่ค่อยจะสังเกตกันให้ดี ๆ เลยเข้าใจผิด ไปเข้าใจว่าเกิดเป็นทุกข์ แก่เป็นทุกข์ ฯลฯ นั้นเป็นอาการที่แจกออกไปเป็นลักษณะของอาการ แต่ท่าน ได้ตรัสสรุปท้ายไว้ว่า "สงฺขิตฺเตน ปญฺจุปาทานกฺขนฺธาทุกฺขา" แปลว่า เมื่อกล่าวโดยสรุป แล้ว เบญจขันธ์ที่ประกอบอยู่ด้วยความยึดมั่นถือมั่น คืออุปาทาน นั่นแหละเป็นตัวทุกข์

ข้อนี้หมายความว่า สิ่งใดมีความยึดถือหรือถูกยึดถือก็ตาม ว่าตัวกู ว่าของกูแล้ว สิ่งนั้นคือตัวทุกข์ ถ้าในสิ่งใดไม่มีความยึดมั่นถือมั่นว่าตัวกู-ของกูแล้ว สิ่งนั้นไม่มีทุกข์

เพราะฉะนั้นความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย อะไรก็ตาม ถ้าไม่ถูกยึดมั่นในฐานะเป็นตัวกู ของกูแล้ว มันหาเป็นทุกข์ไปได้ไม่ ความเกิด แก่ เจ็บ ตาย ที่ถูกยึดมั่นว่าเป็น ตัวกู-ของกูเท่านั้น ที่จะเป็นความทุกข์

ร่างกายและจิตใจนี้ก็เหมือนกัน ไม่ใช่ว่าเมื่อเป็นร่างกายละจิตใจ แล้วมันจะต้องเป็นทุกข์กันไปหมด- ไม่ใช่มันต้องต่อเมื่อในนั้นมีความยึดมั่นว่าตัวกู-ของกูต่างหาก มันจึงจะเป็นทุกข์ ส่วนในร่างกายจิตใจที่บริสุทธิ์ล้วน ๆ ไม่เจืออยู่ด้วยความรู้สึกว่าตัวกู-ของกูนี้ไม่มีทุกข์เลย เช่น ร่างกายและจิตใจของผู้ที่เราถือกันว่าเป็นพระอรหันต์ เป็นร่างกาย และจิตใจสะอาดบริสุทธิ์ ไม่เจืออยู่ด้วยกิเลส คือตัวกู-ของกูจึงไม่ทุกข์ ไม่รู้สึกเป็นทุกข์

เราจะต้องรู้ว่าตัวกู-ของกูนี้ เป็นมูลเหตุของความทุกข์ทั้งปวง เมื่อมีความรู้สึกที่เป็นความยึดมั่นถือมั่นแล้ว มันก็มีลักษณะไปในทางมืด เป็นอวิชชา ไม่ใช่เป็นแสงสว่างเพราะมันไม่ว่าง มันกลัดกลุ้มเดือดพล่านอยู่ด้วยความรู้สึกว่าตัวกู-ของกู ทีนี้ สิ่ง ตรงกันข้ามก็คือ จิตใจที่ไม่ประกอบอยู่ด้วยความรู้สึกว่าตัวกู-ของกู คือเป็นจิตว่างไม่เดือดพล่านอยู่ด้วยความรู้สึกว่าตัวกู- ของกูอย่างที่ว่านั้น จิตอย่างนี้มันเต็มอยู่ด้วยสติปัญญา

ฉะนั้นเราจะต้องจับข้อเท็จจริงข้อนี้ให้ได้ว่า มันมีของอยู่ ๒ อย่าง คือความรู้สึกว่า ตัวกู-ของกูนั้นอย่างหนึ่งและสติปัญญาอีกอย่างหนึ่ง ของสองอย่างนี้เป็นปฏิปักษ์ต่อกันอย่างตรงกันข้าม ถ้าสิ่งหนึ่งเข้ามา อีกสิ่งหนึ่งต้องกระเด็นออกไป ถ้าสิ่งหนึ่งมีอยู่แล้ว อีสิ่งหนึ่งมีอยู่ไม่ได้ ถ้าความรู้สึกที่ว่าตัวกู-ของกูเต็มปรี่อยู่แล้วละก็ สิ่งที่เรียกว่าสติปัญญานี้เข้ามาไม่ได้ ถ้าสติปัญญามีอยู่แล้ว ตัวกู-ของกู ก็หายไปว่างจากตัวกู-ของกู หรือว่างจากตัวกู-ของกูนั่นแหละ คือสติปัญญา

เพราะฉะนั้นถ้าจะกล่าวอย่างฉลาด ๆ คือกล่าวอย่างรวบรัดแต่ค่อนข้างจะน่ากลัวนี้ ก็กล่าวอย่างพวกนิกายเซ็นหรืออย่างฮวงโปกล่าวว่า ความว่างนั้นคือ ธรรมะ ความว่างนั้นคือพุทธะ ความว่างนั้นคือจิตเดิมแท้หรือจิตตัวแท้ นี้สายหนึ่ง; ส่วนฝ่ายไม่ว่าง ความไม่ว่างหรือความวุ่นนั้นคือไม่ใช่ธรรมะ ไม่ใช่พุทธะ ไม่ใช่จิตเดิมแท้ แต่เป็นความคิดปรุงแต่งใหม่; เกิดเป็น ๒ อย่างตรงกันข้ามขึ้นมาอย่างนี้เมื่อเรารู้จักของ ๒ อย่างนี้แล้ว จะเข้าใจธรรมะทั้งหมดได้ง่ายที่สุด

อย่างท่านที่นั่งฟังอยู่ที่นี่เดี๋ยวนี้กำลังว่างอยู่กำลังไม่มีความคิดปรุงแต่งให้เกิดความรู้สึกว่าตัวกู-ของกู กำลังฟังอยู่ และกำลังมีสติปัญญาอยู่ ความรู้สึกว่าตัวกู-ของกูเข้ามาไม่ได้ แต่ถ้าว่าบางคนหรือโอกาสอื่นมันมีอะไรมากระทบเกิดความรู้สึกว่าตัวกู-ของกูขึ้นมาแล้ว ความว่างในใจอย่างที่ท่านมีอยู่ที่นี่จะหายไปทันที เพราะฉะนั้นย่อมหมายความว่าสติปัญญาได้หายไปทันที

ตรงนี้ขอแทรกนิดหน่อยว่า สิ่งที่เรียกว่าสติปัญญานี้เราหมายถึงสติปัญญาที่แท้จริง เพราะยังมีสติปัญญาไม่ใช่ที่แท้จริง คือสติปัญญาที่ไม่เกี่ยวกันกับความว่างจากตัวกูนั่นเอง, สติปัญญาเฉลียวฉลาดในทำนองนั้น ภาษาบาลีเขาไม่เรียกว่าสติปัญญา มีคำอีกคำหนึ่งในภาษาบาลี สาหรับเรียกสติปัญญาชนิดนั้นว่า "เฉโก" เฉโกก็แปลว่าปัญญาเหมือนกัน ถ้าแปลเป็นภาษาไทยก็แปลว่าปัญญา แต่มันไม่ใช่สติปัญญาอย่างที่ว่างจากตัวกู มันกลับเป็นสติปัญญาที่เต็มอัดอยู่ด้วยตัวกู-ของกู คือสติปัญญาโง่ที่จะไปเอาไปเป็น ไปยึดมั่นถือมั่นนั่นเอง สติปัญญาอย่างนี้ต้องได้รับการยกเว้น ไม่รวมอยู่ในคำว่า "สติปัญญา" ที่มันเป็นปฏิปักษ์ต่อความยึดถือว่าตัวตน (Egoism) เพราะว่าเฉโกอย่างนั้นมันเป็นตัวตน (Egoism) เสียเอง อย่าเอามาปนกันถ้าเอามา ปนกันแล้วจะยุ่ง

ถ้าเรามีความว่างจากความยึดถือว่าตัวตน (Egoism) ไม่มีความรู้สึกว่า ตัวกู-ของกู แล้ว สติปัญญา ที่แท้จะดับทุกข์ที่เป็นยาแก้โรคทางวิญญาณอยู่ในตัวนั้นมันมีอยู่ เพราะฉะนั้นในขณะนั้นโรคเกิดไม่ได้ หรือโรคที่เกิดอยู่ก่อนก็หายไปทันทีเหมือนปลิดทิ้ง เพราะฉะนั้นในขณะนั้นจึงมีธรรมะเต็มไปหมดสมกับที่กล่าวว่า ความว่างนั้นคือสติปัญญา ความว่างคือธรรมะ ความว่างคือ พุทธะ เพราะว่าในขณะที่จิตว่างจากตัวกู-ของกู ในขณะนั้นจะมีธรรมะทุกอย่างทุกประการหมดทั้งพระไตรปิฎก ที่เราควรปรารถนา

เอากันอย่างง่าย ๆ ว่า ในขณะนั้นจะมีสติสัมปชัญญะ ที่สุด มีหิริโอตตัปปะ คือความละอายบาปกลัวบาปที่สุด มีขันติ โสรัจจะ ความอดกลั้นอดทนที่สุดมีความกตัญญูกตเวทีที่สุด มีความสัตย์ซื่อที่สุด เรื่อยไปจนกระทั่งมียถาภูตญาณทัสนะที่จะทำให้บรรลุมรรคผลนิพพานได้

อาตมาแจกลูกไปแต่ต้นว่าจะต้องมีสติสัมปชัญญะ หิริ โอตตัปปะ ชันติ โสรัจจะ กตัญญูกตเวที นี้ก็เพราะว่าสิ่งเหล่านี้เป็นธรรมะเหมือนกัน ธรรมะที่เป็นที่พึ่งแก่โลกได้เหมือนกันแม้แต่ หิริ โอตตัปปะ เกลียดบาป ละอายบาป กลัวบาปนี้ ลองมีซิโลกนี้ก็สงบเป็นสันติภาพถาวร เดี๋ยวนี้มีแต่คนหน้าด้าน ไม่รู้จักกลัวบาป ละอายบาปแก่ตัวเอง จึงทำสิ่งที่ไม่ควรทำอยู่ได้แล้วยืนยันเละยืน กรานที่จะทำอยู่เรื่อยทั้ง ๆ ที่เห็นว่านี้มันจะทำความพินาศให้ทั้งโลก ก็ยังยืนกรานที่จะทำอยู่เรื่อย เพราะไม่มีหิริโอตตัปปะโลกนี้ก็จะต้องวินาศลงเพราะไม่มีธรรมะแม้เพียงข้อนี้

หรือธรรมะที่ต่ำแคบกว่านั้นอีก คือธรรมที่ชื่อว่ากตัญญูกตเวทีอย่างนี้ ลองมีธรรมะข้อเดียวนี้ โลกนี้ก็สงบได้ เพราะเราต้องยอมรับว่าทุกคนในโลกมีบุญคุณแก่กันและกัน ในฐานะที่ช่วยกันสร้างโลกให้น่าดูให้งดงามอย่างนี้ เช่น คิดค้นวิชาขึ้นมาใส่โลกอย่างนั้นอย่างนี้ เพราะคนทุกคนในโลกมีบุญคุณต่อกัน ไม่ต้องพูดถึงคนหรอกแม้แต่สุนัขและแมวยังมีบุญคุณแก่มนุษย์ แม้แต่นกกระจอกก็ยังมีบุญคุณแก่มนุษย์ ถ้าเรารู้จักบุญคุณของสิ่งเหล่านี้แล้วก็ทำอะไรชนิดที่เป็นการเบียดเบียนกันไม่ได้ ด้วยอำนาจของธรรมะ คือ ความกตัญญูกตเวทีเท่านั้น มันก็ช่วยโลกได้

เพราะฉะนั้นเป็นอันว่าขึ้นชื่อว่าธรรมะนั้น ถ้าเป็นธรรมะจริงแล้ว มันเหมือนกันหมด เป็นอันเดียวกันหมด คือมันช่วยโลกได้ทั้งนั้น ถ้าธรรมะไม่จริงแล้วมันขัดขวางกันไปหมด มันจะ ดูมากมายรกรุงรังไปหมด ฉะนั้นเมื่อมีธรรมะจริง คือว่างจากตัวกู-ของกู แล้ว ก็มีธรรมะหมด มีพุทธะหมด มีอะไรหมดอยู่ในตัวมัน เอง ในจิตใจดวงเดียวกันเอง ซึ่งเป็นจิตแท้ หรือจิตที่เป็นสภาพ เดิมแท้ ถ้าตรงกันข้ามคือว่า จิตกำลังปรุงอยู่ด้วยตัวกู-ของกู เดือดพล่านอยู่ในใจแล้ว ธรรมะก็ไม่มี ขณะนั้นมันไม่มีสติสัมปชัญญะ มีสภาพผลุนผลัน ไม่คิดไม่นึกไม่ยับยั้งชั่งใจ มีอหิริ มีอโนตตัปปะ ไม่ละอายบาป ไม่กลัวบาป เป็นคนด้านต่อความชั่วที่สุด และเป็นคนอกตัญญูที่สุด ตลอดถึงเป็นคนที่ทำทุกสิ่งที่เป็นการทำลายโลกก็ได้ มันมืดมัวถึงขนาดนี้แล้ว ไม่ต้องพูดถึงเรื่องญาณทัศนะเห็นแจ้ง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา หรืออะไรทำนองนั้น มันเป็นไปไม่ได้

นี่แหละเราต้องรู้จักของ ๒ อย่างนี้เสียก่อน คือว่า ว่างจากตัวกู กับ ไม่ว่างจากตัวกู ว่างจากตัวกูนี้ก็เรียกว่า ว่าง แล้วไม่ว่างจากตัวกู เราเรียกว่า วุ่น เพื่อประหยัดเวลาในการออกเสียง ก็มี ว่าง กับ วุ่น

ทีนี้อาจรู้สึกด้วยสามัญสานึกทันทีขึ้นมาเดี๋ยวนี้แล้วว่าทุกคนไม่มีใครชอบวุ่น ถ้าถามว่าใครชอบวุ่นลองยกมือขึ้น ถ้าใครยกมือขึ้นมาคงจะขำพิลึก เพราะว่าทุกคนนี้ก็ชอบว่างจะว่าง ชนิดไหนก็ล้วนแต่ชอบทั้งนั้น ว่างขี้เกียจไม่ต้องทำงานนี้ก็ยังมีคนชอบ ว่างจากไม่มีอะไรมากวนไม่มีลูกมีหลานมีเหลนมากวนอย่างนี้ใคร ๆ ก็ชอบ แต่ว่าว่างอย่างนั้นเป็นเรื่องข้างนอก ยังไม่ใช่ว่างจริง

ว่างข้างในนั้นคือการที่มีใจคอปกติ ใจคอไม่ระส่ำระสายวุ่นวาย อย่างนี้เรียกว่าว่าง ถ้าใครรู้จักก็จะยิ่งชอบ ถ้าว่างยิ่งขึ้นไปอีกก็ถึงที่สุด คือว่างจากความรู้สึกที่เป็นตัวตน (Egoism) ไม่มีความรู้สึกว่าเป็นตัวเราเป็นของเราอย่างนี้เป็นนิพพาน ว่างอย่างนี้เขาเรียกว่านิพพาน

ที่วุ่นนั้นตรงกันข้าม วุ่นได้ทุกอย่าง ทุกทาง ทั้งทางกาย ทางใจ และทางวิญญาณ มันวุ่น คือว่าถูกรบกวนไปหมดไม่มีความสงบสุขเลย

ในตัวความว่างนั้น คือ ธรรมะ คือ พุทธะ คือ สภาพเดิมแท้ของจิต หรืออะไรแล้วแต่จะเรียก ในตัวความวุ่นนั้นคือไม่มี ธรรมะ ไม่มีพุทธะ แม้แต่จะร้องตะโกนอยู่ว่า พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ หรืออะไร มันก็ไม่มีธรรมะไปได้ นี่แหละคนที่มีจิตใจวุ่นอยู่ด้วยตัวกู-ของกู ถึงจะ ไปรับไตรสรณคมน์ รับศีล ทำบุญให้ทานอะไรมันก็ไม่มีพุทธะ ธรรมะ สังฆะ ที่แท้จริงขึ้นมาได้ มันเป็นเพียงพิธีไปหมด ถ้าเป็นพุทธะ ธรรมะ สังฆะ ที่แท้จริงแล้ว มันอยู่ด้วยจิตว่าง เมื่อใดจิตว่างจากตัวกู- ของกูแล้ว เมื่อนั้นมันมีพุทธะ ธรรมะ สังฆะ ที่แท้จริงอยู่ในจิตใจนั้น ถ้ามีอย่างชั่วคราว เป็น พุทธะ ธรรมะ สังฆะ ชั่วคราว ถ้ามีเด็ดขาดไป ก็มี พุทธะ ธรรมะ สังฆะ ที่แท้จริงและถาวร

ฉะนั้นขอให้อุตส่าห์ปรับให้จิตใจว่าง จากตัวกู-ของกูอยู่ เรื่อยไปก็แล้วกัน มันจะมีพุทธะ ธรรมะ สังฆะ ในระดับหนึ่งประจำอยู่ในจิตใจ ทำเรื่อย ๆ ไปจนกว่าจะเต็มที่สมบูรณ์หรือเด็ดขาด

นี่เรียกว่าเราได้รับเอาธรรมะที่เป็นยาแก้โรคด้วย เป็นเชื้อต้านทานโรคด้วย พร้อมกันไปในตัว เข้าไปใส่ไว้ในจิตใจในวิญญาณก็ได้ มันก็ไม่มีทางที่จะเกิดโรคทางวิญญาณ

ทีนี้เราควรจะได้พูดถึงส่วนที่เป็นการรักษาเยียวยานั้นให้ชัดเจนลงไปอีกสักเล็กน้อย ในการที่จะป้องกัน หรือรักษาเยียวยาโรคนี้มันก็ต้องมีหลักอย่างที่กล่าวมาแล้ว คือว่าต้องไม่ใหัตัวกู-ของกูเข้ามาเกี่ยวข้อง

ทีนี้มันจะโดยวิธีใดบ้าง ? มันก็มีอยู่หลายวิธีเหมือนกัน เพราะแม้แต่รักษาโรคทางกายหรือทางจิต (Mental) ก็ตาม ซึ่งในโรคเดียวกันนั้นก็ยังมีวิธีรักษาได้หลายแบบไม่ใช่มันจะแบบเดียว ตายตัว แต่ความมุ่งหมาย หรือผลของมันนั้นก็มีเป็นอย่างเดียว ถ้าว่าเราจะรักษาโรคทางวิญญาณละก็ พระพุทธเจ้าท่านก็ได้กล่าวถึงวิธีปฏิบัตินี้ไว้มากมายหลายอย่างเหมือนกัน เพื่อให้เหมาะสมแก่บุคคล แก่เวลา แก่สถานที่ ตามโอกาสเราจึงได้ยินได้ฟังธรรมะมากมายหลายชื่อ บางทีฟังแล้วน่าตกใจว่า ตั้งแปดหมื่นสี่พันพระธรรมขันธ์ ถ้า ๘๔,๐๐๐ เรื่อง แล้วท่านทั้งหลายจะรู้สึกท้อถอย ถ้าขืนเอาให้ได้ก็ตายเปล่า คือมันไม่อาจจะได้ มันก็เรียนแล้วลืม ลืมแล้วเรียน เรียนแล้วลืมอยู่นั่น หรือว่าสับสนกันไปหมด เพราะว่าที่แท้จริงแล้วมันมีเพียงกำมือเดียว เรื่องเดียวอย่างพระพุทธเจ้าท่านบอกแล้วท่านสรุปลงในคำ ๆ เดียวว่า "สิ่งทั้งปวงไม่ควรเข้าไปยึดมั่นถือมั่น" ได้ยินข้อนี้ก็คือได้ยินทั้งหมด ปฏิบัติข้อนี้ก็คือปฏิบัติทั้งหมด ได้ผลข้อนี้ก็คือหายจากโรคทั้งหมด

ที่ว่ามีวิธีหลายแบบในการขจัดโรคตัวกู-ของกูนี้ ความจริงแล้วมันสามารถขจัดตัวกู-ของกูนี้ออกไปได้ทั้งนั้นเหมือนกันทุกแบบ แล้วแต่ว่าจะปฏิบัติโดยวิธีใดบ้าง คือมีหลายอย่างเช่นวิธีทำการพิจารณาอยู่เสมอ ให้เห็นว่า ตัวกู-ของกูนี้เป็นเพียงมายา ตัวมายาคือสิ่งที่ไม่มีตัวจริงเป็นภาพลวงตา (illusion, Hallucination) หรืออะไรทำนองนี้เรียกว่ามายา; จะทำให้เห็นว่าที่เรารู้สึกว่ามีตัวตน มีก้อน มีชิ้น มีดุ้นว่าตัวกู-ของกูนั้น ที่มันเป็นเพียงมายา ตามวิถีทางของอาการที่เรียกกั้นว่า ปฏิจจสมุปบาท

ฉะนั้น ถ้าเรื่องปฏิจจสมุปบาท นี้ถ้าจะกล่าวทางทฤษฎี หรือทางหลักวิชาการมันยืดยาว ใช้เวลาเรียนถึงเดือนหนึ่ง หรือสองเดือนก็ได้ สำหรับเรื่องปฏิจจสมุปบาทเพียงเรื่องเดียว เพราะในทางทฤษฎีหรือหลักวิชานั้นมันขยายไปในรูปของจิตวิทยาหรือปรัชญาเรื่อยไป จนกระทั่งเป็นน้ำท่วมทุ่งเพ้อเจ้อไปเลย

ขอให้ดูที่ว่า พอกระทบอารมณ์ก็เป็นผัสสะแล้วมันปรุงเป็นเวทนา หรือที่ปรุงต่อๆ กันไปนั้น ก็เรียกว่า “อาการของปฏิจจสมุปบาท” คืออาการของการที่มีสิ่งต่างๆ มันอาศัยสิ่งหนึ่งแล้วปรุงสิ่งหนึ่งขึ้น แล้วอาศัยสิ่งนั้นปรุงอีกสิ่งหนึ่งขึ้น อาศัยสิ่งนั้นแล้วปรุงอีกสิ่งหนึ่งขึ้น อาการอย่างนี้ หรือภาวะอย่างนี้ เรียกว่า ปฏิจจสมุปบาท คืออาศัยกันเกิดขึ้นเท่านั้น ไม่ได้มีตัวตนแท้จริงที่ไหน เพียงแต่อาศัยกัน แล้วเกิดขึ้น แล้วเกิดขึ้น อาการที่อาศัยกันเกิดขึ้นนี้เป็นตัวปฏิจจสมุปบาท

วิธีที่จะใช้ให้เป็นประโยชน์ก็คือว่า อย่าให้มันอาศัยกันเกิดขึ้นได้ ให้ตัดตอนมันเสีย คือว่าเมื่อผัสสะกระทบทางตาเป็นต้น แล้วให้มันขาดตอนลงไป อย่าให้มันปรุงเป็นเวทนา อย่าให้รู้สึกเป็นพอใจหรือไม่พอใจขึ้นมา นี้เรียกว่าไม่ปรุงเวทนา เมื่อไม่ปรุงเวทนาแล้ว ก็ไม่เกิดปัญหาอุปาทาน ซึ่งเป็นตัวกูหรือของกู มันเป็นตัวกู-ของกู อยู่ตรงที่เกิดตัณหาอุปาทานนั้นแหละ มายาอยู่ที่ตรงนั้น ถ้าพอว่ากระทบอารมณ์เป็นผัสสะล้วนๆ แล้วหยุดเสียแค่นั้น มันก็ไม่มีทางที่จะเกิดตัวกู-ของกู ก็ไม่เป็นโรคทางวิญญาณและไม่เป็นทุกข์

ที่นี้อีกทางหนึ่งก็คือว่า คนธรรมดาสามัญนี้ ที่จะไม่ให้ผัสสะปรุงเป็นเวทนานั้นยากนัก เพราะพอกระทบเข้าแล้ว ก็ต้องเลยไปรู้สึกเป็นพอใจหรือไม่พอใจเสมอไป ไม่หยุดอยู่เพียงแค่ผัสสะ เพราะว่าไม่เคยได้ศึกษาอบรมในทางธรรม แต่ยังมีทางเอาตัวรอดอีกตอนหนึ่ง คือตอนที่ว่า ปรุงเป็นเวทนาแล้วนี้ พอใจหรือไม่พอใจแล้วนี้ ก็ให้หยุดอยู่เพียงนั้นอีก ให้เวทนาสักแต่ว่าเวทนา แล้วดับไป อย่าให้เลยไปเป็นตัณหาความอยากอย่างนั้น อย่างนี้ อย่างโน้น ตามความพอใจหรือความไม่พอใจ เพราะถ้าพอใจก็อยากได้ รักใคร่ หลงใหล หึงหวง ริษยา อะไรกันเป็นแถวเลย ถ้าไม่พอใจแล้วอยากตีให้ตาย อยากทำลาย อยากล้างผลาญมันเสียเลย อยากจะฆ่ามันเสียเลย ถ้าอย่างนี้แล้วได้ชื่อว่า มันปรุงเป็นตัณหาเสียแล้ว ถ้าอย่างนี้แล้วได้ชื่อว่า มันปรุงเป็นตัณหาแล้ว เวทนานั้นได้ปรุงเป็นตัณหาเสียแล้ว ถ้าอย่างนี้แล้วต้องเป็นโรคทางวิญญาณที่เป็นทุกข์ ไม่มีใครช่วยได้ ต่อให้พระเจ้าทั้งหมดรุมกันช่วยก็ช่วยไม่ได้ พระพุทธเจ้าท่านก็ว่า ท่านช่วยไม่ได้ ท่านไม่ใช่ผู้ที่บังคับกฎธรรมชาติได้ ท่านเป็นเพียงผู้เปิดเผยกฎธรรมชาติให้ไปปฏิบัติกันเอาเอง ถ้าปฏิบัติผิดมันก็ต้องเป็นทุกข์ ถ้าปฏิบัติถูกมันก็ไม่ทุกข์ เพราะฉะนั้น จึงว่าถ้าเวทนาปรุงเป็นตัณหาแล้วไม่มีใครช่วยได้ จะต้องเป็นทุกข์โดยแน่นอน เพราะมันทำให้เกิดความอยากอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นมาแล้ว เป็นตัณหาแล้ว

ทีนี้ในตัวความอยากนั้น ในตัวที่เกิดขึ้นเป็นความอยากพล่านอยู่ในใจนั้น ขอให้มองดูให้ดีๆ มองดูแยกส่วนออกไปให้ได้ว่า ในนั้นมันมีความรู้สึกที่เป็นตัวผู้อยาก คือตัวกูหรือตัวเราที่รู้สึกอยากอย่างนั้น อยากอย่างนี้ อยากจะทำอย่างนั้น อยากจะทำอย่างนี้ หรือว่ากระทำลงไปแล้วอย่างนั้นอย่างนี้ หรือว่าได้รับผลของการกระทำอย่างนั้นอย่างนี้ มันมีตัวผู้อยากอยู่ นั่นแหละคือตัวกูมันอยาก มันก็จะได้เอามาเป็นของกู หรือว่าเป็นอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นทรัพย์สมบัติของกู ในนั้นมันมีความรู้สึกว่าของกูอยู่ด้วย

ความรู้สึกว่าตัวกูว่าของกูนี้ เรียกว่าอุปาทาน เกิดมาจากตัณหา ตัณหาปรุงเป็นอุปาทาน ถ้าปฏิจจสมุปบาทได้ส่งทยอยกันมาจนถึงตัณหาอุปาทานแล้ว มันก็เป็นมูลเหตุของความทุกข์ได้โดยสมบูรณ์แล้ว นี้แปลว่า เดี๋ยวนี้เชื้อโรคฟักตัวเต็มที่แล้ว เชื้อโรคที่เข้ามาทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ในขณะของผัสสะหรือเวทนานั้น เมื่อมาถึงขั้นของตัณหาอุปาทานนี้ มันฟักตัวเต็มที่ถึงขนาดจะเป็นอาการของโรคโดยสมบูรณ์แล้ว เพราะว่าหลังจากอุปาทานก็มีภพ อุปาทานทำให้เกิดภพ

ภพ แปลว่า ความมี-ความเป็น ความมี-ความเป็นของอะไร? ก็ของตัวกู และของกูนั่นเอง กรรมภพ ก็คือ การกระทำที่ทำให้เกิดตัวกูและของกู ถ้าเรียกว่า “ภพ” เฉยๆ ก็คือ ภาวะแห่งตัวกูเต็มที่ เป็นโรคเต็มที่

ภพให้เกิดชาติ ก็หมายความว่า ความเต็มที่นั้นมันแสดงออกมาเป็นชาติ คือ ความเกิด นี้ตัวกูได้เกิดออกมาแล้ว เป็นความทุกข์ เป็นความแก่ความตาย โศกะ ปริเทวะ ทุกขะ โทมนัส มากมายเหลือที่จะจาระไนอาการ แต่รวมเรียกว่าเป็นทุกข์

ขณะนี้ก็คืออาการที่เรากำลังเจ็บปวดทุรนทุรายอยู่ด้วยผลของโรค นี้เรียกว่า ปฏิจจสมุปบาทได้เป็นมา ได้ทยอยกันมาจนถึงกับเกิดโรค หรือเกิดทุกข์

ในทางปฏิบัติ เราหยุดมันเสียให้ได้ ตรงที่ไม่ให้ผัสสะปรุงเวทนา หรือถ้าพลาดตรงนั้นก็ให้มาทำตรงที่ไม่ให้เวทนาปรุงเป็นตัณหา หลังจากนี้แล้วก็ช่วยไม่ได้ เพราะฉะนั้นเราพยายามมีธรรมะกันให้ได้ตรงที่ตาเห็นรูป หูฟังเสียง จมูกได้กลิ่นนี้ โดยที่เราศึกษาอบรมกันอยู่เป็นประจำในข้อที่ว่า สิ่งทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น แปลว่าคนธรรมดาเขามีแนวว่า ถ้าเกิดผัสสะแล้วเกิดเวทนา แล้วเกิดตัณหา อุปาทาน ภพ ชาติ นี้ เป็นทางที่เดินกันจนเตียนโล่งไปหมด เดินง่ายที่สุด แต่เราไม่เอาอย่างนั้น พอมีผัสสะกระทบแล้วเราก็วกกลับเดินไปในทางของสติปัญญา ไม่เดินไปทางตัวกู-ของกู อย่างนี้ไม่มีทุกข์เลยทุกวันทุกคืนจะไม่มีทุกข์เลย แล้วถ้าทำได้เก่ง คือทำไปตามวิธีที่ถูกต้องถึงที่สุดแล้ว เป็นพระอรหันต์ได้ในตัวเอง

ถ้าเอาตามหลักที่พระพุทธเจ้ากล่าว มันก็มีหลักง่ายๆ คือหลักที่พระพุทธเจ้าตรัสกับพระสาวก ชื่อพาหิยะ ว่า “ดูกร พาหิยะ เมื่อใดเธอได้เห็นรูป สักว่าตาเห็น ได้ฟังเสียง สักว่าหูได้ยิน ได้ดมกลิ่น ก็สักแต่ว่าได้กลิ่น ได้ลิ้มรส ก็สักแต่ว่าได้ชิม ได้สัมผัสผิวหนัง ก็สักแต่ว่า เป็นการกระทบทางผิวหนัง จะคิดนึกขึ้นมาในใจ ก็สักแต่ว่ารู้สึกตามธรรมชาติขึ้นมาในใจ เมื่อเป็นดังนี้แล้ว เมื่อนั้นตัวเธอจักไม่มี (คือตัวกูไม่มี) เมื่อตัวเธอไม่มี การวิ่งไปทางโน้น หรือวิ่งมาทางนี้ หรือหยุดอยู่ที่ไหนก็ตาม มันก็ไม่มี นั่นแหละคือที่สิ้นสุดของความทุกข์ นั่นแหละคือนิพพาน” เมื่อใดเป็นอยู่อย่างนั้น เมื่อนั้นเป็นนิพพาน ถ้าเป็นการถาวร ก็เป็นนิพพานถาวร ถ้าเป็นชั่วคราว ก็เป็นนิพพานชั่วคราว นี่แปลว่า เป็นหลักเพียงอย่างเดียว ไม่มีอย่างอื่น

จะปฏิบัติวิธีไหนก็ให้เป็นไปเพื่อเฉยได้ หรือหยุดได้ต่ออารมณ์ที่มากระทบทั้งนั้น จะทำวิปัสสนาแบบไหนก็ตามเถอะ ถ้าถูกต้องหรือไม่หลอกลวงกันแล้ว ก็จะต้องมาในรูปนี้รูปเดียวกัน คือในรูปที่อารมณ์ไม่ปรุงแต่งให้เกิดความรู้สึกว่าตัวกู-ของกูขึ้นมาได้ แล้วอันนี้มันไม่ยากที่จะทำลายกิเลสเพราะเมื่อเป็นอยู่อย่างนี้ ทำได้อย่างนี้ มันทำลายกิเลสของมันเอง มันฆ่ากิเลสอยู่ในตัวมันเอง

เปรียบง่ายๆ เหมือนว่าถ้าเราอยากจะไม่ให้มีหนูมารบกวน เราเอาแมวมาเลี้ยง เรื่องของเราก็เพียงแต่เอาแมวมาเลี้ยง หนูมันก็หมดไปได้ โดยที่เราไม่ต้องจับหนู แมวมันทำหน้าที่ของมันเอง หนูก็ไม่มีได้ สิ่งที่ไม่พึงปรารถนา ก็ไม่มีเพราะเหตุนี้

นี่เราทำแค่ควบคุม ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ให้ถูกวิธีเท่านั้น ตอนที่จะฆ่ากิเลสนั้นมันเป็นการฆ่าของมันเอง พูดอย่างนี้สมมติเหมือนอย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ถ้าพวกเธออยู่กันให้ถูกต้องแล้ว โลกนี้ก็จะไม่ว่างจากพระอรหันต์” ฟังดูให้ดีๆ ว่าอยู่กันให้ถูกต้องเท่านั้น ไม่ต้องทำอะไรมากไปกว่าเป็นอยู่ให้ถูกต้อง แล้วโลกนี้จะไม่ว่างจากพระอรหันต์

คำนี้ไม่ใช่คำเล็กน้อย ใจความมันก็บอกอยู่แล้ว มันไม่ใช่เล็กน้อยก็ตรงที่ว่า พระพุทธเจ้าท่านสั่งเมื่อใกล้ๆ จะปรินิพพานว่า “อิเม เจ ภิกขเว ภิกขู สมมา วิหเรยยํ อสุญโญ โลโก อรหนเตหิ อสส” ภิกษุทั้งหลาย ถ้าภิกษุเหล่านี้จักพึงเป็นอยู่โดยชอบไซร้ โลกจะไม่ว่างจากพระอรหันต์ สมมา วิหเรยยํ แปลว่า พึงเป็นอยู่ หรือพึงอยู่โดยชอบ

อยู่โดยชอบนี้อยู่อย่างไร โลกจึงจะไม่ว่างจากพระอรหันต์? อยู่โดยชอบก็คือ อยู่ในลักษณะที่ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส นี้เข้ามาแตะต้องไม่ได้ คือมากระทบนั้นได้ แต่ว่าจะมาปรุงแต่งให้เกิดเวทนา เกิดตัณหา อุปาทานนั้นไม่ได้ เราอยู่ในลักษณะที่ฉลาด อยู่ด้วยสติปัญญา หรือความว่างจากตัวกูอย่างที่กล่าวมาแล้ว เพราะเราศึกษาเพียงพอ ปฏิบัติมาจนเคยชินเพียงพอ เพราะฉะนั้นมันก็มากระทบแล้วตายเหมือนคลื่นกระทบฝั่ง เหมือนกับบ้านเรามีแมว หนูมาจากบ้านอื่น หรือมาจากป่าขึ้นมาบนเรือนนี้มันก็ตายหมด เพราะแมวมันคอยฆ่าอยู่เรื่อย

ถ้าเรามีการเป็นอยู่ที่ถูกต้องตามหลักของความไม่ยึดมั่นนี้แล้ว รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ก็ไม่มาทำอันตรายเราได้ มากระทบได้ มาเกี่ยวข้องได้ แต่เราใช้มันด้วยสติปัญญา เราจัดการกับมันด้วยสติปัญญา กินมันก็ได้ บริโภคมันก็ได้ มีมันก็ได้ เก็บมันไว้ก็ได้ แต่ไม่มีผลเป็นทุกข์ เพราะมันทีค่าเท่ากับไม่มี ไม่เป็น ไม่ใช้ ไม่กิน ไม่เก็บ เพราะไม่มีตัวเรา ไม่มีของเรา

ในทางที่ตรงกันข้ามนั้น มันไปมีตัวเราของเราหมด เพราะฉะนั้นมันจึงเป็นทุกข์ตลอดเวลา ไม่ทันกิน ไม่ทันเก็บ มันก็ทุกข์แล้ว กินอยู่ เก็บอยู่มันก็ทุกข์อีก มันเป็นทุกข์ไปหมดเพราะเหตุนี้ นั่นเรียกว่าไม่อยู่โดยชอบ ถ้าเป็นอยู่โดยชอบ มันก็ไม่มีทางที่จะเกิดโรค หรือเกิดความทุกข์ได้เลย

คำๆ นี้ อธิบายได้ต่อไป ถึงกับว่าเป็นอยู่อย่างนั้น กิเลสไม่ได้อาหารหล่อเลี้ยง กิเลสผอมตายเอง เปรียบเหมือนว่าเสือดุร้ายนี้ เราล้อมคอกมันไว้ได้แล้ว เราก็ล้อมมัน มันก็ไม่ได้กินอาหาร เพราะในคอกนั้นมันไม่มีอาหาร เราไม่ต้องฆ่ามัน มันก็ตายเอง เพราะฉะนั้นเราล้อมมันไว้ให้ถูกวิธี ตรงรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ที่มากระทบ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ รอบตัวเรา ล้อมตรงนี้ คือปฏิบัติให้ถูกต่อสิ่งเหล่านี้ ที่ตรงนี้ กิเลสไม่มีทางได้กินอาหาร ก็ไม่อาจเกิด ไม่อาจเจริญงอกงาม เชื้อของกิเลสจึงหมดไป มันก็เลยไม่มีเชื้อที่จะให้เกิดกิเลสหรือทำให้เกิดทุกข์

พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า อยู่ให้ชอบ อยู่ให้ถูกวิธีเท่านั้น โลกจักไม่ว่างจากพระอรหันต์ นี้เรียกว่าปฏิบัติตามหลักของปฏิจจสมุปบาท เรียกว่าเป็นอยู่ถูกต้องชนิดที่กิเลสเกิดไม่ได้ โดยที่เห็นว่าตัวกู-ของกูนี้เป็นเพียงมายา เพราะมันเพิ่งเกิดต่อเมื่อรูปมากระทบตา เสียงมากระทบหูเป็นต้น เกิดเวทนาแล้วปรุงเป็นความอยาก ถ้าอย่าให้มีอะไรมาปรุงเป็นความอยาก มันก็ไม่เกิดอุปาทานว่าตัวกูว่าของกู

เพราะฉะนั้น พึงเข้าใจให้ถูกต้องว่ามันเพิ่งเกิดหยกๆ เพราะการปรุงขึ้นมา ไม่ใช่ตัวจริง มันเป็นมายาเหมือนกับหน่วยคลื่นที่เกิดขึ้นเพราะลมพัดนี้ น้ำก็มีอยู่จริง ลมก็มีอยู่จริง แต่ตัวคลื่นนั้นเป็นมายา นี่เปรียบเทียบโดยวัตถุ แต่จะเอาเป็นเรื่องเดียวกันแท้ไม่ได้ มุ่งแต่จะชี้ตรงความเป็นมายาของคลื่นที่เกิดขึ้นมาเพราะการปรุงแต่ง คือลมพัดน้ำให้กระฉอกเป็นคลื่น ยกเป็นสันลูกคลื่นขึ้นมาแล้วก็หายไป เพราะฉะนั้นความรู้สึกว่าตัวกู-ของกูคราวหนึ่งๆ ในวันหนึ่งๆ ซึ่งเกิดอยู่หลายๆ คราวนั้นก็เป็นเหมือนคลื่นที่มีมาจากน้ำ คืออารมณ์รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส แล้วก็กระทบด้วยลม คือความโง่ ความหลง อวิชชา แล้วเกิดคลื่น คือตัวกู-ของกูโผล่ขึ้นมาเป็นคราวๆ วันหนึ่งหลายคราว

ความรู้สึกว่าตัวกู-ของกูหรือ Egoism โผล่ขึ้นมาคราวหนึ่งนี้ ท่านเรียกว่าชาติหนึ่ง ชาติคือความเกิดทีหนึ่ง

นี่แหละ ความเกิดที่แท้จริง หมายถึงความเกิดของสิ่งนี้ อย่าได้ไปหมายถึงความเกิดจากท้องแม่ คนหนึ่งเกิดจากท้องแม่ทีหนึ่งแล้วก็เข้าโลงไปทีหนึ่ง นั้นไม่ใช่ความเกิดที่พระพุทธเจ้าท่านมุ่งหมาย มันเป็นการเกิดทาง Physical มากเกินไป

ความเกิดที่พระพุทธเจ้าท่านมุ่งหมายนั้น เป็นฝ่าย Spiritual หมายถึงความเกิดที่เป็นอุปาทานว่าตัวกู-ของกู วันหนึ่งเกิดได้หลายชาติ หลายสิบชาติ หรือหลายร้อยชาติก็ตาม แล้วแต่ว่าใครจะเกิดเก่งสักกี่มากน้อย แต่ทุกคราวต้องเป็นชาติ เป็นตัวกู-ของกู ขึ้นมาที่หนึ่งเสมอไป แล้วมันก็ค่อยจางไป เดี๋ยวมันก็ค่อยดับไป แล้วก็ตายไป เดี๋ยวก็เกิดโผล่มาใหม่อีก เมื่อไปกระทบรูป เสียง หรือกลิ่นอย่างอื่นขึ้นอีก แต่ละชาติก็มีปฏิกิริยา (Reaction) ส่งต่อถึงกัน อย่างที่เรียกว่ากรรมเก่าของชาติก่อน ส่งผลให้เกิดในชาตินี้ เป็นผลขึ้นมาแล้วส่งต่อกันไปอย่างนี้ทุกๆ ชาติ

คำว่าผลกรรม หรือการรับผลกรรม ก็มุ่งหมายอย่างนี้ และถูกตามที่พระพุทธเจ้าท่านสอน ถ้าไม่อย่างนั้น จะออกนอกเรื่องนอกราวไป เราต้องเข้าใจ เรื่องเกิด เรื่องกรรม และการรับผลกรรมอย่างนี้

อย่างว่าเกิดเป็นผู้อยากได้ของรักอย่างใดขึ้นมาแล้วตายไป แล้วเกิดเป็นผู้ขโมยไปขโมย หรือว่าไปทำโจรกรรมเข้าจริงๆ แล้วก็ตายไป แล้วไปเกิดเป็นผู้บริโภคสิ่งนั้นเข้าไป หรือว่าไม่ได้บริโภคสิ่งนั้นเข้าไป เดี๋ยวไปเกิดเป็นจำเลย ถูกกล่าวหาแล้วเดี๋ยวไปเกิดเป็นนักโทษอยู่ในตะรางแล้ว ความเกิดอย่างนี้มีได้มาก และสับสนอย่างยิ่ง หลายสายหลายแนวคลุกเคล้ากันไป ดูมันให้ดีๆ จะเข้าใจ ถ้าหยุดความคิดได้เสียเมื่อไร เมื่อนั้นก็เป็นนิพพาน ซึ่งไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย

ถ้ามีการเกิด เป็นต้องรู้สึกว่าตัวกู-ของกูเรื่อย ก็เป็นวัฏสงสารไปเรื่อย คือทุกข์เรื่อยเป็นลูกโซ่ไปเลย

แต่เราอย่าไปเข้าใจผิดตรงที่ว่า ไม่เกิด ไม่เกิดนี้มันหมายถึงว่า จนขนาดไม่มีความรู้สึกอะไรเลย ไปนั่งตัวแข็งเป็นท่อนไม้นี้ไม่ใช่ มันกลับว่องไว (Active) มากที่สุด ที่ว่างจากตัวกูหรือว่างจากความเกิดมากที่สุดนั้น กลับเป็นสติปัญญามากที่สุด ทำอะไรได้คล่องแคล่วที่สุด เพราะมันไม่อาจ คิดผิด พูดผิด ทำผิด มันจึงทำได้รวดเร็ว

ที่ว่ามันไม่มีทางจะผิดได้ เพราะมันเป็นสติปัญญาอยู่โดยธรรมชาติ ในตัวธรรมชาติโดยอัตโนมัติ สิ่งที่เรียกว่า ความว่างจากตัวกู มันเป็นอย่างนี้เอง “เรา” ที่ว่าว่างจากตัวกูหรือผู้ที่ว่างจากตัวกู หรือผู้ที่เป็นนิพพานอยู่นี้ ทำอะไรได้หมด แต่แล้วไม่ทำอะไรผิดเลย เป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลอย่างยิ่ง รวดเร็วอย่างยิ่ง มากมายอย่างยิ่ง นี้มันดีอย่างนี้

อย่าได้ไปเข้าใจว่า ถ้าเกิดความรู้สึกอย่างนี้แล้ว มันทำอะไรไม่ได้ หยุดทำอะไรไปหมด หนืดไปหมด เนือยไปหมด หรือมันเฉยไปเลย อย่างนั้นว่าเอาเอง เพราะความโง่ของตัวเอง ก็เลยทำให้กลัว กลัวความว่าง กลัวนิพพาน หรือกลัวจะหมดกิเลสตัณหา แล้วก็ไม่สนุกอย่างนี้เป็นต้น

ความหมดกิเลสตัณหา ยิ่งสนุกอย่างยิ่ง ยิ่งเป็นสุขอย่างยิ่ง แต่ถึงอย่างไรก็ต้องเป็นความสุข หรือความสนุกที่แท้จริง คือจะไม่เป็นอันตราย ไม่หลอกลวง ไม่เป็นมายา

ในความสุขสนุกสนานของคนปุถุชนนั้น มันไม่จริง มันหลอกลวง มันเป็นมายา แล้วมันใส่ความทุกข์ให้แก่ผู้นั้นเหมือนกับเหยื่อที่ใครกินเข้าไปแล้วมันติดเบ็ด นี้เรียกว่าตกอยู่ใต้อำนาจพญามาร มันก็วุ่นอยู่ตลอดเวลา มันก็จมอยู่ในวัฏสงสาร คือห่วงโซ่ของความทุกข์ หรือว่าทะเลวนของความทุกข์ พ้นขึ้นมาไม่ได้

นี้เรียกว่าเราอาศัยการดับตัวกูเสียได้ ด้วยมองเห็นตัวกู-ของกูนี้ว่าเป็นมายา โดยอาศัยการปฏิบัติตามหลักของปฏิจจสมุปบาท นับว่าเป็นสายหนึ่งแนวหนึ่ง หรืออีกวิธีหนึ่ง

อาตมาจะยกตัวอย่างมาหลายๆ แนว เพื่อให้เป็นตัวอย่าง เช่นว่ามองที่อารมณ์ คือมองลงไปที่ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ หกประการที่จะมากระทบ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ว่าแม้แต่อารมณ์นี้ มันก็เป็นมายา โดยอาศัยความรู้เรื่อง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

เราอย่าทำเล่นกับเรื่อง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มันไม่ใช่เรื่องสำหรับคนแก่ หรือว่าเป็นเรื่องเอาไว้สวดศพคนตายแล้ว ในเป็นเรื่องที่ต้องนำมาใช้ในชีวิตประจำวัน สำหรับคนเป็น ๆ

ถ้าใครสามารถเอาความรู้เรื่อง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เข้ามากำกับอยู่ในชีวิตประจำวันแล้ว คนนั้นได้ชื่อว่ามีเชื้อต้านทานโรคสูงสุด แล้วอารมณ์ รูป เสียง กลิ่น รส นั้นจะไม่เกิดเป็นพิษขึ้นมาได้ เราจะมีอยู่ เป็นอยู่อย่างมีความเกษม

บาลีใช้คำว่า เขมะ เกษมนี้เป็นคำสันสกฤต คือ กษมะ แล้วมาเป็นไทยว่า เกษม เราจะเป็นอยู่อย่างเกษม

ก็น่าแปลกเหมือนกัน ที่ท่านไม่ใช้คำว่าเป็นสุข เพราะคำว่าสุขนี้มันออกจะเป็นมายา หรือหลอกลวงอยู่รูปหนึ่งเหมือนกัน เอาแค่เกษมก็แล้วกัน เกษมหมายความว่าอิสระและสงบเย็น

ถ้าจะพูดให้เห็นชัดหน่อย ไม่ให้เป็นที่ตั้งของความหลงก็เรียกว่า เกษมจากโยคะ โยคะ คือ เครื่องรบกวน เกษมจากเครื่องรบกวนนั้นคือ ว่าง หรือ นิพพาน

หากต้องการจะมีชีวิตอย่างเกษมแล้ว ต้องอาศัยความรู้เรื่อง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ให้สมบูรณ์ มันจะต่อต้านกันได้กับอารมณ์ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ที่มากระทบไม่ให้ไปหลงรักหรือหลงเกลียด

เรื่องวุ่นวายมีอยู่ ๒ อย่างเท่านั้น คืออย่าไปหลงรักอย่างหนึ่ง ไปหลงเกลียดอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นเหตุให้ต้องหัวเราะและร้องไห้ ถ้าใครมองเห็นว่าหัวเราะ มันก็กระหืดกระหอบเหมือนกัน สู้อยู่เฉยๆ ดีกว่า อย่าต้องหัวเราะ อย่าต้องร้องไห้นี่แหละ มันเป็นความเกษม

เพราะฉะนั้น เราอย่าได้ตกเป็นทาสของอารมณ์จนไปหัวเราะ หรือร้องไห้ตามอารมณ์ที่มายั่ว เราเป็นอิสระแก่ตัว หยุดอยู่หรือเกษมอยู่ อย่างนี้ดีกว่า นี่คือ การที่เราใช้ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เป็นเครื่องมือกำกับชีวิตเป็นประจำวัน สามารถเห็นว่า รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส เป็นมายา เป็น Illusion เหมือนอย่างที่ตัวกู-ของกู เป็น Illusion เพราะว่าตัวกู-ของกูมันเกิดจากอารมณ์ ตัวกู-ของกู เป็นมายา อารมณ์ทั้งหลายก็เป็นมายา เห็นได้ด้วยหลัก อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา โรคไม่เกิด ความทุกข์ก็ไม่เกิด

ทีนี้เราจะตัดลัดมองไปดูสิ่งที่เป็นสุขเวทนา คือความสุข สนุกสนาน เอร็ดอร่อย ที่เป็นสุขนั้น เรียกว่าสุขเวทนา ตัวสุขเวทนานั้นมันเป็นมายา เพราะว่ามันเป็นเหมือนลูกคลื่นที่เกิดขึ้นเป็นคราวๆ ไม่ใช่ตัวจริงอะไร ที่พูดดังนี้ก็เพราะว่าในบรรดาสิ่งทั้งปวงในโลกทั้งหมด ทุกโลกไม่ว่าโลกไหน มันมีค่าอยู่ตรงที่ให้เกิดสุขเวทนา

คิดดูให้ดีว่า ท่านศึกษาเล่าเรียนทำไม ท่านประกอบอาชีพหน้าที่การงานทำไม ท่านสะสมทรัพย์สมบัติ เกียรติชื่อเสียง พวกพ้องบริวารทำไม มันก็เพื่อสุขเวทนาอย่างเดียว เพราะฉะนั้น แปลว่าอะไรๆ มันก็มารวมจุดอยู่ที่สุขเวทนาหมด ฉะนั้นถ้าเรามีความรู้ในเรื่องนี้ จัดการกับเรื่องนี้ให้ถูกต้องเพียงเรื่องเดียวเท่านั้น ทุกเรื่องมันถูกหมด เพราะฉะนั้นจะต้องดูสุขเวทนาให้ถูกต้องตามที่เป็นจริงว่ามันก็เป็นมายาชนิดหนึ่ง

เราจะต้องจัดการให้สมกันกับที่มันเป็นมายา ไม่ใช่ว่าจะต้องไปตั้งข้อรังเกียจ เกลียดชังมัน อย่างนั้นมันยิ่งบ้าบอที่สุด ถ้าเข้าไปหลงรักหลงเป็นทาสมัน ก็เป็นเรื่องบ้าบอที่สุด แต่ว่าจะไปจัดการกับมันอย่างไรให้ถูกต้อง นั่นแหละเป็นธรรมะเป็นลูกศิษย์ของพระพุทธเจ้า ที่จะเอาชนะความทุกข์ได้ และไม่ต้องเป็นโรคทางวิญญาณ

มันก็ต้องทำโดยวิธีพิจารณาให้เห็นว่า สุขเวทนานี้ที่แท้ก็คือมายา เป็นเหมือนลูกคลื่นลูกหนึ่งที่เกิดขึ้นเพราะน้ำถูกลมพัด หมายความว่า เมื่อรูป เสียง กลิ่น รส เข้ามาแล้ว ความโง่ คืออวิชชา โมหะออกรับ กระทบกันแล้วเกิดเป็นคลื่น กล่าวคือ สุขเวทนา ขึ้นมา เดี๋ยวมันก็แตกกระจายไป ถ้ามองเห็นอย่างนี้แล้ว เราก็ไม่ตกเป็นทาสของสุขเวทนา เราสามารถจะควบคุม จะจัดจะทำกับมันได้ในวิธีที่ไม่เป็นทุกข์ ครอบครัวก็ไม่เป็นทุกข์ เพราะมีเราเป็นมูลเหตุ ถ้าทุกคนเป็นอย่างนี้ โลกก็มีสันติภาพถาวร คือเป็นความสุขที่แท้จริงและถาวร นี่คืออานิสงส์ของการหายจากโรคโดยวิธีต่างๆ กัน ไม่เป็นโรคตัวกู ไม่เป็นโรคของกู

อาตมายกตัวอย่างมาเพียง ๓ อย่างก็พอแล้ว เพราะเวลาก็จะหมดอยู่แล้ว ว่าเราจะเห็นตัวกู-ของกูนี้เป็นมายาโดยหลักของ ปฏิจจสมุปบาท ก็ได้ หรือว่าอีกวิธีหนึ่ง เราจะเห็นอารมณ์ทั้งหก คือ รูป เสียง กลิ่น รส นี้มันเป็นมายา โดยหลักของ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ก็ได้ หรือว่าเราจะเห็นสุขเวทนาว่าเป็นของมายา อย่างนี้ก็ได้

ทั้งหมดจะเป็นได้อย่างนั้น ก็ต้องดูให้ดี หรือระมัดระวังให้ดี มีสติสัมปชัญญะกันให้มาก ตรงขณะที่อารมณ์กระทบทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย นั่นเอง เหมือนที่พระพุทธเจ้าท่านกำชับพระพาหิยะ ให้เห็นสักว่าเห็น ได้ยิน สักว่าได้ยิน อย่าให้ปรุงเวทนา หรือถ้าปรุงเป็นเวทนาแล้ว ก็อย่าให้ปรุงเป็นตัณหาก็ได้ ยังได้อีกทีหนึ่ง แล้วก็ไปสนใจเรื่องว่างเรื่องวุ่นให้มากที่สุด

พูดเพียงครั้งเดียว หรือฟังเพียงครั้งแรกนี้ พอเข้าใจเลา ๆ ต้องไปสังเกตจนจับให้ได้ว่า เราเองแท้จริงก็มีว่างอยู่มาก เวลาที่เราว่าง ไม่วุ่น หรือมีสติปัญญามีอยู่มาก วุ่น หรือความรู้สึกที่เป็นตัวกู-ของกูนั้น มันมาเป็นพัก ๆ คราว ๆ ที่เรียกว่าความเกิดนั้น มันมาเป็นคราว ๆ เกิดทุกทีเป็นทุกข์ทุกที แต่ว่าขณะที่ไม่เกิดนั้นไม่เป็นทุกข์เลยและมีอยู่มาก แล้วคนก็โง่เอามองข้ามไปเสียเอง คือมองข้ามนิพพานที่มีอยู่เองไปเสีย มันจึงมองไม่เห็นว่ามีนิพพาน

แม้เป็นนิพพานน้อย ๆ นิพพานชิมลองก็จริง แต่ว่าก็เป็นนิพพานอย่างเดียวกับนิพพานจริง หรือนิพพานถาวร เพียงแต่ว่ามันไม่ถาวร เพราะว่าเราไม่สามารถป้องกันโรค ไม่สามารถทำลายโรค โรคจึงเข้ามาแทรกเป็นพัก ๆ นิพพานก็ขาดเป็นห้วง ๆ

ถ้าใครมีบุญ คือฉลาดถึงกับรู้ว่า โดยที่แท้ จิตโดยพื้นฐานนั้นมันว่าง หรือเป็นนิพพานอยู่เองแล้ว เรื่องมันก็ระวังอยู่แต่เพียงว่า อย่าให้ของใหม่เข้ามาแทรกแซง เจ้าบ้านว่างดีอยู่แล้ว แขกอาคันตุกะนั่นคือวุ่น เพราะฉะนั้นอย่าให้มันเข้ามา ไล่มันออกไป ไม่ให้มันเข้ามาในบ้านในเรือนของเรา มันก็ว่างอยู่ตลอดเวลาได้

วิธีไล่ออกไปก็คือวิธีปฏิบัติธรรมะ ตามหลักของพระพุทธเจ้า นี่เป็นสาเหตุให้เกิดกำลังใจ เกิดฉันทะ ความเชื่อศรัทธาแน่นแฟ้นในธรรมะ เกิดวิริยะ ความพากเพียรเอาจริงในธรรมะ เกิดจิตตะ เอาจิตจดจ่ออยู่กับธรรมะ เกิดวิมังสา สอดส่องอยู่เสมอ แล้วมันก็สำเร็จ เป็นของที่ไม่ยาก

แต่ถ้าว่าโง่ในตอนแรกแล้ว มันยากอย่างยิ่ง คือว่ายากยิ่งกว่ากลิ้งครกขึ้นภูเขา แต่ถ้าคลำถูกเงื่อนถูกปมแล้วละก็ มันง่ายยิ่งกว่ากลิ้งครกลงมาจากภูเขา

อีกอย่างหนึ่งก็คือว่า เราต้องมีความรู้สึกตัวอยู่เสมอ อย่าลืมและอย่าประมาท คอยจับให้พบความว่างและความวุ่นที่เกิดขึ้นเป็นประจำวัน

คำว่า เรา นี้หมายถึง จิต ไม่ใช่เราคือ ตัวกู-ของกู ให้มีจิตรักและพอใจในความว่าง คือนิพพานนี้อยู่เสมอไป อย่าได้มีจิตโน้มไปในทางที่เข้าใจผิด ไปหลงสิ่งที่วุ่น

เดี๋ยวนี้ปัญหายากที่สุดมันอยู่ที่ทุกคนไม่ชอบความดับทุกข์ จนไม่กล้ายืนยันว่าเกิดมานี้เพื่อไม่ทุกข์ มันกลายเป็นว่าเกิดมาเพื่ออะไรก็ได้ เอาทั้งนั้น ขอแต่ให้ได้ตามใจตัวได้สนุก ๆ ก็แล้วกัน ก็เลยปล่อยตามเรื่องไปหมด ที่จริงเรื่องดับทุกข์นี้มันไม่ยากไม่เหลือวิสัยอะไร มันพอ ๆ กับการงานต่าง ๆ แต่เราไม่เข้าใจ เราหันหลังให้ เพราะฉะนั้น จึงเป็นทุกข์อยู่เรื่อย

เป็นอันว่าความหมดโรค หรือไม่เป็นโรคทางวิญญาณนี้ มันอยู่ตรงที่รู้จักทำไม่ให้ตัวกู-ของกู เกิดขึ้นมา นั่นแหละ คือความไม่มีโรค ซึ่งเราเรียกว่าเป็นลาภอย่างยิ่ง

คำนี้เป็นคำโฆษณาชวนเชื่อของคนขายยาครั้งพุทธกาลว่า อโรคยา ปรมา ลาภา เที่ยวร้องก้องไปตามสี่แยก ไปตามถนนหนทาง มันไม่ได้หมายถึงโรคอย่างที่มันเป็นเพียงโรคปวดฟัน หรืออะไรทำนองนั้น โรคทางวิญญาณของพระพุทธเจ้านี้ ท่านหมายถึงโรคที่เป็นทุกข์อย่างยิ่ง ซึ่งเป็นโรคอย่างแท้จริงอย่างนี้ แล้วความหมดโรคก็ต้องหมดจริงถึงขนาดนี้

เราพ้นโรคอยู่เป็นประจำทุกวันนี้ ก็เป็นการพ้นโรคอย่าง ตทังคปหาน ตทังควิมุตติ มันพ้นโรคโดย co-incident อยู่เป็นประจำวันอยู่เหมือนกัน co-incident ก็มีมาอีกรูปหนึ่ง คือว่ามีโรคฟลุคเกิดขึ้นมาแทรกแซงอยู่เสมอเหมือนกัน แต่อย่างไรก็ดี เราอย่าลืมว่า เราพ้นโรคนี้เป็นประจำตามธรรมดา โดยไม่รู้สึกตัวนั้นมีอยู่ เรียกว่า ตทังควิมุตติ

ทีนี้บางคราว เราตั้งอกตั้งใจควบคุมกัน ก็ว่างได้มากกว่านั้นอีก พ้นจากโรคได้มากขึ้นไปอีก อย่างนี้เรียกว่า วิกขัมภนวิมุตติ เพราะเราคอยคุมมันไว้

ถ้าเราจัดการได้เด็ดขาดเลย ถอนรากถอนเง่าถอนเชื้อได้หมดเลย อย่างนี้เรียกว่า สมุจเฉทวิมุตติ หรือ สมุจเฉทปหาน คือฆ่าตายเลย ไม่เพียงแต่ฟลุค หรือไม่เพียงแต่ข่มขี่ไว้ชั่วคราว

ฉะนั้น ตามธรรมดา เราจึงได้ผลอย่างน้อยก็ได้ผลเป็น ตทังควิมุตติ ได้กำไรมากอยู่แล้ว ถ้ามากกว่านั้น ก็เป็น วิกขัมภนวิมุตติ และเป็น สมุจเฉทวิมุตติ ซึ่งเป็นอันดับสุดท้ายไปเลย เราก็ไม่ได้เป็นอยู่ด้วยความโลภ ความหลง และความปรารถนาต่าง ๆ แต่ว่าเป็นอยู่ด้วยความเกษม เต็มอยู่ด้วยสติปัญญา เป็นความไม่ทุกข์ไม่ร้อน เป็นความสดชื่น เหมือนภาวะแห่งความหนุ่มความสาวที่ไม่รู้จักแก่เฒ่า นี่แหละคือความหายจากโรคทางวิญญาณ

ในที่สุดนี้ ก็ขอให้เราทุกคนที่รวมกลุ่มกันเป็นกลุ่มของพุทธบริษัทนี้ รู้จักความมุ่งหมายอันแท้จริงของการรวมกลุ่ม ถ้าเห็นว่าดีจริงอย่างนี้แล้ว ก็ช่วยกันสามัคคีกันในการที่จะเสียสละสิ่งที่ถูกกว่า เพื่อซื้อเอาสิ่งที่แพงกว่า ดีกว่า ประเสริฐกว่า เข้ามาให้ได้ คือช่วยกันรักษากิจการนี้ไว้ อย่าให้ล้มไป ให้เจริญก้าวหน้าเพื่อประโยชน์แก่ตัวเราเอง แก่เพื่อนมนุษย์ทุกคน ก็จะได้ชื่อว่า เกิดมาทีหนึ่ง ได้ทำสิ่งที่ดีที่มนุษย์ควรจะทำ และได้รับสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้รับแล้ว มันก็ไม่มีอะไรมากไปกว่านั้น มันมีเพียงเท่านั้น

ก็เป็นอันว่าจบเรื่องที่จะต้องเรียนจะต้องทำ หรือว่าจะต้องเสวยผลของการกระทำ และมีชีวิตอยู่โดยไม่เป็นทุกข์เลย ทั้งในขณะแสวงหาและขณะบริโภค เมื่อประกอบการงานเพื่อแสวงหา รวมทั้งการศึกษาเล่าเรียน การทำอาชีพเหล่านี้ เป็นการแสวงหา ขณะนี้เราก็ไม่เป็นทุกข์ ครั้นได้ผลเป็นเงินเป็นทอง ทรัพย์สมบัติ เกียรติยศ ชื่อเสียง อะไรมาบริโภค เราก็ไม่เป็นทุกข์ มันไม่เป็นทุกข์ทั้ง ๒ สถานอย่างนี้ เราก็วิเศษอย่างยิ่ง เหมือนกับไปจับปลามากิน ก็ไม่ถูกเงี่ยงปลาตำ ได้ปลามากินแล้ว ก็ไม่ถูกก้างปลาเลย เมื่อจับปลาก็ไม่ทุกข์ เมื่อกินปลาก็ไม่ทุกข์ มันก็หมดกันเท่านั้น มันไม่มีอะไรมากกว่านั้น

เพระฉะนั้น ขอให้ทุกคนรู้จักโรคทั้งทางกาย (Physical disease) และทางจิต (Mental disease) และทั้งทางวิญญาณ (Spiritual disease) กันให้ครบถ้วน อย่าให้ขาดตกบกพร่องเว้าแหว่งแต่ประการใด แล้วแก้ไขเยียวยามันไปทุกโรค ให้เป็นผู้ไม่มีโรค และได้ชื่อว่า อโรคยา ปรมา ลาภา ที่แท้จริง

อาตมาขอยุติการบรรยาย “ใจความทั้งหมดของพระพุทธศาสนา” ในโอกาสนี้เพียงเท่านี้

หนังสือเรื่องแก่นพุทธศาสน์ (ตอนที่๒)


เรื่อง

ความว่าง

พระราชชัยกวี (ภิกขุ พุทธทาส อินทปัญโญ)

ธรรมกถาในโอกาสพิเศษ ณ ชุมนุมศึกษาพุทธธรรม (ศิริราช)

ในอุปการะของคณะแพทย์ศาสตร์และศิริราชพยาบาล

มหาวิทยาลัยแพทย์ศาสตร์ ๕ มกราคม ๒๕๐๕

------------------------------------------

ท่านสาธุชนผู้สนใจในธรรมทั้งหลาย!

การบรรยายในวันนี้จะได้ว่าด้วยเรื่องของ “ความว่าง” ทั้งนี้เป็นความต้องการของท่านผู้อำนวยการการอบรม

เนื่องจากการบรรยายครั้งที่แล้วมาได้กล่าวถึงความว่างในฐานะที่เป็นเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่ง แต่โอกาสไม่อำนวยให้กล่าวถึงเรื่องนั้น แต่เรื่องเดียวโดยเฉพาะ เพื่อความเข้าใจที่ทั่วถึง เพราะฉะนั้น เรื่องความว่างจึงคลุมเครืออยู่บางประการ จึงได้มีการบรรยายเฉพาะเรื่อง ความว่างอย่างเดียวในวันนี้

ท่านทั้งหลายควรจะทราบว่า ความว่าง นั้น เป็นเรื่องที่เข้าใจยากที่สุด ในบรรดาเรื่องของพุทธศาสนา ทั้งนี้เพราะว่า เป็นเรื่องหัวใจอย่างยิ่งของพุทธศาสนา นั่นเอง

สิ่งที่เรียกกันว่าหัวใจ ก็พอจะมองเห็นหรือเข้าใจกันได้ทุกคนว่า หมายถึงสิ่งที่ลึก ที่ละเอียด สุขุม ประณีต ไม่เป็นวิสัยแห่งการเดา หรือความตรึกไปตามความเคยชิน หรือตามกิริยาอาการของคนธรรมดา แต่จะเข้าใจได้ก็ด้วยการตั้งอกตั้งใจศึกษา

คำว่า “ศึกษา” นี้ มีความหมายอย่างยิ่งอยู่ตรงการสังเกตสนใจ สังเกตพิจารณาอยู่เสมอ ทุกคราวที่มีเรื่องอะไรเกิดขึ้นกับใจ ที่เป็นความทุกข์หรือเป็นความสุขก็ตาม ผู้ที่มีความคุ้นเคยกับการสังเกตในเรื่องทางจิตใจเท่านั้นที่จะเข้าใจธรรมะได้ดี ผู้ที่เพียงแต่อ่าน ๆ ไม่สามารถจะเข้าใจธรรมะได้ บางทียิ่งไปกว่านั้นก็คือจะเฝือ แต่ถ้าเป็นผู้ที่พยายามสังเกตเรื่องเกี่ยวกับจิตใจของตัวเอง โดยเอาเรื่องจริงในใจของตัวเองเป็นเกณฑ์อยู่เสมอแล้ว ย่อมไม่มีทางที่จะฟั่นเฝือ จะเข้าใจสิ่งที่เรียกว่าความทุกข์ และความดับทุกข์ได้ดี และในที่สุดก็จะเข้าใจธรรมะ คือจะไม่อ่านหนังสือก็จะรู้เรื่องดี ลักษณะอย่างนี้เราเรียกว่ามี Spiritual experience มาก

คนเราตั้งแต่เกิดมาจนกว่าจะตาย ย่อมเต็มไปด้วยสิ่ง ๆ นี้ คือการที่ใจของเราได้สัมผัสกันเข้ากับสิ่งแวดล้อมแล้วเกิดผลเป็นอะไรขึ้นมา คราวไหนเป็นอย่างไร และคราวไหนเป็นอย่างไร เพราะว่าเรื่องที่เป็นไปเองนั้น ย่อมมีได้ทั้งฝ่ายที่เป็นทุกข์ และทั้งฝ่ายที่ไม่เป็นทุกข์ คือทำให้ฉลาดขึ้น และมีจิตใจเป็นปกติ เข้มแข็งขึ้น

เพราะฉะนั้น ถ้าหากว่าเราคอยสังเกตว่า ความคิดเดินไปในรูปใด มันก่อให้เกิดความว่างจากความทุกข์ อย่างนี้แล้วจะมีความรู้ดีที่สุด และมีความเคยชินในการที่จะรู้สึกหรือเข้าใจ หรือเข้าถึงความว่างจากทุกข์นั้นได้มากขึ้น

เพราะฉะนั้น จะต้องทำในใจไว้อย่างนี้ จึงจะเข้าใจเรื่องที่เรียกว่าลึก หรือประณีต ละเอียดสุขุมเช่นเรื่องความว่างนี้ได้

ท่านทั้งหลายควรจะระลึกถึงข้อที่ได้กล่าวในการบรรยายครั้งก่อนว่า พระอรรถกถาจารย์ทั้งหลายเรียกพระพุทธเจ้าว่าเป็นแพทย์ในทางวิญญาณ และแบ่งโรคของคนเราออกเป็นโรคทางฝ่ายร่างกาย จิตใจ และโรคทางฝ่ายวิญญาณ โรคที่เราจะต้องไปโรงพยาบาลตามธรรมดา หรือไปโรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยาที่ปากคลองสาน เหล่านี้เรียกว่าโรคทางกายทั้งนั้น ส่วนโรคทางวิญญาณนั้น หมายถึงโรคที่ต้องแก้กันด้วยธรรมะ เพราะฉะนั้นจึงมีโรคทางจิต หรือทางวิญญาณ อีกประเภทหนึ่งต่างหากจากโรคทางกาย ข้อความในอรรถกถาเรียกโรคอย่างนี้ว่าโรคทางจิต

แต่ว่าในภาษาไทยเราเอาคำว่า “โรค” นี้มาใช้กับโรคทางกาย เช่น โรคที่จะต้องไปโรงพยาบาลที่ปากคลองสานนั้นเราเรียกกันว่า โรคจิต แต่โรคอย่างนี้ในภาษาบาลีในทางธรรมะ ยังเรียกว่าเป็นโรคทางกายอยู่นั่นเอง การแบ่งโรคเป็นโรคกายกับโรคจิตจึงมีต่างกันกับที่เราแบ่งกันในภาษาไทยเรา

เพราะฉะนั้น อาตมาจึงได้ตั้งข้อสังเกตว่า ถ้าท่านทั้งหลายจะเข้าใจโรค ก็ควรจะแยกเป็นโรคทางกายแท้ ๆ คือทาง Physical และโรคทางกายที่ลึกเข้าไปคือทาง Mental ทั้งสองอย่างนี้เอาไว้ทางฝ่ายร่างกาย

ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งนั้น ก็คือฝ่าย Spiritual คือโรคที่เกิดจากสติปัญญา ไม่ใช่ที่เกิดแก่ระบบประสาท หรือมันสมอง แต่เกิดแก่ระบบของสติปัญญา ที่จะรู้จะเข้าใจชีวิตหรือโลกตามที่เป็นจริง เพราะฉะนั้นท่านจึงมีความหลง หรืออวิชชา หรือความเข้าใจผิดที่เนื่องมาจากอวิชชานั้น จะมีการกระทำที่ผิด ๆ จนต้องเป็นทุกข์ ทั้งที่เราไม่เป็นโรคทาง Physical หรือทาง Mental นี้เป็นความหมายข้อแรกที่ต้องกำหนดไว้เป็นพื้นฐาน

ที่ว่าเมื่อเรามีโรคทาง Spiritual แล้วเราจะแก้กันด้วยอะไร? ถ้ากล่าวทางธรรมะ ต้องแก้ด้วยสิ่งที่เรียกว่า “ความว่าง” นั่นเอง และยิ่งไปกว่านั้นก็คือว่า สิ่งที่เรียกว่าความว่าง หรือ สุญญตา ในภาษาบาลีนั้น มันเป็นทั้ง ยาแก้โรค และเป็นทั้งความหายจากโรค เพราะว่าเราไม่มีอะไรมากไปกว่านั้น

ยาที่จะแก้โรคก็คือความรู้ หรือการปฏิบัติ จนทำให้เกิดความว่าง ทีนี้ถ้าความว่างเกิดขึ้นมาแล้ว ก็จะเป็นยาแก้โรคและเมื่อหายจากโรค ก็ไม่มีอะไร นอกจากความว่างจากความทุกข์ หรือจากกิเลสที่เป็นเหตุให้เกิดทุกข์

เพราะฉะนั้น คำว่า “ความว่าง” จึงหมายถึงทั้งยาแก้โรคและความหายจากโรค ความว่างมีขอบเขตกว้าง มีความหมายกว้างนั้น หมายถึงความว่างอยู่ในตัวมันเอง คือถ้าว่าเป็นความว่างแล้วต้องเป็นตัวเอง คือตัวมันเอง ไม่มีอะไรมาแตะต้อง ปรุงแต่งแก้ไข หรือทำอะไรกับมันได้ จึงถือว่าเป็นสภาพที่เป็นนิรันดร คือไม่ต้องเกิดในทีแรก แล้วดับไปในที่สุด มันจึงมี “ความมีความเป็น” อยู่อีกชนิดหนึ่ง ไม่เหมือนกับความมีของสิ่งอื่น ๆ ซึ่งมีการเกิดขึ้นแล้วดับไป แต่เราก็ไม่มีคำอื่นใช้ เราจึงเรียกว่า ความมี มีสภาพที่เรียกว่า ความว่าง นี้อยู่เป็นนิรันดร

ถ้าใครเข้าถึงหมายความว่า ถ้าจิตใจของผู้ใดเข้าถึงสิ่ง ๆ นี้ มันก็จะเป็นยาแก้โรค และเป็นความหายจากโรคขึ้นมาทันที เป็นสภาพที่ว่างนิรันดร คือไม่มีโรคนั่นเอง

ท่านทั้งหลายลองพยายามคอยจับความหมายของคำว่า “ความว่าง” หรือที่เรียกเป็นภาษาบาลีว่า “สุญญตา” นี้ให้ดี ๆ ซึ่งอาตมาจะได้กล่าวเป็นลำดับไป

สิ่งแรกที่สุดขอให้นึกว่า พระพุทธเจ้าท่านทรงยืนยันว่า บรรดาคำที่เป็นตถาคตภาษิต คือคำที่พระตถาคตกล่าวแล้วละก็ ต้องหมายถึงเรื่องความว่าง จะโดยตรงหรือโดยอ้อมก็ตาม ไม่ได้กล่าวถึงเรื่องอื่นเลย นอกนั้นที่ไม่ใช่เรื่องความว่างนั้น เป็นคำกล่าวของคนอื่น ไม่ใช่ของพระตถาคต คือจะเป็นคำกล่าวของสาวกชั้นหลัง ซึ่งนิยมความเยิ่นเย้อ พูดมากเรื่องไป เป็นเรื่องที่ตั้งใจจะแสดงความเฉลียวฉลาดหรือความไพเราะ ส่วนคำที่เป็นตถาคตภาษิตนั้น จะสั้น ๆ ลุ่น ๆ ระบุตรงไปยังเรื่องของความว่าง ว่างจากความทุกข์และว่างจากกิเลส ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดความทุกข์เป็นส่วนสำคัญ

แต่ถ้าจะกล่าว ยังกล่าวได้อีกมากมายว่า เป็นความว่างจากตัวตน ว่างจากความมีอะไรเป็นตัวตน หรือเป็นของตน เพราะว่าความว่างนี้ มันมีความหมายมากมายมหาศาล จะกล่าวอย่างไรก็ได้ มันมีลักษณะว่างก็จริง แต่ว่ามีอะไร ๆ ที่แสดงให้เห็นอยู่ที่นั่นมากมายเหลือที่จะพรรณนาาได้

ดังนั้น เราจะมุ่งหมายวินิจฉัยกันแต่เฉพาะ ความว่างจากความทุกข์ และ ว่างจากกิเลสที่เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ ความว่างจากความรู้สึกว่า มีตัวเรา หรือมีของเราเท่านั้น คำว่า ความว่างในลักษณะที่จะเป็นการปฏิบัตินี้ หมายถึงความว่างอย่างนี้

ถ้าเราจะถามกันขึ้นว่า มีหลักพระพุทธภาษิตเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่าอย่างไร? ที่จะเป็นหลักกันจริง ๆ เราก็จะพบว่า โดยทั่ว ๆ ไป พระพุทธเจ้าท่านสอนให้เรารู้จักมองดูโลกโดยความเป็นของว่าง คือบาลีว่า “สุญญโต โลกํ อเวกขัสสุ โมฆะราชะ สทา สโต” เป็นต้นนั้น คือมีใจความว่า “เธอจงมองดูโลกโดยความเป็นของว่าง มีสติอยู่อย่างนี้ทุกเมื่อ และเมื่อเธอมองเห็นโลกอยู่ในลักษณะอย่างนี้ ความตายก็จะค้นหาตัวเธอไม่พบ” นี้อย่างหนึ่ง อีกอย่างหนึ่งมีใจความว่า “ถ้าใครเห็นโลกโดยความเป็นของว่างอยู่แล้ว ผู้นั้นจะอยู่เหนืออำนาจของความทุกข์ ซึ่งมีความตายเป็นประธาน” หรือเรียกกันในนามของความตาย

นี้ก็เป็นการแสดงให้เห็นว้า การที่ทรงกำชับให้ดูโลก เห็นโลกโดยความเป็นของว่างนั้น เป็นสิ่งสูงสุดอยู่แล้ว ถ้าผู้ใดอยากจะไม่มีปัญหาเกี่ยวกับความทุกข์ หรือความตายนี้ ก็ให้ดูโลกคือสิ่งทั้งปวงให้ถูกต้องตามที่มันเป็นจริง คือว่างจากความมีตัวเราหรือของเรา

ทีนี้ พระพุทธภาษิตที่ถัดไป ก็คือแสดงอานิสงส์ว่า “นพพานํ ปรมํ สุญญํ” “นิพพานํ ปรมํ สุขํ” ซึ่งแปลตามตัวพยัญชนะว่า ที่ว่างอย่างยิ่งนั่นแหละคือนิพพาน และนิพพานคือเครื่องนำมาซึ่งความสุขอย่างยิ่ง นี้ท่านต้องเข้าใจให้ชัดลงไปว่า สิ่งที่เรียกว่า “นิพพาน” ที่แปลว่า ดับไม่เหลือแห่งทุกข์นั้น มีความหมายว่า เป็นความว่างอย่างยิ่ง คือเล็งถึงสิ่งซึ่งเป็นความว่างอย่างยิ่ง

เพราะฉะนั้น เราจะต้องเข้าใจว่า ว่างที่ไม่ใช่อย่างยิ่งนั้น ก็มีอยู่เหมือนกัน หมายความว่ารู้เรื่องความว่าง เข้าถึงความว่างที่ยังไม่สมบูรณ์ หรือไม่ถูกต้องเต็มที่ อย่างนี้ยังไม่เป็น ความว่างอย่างยิ่ง เราจะต้องเข้าถึงด้วยสติปัญญาอย่างยิ่ง เต็มที่ จนไม่มีความรู้สึกว่าตัวตน หรือของตนโดยประการทั้งปวงจริง ๆ จึงจะเรียกว่า ปรมํ สุญญํ คือความว่าง หรือของว่างอย่างยิ่ง

ส่วนที่ว่า ความว่างอย่างยิ่งเป็นนิพพาน หรือเป็นอันเดียวกับ นิพพาน นั้น หมายความว่า ถ้ามันว่าง มันก็คือดับหมดของสิ่งที่ลุกโพลง ๆ อยู่ หรือของสิ่งที่ไหลเวียนเปลี่ยนแปลงเป็นกระแสเป็นสาย เป็นวงกลม เป็นต้น อยู่ จึงจะเรียกว่าดับอย่างยิ่ง เพราะฉะนั้น ว่างอย่างยิ่ง กับ ดับอย่างยิ่ง มันจึงเป็นของอันเดียวกัน

ที่ว่า นิพพาน เป็นสุขอย่างยิ่ง คือถ้าว่างอย่างยิ่งแล้วก็เป็นนิพพาน และเป็นสุขอย่างยิ่งนั้น ข้อนี้เป็นคำพูดอย่างสมมติ ที่เรียกว่าพูดโดยโวหารสมมติ พูดโดยภาษาชาวบ้านทำนองเป็นการโฆษณาชวนเชื่อให้สนใจ เพราะว่า คนทั่วไปนี้ หลงในความสุข โดยไม่ต้องการสิ่งอื่นเลย จึงต้องบอกว่าเป็นสุข และเป็นสุขอย่างยิ่งด้วย แต่ถ้าว่าโดยที่แท้แล้ว มันยิ่งกว่าสุข มันเหนือไปจากสุข เพราะว่าเป็นความว่าง ไม่ควรที่จะกล่าวว่า สุข หรือ ทุกข์ เลย เพราะอยู่เหนือความสุขและความทุกข์ที่คนธรรมดาเขารู้จักกันอยู่

ความว่างย่อมอยู่เหนือคำว่า “ความสุข” และ “ความทุกข์” แต่ถ้าพูดอย่างนี้คนก็ไม่เข้าใจ เพราะฉะนั้น จึงพูดว่าเป็นความสุขอย่างยิ่ง ซึ่งถือว่าเป็นคำพูดสมมติตามภาษาชาวบ้าน ไม่พูดว่า ว่างอย่างยิ่ง แต่พูดว่าสุขอย่างยิ่ง ขึ้นมาอีกโวหารหนึ่ง อีกคำหนึ่ง หรืออีกความหมายหนึ่ง

เมื่อเป็นดังนี้ จะต้องถือเอาความหมายนี้ให้ถูกตรง คือว่าถ้าพูดถึงความสุขจริง ๆ กันแล้ว มันต้องไม่ใช่ความสุขอย่างที่คนทั่วไปเขามองเห็น หรือมุ่งหมาย แต่ต้องเป็นความสุขอีกแบบหนึ่ง มีความหมายอีกแบบหนึ่ง คือว่างจากสิ่งที่ปรุงแต่งไหลเวียนเปลี่ยนแปลง อะไรต่าง ๆ ทั้งหมดทั้งสิ้น นั่นแหละจึงจะเรียกว่าน่าดูจริง ๆ น่าชื่นใจ หรือน่าปรารถนาจริง ๆ เพราะว่าถ้ามันยังไหลเวียนเปลี่ยนแปลง คือโยกเยกโคลงเคลงอยู่เสมอ มันจะเป็นความสุขได้อย่างไร

เพราะฉะนั้นความสุขทางเนื้อหนัง ทางรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ทำนองนี้ มันจึงเป็นมายา และไม่กล่าวว่าเป็นความสุขอย่างยิ่ง ถ้าจะกล่าวก็เป็นความสุขตามความหมายของคนธรรมดาสามัญทั่วไป ไม่ใช่สุขอย่างที่เป็นนิพพาน หรือความว่าง

เพราะฉะนั้น การที่ได้ยินคำว่า นิพพานเป็นความสุขอย่างยิ่ง นั้น อย่าเพ่อตะครุบเอาว่ามันตรงกับที่เรามุ่งหมายแล้วก็เลยฝันถึงนิพพาน โดยไม่เข้าใจความหมายว่าเป็น ความว่างอย่างยิ่ง ดังนี้เป็นต้น

ทีนี้ พระพุทธภาษิตที่แสดงถึงหลักปฏิบัติเกี่ยวกับความว่างนั้น คือพระพุทธภาษิตที่เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา อาตมากำลังเอ่ยถึงคำว่า “หัวใจของพุทธศาสนา” ฉะนั้นขอให้สนใจสักหน่อย นั่นคือพระพุทธภาษิตที่ว่า สิ่งทั้งหลายทั้งปวงอันใคร ๆ ไม่ควรเข้าไปยึดมั่นถือมั่น ว่าเป็นตัวเรา หรือเป็นของเรา ถ้าเป็นบาลีก็ว่า “สัพพเพ ธัมมา นาลํ อภินิเวสายะ” แปลว่า “ธรรมทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น” สั้น ๆ เท่านี้ ตามตัวหนังสือมีเพียงเท่านี้ แต่ถ้าขยายความในภาษาไทยไปอีกหน่อยก็ว่า สิ่งทั้งหลายทั้งปวงอันใคร ๆ ไม่ควรเข้าไปยึดมั่นถือมั่นว่าตัวเรา หรือของเรา นี่ฟังดูให้ดีอาจจะเข้าใจได้ในตัวประโยคนั้นเองว่า อันใคร ๆ (คือไม่ยกเว้นใคร) ไม่ควรเข้าไปยึดมั่นถือมั่น คือทำให้เกิดความรู้สึกขึ้นมาว่าเป็นตัวเรา หรือว่าเป็นของของเรา เป็นตัวเรา คือยึดมั่นว่า อัตตาเป็นความรู้สึกที่ว่า อหังการ เป็นของเรา ก็คือ เป็น อัตนียา แปลว่า เนื่องด้วยตัวเรา เป็นความรู้สึกที่เรียกว่า มมังการ

เพราะฉะนั้น อย่าได้มีอหังการ หรือมมังการ ในสิ่งใด ๆ หมด นับตั้งแต่ฝุ่นที่ไม่มีราคาอะไรเลยสักเม็ดหนึ่ง ขึ้นมาจนถึง วัตถุที่มีค่า เช่น เพชร นิล จินดา กระทั่ง กามารมณ์ กระทั่งสิ่งที่สูงไปกว่านั้น คือ ธรรมะ ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ มรรค ผล นิพพาน อะไรก็ตาม ไม่ควรจะถูกยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นตัวเรา หรือเป็นของเรา นี่คือหัวใจของพระพุทธศาสนา

เรื่องนี้ก็ได้กล่าวไว้ละเอียดแล้วในการบรรยายในบางที่บางแห่ง หาอ่านดูได้ มันยืดยาวเหมือนกัน ว่าอะไรคือหัวใจของพระพุทธศาสนา ด้วยการพิสูจน์กันอย่างไร ในที่นี้จะชี้ให้เห็นว่า พระพุทธเจ้าท่านทรงยืนยันด้วยพระองค์เองว่า นี่แหละคือบทสรุปของคำสอนทั้งหมดทั้งสิ้นของตถาคต

ถ้าได้ยินคำเช่นนี้ คือคำว่า “สัพเพ ธัมมา นาลัง อภินิเวสายะ” นี้แล้ว ก็เป็นอันว่าได้ยินได้ฟังทั้งหมด ถ้าได้ปฏิบัติข้อนี้ ก็เป็นอันได้ปฏิบัติทั้งหมด ถ้าได้ผลมาจากข้อนี้ ก็คือได้ผลทั้งหมด เพราะฉะนั้น เราไม่ต้องกลัวว่า มันจะมากเกินไปจนเราเข้าใจไม่ได้ เหมือนกับที่พระพุทธเจ้าท่านเปรียบเทียบว่า สิ่งที่ตรัสรู้นั้นเท่ากับใบไม้ทั้งป่าทั้งดง แต่สิ่งที่นำมาสอนให้พวกเธอปฏิบัตินั้นกำมือเดียว ก็หมายถึง หลักที่ไม่ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งใดโดยความเป็นตัวตน หรือของตน นั่นเอง

ที่ว่าถ้าได้ยินสิ่งนี้เป็นได้ยินทั้งหมดนั้น ก็เพราะว่าทุกเรื่องมันสรุปรวมอยู่ที่นี่ เพราะว่าเรื่องทั้งหมดที่พระพุทธเจ้าตรัสนั้น ไม่มีเรื่องอื่นนอกจากความทุกข์กับเรื่องความดับทุกข์ ทีนี้ความยึดมั่นถือมั่นนี้ เป็นตัวเหตุให้เกิดทุกข์ ในขณะที่ยึดมั่นถือมั่นอยู่นั่นแหละเป็นความทุกข์ แล้วในขณะที่ไม่ยึดมั่นถือมั่น คือว่างจากความยึดมั่นถือมั่นอยู่นั้น ในขณะนั้นไม่มีทุกข์ การปฏิบัติก็ปฏิบัติเพื่อไม่ให้เกิดความยึดมั่นถือมั่นให้เด็ดขาดลงไป เป็นว่างตลอดกาล ไม่มีความยึดมั่นถือมั่นกลับมาอีกเท่านี้ก็พอแล้ว ไม่มีเรื่องอะไรอีกแล้ว

ที่ว่าปฏิบัติในข้อนี้เป็นการปฏิบัติทั้งหมดนั้น หมายความว่า ท่านลองคิดดูว่ามันมีอะไรที่เหลืออยู่ ที่ยังไม่ได้ปฏิบัติ เพราะในขณะที่บุคคลใดบุคคลหนึ่ง จะเป็น นาย ก. นาย ข. นาย ค. อะไรก็ตาม มีจิตใจปราศจากความยึดมั่นถือมั่นอยู่นั้น ในขณะนั้นเขาก็มีอะไรบ้าง ขอให้ลองคิดดู เราไล่ไปตั้งแต่สรณาคมณ์ แล้วก็ ทาน แล้วก็ศีล แล้วก็ปัญญา มรรค ผล นิพพาน เป็นลำดับ ในขณะนั้นเขาเป็นคนเข้าถึง พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ โดยที่ไม่ต้องตะโกน พุทธํ สรณํ คจฉามิ เป็นต้นเลย การร้องว่า พุทธํ สรณํ คจฉามิ เป็นต้น นั้น มันเป็นพิธี เป็นแบบพิธีที่เริ่มต้นด้วยของข้างนอก ยังไม่ถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ที่จิตใจ และถ้าในขณะใด คนใดก็ตาม มีจิตใจว่างจากความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งใด ๆ ว่าเรา-ว่าของเราแล้ว แปลว่าจิตใจกำลังว่าง เข้าถึงความว่าง มีความสะอาด สว่าง สงบอยู่ เป็นอันเดียวกันกับหัวใจของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เพราะฉะนั้น ชั่วขณะเวลาที่จิตว่างอย่างนี้ ถือว่าเป็นผู้มี สรณาคมณ์ คือถึง พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์

ทีนี้เลื่อนขึ้นมาถึง การให้ ทาน การบริจาค การให้ทาน การบริจาคนี้ก็หมายความว่า ให้ออกไป ให้หมดความยึดมั่นถือมั่น ว่าตัวกู หรือของกู ส่วนการทำบุญที่คิดว่าจะได้ผลตอบแทนกลับมาหลายเท่า เช่น ทำบุญหน่อยหนึ่งก็ขอให้ได้วิมานหลังหนึ่ง อย่างนี้มันเป็นการค้ากำไรเกินควร ไม่ใช่การให้ทาน การให้ทานต้องเป็นการบริจาค สลัดสิ่งที่ยึดมั่นถือมั่น ว่าเรา-ว่าของเรา นั่นแหละออกไป เพราะฉะนั้น ในขณะที่ผู้ใดมีจิตว่างจากความรู้สึกตัวว่าตัวเรา-ว่าของเรา ในขณะนั้นเรียกว่าบุคคลนั้นได้บริจาคทานถึงที่สุด เพราะว่าแม้แต่ตัวเขาเองก็ยังไม่มีแล้วจะเอาอะไรมาเหลืออยู่ ส่วนของเราก็พลอยหมดไปตามความที่ไม่มีตัวเรา เพราะเมื่อหมดความรู้สึกว่ามีตัวเรา สิ่งที่เป็นของเราก็สลายตัวลงไปเอง เพราะฉะนั้น ในขณะใดผู้ใดมีจิตใจว่างจากตัวตน ผู้นั้นได้ชื่อว่าได้บำเพ็ญทานอย่างยิ่ง แม้แต่ตัวเราก็บริจาคไปจนหมดสิ้น และพ่วงความรู้สึกว่าของเราเข้าไปด้วยจนหมดสิ้น ดังนั้น ในขณะที่มีจิตว่างอันแท้จริงนั้น จึงได้ชื่อว่ามีการบำเพ็ญทานถึงที่สุด

ทีนี้เลื่อนขึ้นมาถึง เรื่อง ศีล คนที่จิตว่าง ไม่ยึดมั่นถือมั่น ตัวตน-ของตนนั้น เรียกว่าเป็นคนที่มีศีลที่แท้จริง และเต็มเปี่ยมถึงที่สุดด้วย ศีลนอกนั้น เป็นศีลล้มลุกคลุกคลาน คือศีลที่ตั้งเจตนาว่า เราจะเว้นอย่างนั้น เราจะเว้นอย่างนี้ แล้วก็เว้นไม่ได้ ลุ่ม ๆ ดอน ๆ อยู่นั่นเอง เพราะว่าไม่รู้จักปล่อยวางตัวตนเสียก่อน ไม่รู้จักปล่อยวางของของตนเสียก่อน คือไม่มีความว่างจากตัวตนเสียก่อน ศีลก็มีขึ้นไม่ได้ แม้จะมีก็ลุ่ม ๆ ดอน ๆ ไม่เป็นอริยกันตศีล คือไม่เป็นศีลชนิดที่เป็นที่พอใจของพระอริยะเจ้าได้ เป็นโลกียศีลที่ลุ่ม ๆ ดอน ๆ อยู่เรื่อย ไม่เป็นโลกุตรศีลขึ้นมาได้ ถ้าเมื่อใดมีจิตว่างแม้ชั่วขณะหนึ่ง วันหนึ่ง หรือคืนหนึ่งก็ตาม มันก็มีศีลที่แท้จริงตลอดเวลาเหล่านั้น

ทีนี้ถ้าพูดถึง สมาธิ จิตว่างนั้น เป็นสมาธิอย่างยิ่ง เป็นจิตที่ตั้งมั่นอย่างยิ่ง สมาธิที่พยายามปลุกปล้ำล้ม ๆ ลุก ๆ มันก็ยังไม่ใช่สมาธิ และยิ่งสมาธิที่มีความมุ่งหมายเป็นอย่างอื่น นอกจากเพื่อความไม่ยึดมั่นถือมั่นในเบญจขันธ์แล้ว ล้วนแต่เป็นมิจฉาสมาธิทั้งนั้น ท่านต้องทราบไว้ว่ามันมีทั้งมิจฉาสมาธิ และสัมมาสมาธิ เพราะฉะนั้นคำว่า “สมาธิ” ในที่นี้ เราหมายถึง สัมมาสมาธิ ถ้าเป็นสมาธิอย่างอื่น ก็เป็นมิจฉาสมาธิไปหมด จิตที่ว่างจากความยึดมั่นว่าเราว่าของเราเท่านั้น ที่จะมั่นคงเป็นสมาธิได้อย่างแท้จริงและสมบูรณ์ เพราะฉะนั้น ผู้ที่มีจิตว่างจึงเป็นผู้ที่มีสมาธิอย่างถูกต้อง

ทีนี้มาถึง ปัญญา เลื่อนขึ้นมาถึงปัญญา ยิ่งบ่งชัดว่ารู้ความว่าง หรือเข้าถึงความว่าง หรือเป็นตัวความว่างนั้นเองก็ตาม นั้นเป็นตัวปัญญาอย่างยิ่ง เพราะว่า ขณะที่มีจิตว่างนั้น เป็นความเฉลียวฉลาดอย่างยิ่ง ขณะที่เป็นความโง่อย่างยิ่งก็คือ ขณะที่โมหะ หรือ อวิชชาเข้ามาครอบงำอยู่แล้ว ทำให้ยึดมั่นถือมั่นนั่นนี่ ว่าเป็นตัวตน หรือของตน ลองคิดดูก็จะเห็นได้ง่าย ๆ ชัดแจ้งด้วยตนเองว่า พอสิ่งเหล่านี้ออกไปแล้ว มันจะโง่ได้อย่างไร เพราะว่าความโง่มันเพิ่งเข้ามาต่อเมื่อมีอวิชชา ไปหลงยึดมั่นว่าเป็นตัวเรา ว่าของเรา ขณะที่จิตว่างจากความโง่อย่างนี้ ก็เข้าถึงความว่างจากตัวเรา ว่างจากของเรา มันก็ต้องเป็นความรู้ หรือเป็นปัญญาเต็มที่ เพราะฉะนั้น ผู้ที่ฉลาดเขาจึงพูดว่า ความว่างกับปัญญา หรือสติปัญญานี้เป็นสิ่งเดียวกัน ไม่ใช่เป็นของสองสิ่งที่เหมือนกัน แต่ว่าเป็นสิ่ง ๆ เดียวกันเลย ข้อนี้ย่อมหมายความว่า ปัญญาที่แท้จริง หรือถึงที่สุดของปัญญานั้น ก็คือความว่างนั่นเอง คือว่างจากโมหะที่หลงยึดมั่นถือมั่นนั่นเอง หมายความว่า พอเอาโมหะอันนี้ออกไปเสีย จิตก็ถึงสภาพเดิมของจิตที่เป็นจิตเดิมแท้ คือปัญญา หรือสติปัญญา

แต่คำว่า “จิต” อย่างที่กล่าวในที่นี้ มีความหมายเฉพาะในเรื่องที่กล่าวมานี้เท่านั้น คนอื่นอาจให้ความหมายแก่คำว่าจิตเป็นอย่างอื่น ซึ่งไม่ได้เป็นจิตที่เป็นอันเดียวกันกับปัญญาอย่างนี้ก็ได้ ฉะนั้นท่านทั้งหลายอย่าได้เอาไปปนกัน ที่พูดว่า จิต ๘๙ ดวง จิต ๑๒๑ ดวงนั้นไม่ใช่เรื่องนี้ ตนละเรื่องกัน สิ่งที่เราเรียกว่าจิตเดิมแท้ ที่เป็นอันเดียวตัวเดียวกันกับปัญญานั้น เราหมายถึงจิตที่ว่างจากความยึดมั่นถือมั่นว่าตัวตน

ที่จริงสภาพอันนี้ก็ไม่ควรจะเรียกว่าจิตเลย ควรจะเรียกว่า ความว่าง แต่โดยเหตุที่มันเป็นสิ่งที่รู้อะไรได้ เราจึงเรียกว่าจิต หรือกลับมาเรียกจิตอีกทีหนึ่ง นี้มันแล้วแต่พวกไหนจะนิยมอย่างไร แต่ถ้าจะพูดไปตามที่เป็นจริงหรือตามธรรมชาติจริง ๆ ก็พอจะพูดได้ว่า ธรรมชาติเดิมแท้ของจิตก็คือสติปัญญา คือจิตว่างจากความยึดมั่นถือมั่น เพราะฉะนั้นในความว่างนั้นเอง จึงเป็นปัญญาโดยสมบูรณ์ ถ้าเลื่อนขึ้นไปถึง มรรค-ผล-นิพพาน มรรคผลนิพพานนั่นแหละ คือความว่างในระดับหนึ่ง ๆ สูงขึ้นไปตามลำดับ จนถึงที่เรียกว่า “ปรมสุญญตา” หรือ “ปรมํ สุญญํ” คือว่างอย่างยิ่ง

นี่ท่านจะเห็นได้ว่า นับตั้งแต่ สรณาคมน์ขึ้นไป แล้วถึง ทาน แล้วถึง ศีล ถึง สมาธิ ถึง ปัญญา ก็ไม่มีอะไรนอกไปจากความว่าง ความไม่ยึดมั่นถือมั่น ว่าตัวตน และมรรคผล นิพพาน ก็ไม่มีอะไรมากไปกว่านี้ แต่เป็นขั้นเด็ดขาด ขั้นที่ถึงที่สุด

เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าท่านจึงตรัสว่า ได้ฟังข้อนี้คือได้ฟังทั้งหมด ได้ปฏิบัติข้อนี้ คือได้ปฏิบัติทั้งหมด และได้รับผลจากข้อนี้ คือการได้รับผลทั้งหมด โดยประโยคเพียงประโยคเดียวว่า “สพเพ ธมมา นาลํ อภินิเวสายะ สิ่งทั้งหลายทั้งปวง อันใคร ๆ ไม่ควรยึดมั่นถือมั่นว่าเรา-ว่าของเรา” จงพยายามเก็บใจความขึ้นมาด้วยตัวเอง ให้ได้ความหมายของคำว่า “ความว่าง” นั้นเป็นอย่างไร

ทีนี้ เรามาลองนึกถึงสิ่งทั้งปวง สิ่งทั้งปวงนี้ไม่มีอะไรอื่น นอกจากสิ่งที่เราเรียกว่า “ธรรม” ในภาษาบาลีคือคำว่า ธมม ในภาษาสันสกฤตเขียม ธรม ในภาษาไทยเขียนว่า ธรรม เฉย ๆ สามเสียงนี้มันจะออกเสียงต่างกันอย่างไร มันก็หมายถึง ธรรมะ ซึ่งแปลว่า “สิ่ง” เท่านั้นแหละ “สพเพ ธมมา” ก็แปลว่า “สิ่งทั้งปวง”

ท่านต้องทำในใจให้แจ่มแจ้ง เล็งถึงสิ่งทั้งปวงกันก่อนว่า ถ้าเราพูดเป็นไทย ๆว่า “สิ่งทั้งปวง” แล้วมันหมายถึงอะไรบ้าง มันก็ต้องหมายถึงสิ่งทุกสิ่ง ไม่ยกเว้นอะไรหมด จะเป็นเรื่องโลก หรือเรื่องธรรมะ ก็คือสิ่งทั้งปวง จะเป็นฝ่ายวัตถุ หรือฝ่ายจิตใจ ก็คือสิ่งทั้งปวง หรือถ้าจะมีอะไรมาไปกว่านั้นอีก คือมากไปกว่าวัตถุ หรือ จิตใจ คือมีสิ่งที่สามขึ้นมาอีก ก็ยังคงเรียกว่าสิ่งทั้งปวง ซึ่งรวมความอยู่ในคำว่า “ธรรม” อยู่นั่นเอง

เพราะฉะนั้น อาตมาจึงแนะให้ท่านทั้งหลายรู้จักสังเกตว่า

- ตัวโลก คือสิ่งที่เป็นวัตถุ กล่าวคือ ตัวโลกทั้งหมดในฝ่ายวัตถุธรรมนี้ประเภทหนึ่ง ก็คือ ธรรม

- แล้วตัวจิตใจที่จะรู้จักโลกทั้งหมดทั้งสิ้น ก็คือ ธรรม

- ถ้าใจกับโลกกระทบกัน การกระทบนั้น ก็เป็น ธรรม

- แล้วผลของการกระทบนั้นเกิดอะไรขึ้น เกิดเป็นความรัก ความโกรธ ความเกลียด ความกลัว ขึ้นมาก็ตาม หรือเกิดเป็นสติปัญญา รู้แจ่มแจ้งไปตามความเป็นจริงก็ตาม มันก็เรียกว่า ธรรม ทั้งนั้น

- จะถูกหรือผิด ดีหรือชั่ว ก็เรียกว่า ธรรม ทั้งนั้น

- ทีนี้ สติปัญญาก่อให้เกิดความรู้เป็นระบบต่าง ๆ ขึ้นมา อันนี้ ก็คือ ธรรม

- ความรู้นั้นเป็นเหตุให้เกิดการปฏิบัติ เป็น ศีล สมาธิ ปัญญา หรือปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นมา การปฏิบัตินั้นก็คือ ธรรม

- ครั้นปฏิบัติสิ่งต่างๆ ลงไปแล้ว ผลย่อมจะเกิดขึ้น สรุปแล้วเรียกว่า มรรค ผล นิพพาน เหล่านี้เป็นผลที่เกิดขึ้นแม้ผลนี้ ก็คือ ธรรม

เพราะฉะนั้น สรุปแล้วมันก็คือธรรมทั้งนั้น กินความมาตั้งแต่เปลือกแท้ ๆ กล่าวคือ โลก หรือ วัตถุ แล้วกินความจนถึงจิตใจ ถึงการกระทบระหว่าง ใจกับโลก ถึงผลที่เกิดขึ้นจากการกระทบ เป็นความผิด ความถูก ความดี ความชั่ว กระทั่งเป็น วิชชาความรู้ชนิดที่ให้เกิดความรู้ทางธรรมะ การปฏิบัติธรรมะและ มรรค ผลที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติธรรมนี่ ถ้าเห็นทั้งหมดนี้แต่ละอย่าง ๆ ชัดเจนแล้ว ก็เรียกว่าเห็นสิ่งทั้งปวง แล้วพระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า สิ่งทั้งปวงดังที่ว่ามานี้แหละ ไม่ควรยึดมั่นถือมั่นส่วนไหนเลย ว่าเป็นตัวเรา หรือว่าเป็นของเรา

คือส่วนที่เป็นวัตถุหรือร่างกายนี้ก็ยึดถือไม่ได้ ส่วนที่เป็นจิตใจก็ยิ่งยึดถือได้ เพราะมันยิ่งเป็นมายา ยิ่งไปกว่าส่วนที่เป็นวัตถุเสียอีก เพราะฉะนั้นจึงมีคำตรัสว่า ถ้าจะยึดถือตัวตนกันแล้ว น่าจะยึดถือที่ตัววัตถุดีกว่า เพราะมันยังเปลี่ยนแปลงช้ากว่า ไม่เป็นมายาหลอกลวงเหมือนจิตใจ อย่างที่เราเรียกกันว่า นามธรรม นั้น

จิตใจในที่นี้ไม่ได้หมายถึง “จิต” อันเป็นตัวเดียวกันกับความว่างอย่างที่กล่าวเมื่อตะกี้ แต่หมายถึงจิตที่เป็นความรู้สึกทางจิต (mentality) ต่าง ๆ อันเป็นจิตที่คนธรรมดารู้จัก

ทีนี้การกระทบกระหว่างโลกกับจิตใจ มีผลเป็นความรุ้สึกต่าง ๆ เป็นความรัก ความเกลียด ความโกรธ เหล่านี้ก็คือ ธรรม ซึ่งก็ยิ่งยึดถือไม่ได้ เพราะมันเป็นมายาที่เกิดจากมายา ที่เป็นฝ่ายกิเลส แล้วยิ่งเป็นอันตรายอย่างยิ่งในการที่จะไปยึดถือเข้า

ทีนี้แม้ว่าเป็นฝ่ายสติปัญญา ก็ยังสอนไม่ไห้ยึดถือว่าเรา-ว่าของเรา เพราะว่ามันเป็นเพียงสักว่าธรรมชาติ ถ้าไปยึดถือเข้าจะเกิดความหลงผิดขึ้นมาใหม่ จะมีตัวเราและมีของเรา คือมีเราผู้มีสติปัญญา และมีสติปัญญาของเรา เป็นความยึดมั่นถือมั่นขึ้นมา ก็เป็นความหนักเนื่องด้วยความยึดถือนั้นจนเกิดความรวนเรไปตามความเปลี่ยนแปลงของวิ่งเหล่านั้นแล้วก็เป็นทุกข์

ทีนี้ก็มาถึงความรู้ ก็ให้ถือว่าเป็นสักแต่ว่าความรู้ อย่าได้ไปหลงยึดมั่นถือมั่น จะเกิดอาการของวีลพตปรามาสต่าง ๆ ขึ้นมา แล้วก็จะต้องเป็นทุกข์โดยไม่รู้สึกตัวเพราะเหตุนั้น

การปฏิบัติธรรมะนั้นก็เหมือนกัน มันเป็นสักว่าการปฏิบัติเป็นความจริงของธรรมชาติ ทำลงไปอย่างไร ผลย่อมเกิดขึ้นอย่างนั้น โดยสมส่วนกันเสมอ จะไปเอามาเป็นเรา เป็นของเราไม่ได้ เพราะถ้าเกิดไปยึดมั่นถือมั่น จะหลงผิดขึ้นมาอีก เป็นการสร้างตัวตนที่ลม ๆ แล้ง ๆ ขึ้นมาอีก แล้วมันก็ต้องเป็นทุกข์เหมือนกับที่ไปยึดในเรื่องกามารมณ์หรือยึดในเรื่องผิด ๆ อย่างอื่นก็เหมือนกัน

พอมาถึงมรรค ผล นิพพาน นั่นก็คือ ธรรม หรือ ธรรมชาติ ที่เป็นอย่างนั้นเอง หรือแม้ที่สุด ตัวความว่างเอง ก็สักแต่ว่าธรรมชาติ พระนิพพานเอง ซึ่งเป็นสิ่งเดียวกันกับความว่าง ก็เป็นสักแต่ว่าธรรมชาติ ถ้าไปยึดถือเข้าก็เป็นผิดนิพพาน หรือผิดความว่าง ผิดตัวนิพพาน เพราะว่านิพพาน หรือว่าความว่างจริงไม่ใช่วิสัยที่จะถูกยึดมั่น-ถือมั่น ว่าตัวหรือว่าของตัวได้เลย

เพราะฉะนั้นเป็นอันกล่าวได้ว่า ถ้าผู้ใดยึดมั่นลงไปที่นิพพาน หรือความว่าง ย่อมจะผิดตัวความว่าง หรือผิดตัวนิพพานทันที

นี่คือการบอกให้ทราบว่า ทุกอย่างไม่มีอะไรเลย นอกจากธรรม ไม่ได้เป็นอะไรเลยนอกจากธรรม
คำว่าธรรมนี้ หมายถึงธรรมชาติ ธรรมชาติเท่านั้นที่ว่าธรรมะล้วน ๆ ไม่มีอะไรเจือ นี้คือธรรมชาติ ถือหลักให้ตรงตัวพยัญชนะว่าธรรมะได้เลย กล่าวคือคำธรรมะนี้ แปลว่าสิ่งที่ทรงตัวมันอยู่ ถ้าสิ่งใดมีการทรงตัวอยู่แล้ว สิ่งนั้นเรียกว่าธรรม และแบ่งออกเป็น ๒ ประเภท คือสิ่งที่ไหลเวียนเปลี่ยนแปลงนี้ประเภทหนึ่ง กับสิ่งที่ไม่ไหลเวียนเปลี่ยนแปลง ไม่มีอะไรปรุงแต่ง นี้อีกประเภทหนึ่ง ท่านไปดูเอาเองจะพบว่ามันมีเพียงสองสิ่งนี้

สิ่งที่ไหลเวียนเปลี่ยนแปลงเพราะมีอะไรปรุงแต่ง นั้นมันมีการทรงตัวมันเอง อยู่ที่ความไหลเวียนเปลี่ยนแปลงนั้นเอง หรือว่ากระแสความไหลเวียนเปลี่ยนแปลงนั้นแหละคือตัวมันเอง เป็นความหมายของคำว่าธรรมะ คือทรงตัวอยู่

ส่วนสิ่งใดที่ไหลเวียนเปลี่ยนแปลง เพราะไม่มีเหตุ ไม่มีปัจจัย สิ่งนี้หมายถึงพระนิพพาน หรือความว่างอย่างเดียวเท่านั้น สิ่งนี้มันก็มีการทรงตัวมันเองอยู่ได้ด้วยการไม่เปลี่ยนแปลง คือภาวะแห่งการไม่เปลี่ยนแปลงนั่นแหละคือตัวมันเอง ในที่นี้มันจึงเป็นธรรมะประเภทที่ไม่ไหลเวียนเปลี่ยนแปลง

แต่ทั้งประเภทที่ไหลเวียนเปลี่ยนแปลงก็ตาม และไม่ไหลเวียนเปลี่ยนแปลงเลยก็ตาม มันก็สักแต่ว่า ธรรมคือสิ่งที่ทรงตัวมันเองอยู่โดยภาวะอย่างหนึ่ง ๆ ฉะนั้นจึงไม่มีอะไรมากไปกว่าธรรมชาติ จึงไม่มีอะไรที่มากไปกว่าสิ่งที่เป็นเพียงธรรมชาติ จึงว่ามีแต่ธรรมชาติเท่านั้น ไม่มีอะไร มีแต่ธรรมเท่านั้น ไม่มีอะไรมากไปกว่านั้น

เมื่อเป็นธรรมะเท่านั้นแล้ว จะไปยึดถือว่าเรา-ว่าของเราได้อย่างไร? หมายความว่ามันเป็นเพียงธรรมชาติ ซึ่งในภาษาบาลีเรียกว่าธรรม คำว่าธรรมะในกรณีอย่างนี้ แปลว่าธรรมชาติหรือธรรมดา ซึ่งหมายความว่าเป็น ตถาตา คือ มันเป็นอย่างนั้นเอง เป็นอย่างอื่นไม่ได้ เพราะฉะนั้นมันจึงเป็นเพียงธรรมะ สิ่งทั้งปวงจึงไม่มีอะไรนอกจากธรรม หรือธรรมก็ไม่มีอะไรนอกจากสิ่งทั้งปวง ดังนั้นก็แปลว่า สิ่งทั้งปวงคือธรรมะ

เพราะฉะนั้น ธรรมะแท้จะต้องว่างจากตัวตนหมด ไม่ว่าธรรมะส่วนไหน ข้อไหน ชั้นไหน ประเภทไหน ธรรมะจะต้องเป็นอันเดียวกันกับความว่าง คือว่างจากตัวตนนั่นเอง

เพราะฉะนั้น เราจึงต้องหาให้พบ ความว่างในสิ่งทั้งปวง หาให้พบความว่างที่สิ่งทั้งปวง หรือว่าจะศึกษาความว่าง ก็ต้องศึกษาที่สิ่งทั้งปวง ซึ่งรวมเรียกสั้น ๆ ว่า “ธรรม” หรือจะพูดเป็น logic ว่า สิ่งทั้งปวงก็สักแต่เท่ากับธรรมะ ธรรมะเท่ากับสิ่งทั้งปวง หรือสิ่งทั้งปวงเท่ากับความว่าง เพราะฉะนั้น ความว่างก็เท่ากับธรรมะ แล้วแต่จะพูด แต่ให้รู้ความจริงว่า มันไม่มีอะไรนอกจากธรรมชาติที่เป็นความว่าง ไม่ควรยึดมั่นถือมั่นเลยว่าเราหรือว่าของเราก็ตาม

เพราะฉะนั้น ในที่นี้จะเห็นได้ชัดว่า ความว่างนี้ หรือของว่างนี้ ก็คือความจริงของสิ่งทั้งปวง ต้องหมดความหลงโดยประการทั้งปวงเท่านั้น จึงจะเห็นความว่าง หรือถ้าเห็นความว่างนั้น ก็คือปัญญาที่ไม่หลง ปัญญาที่แท้ที่บริสุทธิ์ที่ไม่หลง

แต่ทีนี้มันมี ธรรมะอีกประเภทหนึ่ง คือธรรมะประเภทอวิชชา หรือความหลงผิด เป็น re-action ที่เกิดมาจากการที่จิตใจกระทบกับวัตถุหรือโลก เพราะดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นว่า เมื่อจิตใจหรือธรรมประเภทจิตใจกระทบกันกับธรรมประเภทวัตถุนี้ ย่อมมี re-action เป็นความรู้สึก ในความรู้สึกนี้เดินไปทางอวิชชาก็ได้ เดินไปทางวิชชา คือรู้แจ้งก็ได้ มันแล้วแต่สิ่งแวดล้อม แล้วแต่สภาพตามที่เป็นอยู่จริงของสังขารกลุ่มนั้น หรือของธรรมะกลุ่มนั้น มันจะเป็นไปในรูปไหน เพราะฉะนั้นจึงเป็นธรรมอีก ไม่ใช่สิ่งอื่น แต่เป็นธรรมะฝ่ายอวิชชา ทำให้เกิดความรู้สึกยึดมั่นถือมั่นไปในทางที่มีตัวตนหรือของตน แต่อย่าลืมว่า นี้ก็คือสักแต่ธรรม เนื้อแท้ของมันก็คือความว่าง

ฉะนั้น อย่าลืม อวิชชา ก็คือความว่าง เท่ากันกับวิขชา หรือเท่ากันกับนิพพาน มันเป็นธรรมะเท่ากัน

ถ้าเรามองว่าเป็นธรรมะเท่ากันแล้ว เราจะเห็นว่าว่างจากตัวตนอยู่เรื่อย ธรรมะในขั้นนี้ แม้จะเป็นสิ่งเดียวกันกับความว่างอย่างนี้ มันก็มีผลไปอีกทางหนึ่ง ตามแบบของอวิชชาคือทำให้เกิดเป็นมายา ว่าตัวว่าตนขึ้นมาได้ในความรู้สึก หรือในความยึดถือ เพราะฉะนั้นจึงต้องระวังให้ดี ในธรรมที่เป็นความยึดมั่นถือมั่นหรือประเภทอวิชชา และมันก็ผสมอยู่ในสิ่งทั้งปวง รวมอยู่ในคำว่า “สิ่งทั้งปวง” คำเดียวกันด้วย

ฉะนั้น ถ้าเรารู้จักสิ่งทั้งปวงจริง ๆ แล้ว ความรู้สึกยึดมั่นถือมั่นที่เป็นอวิชชานี้ ไม่อาจเกิด ทีนี้หากว่าเราไม่รู้ธรรมะ หรือไม่รู้สิ่งทั้งปวง ปล่อยไปตามอำนาจของสัญชาตญาณอย่างสัตว์ที่ยังโง่ยังหลงอยู่ มันจึงได้ช่องได้โอกาส แก่ธรรมะฝ่ายอวิชชา หรือฝ่ายยึดมั่นถือมั่นไปเสียตะพึด

ฉะนั้น คนเราจึงมีแต่ความยึดมั่นถือมั่นกันอยู่คล้ายกับว่าเป็นมรดกที่ตกทอดมาตั้งแต่ไม่รู้ว่าครั้งไหน เราจะเห็นได้ว่า พอเกิดมาก็ได้รับการอบรมแวดล้อมโดยเจตนาบ้าง ไม่เจตนาบ้าง ให้เป็นไปแต่ในธรรมะฝ่ายที่ไม่รู้ คือเป็นไปแต่ในทางยึดมั่นว่าตัวว่าของตนทั้งนั้น การอบรมให้รู้ไปในทางไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนนี้ไม่ได้ทำกันเลย

เด็ก ๆ เกิดมาไม่ได้รับการอบรมอย่างนี้กันเลย มีแต่ได้รับการอบรมไปในทางมีตัวมีตนทั้งนั้น แต่อย่าลืมว่าเด็ก ๆ เกิดมานั้น จิตอันเดิมของเด็ก ๆ นั้นยังไม่มีตัวมีตนอะไรมากมาย แต่มาได้รับการแวดล้อมให้เกิดความรู้สึกว่าเป็นตัวเป็นตน พอลืมตา พอรู้สึกอะไรได้ ก็มีการแวดล้อมให้ยึดถือว่า พ่อของตน แม่ของตน ที่อยู่อาศัยของตน อาหารของตน แม้แต่จานสำหรับจะกินข้าวก็ต้องใบนี้เป็นของตน คนอื่นมากินไม่ได้ อาการที่เป็นไปเองโดยไม่ได้ตั้งใจ Autonomy อย่างนี้เกิดขึ้นเรื่อย คือความรู้สึกว่าตัวตนนี้เกิดขึ้นมา แล้วเจริญงอกงามขึ้นเรื่อย ส่วนความรู้สึกที่ตรงข้าม ไม่เป็นไปในทางตัวตนไม่มีเลย แล้วมันจะเป็นอย่างไร กว่าเป็นหนุ่มเป็นสาว เป็นคนแก่คนเฒ่านี้ มันก็หนาไปด้วยความยึดมั่นถือมั่น หรือกิเลสที่เป็นเหตุให้ยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นตัวเป็นตน

นี่แหละ เราจึงมีตัวตนเป็นชีวิต มีชีวิตเป็นตัวตน คือมีความยึดมั่นถือมั่นว่าตัวตนนั่นแหละเป็นชีวิต หรือเป็นชีวิตตามธรรมดา ก็คือสัญชาติญาณแห่งความยึดมั่นว่าตัวตนแล้วเรื่องมันจึงเป็นไปในทางที่มีแต่จะเป็นทุกข์ เป็นความหนัก กดทับ บีบคั้น ร้อยรัด พัวพัน หุ้มห่อ เสียบแทง เผาลน ซึ่งเป็นอาการของความทุกข์ทั้งนั้น

จึงเป็นอันว่า ถ้าลงยึดมั่นถือมั่นแล้ว แม้ในฝ่ายดี ในด้านดีก็เป็นความทุกข์ ทีนี้ฝ่ายโลกมาสมมติฝ่ายดี หรือด้านดีกันแบบนี้ มันจึงเป็นความผิด หรือความชั่ว แต่ความดีก็ยังเป็นความทุกข์ตามแบบของคนดี เพราะว่ามันยังไม่ว่าง มันยังวุ่นอยู่เหมือนกัน ต่อเมื่อมีความว่างอยู่เหนือดี จึงจะไม่ทุกข์

เพราะฉะนั้น หลักใหญ่ของพุทธศาสนา จึงไม่มีอะไรมากไปกว่าการกำจัดสิ่งนี้เสีย เพียงคำเดียวเท่านั้น กล่าวคือ กำจัดความยึดมั่นถือมั่น ว่าตัวตน หรือของตนนี้เสีย โดยอาศัยบทที่ว่า สพเพ ธมมา นาลํ อภินิเวสาย นั่นเอง ไม่มีอะไรมากไปกว่านี้



ทีนี้เมื่อเรามาเป็นตัวเดียวกันกับความยึดมั่นถือมั่น อย่างเป็นตัวเดียวกันแท้ดังนี้แล้ว เราจะทำอย่างไร? ใครจะช่วยเรา? หรือว่าถ้าจิตมันเป็นอย่างนี้เสียเองแล้ว ใครจะไปช่วยจิต? อย่างนี้ก็ได้ตั้งปัญหาขึ้นมาอย่างนี้ มันก็ไม่มีอะไรอีก มันก็คือจิตอีกนั่นแหละ เพราะได้กล่าวมาแล้วว่า ไม่มีอะไรนอกจากธรรมะ ความผิดก็ธรรมะ ความถูกก็ธรรมะ ความทุกข์ก็ธรรมะ ความดับทุกข์ก็ธรรมะ เครื่องมือแก้ไขความทุกข์ก็ธรรมะ ตัวเนื้อหนังร่างกายก็ธรรมะ ตัวจิตใจก็ธรรมะ เพราะฉะนั้นจึงไม่มีอะไรนอกจากธรรมะ มันจะต้องเป็นไปในตัวของมันเอง โดยอาศัยกลไกที่เป็นไปได้ในตัวมันเอง อย่างนี้เราจะเรียกว่าเป็นบุญหรือเป็นบาปก็สุดแท้

คือว่าถ้าใครคนใดคนหนึ่ง เมื่อกระทบโลกนี้มากเข้า เกิดเป็นไปในทางสติปัญญา อย่างนี้ก็เป็นบุญ ที่นี้ใครคนหนึ่งเมื่อได้กระทบกับโลกนี้มากเข้า เป็นไปในทางความโง่ ความหลงมากขึ้น อย่างนี้มันก็เป็นบาป

เราสังเกตดูจะเห็นได้ว่า ไม่มีใครเสียเปรียบใคร เราเกิดมาก็เป็นอย่างนี้ด้วยกันทุกคน คือเราก็มีตา มีหู มีจมูก มีลิ้น มีกาย มีใจ อยู่ด้วยกันทุกคน แล้วข้างนอกก็มีรูป มีเสียง มีกลิ่น มีรส มีสัมผัส มีธรรมารมณ์ ให้ด้วยกันทุกคน แล้วมีโอกาสที่จะกระทบกับสิ่งเหล่านี้ได้ด้วยกันทุกคน และกระทบเหมือน ๆ กันทุกคน แต่แล้วทำไมมันจึงแยกเดินไปทางโง่บ้าง ฉลาดบ้าง เพราะฉะนั้นที่แยกเดินไปในทางฉลาดก็นับว่าเป็นกุศลหรือเป็นบุญ ที่มันแยกเดินไปในทางโง่ก็นับว่าเป็นบาปเป็นอกุศล

แต่มันยังดีอยู่ว่า ธรรมะนี้ ดูช่างจะเป็นเครื่องคุ้มครองคนเสียจริง ๆ โดยที่มีหลักอยู่อย่างหนึ่งว่า ถ้าถูกความทุกข์เข้าแล้วย่อมรู้จักหลาบ รู้จักจำ เหมือนอย่างว่า เด็ก ๆ เอามือไปจับขยำเข้าที่ไฟอย่างนี้ มันก็คงไม่ยอมขยำอีก เพราะมันรู้จักหลาบรู้จักจำ แต่ว่านี่มันเป็นเรื่องทางวัตถุ มันง่าย ส่วนเรื่องที่ไปขยำเอาไฟ คือความยึดมั่นถือมั่น หรือความโลภ ความโกรธ ความหลงเข้านี้ โดยมากมันกลับไม่รู้สึกว่าเราขยำไฟ มันก็เลยไม่มีอาการที่ว่า รู้จักหลาบรู้จักจำ มันกลับไปเห็นไปตามความหลงนั้นว่า เป็นของน่ารัก น่าปรารถนาไปเสีย

การที่จะแก้ไขได้ก็มีอยู่ทางเดียวคือว่า รู้จักมันอย่างถูกต้องว่า ธรรมะนี้คืออะไร จนรู้ว่า ธรรมะนี้คือไฟ คือยึดมั่นถือมั่นไม่ได้ มันก็จักเป็นไปในทางสติปัญญา รู้จักหลาบรู้จักจำต่อการที่จะไปเที่ยวยึดมั่นถือมั่นอะไร ว่าเป็นตัวเรา-ของเรา แล้วเกิดไฟขึ้นมา สิ่งนี้มันเป็นไฟเผาใจไม่ใช่ไฟใหม้มือ แต่บางทีมันก็เผาลึกเกินไป จนไม่รู้สึกว่าเป็นไฟหรือความเร่าร้อน ฉะนั้นคนจึงจมอยู่ในกองไฟหรือในวัฏสงสารอันเป็นกองไฟที่เร่าร้อนอย่างยี่ง ยิ่งกว่าเตาหลอมเหล็กอย่างนี้ ถ้าเรามองเห็นเช่นเดียวกับที่เด็กขยำไฟ และไม่ยอมจับไฟต่อไปแล้ว มันก็เป็นไปตามทางนั้นได้ เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าท่านจึงได้ตรัสอธิบายข้อนี้ไว้ว่า เมื่อเห็นโทษของความยึดมั่นถือมั่นเมื่อใด จิตก็จะคลายจากความยึดมั่นถือมั่นเมื่อนั้น

นี่แหละปัญหามันมีอยู่ว่า เราเห็นโทษของความยึดมั่นถือมั่นหรือยัง ถ้ายังมันก็ยังไม่คลาย ถ้าไม่คลาย ก็ไม่ว่าง ภาษิตในมัชฌิมนิกายมีอย่างนี้ เป็นรูปพุทธภาษิต และยังตรัสไว้ในที่อีกแห่งหนึ่งว่า เมื่อใดเห็นความว่าง เมื่อนั้นจึงจะพอใจในนิพพาน คือย้อนไปดูอีกทีหนึ่งว่า “เมื่อใดเห็นโทษของความยึดมั่นถือมั่น เมื่อนั้นจิตจึงจะคลายจากความยึดมั่นถือมั่น” เมื่อใดจิตคลายจากความยึดมั่นถือมั่น เมื่อนั้นจึงจะมีโอกาสมองเห็นสิ่งที่เราเรียกกันว่าความว่าง คือว่างจากตัวตน

พอเริ่มเห็นความว่างจากตัวตนเท่านั้น จิตจะเหไปพอใจในอายตนะนั้น คือ นิพพาน อายตนนั้น คือ นิพพาน ก็หมายความว่า นิพพาน ก็เป็นเพียงสิ่ง ๆ หนึ่งที่เรารู้จักได้เท่านั้น สิ่งใดที่อยู่ในวิสัยที่เราจะรู้จักมันได้โดยทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจแล้ว สิ่ง ๆ นั้นเรียกว่า “อายตนะ” ทั้งนั้น

ท่านได้ลดเอานิพพานนี้ลงมาให้เป็นอายตนะอันหนึ่งเหมือนกับอายตนะทั้งหลาย แล้วเรายังจะโง่จนถึงกับไม่รู้จักอายตนะนี้ได้อย่างไร เราจะรู้จักได้ต่อเมื่อเห็นว่าว่างจากตัวตน เพราะคลายความยึดมั่นถือมั่น จึงจะพอใจในอายตนะ คือนิพพาน การที่จะให้พอใจในนิพพานนี้มันยากเหมือนกับที่กล่าวมาแล้วว่า คนเรามีชีวิตเป็นความยึดมั่นถือมั่นอยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นจึงไม่คลาย เมื่อไม่คลายก็ไม่เห็นความว่าง ไม่พอใจในอายตนะคือนิพพาน

เราจะมองเห็นความจริงข้อนี้ได้ โดยมองออกไปถึงศาสนาอื่นดูบ้าง ในศาสนาอื่นนั้นไม่มีคำว่า อัตตวาทุปาทาน (อัตตวาทุปาทาน แปลว่า ความยึดมั่นถือมั่นว่าตัวเราว่าของเรา) เพราะเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น? เพราะเหตุว่าในลัทธิอื่นนั้น เขามีตัวสำหรับให้ยึดมั่นถือมั่น เพราะฉะนั้น จึงไม่ถือว่า ความยึดมั่นถือมั่นว่าตัวเรานี้เป็นของผิด มันกลายเป็นเรื่องถูกไป มันกลายเป็นความมุ่งหมายของศาสนา หรือของลัทธินั้น ๆ ไปทีเดียว คือว่าสอนให้เข้าถึงสภาพที่เป็นตัวเราให้ได้ เพราะฉะนั้นเขาจึงไม่มีคำว่าอัตตวาทุปาทาน คือความยึดมั่นถือมั่นว่าตัวเรา ซึ่งพระพุทธศาสนาสอนว่าต้องละเสีย เขากลับมีตัวเราให้ยึดถือ

ในพุทธศาสนาเรานี้ มีอัตตวาทุปาทาน คือกำหนดชื่อลงไปว่านี้เป็นกิเลส นี้เป็นความโง่ นี้เป็นความหลง คือความยึดมั่นถือมั่นว่าตัวเรา เพราะฉะนั้น หลักปฏิบัติจึงมีอยู่ตรงที่ให้ละอัตตวาทุปาทานนี้เสีย เพราะฉะนั้นคำสอนเรื่องอนัตตาจึงมีแต่ในพุทธศาสนา ไม่มีในคำสอนลัทธิอื่น ซึ่งสอนให้มีอัตตา ให้ยึดมั่นถือมั่น แล้วเข้าถึงให้ได้ ส่วนเรานี้ ให้ทำลายความรู้สึกว่าตัวตนเสียให้หมดเลย ให้เห็นสภาพเป็นอนัตตา คือว่างจากอัตตาในสิ่งทั้งหลายทั้งปวง

อนัตตาจึงมีแต่พูดกันแต่พวกเราพุทธศาสนา จะมีความรู้ความเข้าใจขึ้นมาได้ ก็แต่ในหมู่บุคคลที่ถูกสอนว่า สิ่งทั้งปวงเป็นอนัตตา ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น ถ้าสอนว่ามีอัตตาที่ควรยึดมั่นถือมั่นเสียแล้ว ก็ไม่มีทางที่จะปฏิบัติเพื่อความว่างจากตัวตนนี้ได้ เพราะฉะนั้นจึงต้องสังเกตให้เห็นในข้อที่ว่า มันต้องเห็นโทษของไฟ เราจึงจะกลัวไฟไหม้เรา เช่นเดียวกับที่เราต้องเห็นโทษของไฟ คือ ราคะ โทสะ โมหะ หรือไฟของความยึดมั่นถือมั่นว่าตัวเรา ซึ่งเป็นต้นเหตุของไฟทั้งปวงนี้ มันจึงจะค่อย ๆ เบื่อหน่ายเกลียดชังสิ่งที่เรียกว่าไฟ คือคลายความยึดมั่นถือมั่นเสียได้ ไม่คิดที่จะก่อไฟอีกต่อไป

ทีนี้ ก็มาถึงความว่าง ที่ว่าถ้าเห็นแล้วจะพอใจในนิพพาน นั้น เราต้องเข้าใจให้ดี ๆ ว่า ความว่างนี้เป็นอย่างไร? ความว่างในขั้นแรกก็คือว่า ว่างจากความรู้สึกว่าตัวเราของเรา เรียกว่าว่าง ถ้าความรู้สึกว่าตัวเราของเรามีอยู่แล้ว มันก็ไม่ใช่ความว่าง มันเป็นจิตที่กำลังวุ่นอยู่ด้วยความยึดมั่นถือมั่น ว่าตัวเราของเรา

ฉะนั้น เราเอาคำสองคำขึ้นมาเป็นเครื่องช่วยการกำหนดจดจำว่า ว่างกับวุ่น ว่างคำหนึ่ง วุ่นคำหนึ่ง ว่างก็คือว่างจากความรู้สึกว่าตัวเราหรือของเรา วุ่น ก็คือมันวุ่น มันกลุ้ม มันปั่นป่วนอยู่ด้วยความรู้สึกว่าตัวเราของเรา

ที่ว่าว่างจากความรู้สึกว่าตัวเราว่าของเรานั้น มันมีอาการอย่างไร ? บาลีที่เป็นพระพุทธภาษิตเรียงไว้ให้ ๔ ข้อ คือว่า “น อหํ กวจินิ” รู้สึกว่าไม่มีอะไรที่เป็นตัวเรา “น กสสจิ กิญจนํ กิสมิญจิ” ความกังวลต่อสิ่งใดหรือในอะไร ๆ ก็ไม่มีว่าเป็นตัวเรา นี้คู่หนึ่ง คู่ที่ ๒ ก็ว่า “น มม กวจินิ” ไม่มีอะไรที่เป็นของเรา “กิสมิญจิ กิญจนํ นตถิ” กังวลในอะไร ๆ ก็ไม่มีว่าของเรา

(อาเนญชสัปปายสูตร, อุป ริ.ม. ๑๔/๗๗/๗๘)

เอากันง่าย ๆ เป็นไทย ๆ ก็ว่าไม่รู้สึกว่ามีเราแล้วก็ไม่มีกังวลอะไรที่เป็นตัวเรา แล้วอีกคู่หนึ่งก็ว่า ไม่มีอะไรว่าเป็นของเรา แล้วไม่มีกังวลในอะไรว่าเป็นของเรา

เรารู้สึกว่าไม่มีอะไรเป็นเรา แต่บางทีก็มีเหลืออยู่เป็นกังวลว่าจะมีอะไรเป็นของเรา เรารู้สึกว่าไม่มีอะไรเป็นของเรา แต่เราอดสงสัยไม่ได้ว่ามันอาจมีอะไรที่ว่าเป็นของเรา

มันจะต้องมีความเห็นชัดแจ้งเด็ดขาด เกลี้ยงเกลาลงไปว่า มันไม่มีอะไรเป็นของเรา และไม่มีอะไรที่อาจจะเป็นของเราที่เราคอยสงสัย กังวล คอยคิด คอยนึก คอยท่าอยู่ เมื่อจิตใจของใครเกลี้ยงไปจากสิ่งทั้งสี่นี้ เมื่อนั้นพระพุทธเจ้าท่านถือว่าเป็นความว่าง ในอเนญชสัปปายสูตร มัชฌิมนิกาย บัญญัติไว้อย่างนี้ในฐานะที่เป็นพุทธภาษิต

อรรถกถาก็สรุปไว้ดื้อ ๆ ตรง ๆว่า “น อตตเนน” ไม่เห็นว่าเป็นตัวตน “น อตตนิเยน” ไม่เห็นว่าเป็นของตนนี้ก็พอแล้ว ก็เหมือนกับที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นว่า ต้องปราศจากความรู้สึกยึดมั่นถือมั่น ว่าตัวตน ของตนนั่นเอง

ทีนี้เมื่อไม่มีความรู้สึกอย่างนี้แล้ว ลองคิดดูเถอะว่า มันจะมีอะไร มันมองไม่เห็นอะไรที่ไหนที่น่าจะเป็นตัวตนหรือเป็นของของตน หรือได้กำลังเป็นตัวตนหรือเป็นของของตนอยู่ หรือว่าควรจะเป็นตัวตนหรือของของตนต่อไปข้างหน้า มันไม่มีทั้งนั้น อย่างนี้เรียกว่าไม่มีทั้งขณะนี้ และไม่มีทั้งที่จะกังวลข้างหน้า และข้างหลังด้วย เป็นจิตที่เข้าถึงความว่าง ด้วยการมองเห็นสิ่งทั้งปวงชัดเจน ตามลักษณะที่ถูกต้องของมันว่า ไม่มีส่วนไหนที่มีความหมายของคำว่าตัวตนหรือของตนเลย เป็นธรรมะ คือธรรมชาติล้วน ๆ เหมือนกับที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นอย่างยืดยาว

นี่แหละคือจิตที่เป็นอันเดียวกันกับความว่าง หรือว่าความว่างที่เป็นสิ่งเดียวกันกับจิต หรือที่เราจะพูดว่าจิตเข้าถึงความว่างหรือบางทีก็พูดถอยหลังมาอีกนิดว่า จิตได้ลุถึงความว่างซึ่งทำให้คนบางคนเกิดความเข้าใจว่าจิตอย่างหนึ่ง ความว่างก็อย่างหนึ่ง

ที่ใช้คำว่า “เข้าไปรู้ต่อความว่าง” อย่างนี้ยังไม่ถูกต้องนัก ขอให้เข้าใจว่า ถ้าจิตไม่เป็นอันเดียวกันกับความว่างแล้ว ไม่มีทางที่จะรู้เรื่องความว่าง และจิตมันก็เป็นความว่างอยู่แล้วตามธรรมชาติ ความโง่ต่างหากที่เข้าไปทำให้ไม่เห็นเป็นว่าง ฉะนั้นพอความโง่ออกไป จิตกับความว่างก็เป็นอันเดียวกัน เพราะฉะนั้นมันจึงรู้ตัวมันเอง ไม่ต้องไปรู้อะไรที่ไหน ถือว่ารู้ความว่างและเป็นอันรู้ว่าไม่มีอะไรนอกจากความว่างจากตัวตน จากของตน

นี่แหละความว่างอันนี้คือสิ่งสูงสุดเพียงสิ่งเดียวที่เป็นพุทธวจนะที่ทรงสอน ทรงมุ่งหมาย จนถึงกับพระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า ตถาคตภาษิต คือคำที่ตถาคตกล่าวนั้น มีแต่สุญญตา มีแต่เรื่องสุญญตา บาลีสังยุตนิกายมีอยู่อย่างนี้ และในบาลีนั้นเองก็ว่า ธรรมที่ลึกที่สุดก็คือเรื่องสุญญตา นอกนั้นเรื่องตื้น ธรรมะที่ลึกจนต้องมีพระตถาคตตรัสรู้ขึ้นมาในโลกนี้ และสอนนั้นมีแต่สุญญตา เรื่องนอกนั้นเรื่องตื้น ไม่จำเป็นจะต้องมีตถาคตเกิดขึ้นมา ทีนี้ในอีกวรรคหนึ่งในสังยุตนิกายนั้นว่า ธรรมที่เป็นประโยชน์เกื้อกูลตลอดกาลนานแก่พวกฆราวาสนั้น คือเรื่องสุญญตา

ที่มาของเรื่องสุญญตานี้ อาตมาได้เคยเล่าให้ฟังหลายครั้งหลายหนในที่อื่นว่า มีฆราวาส คหบดี พวกหนึ่งเข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้า และทูลขอร้องที่จะได้รับธรรมะที่เป็นประโยชน์เกื้อกูลตลอดกาลนานแก่พวกฆราวาสที่ครองเรือน แออัดอยู่ด้วยบุตร ภรรยา ลูบไล้กระแจะจันทน์ของหอม พระพุทธเจ้าก็ได้ตรัสสูตรนี้ คือตรัสเรื่องสุญญตา

เมื่อเขาว่ามันยากไป ก็ทรงลดมาเพียงเรื่องโสดาปัตติยังคะ คือข้อปฏิบัติธรรมเพื่อความเป็นพระโสดาบัน กล่าวคือให้เข้าถึง พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ให้จริง แล้วก็มีศีลชนิดที่เป็นอริยกันตศีล คือเป็นที่พอใจของพระอริยเจ้าได้จริง แต่แล้วมันกลายเป็นว่า ถูกพระพุทธเจ้าล่อเข้าบ่วง เข้ากับของพระองค์ได้สนิท พูดอย่างโวหารหยาบ ๆ ของพวกเราก็คือว่า พระพุทธเจ้าท่านต้มคนพวกนี้ได้สนิท คือว่าเขาไม่เอาเรื่องสุญญตา พระองค์ก็ยื่นเรื่องที่หลีกสุญญตาไปไม่พ้น คือบ่วงที่จะคล้องเข้าไปสู่สุญญตาให้คนเหล่านี้ไป ให้เขาไปทำอย่างไรที่จะเข้าให้ถึง พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ที่แท้ และมีศีลที่เป็นที่พอใจของพระอริยเจ้าได้ มันก็มีแต่เรื่องนี้ คือมองเห็นความไม่น่ายึดมั่นถือมั่นไปเรื่อย ๆ

ทีนี้เรามาคิดดูว่า พระพุทธเจ้าเป็นผู้ผิดหรือเปล่า ในการที่พูดว่า เรื่องสุญญตานี้เป็นเรื่องสำหรับฆราวาส ถ้าพระพุทธเจ้าถูก พวกเราสมัยนี้ก็เป็นคนบ้า ๆ บอ ๆ ไปทั้งหมด คือผิด ๆไปทั้งหมด เพราะไปเห็นว่าเรื่องสุญญตานั้นไม่ใช่เรื่องสำหรับพวกเราฆราวาสที่ครองเรือน เรื่องสุญญตาเป็นเรื่องของผู้ที่จะไปนิพพานที่ไหนก็ไม่รู้ นี่แหละกำลังพูดกันอยู่อย่างนี้ แต่พระพุทธเจ้ากำลังพูดอีกอย่างหนึ่งว่า เรื่องสุญญตานี้ คือเรื่องที่เป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่ฆราวาสโดยตรง แล้วใครจะเป็นฝ่ายผิดฝ่ายถูก เราก็ต้องยอมพิจารณาเรื่องสุญญตาว่าจะเป็นประโยชน์เกื้อกูลตลอดกาลนานแก่ฆราวาสอย่างไร ?

ทางที่พิจารณาเรื่องนี้ ก็จะต้องมองกันไปตั้งแต่ว่าใครมันทุกข์มากที่สุด ร้อนมากที่สุด หรือยู่ในใจกลางเตาหลอมยิ่งกว่าใคร? มันก็ไม่มีใคร นอกจากพวกฆราวาส และเมื่อเป็นดังนี้แล้ว ใครเล่าที่จะต้องการเครื่องดับไฟ หรือว่าสิ่งที่จะมากำจัดความทุกข์โดยประการทั้งปวง? มันก็พวกฆราวาสนั่นแหละ พวกที่อยู่กลางกองไฟ จึงต้องหาเครื่องดับไฟให้พบในท่ามกลางกองไฟ มันดิ้นไป ไปที่ไหนไม่ได้ เพราะไม่มีอะไรนอกจากไฟ ไม่มีอะไรนอกจากธรรมะ ชนิดที่ไม่ยึดถือเข้าแล้วเป็นไฟทั้งนั้น เพราะฉะนั้นจึงจะต้องหาจุดที่เย็นที่สุด กลางกองไฟนั่นเอง มันก็คือความว่างจากตัวตนของตน คือสุญญตา

ฆราวาสต้องหาให้พบสุญญตา ต้องอยู่ในขอบวงของสุญญตา ถ้าไม่อยู่ตรงจุดศูนย์กลางของสุญญตาได้ อย่างน้อยอย่างเลวที่สุดก็ควรจะอยู่ในขอบวงของสุญญตา คือรู้เรื่องความว่างตามสมควรที่ควรจะรู้ นี่แหละจึงจะนับว่าเป็นประโยชน์สุขตลอดกาลนานของพวกฆราวาส พวกนี้เขาไปถามว่า อะไรจะเป็นประโยชน์สุขเกื้อกูลสิ้นกาลนาน แก่พวกข้าพระองค์? พระพุทธเจ้าทรงตอบว่า “สุญญตปปฏิสํยุตตา โลกุตตรา ธมมา” แปลว่า ธรรมทั้งหลายอยู่เหนือวิสัยโลก ที่เนื่องเฉพาะอยู่ด้วยสุญญตา โลกุตตรา อยู่เหนือวิสัยโลก ก็คือว่ามันอยู่เหนือไฟ เราหมายความในที่นี้ว่า โลกนี้มันคือไฟ ฉะนั้น โลกุตตรา คือต้องอยู่เหนือไฟ และที่เนื่องเฉพาะอยู่ด้วยสุญญตานั้น มันย่อมต้องหมายถึงตัวความว่าง ว่างจากความยึดมั่นถือมั่น ว่าตัวเรา หรือว่าของเรา

ดังนั้น “สุญญตปปฏิสํยุตตา โลกุตตรา ธมมา” นั้นจึงคือของขวัญสำหรับฆราวาสโดยตรง ที่พระพุทธเจ้าท่านมอบให้เป็นพุทธภาษิตที่ยืนยันอยู่อย่างนี้ ขอให้ลองคิดดูใหม่ว่ามันจำเป็นเท่าไหร่ที่จะต้องสนใจ และมีเพียงเรื่องเดียวจริงหรือไม่ ไม่ต้องพูดถึงเรื่องอื่นกันเลย ในบาลีสังยุตนิกายนั้น ได้ตรัสยืนยันไว้ชัดว่า สุญญตาคือนิพพาน นิพพานก็คือสุญญตา ในที่แห่งนั้น มันมีเรื่องที่จะต้องให้ตรัสอย่างนั้น ซึ่งเป็นความจริงง่าย ๆ ว่า นิพพานก็คือสุญญตา สุญญตาก็คือนิพพาน ก็หมายถึงว่าว่างจากกิเลส และว่างจากความทุกข์ ฉะนั้น นิพพานนั่นแหละคือเรื่องราวสำหรับฆราวาส ถ้าฆราวาสยังไม่รู้ความหมายของนิพพาน ยังไม่ได้อยู่ในขอบวงของนิพพาน ก็แปลว่าอยู่กลางกองไฟมากกว่าพวกไหนหมด

ทีนี้นิพพานก็ขยายความออกไปได้ชัด ๆ ว่า ว่างจากความทุกข์ รวมทั้งว่างจากกิเลส ที่เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ เพราะฉะนั้น ในขณะใด พวกเรามีจิตว่างจากตัวตน ว่างจากของตนอยู่บ้าง เช่นขณะที่นั่งอยู่ที่นี่ เดี๋ยวนี้ เวลานี้ อาตมายืนยันได้ว่า ทุกคนหรือแทบจะทุกคนนี้ มีจิตว่างจากความรู้สึกว่าตัวตนหรือของของตน เพราะมันไม่มีอะไรมาก่อให้เกิดความรู้สึกอย่างนั้น มันมีแต่คำพูดที่อาตมากำลังกล่าวไปแต่ในทางที่ให้เกลีบดชังตัวตนหรือของตน และท่านทั้งหลายกำลังสนใจฟังเรื่องมันก็ไม่มีโอกาสที่จะเกิดความรู้สึกว่าตัวตน แล้วลองคิดดูว่าใจในว่างหรือไม่ว่าง ว่างจากตัวตนหรือของตนนั้นมันว่างหรือไม่ว่าง ถ้ามันว่างอยู่บ้าง (ใช้คำว่าอยู่บ้างเท่านั้น ไม่ใช่ทั้งหมด หรือตลอดกาล) นั่นก็เรียกได้ว่า ท่านทั้งหลายกำลังอยู่ในขอบวงของนิพพาน แม้ว่าไม่เด็ดขาดหรือสมบูรณ์ ก็ยังเป็นนิพพานอยู่นั่นเอง

ธรรมะมีอยู่หลายความหมาย หลายชั้น หลายระดับ ธรรมะที่เป็นความหมายของนิพพาน หรือในระดับของนิพพานนั้น มันอยู่ที่จิตใจของท่านทั้งหลายที่กำลังว่างจากความรู้สึกว่าตัวตนหรือของตนอยู่บ้างในบางขณะ เพราะฉะนั้น ขอให้กำหนดจดจำความรู้สึกอันนี้ที่นี่และเดี๋ยวนี้ไว้ให้ดี ๆ และให้มันติดไปที่บ้านด้วย บางทีกลับไปที่บ้านแล้วมันจะรู้สึกเหมือนกับขึ้นไปบนเรือนของคนอื่น หรือว่าไปทำการทำงานอะไรที่บ้าน จะได้มีความรู้สึกว่าเหมือนกับไปช่วยงานของคนอื่น ที่บ้านคนอื่น อย่างนี้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป แล้วมันไม่ทุกข์ บ้านหรือการงานที่เคยเป็นทุกข์นั้น มันจะไม่ทุกข์ แต่จะเป็นอยู่ด้วยจิตว่างจากตัวตนหรือของตนอยู่ตลอดเวลา เรียกว่าเอานิพพาน หรือเอาสุญญตาเป็นพระเครื่องรางแขวนคออยู่เสมอ มันคุ้มครองป้องกันความทุกข์หรืออุปัทวะ เสนียดจัญไรนี้ โดยประการทั้งปวง นี้แหละเป็นเครื่องรางศักดิ์สิทธิ์ของพระพุทธเจ้าจริง ๆ นอกนั้นเป็นเรื่องมายา

ที่พูดอย่างนี้ เดี๋ยวจะว่าเป็นการโฆษณาชวนเชื่อ ท่านทั้งหลายต้องไม่คิดว่า อาตมาเป็นคนเดินตลาดขายสินค้าของพระพุทธเจ้า จะต้องคิดว่าเราเป็นเพื่อนทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกัน เป็นสาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยกัน ถ้าจะพูดเรื่องอะไรที่เป็นเรื่องชี้ชวนให้เกิดความสนใจนี้ มันก็เพราะว่ามีความหวังดีต่อกัน แต่ถ้าใครมีสติปัญญามากกว่านั้น ก็อาจจะเห็นได้ด้วยตนเองโดยไม่ต้องเชื่ออาตมา ไม่ต้องเชื่อตามอาตมา ก็มีทางที่จะสนใจศึกษาต่อไปได้ ถึงความจริงที่เป็นปรมัตถสัจจะนี้ยิ่งขึ้นไปทุกที ถ้าเป็นอย่างนี้แล้ว เราก็ต้องเขยิบการศึกษานี้เลื่อนสูงขึ้นไปถึงเรื่องธาตุ

คำว่า “ธาตุ” นี้มีความหมายเช่นเดียวกับคำว่า “ธรรม” รากของศัพท์ก็เป็น Root เดียวกันด้วย คำว่าธรรมะนี้มาจากคำว่า ธร แปลว่า ทรง คือทรงตัวมันอยู่ได้เหมือนที่ได้อธิบายมาแล้ว คำว่า “ธาตุ” นี้ก็เหมือนกัน นักศัพทศาสตร์เขายอมรับว่ามันมาจากคำว่า ธร ด้วยเหมือนกัน คือแปลว่า ทรง เพราะฉะนั้นคำว่าธาตุนี้ มันก็แปลว่าสิ่งที่ทรงตัวมันเองอยู่เหมือนกัน เช่นเดียวกับคำว่าธรรมะ ที่เปลี่ยนแปลงก็มีการทรงตัวอยู่ได้ด้วยการเปลี่ยนแปลง ที่ไม่เปลี่ยนแปลงก็ทรงตัวอยู่ได้ด้วยการไม่เปลี่ยนแปลง ฉะนั้นเราต้องมาเรียนถึงสิ่งที่ไม่อาจเป็นตัวตนได้เลย คือสิ่งที่เรียกว่าธาตุนี้บ้าง

ท่านทั้งหลายรู้จักธาตุชนิดไหนกันบ้าง ที่จะเอามาเป็นตัวความว่างได้? คนที่เรียนฟิสิกส์หรือเคมี ก็รู้เรื่องธาตุแต่ฝ่ายวัตถุล้วน ๆ เป็นธาตุแท้กี่สิบอย่างหรือถึงร้อยอย่าง และยิ่งพบเรื่อย ๆ ธาตุอย่างนี้เป็นความว่างไม่ได้ หรือว่าถ้าว่างก็เป็นความหมายอันลึกของสิ่งเหล่านี้ เพราะว่านี้เป็นแต่เพียงรูปธาตุ

ทีนี้ยังมีธาตุฝ่ายจิตใจ ฝ่ายวิญญาณ ฝ่ายนามธรรมอีกธาตุหนึ่ง ซึ่งเราไม่อาจจะพิสูจน์ได้ด้วยวิชาฟิสิกส์หรือเคมีอย่างนั้น มันก็ต้องเรียนวิทยาศาสตร์อย่างพระพุทธเจ้า จึงจะรู้เรื่องธาตุ นามธาตุ หรืออรูปธาตุ คือธาตุที่ไม่มีรูป และเป็นแต่เพียงนามหรือเรื่องทางจิต ทางเจตสิก ทางจิตใจ ที่ว่ามาถึงแค่นี้เรารู้มา ๒ ธาตุแล้ว

สิ่งที่เรียกว่าความว่างนี้จะอยู่ในธาตุไหน?

ถ้าใครคิดว่าความว่างเป็นรูปหรือวัตถุธาตุ เพื่อนก็หัวเราะตาย บางคนอาจจะคิดว่า ความว่างนี้เป็นนามธาตุหรืออรูปธาตุ อย่างนี้พระอริยะเจ้าก็หัวเราะตาย หัวเราะคน ๆนั้น เพราะว่าความว่างนี้มันไม่ใช่ ทั้งรูปธาตุ และ อรูปธาตุ มันยังมีธาตุของมันอีกชนิดหนึ่ง ซึ่งไม่อยู่ในความหมายของคนธรรมดาจะพูดกัน ท่านก็เลยเรียกมันว่า นิโรธธาตุ

วัตถุธาตุ หรือ รูปธาตุ นั้นก็หมายถึงของที่เป็นวัตถุนี้อย่างหนึ่งแล้ว จะเป็น รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส อะไรก็ตาม และ อรูปธาตุ นั้นหมายถึง จิตใจ จิตเจตสิก หรือความรู้สึกนึกคิดที่เกิดขึ้นในทางจิต ทางเจตสิก นี้เรียกว่าอรูปธาตุ แล้วมันจะมีธาตุชนิดไหนอีกที่มันจะไม่ซ้ำกับสองธาตุนี้ มันก็มีได้ทางเดียว แต่ว่าเป็นธาตุที่มันตรงกันข้ามจากสองอย่างนี้ และเป็นที่ดับสิ้น หายไปหมดของสองธาตุนี้ด้วย ท่านจึงเรียกมันว่า นิโรธธาตุ บางทีก็เรียกว่า นิพพานธาตุ บางทีก็เรียกว่า อมตธาตุ

ที่เรียกว่า นิโรธธาตุ หรือ นิพพานธาตุ นั้น ล้วนแต่แปลว่าดับ ธาตุแห่งความดับของธาตุอื่น ๆ ทั้งหมด หรือว่าธาตุเป็นที่ดับของธาตุทั้งหมด และที่เรียกว่า อมตธาตุ แปลว่าธาตุที่ไม่ตายนั้น หมายความว่า ธาตุอื่น ๆ นอกจากนี้มันตายหมด มันตายได้ มันตายเป็น ส่วนนิโรธธาตุนี้ ไม่เกี่ยวกับการเกิดหรือการตาย แต่ว่ากลับเป็นที่ดับสิ้นของธาตุอื่น ๆ แล้วสุญญตาก็คือสิ่งซึ่งอยู่ในธาตุพวกนี้ หรือเป็นธาตุพวกนี้ จะเรียกว่าสุญญตธาตุก็ได้ เป็นธาตุอันเป็นที่ทำความว่างให้แก่ธาตุอื่น ๆ

เพื่อความเข้าใจสิ่งที่เรียกว่า “ธาตุ” ชนิดที่ทำให้เข้าใจธรรมะได้แล้ว ต้องเรียนธาตุอย่างที่กล่าวมานี้ อย่าไปมัวหลงเข้าใจว่า ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม รู้เท่านั้นแล้วก็พอแล้ว มันเป็นเรื่องของเด็กอมมือ ก่อนพุทธกาลเขาก็พูด เขาก็สอนกันอยู่ มันต้องรู้ต้องไปถึงวิญญาณธาตุ คือธาตุทางนามธรรม หรือวิญญาณ แล้วก็อากาศธาตุ แล้วก็สุญญตธาตุ กล่าวคือธาตุแห่งความว่างเข้าไปอีกทีหนึ่ง ซึ่งเป็นที่ดับหมดของ ดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศ วิญญาณ แปลว่าเรามีธาตุที่ประหลาดที่สุดในพุทธศาสนานี้ เรียกว่าธาตุแห่งความว่างหรือสุญญตธาตุ หรือ นิโรธธาตุ หรือ นิพพานธาตุ หรือ อมตธาตุ ส่วน ดิน น้ำ ลม ไฟ นั้นมันอยู่ในพวกรูปธาตุ ส่วนจิตใจ วิญญาณ เจตสิก อะไรต่าง ๆ นั้น มันอยู่ในพวกอรูปธาตุ ส่วนนิพพานหรือสุญญตธาตุนี้ มันอยู่ในพวกนิโรธธาตุ ท่านต้องไปหาเวลาสงบ ๆ นั่งดูธาตุให้ทั่วทุกธาตุ แล้วจะเห็นชัดว่ามันมีอยู่ ๓ ธาตุอย่างนี้จริง ๆ ก็จะเริ่มพบสุญญตธาตุหรือนิพพานธาตุแล้วจะเข้าใจสิ่งที่เรียกว่า อนัตตา หรือ สุญญตา ที่เรากำลังกล่าวนี้ได้มากขึ้น

เพราะฉะนั้น เราอาจจะวางหลักได้ว่า ในตัวความยึดมั่นถือมั่น ว่าตัวกูของกูนั่นแหละ มันมีรูปธาตุและอรูปธาตุ แล้วที่ว่างจากความยึดมั่นถือมั่นว่าตัวกูว่าของกูนั่นแหละ ก็มีนิโรธธาตุหรือจะกลับกันเสียก็ได้ว่า ถ้ามีนิโรธธาตุเข้ามา มันก็เห็นแต่ความว่าง เห็นความว่างจากตัวกูของกูนี้ปรากฏชัดออกมา ถ้าธาตุนอกนั้นเข้ามา มันก็เห็นเป็นรูป เป็นนาม เป็นรูป เป็นเสียง เป็นกลิ่น เป็นรส เป็นโผฏฐัพพะ เป็นเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อะไรยุ่งไปหมด แล้วก็มีส่วนที่จะเกิดความยึดถือทั้งนั้น หรือถ้าไม่ยึดถือในทางรัก ก็จะยึดถือในทางไม่รัก คือเกลียด

ดังนั้นคนเราจึงมี ๒ อารมณ์เท่านั้น คือ พอใจ กับ ไม่พอใจ เราเคยชินอยู่แต่กับ ๒ อารมณ์นี้เท่านั้น เราสนใจกันอยู่แต่อารมณ์ที่น่ารัก เพื่อจะให้ได้และสนใจอยู่แต่ที่จะหลบเลี่ยงอารมณ์เกลียด หรือทำลายมันเสีย เรื่องมันก็วุ่นอยู่ตลอดเวลา ไม่มีว่าง ถ้าให้ว่างล่ะจะทำอย่างไร ? ก็คือเราอยู่เหนือหรือว่าเอาชนะธาตุที่วุ่นเหล่านั้น มาอยู่กับธาตุที่ว่าง มันก็ว่างได้

อีกอย่างหนึ่ง ท่านเรียกเพื่อแสดงคุณสมบัติของธาตุว่า เนกขัมมธาตุ เนกขัมมธาตุนี้ เป็นเหตุให้ออกจากกามารมณ์ แล้วถัดมาธาตุที่สองเรียกว่าอรูปธาตุ ธาตุนี้เป็นเหตุให้ออกจากรูป แล้วธาตุที่สามเรียกว่า นิโรธธาตุ ธาตุนี้เป็นเหตุให้ออกจากสังขตะ

ถ้าพูดเป็นภาษาบาลีอย่างนี้ เรื่องชักจะยุ่งขึ้นทุกที จำต้องพูดเป็นภาษาไทยจะดีกว่า คือว่าถ้าเรามองเห็นเนกขัมมธาตุ ก็จะเป็นเหตุให้ออกจากกาม กามารมณ์ หมายความว่า เรามองเห็นสิ่งที่ตรงกันข้ามจากกาม เห็นธาตุชนิดที่ตรงข้ามจากกาม เรียกว่า เห็นเนกขัมมธาตุ กามเป็นไฟ และถ้าไม่ถูกไฟนั้นเผา คือตรงกันข้ามอย่างนี้ เรียกว่า เนกขัมมธาตุ จิตที่น้อมไปสู่การออกจากกามนี้ เรียกว่าประกอบอยู่ด้วยเนกขัมมธาตุ

ทีนี้สัตว์ทั้งหลายที่พ้นไปจากกามได้นั้น ก็ไปติดอยู่ที่ของสวยงาม สนุกสนาน ที่ไม่เกี่ยวกับกาม แต่ว่ายังเกี่ยวกับรูป คือรูปธรรมที่บริสุทธิ์ อย่างพวกฤๅษี มุนี โยคี ติดความสุขในรูปฌาน เหล่านี้เป็นต้น หรือบางทีเราเห็นคนแก่ ๆ บางคนติดในเครื่องลายคราม ต้นบอน ต้นโกศล อะไรไม่เกี่ยวกับกาม แล้วหลงใหลยิ่งกว่ากามไปก็มี อย่างนี้ก็สงเคราะห์เรียกว่า เป็นพวกติดอยู่ในรูปเหมือนกัน ออกจากรูปไม่ได้ ถ้าออกจากรูปให้ได้ ก็ต้องมีความรู้เรื่องอรูปธาตุ คือธาตุที่เป็นไปเหนือรูป

ทีนี้มันจะไปติดอะไรอีก ถ้ามันหลุดรูปไปได้ ไม่ติดรูป ? หลุดจากรูปไปได้ ก็ไปติดสิ่งที่มีปัจจัยปรุงแต่งทั่ว ๆ ไป ที่มากไปกว่านั้น ข้อนี้ก็ได้แก่กุศลธรรมทั้งปวง อกุศลธรรมเราไม่พูดถึงก็ได้ เพราะมันไม่มีใครเอา เพราะมีแต่คนเกลียด แต่กุศลทั้งปวงที่ปรุงแต่งให้เป็นคนดีวิเศษ เกิดในสวรรค์ ฝันกันไม่มีที่สิ้นสุด นี้เรียกว่า สังขตะ คือสิ่งปรุงแต่ง คนเราก็มัวเมาอยู่แต่ที่จะเป็นตัวตน เป็นของของตน เป็นตัวตนอย่างสัตว์เดียรัจฉานไม่ดี ก็เป็นอย่างมนุษย์ เป็นอย่างมนุษย์ไมดี ก็เป็นอย่างเทวดา เป็นอย่างเทวดาไม่ดี ก็เป็นอย่างพรหม เป็นอย่างพรหมไม่ดี ก็เป็นอย่างมหาพรหม แล้วก็มีตัวตนอยู่เรื่อย อย่างนี้เรียกว่าสังขตะทั้งนั้น ต่อเมื่อเข้าถึงนิโรธธาตุ มันจึงจะออกจากสังขตะได้

นี่แหละเป็นธาตุสุดท้าย เป็นนิพพานธาตุ คือเป็นที่ดับสิ้นแห่งตัวกูและของกู ถ้าดับได้สิ้นเชิงจริง ๆ ก็เป็นพระอรหันต์ เรียกว่า อนุปาทิเสสนิพพานธาตุ ถ้ายังดับไม่ได้สิ้นเชิง ก็เป็นพระอริยเจ้าที่รอง ๆ ลงมา เรียกว่า อุปาทิเสสนิพพานธาตุ คือตัวกูยังมีเชื้อเหลืออยู่บ้างไม่ว่างทีเดียว หรือมันว่างได้ แต่มันยังไม่ถึงที่สุด ไม่ใช่ ปรมัง สุญญัง

รวมความแล้ว เราจะต้องรู้จักธาตุ คือหมายถึงส่วนประกอบอันแท้จริงของสิ่งทั้งปวงนี้ ขอให้เข้าใจในลักษณะอย่างนี้ คือว่า โดยหลักใหญ่แล้ว มันจะมีอยู่ คือ รูปธาตุ ธาตุที่มีรูป อรูปธาตุ ธาตุที่ไม่มีรูป และนิโรธธาตุ ธาตุซึ่งเป็นที่ดับทั้งของรูปและของอรูป อย่างนี้แล้วกล้าท้าว่า ไม่มีอะไรที่จะนอกไปจาก ๓ คำนี้

นี่แหละ เราลองเรียนวิทยาศาสตร์อย่างของพระพุทธเจ้ากันบ้าง ที่มันครอบคลุมทั้งฝ่ายกาย (Physics) ฝ่ายจิต (Mental) และฝ่ายวิญญาณ (Spiritual) เป็นเหตุให้เรารู้จักสิ่งทั้งหลายทั้งปวงหมดครบถ้วนจริง ๆ จึงจะเรียกว่า เรารู้จักสิ่งทั้งหลายทั้งปวงจริง จึงจะไม่ไปยึดมั่นถือมั่นสิ่งทั้งปวงได้อีกต่อไป ไม่มีความยึดมั่นในสิ่งทั้งปวงนั้น นี่แหละความว่างของเรา มันต้องมีความหมายอย่างนี้

ทีนี้เราจะพูดกันถึงสิ่งประกอบเล็ก ๆ น้อย ให้ยิ่งขึ้นไปอีก เพื่อแวดล้อมความเข้าใจในเรื่องเกี่ยวกับความว่างในอุปปัณณาสก์ มัชฌิมนิกาย มีพุทธภาษิตว่า สุญญตานี้เรียกว่า มหาปุริสวิหาร สุญญตาคือมหาปุริสวิหาร แปลว่าความว่างนั้น นั่นแหละคือวิหารของพระมหาบุรุษ คือว่ามหาบุรุษอยู่ในวิหารนี้ วิหารนี้ได้แก่ความว่าง นี่หมายความว่า มหาบุรุษนั้น ไม่มีจิตใจที่เที่ยวซอกแซกไปอยู่ที่มุมนั้นมุมนี้เหมือนปุถุชน แต่ว่ามีจิตใจอยู่ในความว่าง อยู่ด้วยความว่าง หรือเป็นความว่างเสียเลย ฉะนั้นจึงเรียก สุญญตาว่า มหาปุริวิหาร โดยเฉพาะก็คือพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์นั่นเอง ความว่างเป็นวิหาร เป็นที่อยู่ของมหาบุรุษ ก็แปลว่า จิตใจของท่านอยู่ด้วยความว่าง คือมีลมหายใจอยู่ด้วยความว่าง

พระพุทธเจ้าท่านตรัสยืนยันส่วนพระองค์โดยเฉพาะว่า ตถาคตอยู่ด้วยสุญญตาวิหาร หรือให้ชีวิตล่วงไป ๆ ด้วยสุญญตาวิหาร คือว่าเมื่อท่านกำลังแสดงธรรมสอนคน จิตของท่านก็ว่างจาก ตัวตน-ของตน เมื่อไปบิณฑบาตหรือทำกิจส่วนพระองค์ จิตของท่านก็ยังว่างจากตัวตนหรือของตน หรือเมื่อท่านทรงพักผ่อนหาความสุขส่วนพระองค์ ที่เรียกว่ายามว่าง ทิววิหาร สุขวิหาร อะไรนี่ ท่านก็เป็นอยู่ด้วยความว่างจากตัวตน หรือของตน ท่านจึงทรงยืนยันแก่พระสารีบุตรว่า ตถาคตให้เวลาล่วงไปด้วยสุญญตาวิหารนี้เราไม่พูดกันถึงบุคคลธรรมดาสามัญที่เป็นปุถุชน เราพูดถึงมหาบุรุษ พูดถึงพระพุทธเจ้า ว่าท่านมีลมหายใจอยู่อย่างไร ท่านอยู่ในโบสถ์วิหารอะไร ถ้าเราอยากไปเห็นกุฏิวิหารของพระพุทธเจ้าแล้ว อย่าได้นึกถึงเรื่องอิฐเรื่องปูนเรื่องอะไรที่อินเดียกันนัก ลองนึกถึงวิหารที่ชื่อว่า “สุญญตาวิหาร” หรือ มหาปุริสวิหาร” กันบ้าง แต่อย่าลืมว่า มันต้องเป็น “ปรมํ สุญญํ” คือว่างอย่างยิ่ง

สุญญตาขนาดว่างอย่างยิ่ง ไม่ใช่สุญญตาวอบ ๆ แวม ๆ เหมือนพวกเราที่นั่งอยู่ที่นี่ กลับไปบ้านก็ไม่ว่างเสียแล้ว สุญญตาวิหาร หรือ มหาปุริสวิหาร นั้นหมายถึงว่างอย่างยิ่ง เพราะฉะนั้นจึงมีคำอีกคำหนึ่ง ซึ่งค่อนข้างจะยาวมาก เรียกว่า “ปรมนุตตรสุญญตา” คือ ปรม+อนตตระ+สุญญตา รวมกันทั้ง ๓ คำ เป็น ปรมนุตตรสุญญตา สุญญตาที่ว่างอย่างยิ่ง ไม่มีอะไรอื่นยิ่งไปกว่า

ข้อนี้ ถ้าระบุตามคำเทคนิคของธรรมะ จะมีกล่าวถึง เจโตสมาธิที่ไม่มีนิมิต จนจิตว่างจากอาสวะ เจโตสมาธิที่ไม่มีนิมิตที่จิตผ่องใสจนไร้อาสวะนี้ อาจจะเป็นอย่าง กุปปธรรม หรือ อกุปปธรรม ก็ได้ คือว่าจะเป็นอย่างของคนที่จะกลับไปไม่ว่างอีก หรือว่าเป็นของคนที่ว่างเด็ดขาดไปเลยก็ได้ ถ้าในขณะใดประกอบด้วยเจโตสมาธิประเภทที่ไม่มีนิมิต จะยึดถือว่ามีอะไรเป็นตัวตน-ของตนแล้ว จิตกำลังผ่องใสไร้อาสวะอยู่ในเวลานั้นแล้ว ก็เรียกว่า “ปรมานุตตรสุญญตา” ได้ ซึ่งพระอริยะเจ้าหรือพระอรหันต์นั้น ท่านทำอยู่เป็นว่าเล่น คือเป็นไปเอง

ถ้าเราเป็นปุถุชน จะเป็นโยคีที่สมบูรณ์กันสักที ก็ควรจะเข้าถึงเจโตสมาธิให้ได้ตามกาล แม้จะไม่สิ้นอาสวะโดยเด็ดขาด ก็เป็นการไร้อาสวะอยู่ในบางโอกาส บางขณะ แต่นี่เราไปยืมของท่านมา คือไปยืมของพระพุทธเจ้าหรือของพระอรหันต์มา สำหรับให้พวกเราลองดูบ้างเท่านั้น เพื่อว่าอย่าได้ท้อถอยเสียทีเดียว เพราะเหตุใด? เพราะเหตุว่า สิ่งที่เรียกว่าความว่างก็ดี ความหลุดพ้นก็ดี หรือนิพพานก็ดี มันมีได้ทั้งประเภทที่เด็ดขาดลงไป และประเภทที่ยังกลับไปกลับมาได้ สำหรับคนเราตามธรรมดา หรือยิ่งกว่านั้น ยังมีประเภทที่ประจวบเหมาะก็ยังได้ ในเมื่อสิ่งต่าง ๆ แวดล้อมเหมาะสมดี เราอาจจะมีจิตใจว่างอย่างนี้ได้สักชั่วโมงสองชั่วโมงก็ได้ แต่ว่าเป็นเรื่องเป็นราวนั้น คือเราต้องตั้งใจประพฤติบัติกระทำให้มันว่าง ตามที่เราสามารถจะกระทำได้

ที่แท้จริงนั้น ที่เป็น ปรมนุตตรสุญญตา จริง ๆ นั้น ท่านหมายถึงว่าได้ทำลาย โลภะ โทสะ โมหะ ความยึดมั่นถือมั่นว่าตัวตนได้เด็ดขาด เป็นสมุจเฉทปหานลงไปจริง ๆ แล้ว เพราะฉะนั้นเมื่อจะกล่าวถึงสุญญตาสุดยอด ท่านต้องบัญญัตินามไว้ว่า ปรมนุตตรสุญญตา เรื่องสุญญตาสุดยอดนี้ ถ้าลองเหลือบให้ต่ำลง ลดหลั่นไปตามลำดับ ก็จะเข้าใจ สุญญตาที่ต่ำ ๆ หรือ รอง ๆ ลงมา คือถ้าไล่จากทางสูง คือเอาปรมานุตตรสุญญตาเป็นยอดสุดแล้ว ที่ลดต่ำลงมาก็คือ เนวสัญญานาสัญญายตนะ นี้เป็นความว่างที่รองลงมา แล้วก็ อากิญจัญญายตนะ รองลงมาอีก วิญญาณัญจายตนะ รองลงมาอีก อากาสานัญจายตนะ รองลงมาอีก แล้ว ปฐวีสัญญา รองลงมาอีก แล้วก็ อรัญญาสัญญา รองลงมาอีก

นี่มองจากข้างบนสุดลงมาหาพื้นต่ำ นี้เข้าใจยาก ดูไปจากพื้นต่ำดีกว่า คือให้ค่อย ๆ เงยขึ้นไปหาข้างบน

อันแรกที่สุดเรียกว่า อรัญญสัญญา คือมีความสำคัญมั่นหมายว่าเป็นป่า นี่ถ้าที่ในบ้านในเมืองนี้มันวุ่นวาย เราลองทำความสำคัญมั่นหมายด้วยจิตใจว่าเป็นป่า เหมือนอยู่ในป่าหรือออกไปอยู่ป่าจริง ๆ แล้วทำสัญญาว่าป่าให้ว่าง มีความสงัดจากเสียงรบกวน มันก็เรียกว่าว่างชนิดหนึ่งแล้ว เพียงแต่ว่าทำสัญญาว่าป่าเท่านั้น ก็ได้สุญญตาเด็กเล่นขึ้นมาแล้ว

ทีนี้สูงขึ้นไปอีก ปฐวีสัญญา ทำความมั่นหมายว่าดิน คือสักว่าดินเท่านั้น ดิน ก็หมายความว่าธาตุดิน รู้สึกว่าสิ่งต่าง ๆ เป็นธาตุดินไปหมด ก็อาจกำจัดความกำหนัดในกามารมณ์ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ได้ นี่ก็เป็นสุญญตาที่สูงกว่าเด็กอมมือ จึงควรที่คนหนุ่มคนสาวควรจะลองดู

ทีนี้ถ้าจะให้มันสูงขึ้นไปอีก ก็ต้องทำสัญญาเป็น อากาสานัญจายตนะ ทำความรู้สึกว่าทั้งหมดมีแต่อากาศที่ไม่มีที่สิ้นสุด อากาศนี้คือความว่างชนิดหนึ่งเหมือนกัน แต่ยังไม่ถึงสุญญตา ที่ว่างที่โล่งไม่มีอะไร นี้ก็ยังได้ความว่างหรือสุญญตาที่สูงขึ้นไป

ทีนี้อย่าไปสนใจในเรื่องความว่าง ที่ว่าง ที่โล่งนั้น ให้สนใจเรื่องที่ละเอียดกว่านั้น จับตัวได้ยากกว่านั้น คือวิญญาณ อย่างที่เรียกว่า วิญญาณณัญจายตนะ ทำในใจว่า ไม่มีอะไรนอกจากมีแต่วิญญาณที่ไม่มีที่สิ้นสุด มีแต่วิญญาณธาตุทีไม่มีที่สิ้นสุด เหล่านี้ก็ยังว่างขึ้นมาอีก

ทีนี้ถ้าจะให้สูงขึ้นไปกว่านั้น ก็เป็นสุญญตา ประเภททำในใจถึง อากิญจัญญายตนะ ว่าไม่มีอะไรเลย ที่แท้มันไม่มีอะไรเลย คือว่าจะไม่ให้จิตไปกำหนดถึงอะไรเลย กำหนดความไม่มีอะไรเลย แต่ยังรู้สึกอยู่ว่าไม่มีอะไรเลย อย่างนี้ก็เป็นความว่างขึ้นไปอีก

ทีนี้ไต่ไปอีกทีหนึ่งก็คือ เนวสัญญานาสัญญายตนะ คือทำความรู้สึกอยู่ด้วยความไม่รู้สึก เรียกว่าจะเหมือนกับคนเป็นก็ไม่ใช่ คนตายก็ไม่ใช่ คือมีสัญญาก็ไม่ใช่ ไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่ นี่หมายถึงการไม่ทำสัญญาในอะไรเลย มีความรู้สึกอยู่แต่ว่า ไม่ทำสัญญาว่าอะไรเลย ละเอียดยิ่งขึ้นไปเรื่อย ๆ จนถึงกับว่า คนนั้นเรียกว่าคนตายแล้วก็ไม่ใช่ คนเป็นอยู่ก็ไม่เชิง อย่างนี้เรียกว่าว่างเหมือนกัน

ว่างทั้ง ๖ ระดับนี้ ไม่ชื่อว่าสุญญตาอย่างที่ว่า คือไม่ใช่ ปรมนุตตรสุญญตา เป็นแต่เพียงท่านแสดงให้เห็นว่า ที่ว่าว่าง ๆ นี้มันว่างขึ้นมาได้อย่างไร มันว่างยิ่งขึ้นไป ๆ ๆ ได้อย่างไร แต่ถึงอย่างนั้น มันก็ยังไม่ใช่ว่างอย่าง มหาปุริสวิหาร มันว่างอย่างพวกฤๅษี มุนี ก่อนพุทธกาล หรือในครั้งพุทธกาลค่อย ๆ คลำไป ๆ จนมาพบและจนมุมอยู่ที่นี่ ไม่รู้ว่าจะไปทางไหนอีก จนกระทั่งพระพุทธเจ้าทรงพบสุญญตาที่แท้เป็นปุริสวิหาร หรือปรมานุตตรสุญญตา ดังที่กล่าวแล้วนั่นเอง

อรรถกถาเรียกความรู้สึกต่อสุญญตานี้ว่า สุญญตาผัสสะ หรือ สุญญโตผัสโส พวกเรารู้กันแต่ผัสสะทางตา ผัสสะทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ในธรรมารมณ์ ไม่เคยมีสุญญตาผัสสะ ไม่เคยผัสสะต่อสุญญตา เพราะว่าเรารู้จักกันแต่รูปธาตุ อรูปธาตุ ไม่รู้เรื่องนิโรธธาตุ

เมื่อไรเรารู้เรื่องนิโรธธาตุ เราจะได้สัมผัสอันใหม่ คือสุญญตาผัสสะ อย่างที่อรรถกถาเรียก แล้วอันนี้มันเป็นชื่อของอริยมรรคในขั้นทำลายกิเลสได้จริง ต่อเมื่อสร้างอริยมรรคที่ทำลายกิเลสได้จริง และทำลายกิเลสอยู่ ขณะนั้นเรียกว่า “สุญญตาผัสสะ” คือเราได้เอามือไปแตะสุญญตาเข้าแล้ว นี่พูดอย่างอุปมาว่าเหมือนกับเราเอามือไปแตะสุญญตาเข้าแล้ว คือจิตของเราได้สัมผัสกันเข้ากับความว่าง

ความว่างในลักษณะที่เป็นผัสสะเช่นนี้ มันหมายถึงอริยมรรคของคนที่เห็นอนัตตา คืออนัตตาปัสสนา เห็นว่าไม่มีตัวตน ไม่มีของตน เป็นสักแต่ว่าธรรมะ ธรรมชาติเรื่อยไปยิ่งขึ้น ๆ เป็นอริยมรรคทำนองนี้อยู่แล้ว ก็เรียกว่า สุญญโต ในที่นี้ แล้วผัสสะใดที่เกิดขึ้นในขณะแรกแห่งมรรคนั้น ผัสสะนั้นเรียกว่า “สุญญโตผัสโส” หรือสุญญตาผัสสะ คือการแตะต้องสุญญตา

ทีนี้ อนัตตานุปัสสนา ที่ทำให้มีอาการอย่างนี้ได้นั้น มันสืบต่อมาจากการเห็นทุกข์ คืออนัตตานุปัสสนา จะต้องสืบต่อมาจากทุกขานุปัสสนา เหมือนกับว่าไปขยำเอาไฟเข้าแล้วมันร้อนอย่างนี้ มันจึงจะรู้ว่าไฟนี้ไม่ใช่สิ่งที่ควรขยำเลย หรือว่าธรรมทั้งปวงนี้ ไปขยำเข้าแล้วก็เป็นไฟขึ้นมา แล้วรู้ว่าธรรมทั้งปวงนี้ไม่ควรขยำเลย คือไม่ควรเข้าไปยึดมั่นถือมั่นเลย

ทีนี้หากความเจนจัดทางวิญญาณ (Spiritual experience) ของเรามากพอ ในการที่ว่าไฟมันไหม้เอาอย่างไรแล้วมันเผาเอาอย่างไร มันร้อยรัด หุ้มห่อ ทิ่มแทง พัวพัน เผาลนอย่างไร อย่างนี้เรียกว่า “ทุกขานุปัสสนา”

ความเจนจัดทางวิญญาณ (Spiritual experience) ในชั้นนี้เรียกว่า ทุกขานุปัสสนา เป็นเหตุให้เกิดอนัตตานุปัสสนา หรือ สุญญตานุปัสสนาขึ้นมา เพราะฉะนั้นผัสสะต่อธรรมะ คือ ผัสสะที่รู้สึกต่อธรรมะขณะนั้นเรียกว่า “สุญญตาผัสสะ”

ทีนี้จะต้องคิดต่อไปถึงว่า บางคนเขาค้านว่า ถ้าไม่ถึงนิพพาน จะรู้เรื่องนิพพานได้อย่างไร อย่างว่าไม่เคยเห็นยุโรป จะเห็นยุโรปได้อย่างไร? นี้มันไม่ใช่เรื่องทางวัตถุ มันเป็นเรื่องในทางจิตใจ คือจิตใจของคนเรานี่มันว่าง เป็นการชิมลองอยู่ได้เองแล้ว เหมือนกับอาตมาบอกว่า เดี๋ยวนี้ทุกคนที่อยู่ที่นี่ส่วนมากจิตว่างอยู่ แต่ว่าเป็นการชิมลอง อย่างนี้ขอให้ขยันดู

เพราะฉะนั้น ในนิเทศของการปฏิบัติอานาปานสติ ตอน จิตตานุปัสสนาที่ว่า เพ่งดูจิตตามที่เป็นจริงอย่างไรนั้น จึงมีตอนกล่าวถึงว่า ถ้าจิตมีราคะ ก็รู้ว่าจิตมีราคะ ถ้ารู้ว่าจิตมีโทสะ ก็รู้ว่าจิตมีโทสะ ถ้าจิตมีโมหะ ก็รู้ว่าจิตมีโมหะ จิตหดหู่ ก็รู้ว่าจิตหดหู่ จิตไม่หดหู่ ก็รู้ว่าจิตไม่หดหู่ จิตวิมุตติ ก็รู้ว่าจิตวิมุตติ จิตไม่วิมุตติ ก็รู้ว่าจิตไม่วิมุตติ นี้คือความหมายของคำว่า ว่าง หรือ ไม่ว่าง นั่นเอง ให้เราดูที่จิตของเราที่กำลังวิมุตติ คือว่างจากสิ่งทั้งปวงอยู่ หรือว่าจิตของเรากำลังถูกจับกุม ยึดถือสิ่งใดอยู่

ในการปฏิบัติขึ้นต้นเพียงขั้นนี้ ก็ยังสอนให้ดูจิตที่ว่าง หรือจิตที่วิมุตติอยู่แล้ว ซึ่งมันก็มีให้ดูในภายใน ไม่ใช่คาดคะเนเอาตามตัวหนังสือที่เคยอ่าน

เพราะฉะนั้น เป็นอันว่า นิพพาน หรือ ความว่าง หรือ สุญญตา นี้มีให้ดู เป็นสิ่งที่มีให้เราดูได้ แม้ในขณะที่เป็นปุถุชนอย่างนี้ เพราะว่ามันมีความว่างอย่าง ตทังควิมุตติ อยู่บ้าง คือบังเอิญเหมือนอย่างที่กำลังเป็นอยู่เดี๋ยวนี้ เรียกว่าบังเอิญเป็น ตทังควิมุตติ ถ้าได้แวดล้อมอะไรอย่างนี้แล้วจิตก็ยังว่างอยู่ อย่างนี้ก็ว่างเหมือนกัน หรือถ้าใครทำสมาธิถูกวิธี จิตมันว่างสบายไปหมด ยิ่งกว่าความสุขชนิดไหนหมดก็ได้ นั่นเป็น วิกขัมภนวิมุตติ ไม่ต้องพูดถึง สมุจเฉทวิมุตติ ที่เป็นของพระอรหันต์ เราก็ยังมีความว่างมาดูเป็นตัวอย่างได้ เหมือนกับตัวอย่างสินค้าของพระพุทธเจ้า ถ้าใครสนใจก็พอจะหาดูได้จากตัวของตัวเอง

เพราะฉะนั้น เราควรจะทำอานาปานสติไปตามลำดับ ทำกายานุปัสสนา เวทนานุปัสสนา จิตตานุปัสสนา ทั้งมานุปัสสนา มันเป็นการชิมความว่างเรื่อยไป ตั้งแต่ต้นจนปลายทั้งนั้น ในที่สุดมันก็จะเข้าใจความว่าง เพราะมองเห็นโทษของความยึดมั่นถือมั่น แล้วจิตก็จะหันไปพอใจในอายตนะนั้น คือ นิพพาน หรือ ความว่างขึ้นมาได้ทันที

นี่แหละ เรียกว่าเราดูความว่างไปได้เรื่อย ๆ ดูสุญญตาไปเรื่อย ๆ ก่อนที่จะไปถึงปรมสุญญตา เป็นการก้าวหน้าไปตามกฎของมันเอง หรือว่าตามกฎของธรรมชาติเอง ที่ว่ารู้เห็นสิ่งใดด้วยตนเอง อย่างมั่นคง แล้วเป็นไปได้อย่างมั่นคง ไม่โยกเยก เหมือนความรู้ที่ได้มาจากการได้ยิน ได้ฟัง หรือว่าเป็นความรู้ที่เป็นมายา ทำนองนั้น

ทีนี้จะเป็นความสุขขึ้นมาได้อย่างไรนั้น เราไม่ต้องทำหรอก เราไม่ต้องอธิบาย หรือไม่ต้องไปทำให้ยุ่งยาก เราทำให้ว่างเถอะ มันกำพอแล้ว คือทำให้ว่างจาก โลภะ โทสะ โมหะ คือว่างจากความยึดมั่นถือมั่นว่าตัวเรา ว่าของเราแล้ว มันก็ว่างจาก โลภะ โทสะ ธมหะ เมื่อว่างจาก โลภะ โทสะ โมหะ ก็คือว่างจริง ๆ มันเป็นคำ ๆเดียวกัน เมื่อนั้นความทุกข์ทั้งปวงก็จะหมดไป แม้แต่กรรมก็หมดไปเอง

ในบาลีอังคุตตรนิกาย ยืนยันในข้อที่ว่า กรรมหมดไปเอง ในเมื่อว่างจาก โลภะ โทสะ โมหะ หรือว่างจากตัวกู-ของกู ซึ่งพูดกันให้สั้น ๆ ในที่นี้ก็ว่า ถ้ามันว่างจากความยึดมั่นถือมั่นว่าเรา ว่าของเราแล้ว กรรมก็จะหมดไปเอง ซึ่งหมายความว่า หมดไปทั้งกรรม และวิบากของกรรม และกิเลสซึ่งเป็นเหตุให้ทำกรรมมันหมดพร้อมกันเอง

เพราะฉะนั้นเราไม่ต้องไปกลัวกรรม กลัวจะต้องเป็นไปตามกรรม เราไม่ต้องสนใจกับเรื่องกรรม แต่เราสนใจกับความว่าง ทำความว่างให้แก่ตัวกูและของกูได้แล้ว กรรมย่อมสลายไปหมดสิ้น ไม่มีทางที่จะต้องเป็นไปตามกรรม

นี่แหละ จุดนี้เป็นสิ่งที่สามารถทำให้คนอย่างองคุลีมาลเป็นพระอรหันต์ได้ที่ตรงนั้น อย่าอธิบายผิด ๆ อย่างที่เขาอธิบายกันว่า ไม่ฆ่าคนแล้วก็เป็นพระอรหันต์ หรือว่าพระพุทธเจ้าตรัสตอบแก่องคุลีมาลว่า ฉันหยุดแล้ว แกไม่หยุด แกไม่หยุดก็คือยังฆ่าคนอยู่ แล้วองคุลีมาลก็หยุดฆ่าคน แล้วจึงเป็นพระอรหันต์

อย่างนี้คนนั้นอธิบายเอาเอง แต่หากแล้วยังเป็นการตู่พระพุทธเจ้าอย่างยิ่ง เพราะคำว่า “หยุด” ของพระพุทธเจ้านี้ ท่านหมายถึงหยุดการมีตัวกู หยุดมีของกู หยุดมีตัวเรา หยุดมีของเรา หยุดความยึดมั่น มันคือความว่าง เพราะฉะนั้น ความว่างนั่นแหละ คือความหยุด ความหยุดชนิดนี้เท่านั้น ที่จะทำองคุลีมาลให้เป็นพระอรหันต์ได้ ไม่ใช่หยุดฆ่าคน

หยุดฆ่าคนนั้น ใคร ๆ ก็ไม่ฆ่าคนอยู่แล้ว ทำไมไม่เป็นพระอรหันต์ เพราะเหตุว่าความหยุด หรือหยุดที่แท้นั้น มันคือความว่างจนไม่มีตัวเราที่จะอยู่ที่ไหน หรือจะไปที่ไหน หรือจะมาที่ไหน หรือจะทำอะไร นั่นมันจึงหยุดแท้ ถ้ายังมีตัวเราอยู่แล้ว มันหยุดไม่ได้

เพราะฉะนั้น เราจึงควรจะเข้าใจคำว่า ว่าง นี้ คือคำ ๆ เดียวกับคำว่า หยุด ที่พระพุทธเจ้าสั่งองคุลีมาลคำเดียวแล้วกลายเป็นพระอรหันต์ไปได้ ทั้งที่ฆ่าคนมามือยังเลือดแดง ๆ อยู่ หรือที่แขวนคะแนนคนที่ฆ่าไปแล้วด้วยกระดูกนิ้วมืออยู่ที่คอตั้ง ๙๙๙ หรือ ๙๙ ซึ่งแปลว่ามันมากเต็มที่ นั่นแหละ คือไม่หยุด มันมีความยึดมั่นถือมั่นอะไร จนวิ่งป่วนไปหมดไม่หยุด ทีนี้กรรมจะหมดไปเอง หรือว่าจะถึงความหยุดก็ต้องอาศัยคำ ๆ เดียว คือความว่างจากตัวกู-ของกู ไม่ยึดมั่นถือมั่นในกรรมทั้งปวง

การกระทำให้ว่างนี้ จัดว่าเป็นการทำโยคะในทางพุทธศาสนาก็ได้ คือเราดูกันที่ตัวการกระทำให้ว่างนี้นี่แหละที่เรียกว่าโยคะ มันเป็นโยคะสูงสุด ถึงขั้นที่เรียกว่ายอดของโยคะ กล่าวคือชั้นราชะโยคะอะไรนั้น ในที่เช่นนี้ แม้เราจะยืมคำว่าราชะโยคะในฝ่ายเวทานตะมาใช้ ซึ่งมีความหมายว่าสุดยอดของโยคะ แต่ราชะโยคะอย่างเขามีตัวตนถึงที่สุด

สำหรับพระพุทธศาสนาเรา โดยเหตุที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า อริยสัจจทัศนะ คือโยคะ นั่นก็แปลว่า โยคะในพุทธศาสนานี้ก็มี แต่มันหมายถึงการทำความว่างให้แจ้งออกมา ให้ปรากฏออกมา เพราะฉะนั้นการกระทำใดอันเป็นไปเพื่อความว่างปรากฏออกมาแล้ว การกระทำอันนั้นเรียกว่า “โยคะ” ได้เหมือนกัน

ถ้าใครอยากจะใช้คำว่า โยคะ หรือชอบพูดถึงโยคะ อยากมีโยคะ อะไรนี้ ต้องมีให้ถูกอย่างนี้ จึงจะสมกับที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า โยคะคืออริยสัจจทัศนะ-การทำของจริงที่สุดให้ปรากฏออกมาเรียกว่าโยคะ แล้วเราก็เอามาใช้กันกับการทำทุกอย่างในทางจิตใจเพื่อให้หยุดความยึดมั่นถือมั่น ว่าเรา ว่าของเราเสีย นี่แหละคือโยคะ เราจะเอาคำว่า โยคะ ของพวกอื่นมาใช้มาเรียกได้ทั้งนั้น มันจะมีความหมายที่ปรับให้เข้ากันได้ทั้งนั้น อย่าง กรรมโยคะ ให้ทำความไม่เห็นแก่ตัว ให้ประพฤติประโยชน์ของผู้อื่นดายไป อย่างนี้ก็มี ถ้าว่าเราอย่ามีตัวเรา มีของเรา เราอย่ามีความรู้สึกว่า ตัวเรา ว่าของเรา อย่างนี้ ทำไปเถอะ มันจะเป็นกรรมโยคะหมด

แม้จะเป็นโยคะชั้นต่ำ ๆ เตี้ย ๆ คือการทำบุญทำกุศลทำความดี ความงาม เสียสละแก่ผู้อื่น ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์อย่างนี้ ต้องทำด้วยจิตที่ว่าง ว่างจากตัวกู ว่างจากของกู อย่าให้ความรู้สึกแล่น หรือโน้มเอียงไปในทางว่าของฉัน หรือตัวฉัน มันก็เป็นโยคะไปหมด

นี่แปลว่า ไม่ต้องแสวงหาโยคะอย่างอื่น จะเป็นชื่อสักกี่สิบโยคะ กี่ชนิดโยคะก็ตาม ก็เป็นอันทำโยคะทั้งสิ้น กล่าวคือ การทำตัวตน หรือของตนให้หมดไป คือทำความว่างให้ปรากฏขึ้นมา

เท่าที่กล่าวมาค่อนข้างจะยืดยาวนี้ ก็เพื่อจะให้เข้าใจเรื่อง “ความว่าง” คำเดียว ว่างจากกิเลส คือว่างจากความรู้สึกว่า ตัวกู หรือของกู แล้วว่างจากความทุกข์นั้นมันแน่นอน เพราะเมื่อมันว่างจากกิเลสแล้ว ก็ว่างจากทุกข์ ว่างจากตัวกู-ของกูอย่างเดียวเท่านั้น จะว่างหมดจากทุกสิ่ง และสภาพอันนั้นมันเป็นนิโรธธาตุ ไม่ใช่ธาตุน้ำ ธาตุดิน ธาตุไฟ ธาตุลม ไม่ใช่ อากิญจัญญายตนะ ไม่ใช่ อากาสานัญจายตนะ ไม่ใช่ วิญญาณัญจายตนะ อะไรเยอะแยะ ล้วนแล้วแต่พระพุทธเจ้าท่านปฏิเสธว่ามันไม่ใช่ทั้งนั้น มันมีแต่ นิโรธธาตุ เป็นความว่างจาก ตัวกู-ของกู เป็นที่ดับแห่งกรรม เป็นที่ดับแห่งกิเลส เป็นที่ดับแห่งความทุกข์

ข้อสุดท้ายที่เราจะต้องนึกถึง ก็คือว่า สิ่งนี้เป็นของที่เนื่องกันอยู่กับทุกสิ่ง ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น อย่าลืมเสียว่า ทุกสิ่งไม่มีอะไรนอกจากธรรมะ ธรรมะก็ไม่มีอะไรนอกจากธรรมชาติธรรมดา หรือความที่มันเป็นอย่างนั้นเอง เป็น ตถตา เพราะฉะนั้น มันจึงว่างจากตัวตน-ของตนอยู่แล้ว

ธรรมะประเภทโง่ ประเภทหลง ประเภทอวิชชานี้ มันโผล่ขึ้นมาเรื่อย เพราะการเป็นอยู่ หรือชีวิตประจำวัน หรือวัฒนธรรมของเราสมัยนี้ มันให้โอกาสแก่ธรรมะฝ่ายตัวกู ฝ่ายของกู คือฝ่ายอวิชชา ไม่ได้ให้โอกาสแก่ฝ่ายวิชชา เพราะฉะนั้น เราจึงต้องถูกลงโทษด้วย Original sin คือบาปดั้งเดิมของเรา ที่พอเกิดมาแล้วก็มีแต่จะหลงไปในทาง Autonomy นี้เรื่อยไปไม่เข็ดหลาบ แม้เป็นหนุ่มเป็นสาวก็ยังไม่รู้สึก เป็นคนกลางคนแล้วก็ยังไม่รู้สึก เป็นคนแก่คนเฒ่าแล้วก็ยังไม่รู้สึกก็มี ถ้าอย่างไรก็ควรที่จะรู้สึกในวัยกลางคน หรือเมื่อยามแก่เฒ่า จะได้พ้นโทษ จะได้ออกจากกรงขังของวัฏฏสงสาร จะได้รับอิสรภาพ สู่ที่โล่งแจ้ง ไม่มีขอบเขต ไม่มีอะไรจำกัด

เมื่อพุทธศาสนาแผ่ไปถึงเมืองจีน คนจีนสมัยโบราณเขามีสติปัญญาเฉลียวฉลาดรับเอา ได้เกิดวรรณกรรมอย่างของเว่ยหล่าง หรือของฮวงโปขึ้นมา อธิบายเรื่องจิต เรื่องธรรมะ เรื่องพุทธะ เรื่องหนทาง เรื่องความว่าง ให้เข้าใจกันได้ด้วยถ้อยคำเพียงไม่กี่คำ คือโผล่ขึ้นมาประโยคแรกก็ชี้ว่า จิตก็ดี ธรรมะก็ดี พุทธะก็ดี หนทางก็ดี ความว่างก็ดี คือสิ่งเดียวกัน มันเท่านี้ก็พอแล้ว ไม่ต้องพูดอะไรอีกแล้ว ประโยคเดียวเท่านี้พอแล้ว มันเท่ากับพระไตรปิฎกทั้งหมดได้เหมือนกัน แต่เราไม่อาจเข้าใจเลยก็ได้

ยิ่งพวกเราที่ศึกษาปฏิบัติกันอยู่ในแบบเก่านี้แล้ว ไม่มีทางที่จะเข้าใจประโยคนี้ได้เลย ควรที่จะละอาย มีหิริโอตตัปปะปะในเรื่องนี้กันเสียบ้าง มันจะไปได้เร็ว และยิ่งกว่านั้น พุทธบริษัทเมืองจีนยังพูดก้าวไปถึงว่า ความว่างนี้มันเป็นอยู่เองแล้ว แต่เราไม่เห็นเอง อาตมาอาจจะพิสูจน์ได้เหมือนกับที่พูดอยู่แล้ว ๆ เล่า ๆ ว่า ทุกคนที่นั่งอยู่ที่นี่ มีจิตว่างอยู่เองแล้วในขณะนี้ แต่ก็หามองเห็นไม่ และไม่ยอมรับว่านี้เป็นความว่างเสียด้วยซ้ำไป

นี่แหละฮวงโปจึงด่าว่า คนพวกนี้เหมือนกับคนมีเพชรติดอยู่ที่หน้าผากแล้วก็ไม่รู้ แล้วเที่ยววิ่งหาไปรอบ ๆโลก หรือบางทีก็นอกโลก ไปหาที่เมืองนรก เมืองสวรรค์ เมืองพรหมโลก เมืองอะไรต่ออะไร หารอบ ๆ โลกมนุษย์นี่ยังไม่พอ ยังไปเที่ยวหาเสียหลาย ๆ โลก ทำบุญสักหนึ่งบาท แล้วก็จะให้ได้ไปสวรรค์ ไปพบอะไรที่ต้องการ อย่างนี้เรียกว่ามันไม่ดูของดีที่ติดอยู่ที่หน้าผาก แล้วก็จะไปหาที่รอบ ๆ โลก หรือโลกอื่น ๆ อีก เพราะฉะนั้น เรื่องวิธีคลำให้พบ เขาก็พูดอย่างเหนือเมฆหรืออะไรทำนองนั้นยิ่งขึ้นไปอีก “ไม่ต้องทำอะไร คืออยู่นิ่ง ๆ ไม่ต้องทำอะไร แล้วมันก็จะว่างเอง”

คำว่า “อยู่นิ่ง ๆ ไม่ต้องทำอะไร” นี้ มันมีความหมายมากอยู่ คือว่าเรามันซุกซน เรามันสัปดน เที่ยวรับเอาอารมณ์ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายเข้ามา เมื่อรับเข้ามาแล้วยังโง่พอที่จะเปิดโอกาสให้ธรรมะฝ่ายอวิชชานั้นขึ้นนั่งแท่นบัญชางานเสียเรื่อย มันจึงเป็นไปแต่ในทางยึดมั่นถือมั่น ว่าตัวกู-ว่าของกู เรียกว่าซน ไม่ยอมอยู่นิ่ง ๆ

“อยู่นิ่ง” ก็หมายความว่า ไม่รับเอาอารมณ์เข้ามา หรือว่าอารมณ์มากระทบ ก็ให้มันตายด้าน เหมือนคลื่นกระทบฝั่ง เมื่อตาเห็นรูป ก็สักแต่ว่าเห็น เป็นต้น นี้เรียกว่ามันไม่รับเข้ามา หรือว่าทำอย่างนั้นไม่ได้ มันเลยไปเป็นเวทนา คือพอใจ หรือไม่พอใจเสียแล้ว ก็ให้หยุดเพียงแค่นั้น อย่าได้อยากต่อไปอีก ตามความพอใจหรือความไม่พอใจ อย่างนี้ก็พอที่จะให้อภัย ว่ายังอยู่นิ่ง ๆ อยู่ได้ เรื่องมันจะได้หยุดอยู่เพียงแค่นั้น ถ้าพอใจแล้วทำอะไรต่อไปยืดยาว เดี๋ยวตัวกู-ของกู ก็โผล่ออกมา หรือว่าถ้าไม่พอใจ แล้วก็ทำอะไรไปตามความไม่พอใจ มันก็เป็นความทุกข์ นี้เรียกว่าไม่อยู่นิ่ง ๆ

เพราะฉะนั้น คำว่าอยู่นิ่ง ๆ ของเว่ยหล่าง หรือฮวงโปก็ตามนั้น มันได้แก่การปฏิบัติตามที่พระพุทธเจ้าสอนให้เห็นสิ่งทั้งปวงโดยความไม่ควรยึดมั่นมือมั่น ว่าตัวเรา-ว่าของเรานั่นเอง

อยู่นิ่ง ๆ คำนี้มันมีความหมายอันเดียว อย่างเดียวกับประโยคที่ว่า “สัพเพ ธัมมา นาลัง อภินิเวสายะ” นั่นเอง เพราะว่าสิ่งทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่นอยู่แล้ว ธุระอะไรจะไปยุ่ง หรือเข้าไปวุ่น หรือวิ่งเข้าไปหาที่สิ่งเหล่านั้นให้มันวุ่นทำไม ไม่อยู่นิ่ง ๆ เพราะฉะนั้นคำว่า “อยู่นิ่ง ๆ” จึงมีความหมายอย่างนี้

เราจงดูให้เห็นความว่างที่พึงประสงค์ การที่กล่าวว่ามีความว่างชนิดที่ก่อให้เกิดความหยุด หรือความสะอาด ความสว่าง ความสงบ อะไรก็ตาม นี้ยังพูดอย่างสมมติ เพราะว่าถ้าพูดอย่างความจริง หรือพูดอย่างถูกต้องแล้ว มันไม่มีอะไรนอกจากความว่าง มีเพียงสิ่งเดียวเท่านั้น แล้วความว่างนั้นมันไม่ก่อให้เกิดอะไร เพราะว่าความว่างนั้นมันเป็นตัวพุทธะ ตัวธรรมะ ตัวสังฆะ ตัวหนทาง ตัวสะอาด ตัวสว่าง ตัวสงบ อะไรหมด อยู่ที่ความว่างนั้น

ถ้ายังพูดว่า ความว่างเป็นเหตุให้เกิดนั่น เกิดนี่แล้ว ก็แปลว่าเรายังไม่รู้ถึงที่สุด ยังไม่ใช่ว่างถึงที่สุด เพราะถ้าว่างถึงที่สุดแล้ว มันไม่ต้องทำอะไร อยู่นิ่ง ๆ มันก็เป็นพุทธะ ธรรมะ สังฆะ สะอาด สว่าง สงบ นิพพาน อะไรในตัวมันเอง ในตัวที่ไม่ปรุงแต่งให้เป็นอะไรขึ้นมานั่นเอง

เมื่อจะสอนคนเขลา ๆ โดยวิธีที่ง่ายที่สุด ให้รู้จักสังเกตความว่างนั้น ฮวงโปได้ให้ปริศนาไว้อันหนึ่งว่า ให้ดูที่จิตของเด็กก่อนที่จะปฏิสนธิ อาตมาก็ขอฝากท่านทั้งหลายไว้ให้หาดูจิตของเด็กก่อนที่จะปฏิสนธิในครรภ์นั้นมันอยู่ที่ไหน ถ้าหาอันนี้พบ แล้วจะหาความว่างพบได้ง่าย ๆ เหมือนกับคลำพบของที่มีอยู่ที่หน้าผากแล้ว

ขอสรุปว่า เรื่องความว่างนี้ไม่ใช่เรื่องอื่น คือเรื่องทั้งหมดของพุทธศาสนา จะว่าพระพุทธเจ้าหายใจเข้าออกอยู่ด้วยความว่าง หรือว่ามันเป็นทั้งหมดของพุทธศาสนา เป็นความรู้ เป็นการปฏิบัติ เป็นผลของการปฏิบัติ ถ้าเรียนก็ต้องเรียนเรื่องนี้ ปฏิบัติก็ปฏิบัติเพื่อผลอันนี้ ได้ผลมาก็ต้องเป็นอันนี้ แล้วในที่สุดเราก็จะได้สิ่งที่ควรจะได้ที่สุด ไม่มีอะไรมากไปกว่านี้ เพราะว่าเมื่อเข้าถึงความว่างนั้นได้นั้น มันก็หมดปัญหา มันไม่ใช่อยู่ข้างบนหรือข้างล่าง หรือมันไม่ใช่อยู่ที่ไหน มันไม่รู้ว่าจะพูดอย่างไร ควรหุบปากมากกว่า แต่เราก็ยังต้องพูดว่าเป็นสุขที่สุดอยู่นั่นเอง

เพราะฉะนั้นจะต้องระวังให้ดี เรื่อง “นิพพาน เป็นสุขอย่างยิ่ง” กับ “นิพพาน คือว่างอย่างยิ่ง” นั้นจะต้องจับความหมายให้ถูกต้อง อย่าเอาความสุขตามความหมายที่เคยชินกันมาก่อน เหมือนกับพวกก่อนพุทธกาลโน้น ไพล่ไปเอาความสมบูรณ์ถึงที่สุดทางกามารมณ์ มาเป็นนิพพานก็เคยมี ไปเอาความสุขทางฝ่ายรูป ความสุขจากรูปสมาบัติ เป็นนิพพานมาแล้วก็มี พระพุทธเจ้าท่านต้องการให้ออกมาเสีย คือเอาเนกขัมมธาตุเป็นเครื่องมือออกมาจากกาม เอาอรูปธาตุเป็นเครื่องมือออกจากความหลงใหลในรูปสมาบัติ และในที่สุด ก็เอานิโรธธาตุเป็นเครื่องออกมาเสียจากสังขตะ คือความวุ่นวายนานาชนิดมาสู่ความว่าง

ท่านจะเข้าใจได้หรือไม่ จะปฏิบัติได้หรือไม่ย่อมเป็นเรื่องของท่านทั้งหลายเอง อาตมามีหน้าที่แต่จะกล่าวไปตามที่มันมีอยู่อย่างไร การรู้ การเข้าใจ และการปฏิบัติย่อมตกเป็นหน้าที่ของท่านทั้งหลาย

อาตมาขอยุติการบรรยายในวันนี้เพียงเท่านี้



เรื่อง

วิธีปฏิบัติเพื่อเป็นอยู่ด้วยความว่าง

พระราชชัยกวี (ภิกขุ พุทธทาส อินทปัญโญ)

ธรรมกถาในโอกาสพิเศษ ณ ชุมนุมศึกษาพุทธธรรม (ศิริราช)

ในอุปการะของคณะแพทย์ศาสตร์และศิริราชพยาบาล

มหาวิทยาลัยแพทย์ศาสตร์ ๒๑ มกราคม ๒๕๐๕

------------------------------------------

ท่านสาธุชนผู้สนใจในธรรมทั้งหลาย!

การบรรยายในวันนี้จะได้กล่าวเฉพาะ วิธีปฏิบัติเพื่อเป็นอยู่ด้วยความว่าง หลักทั่วๆ ไปเกี่ยวกับความว่างมีอยู่อย่างไร ได้อธิบายพิจารณากันแล้วอย่างละเอียดเมื่อคราวก่อนนี้ จึงเหลืออยู่แต่วิธีปฏิบัติอย่างไรจึงจะสำเร็จประโยชน์แก่ทุกคนทั่วๆ ไปทุกคน แม้ที่มีการศึกษาน้อย แม้ที่ไม่ได้เล่าเรียนปริยัติโดยตรง

หัวข้อเรื่องมีอยู่ว่า “วิธีปฏิบัติเพื่อเป็นอยู่ด้วยความว่าง” เพราะฉะนั้น จะต้องสนใจในคำว่า “เป็นอยู่ด้วยความว่าง” มีชีวิตเป็นอยู่ ด้วยสุญญตาก็ได้ แล้วแต่จะเรียก เมื่อเอ่ยชื่อสุญญตา ก็ขอให้เข้าใจว่า หมายถึงความว่าง เพราะเป็นคำบาลี ภาษาไทยเราก็ว่าความว่าง ทีนี้จะปฏิบัติอย่างไรจึงจะมีชีวิตเป็นอยู่ได้ด้วยความว่าง หรือเป็นจิตที่ว่าง ?

เกี่ยวกับเรื่องนี้ จะต้องรู้จักสังเกตให้ละเอียดลออสักหน่อย คือจะต้องสังเกตคำบางคำ ให้เข้าใจความหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือ คำว่า รู้ คำว่า เห็นแจ้ง คำว่า เข้าถึง คำว่า เป็นอยู่ด้วย หรือคำว่า มีความว่างอยู่ กำลังว่างอยู่ และคำว่า เป็นความว่างเสียเอง พูดโดยโวหารชาวบ้านธรรมดาก็ว่า เรารู้ คือเรารู้ความว่าง เราเห็นแจ้ง ก็คือเราเห็นแจ้งความว่าง เราเข้าถึง ก็คือเข้าถึงความว่าง เราเป็นอยู่ด้วย ก็คือ อยู่ด้วยความว่างนั่นเอง เรากำลังว่างอยู่ ก็คือเรากำลังว่างอยู่ด้วยความว่างนั่นเอง หรือว่าเราเป็นตัวความว่างเสียเอง บรรดาที่ออกชื่อว่า ว่าง-ว่างทั้งหมดนี้มันมีความหมายตื้นลึกกว่ากันอย่างไร? แล้วแต่จะมองกันในแง่ไหน จึงจะมีความหมายอย่างเดียวกัน หรือในระดับเดียวกันได้ ?

อันแรกอย่างว่า เรารู้ความว่าง คนทั่วๆ ไปเขาจะคิดว่า เราเรียน เราพูด เราปรึกษาหารือกันเรื่องความว่าง ถ้าหมายเพียงเท่านั้นแล้ว เรารู้ความว่างอย่างนี้ยังไม่ถูก

คำว่า “รู้” ในภาษาธรรมนั้น ไม่ได้หมายถึงรู้เพราะเรียน เพราะฟัง หรืออะไรทำนองนั้น หรือแม้แต่พูดว่า เราเข้าใจความว่าง ก็ยังไม่ใช่การรู้ถึงความว่างอยู่ดี

คำว่า “รู้” คำว่า “เข้าใจ” ตามภาษาชาวบ้านตามธรรมดานี้ เป็นเรื่องอ่านๆ ฟังๆ คิดๆ นึกๆ คำนวณไปตามเหตุผลด้วยกันทั้งนั้น กิริยาเหล่านี้ใช้กันไม่ได้กับการรู้ความว่าง

การรู้ความว่างนั้น ต้องหมายถึงรู้สึกต่อความว่างที่จิตกำลังว่างอยู่จริงๆ เราต้องรู้ต่อสิ่งที่กำลังมีอยู่ในจิตใจจริงๆ ถ้าเรารู้ความว่าง ก็ต้องมีความว่างปรากฏอยู่ในขณะนั้น แล้วเรารู้ว่ามันเป็นอย่างไร อย่างนี้จึงเรียกว่า “รู้ความว่าง”

ที่เราฟังกันมาตั้งสองครั้งแล้ว และเอาไปคิดไปนึกดูตามเหตุผลว่า มันควรจะเป็นได้ หรือมันเป็นสิ่งที่อาจจะเป็นได้อย่างนั้นๆ อย่างนี้ยังไม่เรียกว่า “รู้ความว่าง” ในที่นี้ แต่ก็เป็นความรู้หรือเป็นความเข้าใจตามภาษาคนธรรมดา คำว่า รู้ ในที่นี้ ขอให้ถือว่า มีความหมายเฉพาะ ตามหลักของธรรมะในพระพุทธศาสนา

ถ้ารู้ธรรมะ ก็หมายความว่า กำลังมีธรรมะอยู่ทีเดียว และรู้สึกต่อธรรมะนั้นอยู่ จึงจะเรียกว่ารู้ธรรมะ ในที่นี้ก็เหมือนกัน “รู้ความว่าง” ก็หมายถึงมีความว่างปรากฏอยู่ในความรู้สึก

เพราะฉะนั้นจึงได้แนะให้สังเกต แนะแล้วแนะอีก ในคราวก่อนๆ นั้นว่า ในขณะใดที่จิตมีความว่าอยู่บ้าง แม้ไม่ใช่ว่างเด็ดขาด ไม่ใช่ว่าสมบูรณ์ ก็ขอให้รู้จักมันไว้เรื่อยๆ ไป ในฐานะที่มันมีอยู่มากเหมือนกันในวันหนึ่งๆ หากแต่ว่ามันยังไม่แน่นอน ไม่เป็นความว่าง ที่เด็ดขาด ตายตัวลงไป ยังกลับไปกลับมาอยู่ แต่แม้กระนั้นก็ยังเป็นการดีมาก ถ้าใครอุตส่าห์สังเกต สนใจรู้จักความว่าง ในทำนองนั้น ไปก่อน จะเป็นเหตุให้พอใจในความว่าง และเป็นการง่ายที่จะปฏิบัติให้ลุถึงจริงๆ เพราะฉะนั้นในที่นี้ คำว่า เรารู้ความว่าง จึงหมายถึงว่า มีความว่างปรากฏอยู่ในความรู้สึก

ทีนี้คำว่า เห็นแจ้งความว่าง ก็ต้องอย่างเดียวกันอีก คือเห็นแจ้งประจักษ์ยิ่งๆ ขึ้นไป เมื่อเรารู้สึกว่าว่างอย่างไรแล้ว เราพิจารณาดู หรือทำความรู้สึกให้ชัดเจนยิ่งขึ้น จึงจะได้ชื่อว่าเห็นแจ้ง หรือเห็นแจ้งแทงตลอด คือรู้อย่างทั่วถึง

สำหรับคำว่า เราเข้าถึงความว่าง ก็อย่างเดียวกันอีก หมายความว่า ในขณะที่เราได้เข้าถึงตัวความว่าง พูดได้อย่างสมมติก็ว่า เราเข้าถึงความว่าง ถ้าพูดอย่างความจริง อย่างไม่ใช่สมมติก็ว่า จิตเข้าถึงความว่าง หรือว่าความรู้สึกนั้นเป็นผู้รู้สึกต่อความว่าง และเข้าถึงความว่าง

สำหรับคำว่า เป็นอยู่ด้วยความว่าง นั้น ย่อมหมายถึง สุญญตาวิหาร คือการเป็นอยู่ มีลมหายใจอยู่ด้วยความรู้สึกต่อความว่างนั้น ตลอดเวลา อย่างนี้เรียกว่าเป็นอยู่ด้วยความว่าง

คำว่า ว่างอยู่ ก็หมายความว่า ไม่มีความรู้สึกว่าตัวตน ว่าของตัวหรือของตน ตัวเราหรือของเรา ตัวกูหรือของกู เหล่านี้ ซึ่งเป็นการปรุงแต่งของตัณหาอุปาทาน เมื่อว่างจากสิ่งเหล่านั้นอยู่ ก็คือว่างอยู่ อะไรมันว่าง? ก็หมายถึงจิตอีกนั่นเอง ว่าง คือ ว่างจากความรู้สึก ว่าตัวตน หรือ ว่าของตน ไม่มีทั้งอย่างหยาบ และอย่างละเอียด อย่างหยาบ เราให้ชื่อมันว่า ตัวกู-ของกู อย่างละเอียด เราให้ชื่อมันว่า ตัวตน-ของตน ถ้าจิตมีความว่างทั้งขนาดว่า ไม่มีตัวตนอย่างละเอียด ก็เรียกว่า เป็นความว่างเสียเอง คือจิตนั้น เป็นความว่างเสียเอง

สมกับที่คำสอนในพุทธศาสนาบางพวก บางนิกาย เขาพูดว่า จิตคือความว่าง ความว่างคือจิต ความว่าง คือพุทธะ พุทธะคือความว่าง ความว่างคือธรรมะ ธรรมะคือความว่าง มันมีเพียงสิ่งเดียงเท่านั้น

เป็นอันว่า อะไรทั้งหมดทั้งสิ้น ในบรรดาที่เรารู้จักนี้ ไม่มีอะไร มีแต่ความว่าง ซึ่งจะได้ชี้ให้เห็นต่อไป โดยการพิจารณาคำว่า “ว่าง” นี้ กันอีกครั้งหนึ่ง

คำพูดว่า ว่าง หรือ ความว่าง นี้ มันเล็งถึงของ ๒ สิ่ง คือเล็งถึงลักษณะ ๒ ลักษณะ คำว่า ว่าง ในลักษณะที่หนึ่งนั้น หมายถึงลักษณะของสิ่งทั้งปวง ขอให้กำหนดจดจำว่า ลักษณะของสิ่งทั้งปวงคือความว่าง

คำว่า สิ่งทั้งปวง นี้จะต้องเข้าใจให้ถูกต้องว่า มันหมายถึงทุกสิ่งจริงๆ คำว่าทุกสิ่งนี้ หมายถึงรูปธรรม และ นามธรรม อย่างที่จะใช้โวหารเรียก นับตั้งแต่ฝุ่น อนุภาคเล็กนิดหนึ่งขึ้นไป จนกระทั่งของมีค่า จนกระทั่งนามธรรม จนกระทั่งนิพพาน เป็นที่สุด จากฝุ่นอนุภาคหนึ่งไปจนถึงนิพพานเป็นที่สุด นี้เรียกว่า “สิ่งทั้งปวง”

ทีนี้สิ่งทั้งปวงทุกสิ่งๆ แต่ละสิ่งๆ นี้ มีลักษณะคือความว่าง ความว่างที่หมายที่หนึ่งเป็นอย่างนี้ ต้องเข้าใจให้ดีเหมือนกัน ว่าในฝุ่นเม็ดหนึ่ง มันมีความว่างจากตัวตน ทีนี้สูงขึ้นมาเป็นในเงินในทอง ในเพชรพลอยอะไรก็ตามนี้ มันมีความว่างจากตัวตน เป็นลักษณะของมัน กระทั่งมาเป็นเรื่องจิตเรื่องใจ เรื่องความคิดนึก ความรู้สึกในสิ่งเหล่านั้นแต่ละสิ่ง ก็มีความว่างเป็นลักษณะของมัน คือว่างจากตัวตนนั่นเอง กระทั่งถึงการเรียนหรือการปฏิบัติธรรม มีลักษณะเป็นความว่างจากตัวตน กระทั่งถึงสิ่งที่เรียกว่า มรรถ ผล นิพพาน เป็นที่สุด ก็มีลักษณะที่เป็นความว่างจากตัวตนอยู่ที่นั่นด้วยกันทั้งนั้น แต่แล้วเราไม่เห็นเอง แม้แต่นกกระจอกที่กำลังบินไปบินมา อยู่นี้ ก็มีลักษณะแห่งความว่างโดยสมบูรณ์อยู่ที่นกกระจอกนั้น แต่เราก็ไม่เห็นเอง

ขอให้คิดดู ให้พิจารณาดู ให้สังเกตดู ให้คำนวณดู จนกระทั่งเห็นว่า ที่สิ่งทุกสิ่งมีความว่าง คือมีลักษณะแห่งความว่างแสดงอยู่ทั้งนั้น แต่ว่าเรามองไม่เห็นเอง แล้วจะโทษใคร? เหมือนอย่างปริศนาของพวกนิกายเซ็น ที่เขาเรียกว่าโกอานนี้ อย่างมีพูดว่า ต้นสนแก่คร่ำคร่า ต้นหนึ่ง กำลังแสดงธรรมอยู่ แม้อย่างนี้ก็หมายถึงข้อที่ว่า แม้แต่ต้นสนแก่นั้น มันก็แสดงความว่างได้เหมือนกัน คือมันมีความว่าง เหมือนกับทุกสิ่ง แต่คนก็มองไม่เห็น หรือว่าไม่ได้ยิน ในข้อที่มันแสดงธรรม คือแสดงลักษณะของความว่างอยู่ทุกเมื่อ

ขอให้เราจับให้ได้ว่า ความว่างนั้นมีอยู่ที่สิ่งทุกสิ่ง เพราะว่าเป็นลักษณะของสิ่งทุกสิ่ง สิ่งทุกสิ่งนี้มีลักษณะคือความว่าง นี่แหละคำว่าว่างในลักษณะทีแรก คือลักษณะของความว่างที่มีอยู่ที่สิ่งทุกสิ่ง จึงเรียกว่าว่าง นี่แหละเล็งถึงลักษณะของสิ่งทุกสิ่ง

ลักษณะว่าอย่างที่สอง ว่างนี้เล็งไปยังลักษณะที่จิตกำลังไม่ยึดมั่นถือมั่นอะไร ลักษณะของจิตที่ไม่ยึดมั่นถือมั่นสิ่งทั้งปวงนั้นแหละ เรียกว่า “ความว่าง” เหมือนกัน ข้อที่หนึ่งนั้นชี้ว่า สิ่งทั้งปวงมีลักษณะ ว่าง ว่างคือลักษณะของสิ่งทั้งปวง ข้อที่สองชี้ไปยังจิตที่ไม่ยึดมั่นถือมั่นต่อสิ่งทั้งปวง

ข้อนี้ขอให้เข้าใจว่า ตามธรรมดา แม้แต่ตัวจิตเองมันก็ว่าง ว่างจากตัวตน แต่จิตนั้นไม่อาจจะรู้สึกว่าตัวมันเองว่าง เพราะมันมีอะไรมาหุ้มห่อรบกวนอยู่เรื่อย ได้แก่ความคิดปรุงแต่งที่เกิดขึ้น เพราะการเห็นรูป ฟังเสียง ดมกลิ่น ลิ้มรส สัมผัสทางผิวหนัง เป็นต้นนั่นเอง จิตจึงไม่รู้สึกต่อความว่างในตัวมันเอง หรือต่อความว่างในสิ่งทั้งปวง แต่เมื่อจิตปลดเปลื้องสิ่งที่หุ้มห่อออกไปเสียได้หมด กล่าวคือปลดเปลื้องความยึดมั่นถือมั่นด้วยความหลง ด้วยความไม่รู้นั่นแหละออกไปเสียหมด เมื่อนั้นจิตก็มีลักษณะว่าง เพราะไม่ยึดมั่นสิ่งทั้งปวง

ความว่างในลักษณะที่สองนี้ จึงหมายถึงว่างที่เป็นลักษณะของจิตที่ไม่ยึดมั่นถือมั่นสิ่งทั้งปวง ผิดกับอย่างที่หนึ่ง ซึ่งหมายถึงว่างที่เป็นลักษณะของสิ่งทั้งปวง

ว่างทั้งสองอย่างนี้มันเนื่องกัน ถ้าสิ่งทั้งปวงมันมีลักษณะโดยแท้จริง คือว่างจากตัวตนที่ควรยึดมั่นถือมั่น เพราะว่ามันว่างอย่างนี้ เราจึงเห็นความจริงว่ามันว่างได้ ถ้าตามความจริงมันเป็นสิ่งที่ไม่ว่างจากตัวตนแล้ว เราก็ไม่อาจเห็นว่ามันว่างได้เลย

แต่ทีนี้ตรงกันข้าม ทั้งๆ ที่สิ่งทั้งปวงเป็นของว่าง เราก็เห็นเป็นไม่ว่างเสียหมด เพราะว่าจิตชนิดที่ถูกกิเลส ถูกอวิชชาห่อหุ้มนั้น ไปยึดมั่นถือมั่นเป็นตัวเป็นตนไปหมดไม่ว่าในอะไร แม้แต่ในฝุ่นสักเม็ดหนึ่ง อนุภาคน้อยๆ อันหนึ่งนี้ ก็ยังยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นตัวเป็นตนของฝุ่นนั่นเอง รู้สึกเป็นบุรุษที่สองจากเราขึ้นมาทีเดียว เราเป็นบุรุษที่หนึ่ง คือตัวเรา บุรุษที่สองคือสิ่งต่างๆ นอกจากตัวเรา นั่นเป็นนั่น นี่เป็นนี่ ล้วนแต่เป็นตัวเป็นตนของมันเองทั้งนั้น

เพราะฉะนั้น เราจะต้องรู้จักคำว่า “ว่าง” นี้ว่าหมายถึงอะไรให้ถูกต้องที่สุด ซึ่งสรุปแล้ว ก็ให้รู้จักว่า ว่างนี้คือลักษณะของสิ่งทั้งปวง อย่างหนึ่ง แล้วว่างนี้คือลักษณะของจิตที่ไม่ยึดมั่นถือมั่นอะไร ไม่ยึดมั่นถือมั่นสิ่งทั้งปวงนี้อีกอย่างหนึ่ง

ว่างทีแรก เป็นวัตถุแห่งความรู้สึกหรือการเข้าถึง ว่างที่สองคือจิตว่างนี้ เป็นลักษณะของจิต ที่ว่างเพราะเข้าถึงความจริง คือความว่างนั้น

ดังนั้น จิตจึงมองเห็นความว่างในสิ่งทั้งปวง รวมทั้งตัวมันเอง มันจึงสลายไปเอง เหลืออยู่แต่ความว่าง คือมันได้กลายเป็นความว่าง เสียเอง และจะเห็นทุกๆ สิ่งเป็นความว่างหมด นับตั้งแต่ฝุ่นเม็ดหนึ่ง ไปจนถึงนิพพาน ดังที่กล่าวแล้ว จะเป็นสิ่งของหรือเป็นคน หรือเป็นสัตว์ เป็นสถานที่ เป็นเวลา เป็นอะไรต่างๆ เป็นธรรมะไม่ว่าในลักษณะไหนหมด ล้วนแต่หลอมตัวเป็นสิ่งเดียวกัน คือเป็นความว่าง เพราะความที่มารู้ความจริงข้อนี้ นี่คือความหมายของคำว่า “ว่าง”

เพราะฉะนั้น เท่าที่กล่าวมานี้ ท่านทั้งหลายย่อมจะพอสังเกต หรือจับได้ด้วยตนเองแล้วว่า คำว่า ว่าง นี้ มันเท่ากับ ความดับไม่เหลือ แห่งตัวกู-ของกู คำว่า “ว่างๆ” นี้มันเท่ากับความดับไปไม่เหลือแห่งความรู้สึกว่าตัวเรา หรือของเรา ว่างเท่ากับความดับไม่เหลือแห่งตัวตน

ตัวตนนั้นมันเป็นเพียงสิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้น เพราะความยึดมั่นถือมั่นเท่านั้น ไม่เห็นเป็นว่าง เห็นเป็นตัวตนขึ้นมาเสีย ก็เพราะ ความยึดมั่นถือมั่น ด้วยอวิชชา ด้วยกิเลส จึงไปยึดมั่นถือมั่นโดยไม่ต้องแกล้งยึด เพราะมันไม่รู้ มันจึงเกิดความรู้สึกยึดขึ้นมาเอง ไม่ใช่ว่าเราต้องไปตั้งเจตนายึด หรือตั้งข้ออย่างนั้นอย่างนี้ให้มันว่ามันเป็นตัวเป็นตน เมื่อจิตประกอบไปด้วยอวิชชา ความไม่รู้ แล้ว มันย่อมรู้สึกต่อสิ่งต่างๆ เป็นตัวตนไปเสียหมดเอง ไม่ต้องแกล้งทำ ไม่ต้องตั้งเจตนาอะไร

ถ้ามีความรู้ที่ถูกต้องเกิดขึ้น มองเห็นสิ่งทั้งหลายทั้งปวงตามที่เป็นจริงแล้ว มันก็จะเห็นของจริงว่า ความว่างนั้นแหละคือความดับไปไม่เหลือแห่งตัวตน ฉะนั้นจึงได้กล่าวเพื่อเป็นหลักว่า “ว่าง” นี้คือความดับไปไม่เหลือแห่งตัวตน เพราะฉะนั้น เราต้องสนใจคำว่า “ดับไม่เหลือๆ ๆ “ นี้กันให้ถูกต้อง

ดับอย่างไรเหลือ ดับอย่างไรไม่เหลือ ดับมีส่วนเหลือ ก็หมายความว่า มันเพียงแต่เปลี่ยนรูป จากรูปหนึ่งไปสู่รูปหนึ่ง รูปทีแรกดับไปมันก็มีเชื้อเหลืออยู่สำหรับเป็นรูปใหม่ เป็นรูปอื่น อย่างนี้เรียกว่า “ดับเหลือ” คือยังมีความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งนี้ แล้วไปยึดมั่นถือมั่นในสิ่งนี้ แล้วไปยึดมั่นถือมั่นในสิ่งโน้นเรื่อยไป อีกทีหนึ่งก็คือว่า สติปัญญาหรือความรู้ธรรมะที่ยังไม่ถึงที่สุดนั้น มันจะดับความยึดมั่นถือมั่นได้แต่เพียงบางสิ่ง บางอย่าง หรือบางส่วนโดยเอกเทศเท่านั้นเอง

บางคนอาจเห็นว่าฝุ่นนี้ไม่ใช่ตัวตน แต่ไปเห็นนกกระจอกเป็นตัวตนก็ได้ ไม่ต้องพูดถึงคน เพียงเห็นสัตว์เป็นตัวเป็นตนก็ได้ และบางคนอาจมองเห็นต้นไม้หรือสัตว์ว่าไม่ใช่ตัวตน แต่ไปเห็นคนว่าเป็นตัวตนเข้าก็ได้ ที่เห็นว่าเป็นตัวตนนี้ บางทีก็เห็นว่าร่างกายนี้ไม่ใช่ตัวตนแล้ว แต่ว่าส่วนจิตใจที่เป็นศูนย์กลางนั้นยังเห็นเป็นตัวตนอย่างนี้ก็ได้ อย่างนี้เรียกว่ามันดับไม่หมด มันดับบางส่วนเหลืออะไรเป็นตัวตนบางส่วนอยู่เสมอไป กระทั่งถึงว่าจิตนี้ก็ไม่ใช่ตัวตน แต่ว่าคุณสมบัติอะไรบางอย่างของจิต เช่นธรรมะนี้เป็นตัวตนขึ้นมาก็ได้ หรือว่าถ้าสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ตัวตนแล้ว สิ่งที่อยู่ถาวรเป็นอนันตกาล เช่นนิพพานธาตุนี้เป็นตัวตนก็ได้ อย่างนี้ดับมีเชื้อเหลืออยู่เรื่อย จนกว่าเมื่อใดจะกวาดทิ้งไปหมด แม้แต่นิพพานธาตุก็ไม่ใช่ตัวตน อย่างนี้มันจึงจะเรียกว่าดับไม่เหลือแห่งตัวตน หรือดับไม่เหลือแห่งตัวกูที่แท้จริง

เพราะฉะนั้นคำว่า “ดับไม่เหลือแห่งตัวกู” นี้ ก็คือการที่ไม่อาจเกิดความรู้สึกว่าตัวกูนั่นเอง แต่เป็นการปฏิบัติ ต้องหมายความว่า เราปฏิบัติในทำนองที่จะไม่ให้เกิดความรู้สึกว่าตัวกูขึ้นมาได้ ถ้าปฏิบัติอย่างนี้อยู่ได้เรื่อย ก็เรียกว่าดับไม่เหลือแห่งตัวกูได้เหมือนกัน และการปฏิบัติที่ถูกต้องและเป็นไปอย่างสมบูรณ์ถึงที่สุดนั้น ย่อมหมายถึงการปฏิบัติชนิดที่ตัวกูหรือความรู้สึกว่าตัวกูนี้ไม่มีทางจะเกิดอีกต่อไป ก็แปลว่าไม่ให้ตัวกูเกิดขึ้นมาได้อยู่ตลอดเวลา ด้วยการกระทำที่ถูกต้องนั้น

เท่าที่กล่าวนี้ ก็พอจะเข้าใจกันได้ทุกคนว่า คำว่าเกิดแห่งตัวกู “เกิด” ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงการเกิดจากท้องบิดามารดา แต่ หมายถึงเกิดในห้วงแห่งความนึกคิดในทางจิตใจเท่านั้น จะเรียกว่าปฏิสนธิ หรือจะเรียกว่าคลอดออกมา หรือจะเรียกว่าอะไรก็สุดแท้ ต้องหมายถึงปฏิสนธิหรือคลอดออกมาในความรู้สึกเท่านั้น คือในความรู้สึกของจิตเท่านั้น

อย่างเรารู้สึกว่า เราเป็นเรา ฉันเป็นฉัน ขึ้นมานี้ มันรู้สึกที่ไหน ก็ขอให้เข้าใจว่า มันเกิดที่จิตนั่นแหละ การเกิดหรือการคลอดออกมามันอยู่ที่นั่น เพราะฉะนั้น การเกิดนี้จึงหมายถึงการเกิดในทางจิตใจ ไม่ใช่เกิดทางเนื้อหนังร่างกาย

ต้องเข้าใจว่าการเกิดทางเนื้อหนังร่างกาย แม้จะคลอดออกมาแล้วจากท้องแม่ แต่ถ้ายังไม่มีการเกิดทางจิตใจ คือไม่เกิดความรู้สึกว่า กูเป็นกู เราเป็นเรา อย่างนี้แล้วละก็ ให้ถือว่า การเกิดทางร่างกายนั้นยังไม่มีความหมายอะไรเลย ยังเหมือนกับก้อนอะไรก้อนหนึ่ง หรือดุ้นอะไรดุ้นหนึ่งเท่านั้น จนกว่าเมื่อใดจะมีความรู้สึกยึดมั่นถือมั่นเป็นตัวตนเสียก่อน เมื่อนั้นการเกิดทางร่างกายดุ้นนั้นจึงจะสมบูรณ์ คือในภายในมีความรู้สึกเป็นตัวตน

เพราะฉะนั้น ความเกิดมันจึงจำกัดความหมายอันแท้จริงอยู่ที่ความรู้สึกว่าตัวตนนั่นเอง เมื่อเด็กนั้น เกิดขึ้นมาแล้วขณะใด มีความรู้สึกว่าตัวตนอยู่ในใจ เมื่อนั้นเรียกว่าเขาเกิด พอเขาไม่มีความรู้สึกว่าตัวตนอย่างนั้น เมื่อนั้นก็คือเขาตาย กลายไปเป็นดุ้นหรือเป็นก้อนอะไรทางเนื้อหนังอยู่ตามเดิม ความรู้สึกอย่างอื่นไม่อาจช่วยให้เกิดความหมายว่าตัวตนได้ จึงไม่อาจทำให้เกิดความหมายว่าเขาเกิดอยู่ได้ มันจึงเท่ากับเขาตายอยู่ แต่ประเดี๋ยวเดียว ถ้ามีอะไรมากระทบ มีอารมณ์มากระทบแล้วก็เกิดความรู้สึกว่าเป็นตัวตนขึ้นมาได้อีก เพราะฉะนั้น เขาจึงเกิดขึ้นมาอีก และประเดี๋ยวเขาก็ตายไปอีก จึงว่าวันหนึ่งๆ เกิดได้หลายครั้งหลายหน

เพราะฉะนั้น การปฏิบัติเพื่อเป็นอยู่ด้วยความว่างนั้น มันก็อยู่ที่ตรงนี้เอง คืออยู่ตรงที่ ปฏิบัติอย่าให้เกิดความรู้สึกว่าตัวตนขึ้นมาในดุ้นหรือในก้อนนี้ ในรางกายก้อนนี้ดุ้นนี้ อย่าให้เกิดจิตใจชนิดที่เป็นความรู้สึกว่าเป็นตัวตนหรือเป็นตัวเราขึ้นมา ปฏิบัติอย่างนี้เรียกว่าปฏิบัติเพื่อเป็นอยู่ด้วยความว่าง ใจความมันมีอยู่อย่างนี้

ทีนี้รายละเอียดเกี่ยวกับการปฏิบัตินี้ ก็ควรจะมองดูให้เห็นอย่างแจ่มแจ้งชัดเจนว่าจะปฏิบัติอย่างไร? ปฏิบัติในขณะไหน? ที่ว่าปฏิบัติอย่างไรนั้น ก็ได้อธิบายมาแล้วข้างต้น ว่าปฏิบัติอย่างที่ไม่ให้เกิดตัวตน แต่ว่ายังไม่ชัดเจน จะต้องอธิบายพร้อมกันไปกับข้อที่ว่า จะปฏิบัติในโอกาสไหน ในขณะไหน อย่างไร เพราะฉะนั้น เราจึงแบ่งแยกการปฏิบัตินี้ว่า มีโอกาสปฏิบัติในขณะไหนบ้าง ให้เห็นชัดเจนเป็นโอกาสๆ ไป เพราะฉะนั้น ในที่นี้จะขอแบ่งเพื่อให้เห็นง่ายๆ สัก ๓ โอกาส หรือ ๓ ขณะคือ

ในขณะตามปกติ หรือโอกาสที่เป็นปกติอย่างหนึ่ง

ในขณะที่มีอารมณ์มากระทบ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย หรือทางผิวหนัง เป็นต้น นี้อีกอย่างหนึ่ง เป็นอย่างที่สอง

แล้วอีกขณะหนึ่ง ซึ่งขอผนวกเข้าไว้เลย นี้คือขณะที่จะดับจิต ที่เราเรียกกันว่า โอกาสจะตาย คือตายทางร่างกาย ตายชนิดที่เป็นความแตกดับของร่างกาย ในขณะที่จะตายอย่างนั้น มีการปฏิบัติสำหรับโอกาสนั้น อีกอย่างหนึ่ง

นี่แหละขอทบทวนใหม่ว่า ขณะที่ไม่มีอารมณ์มากระทบ ทางตา ทางหู นี้อย่างหนึ่ง แล้วในขณะที่มีการกระทบกับอารมณ์คือ รูป เสียง กลิ่น รส เป็นต้น นี้อย่างหนึ่ง แล้วอีกขณะหนึ่งก็คือขณะที่จะดับจิต คือ ตาย อย่างที่ชาวบ้านเรียก

การปฏิบัติในโอกาสอย่างแรก คือในปกติที่ไม่มีอารมณ์มากระทบนั้น เราจะทำอย่างไร? ในขณะปกติอย่างนี้ก็หมายถึง เมื่อเราทำการทำงานอะไรอยู่ตามปกติลำพังเรา เวลาปกติอย่างนี้ เราจะทำการทำงานประจำวันอยู่ก็ได้ หรือว่าเราจะใช้เวลาปกตินั้นไปทำกัมมัฏฐาน วิปัสสนาอะไรอย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ นี่เรียกว่า ยังไม่มีอารมณ์มากระทบ ยังไม่มีปัญหาเรื่องที่อารมณ์มากระทบ เราทำการงานตามประสาชาวบ้านนี้อยู่ก็ได้ แต่ต้องในขณะที่ไม่มีอารมณ์มากระทบ หรือเรามีเวลาว่าง เราจะอ่านหนังสือก็ได้ เราจะนึกคิดอะไรก็ได้ จะทำวิปัสสนาก็ได้ นี่เราจะต้องปฏิบัติในลักษณะที่เป็นการศึกษา เป็นการทำให้เห็นแจ้งยิ่งขึ้น ว่าสิ่งทั้งปวงว่างอยู่อย่างไร แล้วจิตนี้มันว่างได้อย่างไร จิตจะไม่หลงผิดในสิ่งทั้งปวงได้อย่างไร ให้นึกคิด ศึกษาด้วยตนเอง หรือไต่ถาม ปรึกษาหารือผู้อื่นอยู่เป็นประจำและทำไปเรื่อย

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สำหรับผู้ที่ไม่มีความรู้ทางปริยัติ สำหรับผู้ที่เป็นชาวบ้านกระทั่งไม่รู้หนังสือ ไม่ได้เคยบวชเคยเรียนเรื่องปริยัติ ก็ยังมีวิธีลัดอีกแบบหนึ่ง ซึ่งก็มีความหมายแบบเดียวกัน มีความมุ่งหมายอย่างเดียวกัน คือให้รู้สิ่งๆ เดียวกัน คือรู้ความว่างของสิ่งทั้งปวงเหมือนกัน แต่เราไม่อาจพูดถึงความว่างอย่างนั้นได้ เพราะเขาจะยิ่งไม่เข้าใจใหญ่

เพราะฉะนั้น เราจึงพูดไปอีกทำนองหนึ่งว่า ให้ดูว่าสิ่งต่างๆ มีอะไรบ้างที่น่าเอาหรือน่าเป็น ให้คนธรรมดาทั่วไปตามปกตินั้น เป็นอยู่ด้วยการพิจารณาว่ามีอะไรบ้างที่น่าเอา น่าได้ หรือน่าเป็น ที่ว่าเอา หรือได้นี้ เช่นได้เงิน ได้ทอง ได้ของ ได้เกียรติยศ ได้อำนาจวาสนา นี้เรียกว่าเอาหรือได้ มีอะไรบ้างที่น่าเอา หรือน่าได้ แล้วมีอะไรที่น่าเป็น เป็นอย่างไรบ้างที่ว่า น่าเป็น เป็นคน เป็นสัตว์ เป็นเศรษฐี เป็นขอทาน เป็นพระเจ้าแผ่นดิน เป็นราษฎร เป็นมนุษย์ เป็นเทวดา เป็นอย่างไหนบ้าง ที่ไหนบ้างที่น่าเป็น

เราต้องเข้าใจว่า “เอา” ว่า “เป็น” ให้ถูกต้องกันเสียก่อน คำว่า เอา ว่า เป็น นี้ หมายความถึงความยึดถือโดยตรง ถ้าไปรู้สึกว่า เอา หรือ ได้ นี้มันต้องมีความยึดถือโดยตรง ถ้าไปรู้สึกว่าเอา หรือได้ นี้มันต้องมีความยึดถือที่จะเอามาเป็นของเรา ถึงจะเข้าขั้นที่เรียกว่า “เอา” หรือ “ได้” เต็มตามความหมาย เช่นเราเอาเพชร เอาพลอย มากองไว้เต็มห้องอย่างนี้ ถ้าไม้มีความยึดถือว่าเราได้ เราเป็นเจ้าของ เราเอามาได้ อย่างนี้มันก็เท่ากับว่าไม่มีการเอา ไม่มีการได้ เพชรพลอยก็กองอยู่ที่นั่นเอง ไม่มีความหมายอะไร ถ้าเกิดความรู้สึกชนิดที่เป็นอุปาทานว่าตัวเรา ตัวเราเอามาได้ ตัวเราได้มาแล้ว อย่างนี้มันจึงจะเรียกว่า “เอา” หรือ “ได้” ขอให้เข้าใจความหมายของคำว่า เอา ว่า ได้ อย่างนี้

แล้วถามอีกทีว่า เอาอะไรบ้าง มันน่าเอา น่าได้ เอาอันไหนบ้าง จะไม่ทำให้บุคคลนั้นให้เป็นทุกข์ มันมีแต่จะแผดเผาบุคคลนั้น ทิ่มแทงบุคคลนั้น ร้อยรัดบุคคลนั้น พัวพันบุคคลนั้น หุ้มห่อบุคคลนั้น ครอบงำบุคคลนั้น หากเข้าไปเอา ไปเป็นมันเข้า แต่ถ้าเพชรพลอยที่กองอยู่เต็มห้องนั้น เขาไม่มีความรู้สึกว่าเอา ว่าเป็น มันก็ไม่มีอาการแผดเผา พัวพัน หุ้มห่อ ร้อยรัด แต่ประการใดเลย นี่เรียกว่าไม่เอาไม่เป็น มีอันไหนบ้าง ที่ไปเอา ไปเป็นเข้าแล้ว จะไม่เป็นทุกข์

ถ้าไปมีความรู้สึกว่าเอา ว่าเป็น เข้าแล้ว ไม่ต้องมาอยู่ในห้อง ต่อให้อยู่ในป่า หรืออยู่คนละประเทศ ข้ามทวีป ข้ามสมุทรอย่างนี้ ใจมันก็ยังเป็นทุกข์ได้ ลองมีลูกมีหลานอยู่ที่อเมริกา แล้วก็มีความยึดมั่นถือมั่นว่าเรา ว่าของเราดูซิ มันก็จะทำให้นอนไม่หลับ และมากเข้าก็เป็นโรคเส้นประสาทได้ นั่นแหละคือความหมายของคำว่า “เอา” ว่า “เป็น”

ตามปกติขอให้พิจารณาดูว่า มีอะไรบ้างที่น่าเอา น่าเป็น ที่ไปเอาไปเป็นเข้าแล้ว จะไม่เป็นทุกข์ อย่างนี้ เมื่อพบความจริงว่า ไม่มีอะไรที่น่าไปรู้สึกเอา หรือ เป็น มันก็วางเฉยกับสิ่งทุสิ่ง แต่จะจัด จะทำ จะมี จะเก็บ จะรักษา จะบริโภคใช้สอย ก็ทำไปตามเรื่อง จิตใจอย่าไปเอา อย่าไปเป็น อย่าไปรู้สึกว่าเป็นตัวเราเอา, เป็น, มี, ขึ้นมา ให้นึกถึงหลักธรรมะที่ว่า “ทำโดยไม่ต้องมีผู้ทำ การกระทำได้ทำเสร็จไปแล้ว แต่ตัวผู้ทำหามีไม่ การเดินทางได้เดินถึงที่สุดแล้ว แต่ตัวผู้เดินหามีไม่” นี้หมายถึงพระอรหันต์ ท่านปฏิบัติธรรมะถึงที่สุดแล้ว คือว่าทำการปฏิบัติธรรมะถึงที่สุดแล้ว หรือว่าเดินไปตามทางของอริยมรรคนี้ถึงที่สุดแล้ว บรรลุนิพพานแล้ว แต่ตัวผู้เดินหามีไม่

หลักอันนี้จะต้องนำเอามาใช้กับชีวิตประจำวันของเรา จะกินอยู่ นั่ง นอน ยืน เดิน บริโภค ใช้สอย แสวงหา ทำอะไรต่างๆ เหล่านี้ ต้องมีสติปัญญาเพียงพอที่จะไม่ให้เกิดความรู้สึกว่า เรามีอยู่ เราเป็นผู้ทำ ผู้กิน ผู้เดิน ผู้นั่ง ผู้นอน ผู้บริโภคใช้สอย นี้เรียกว่าทำให้มันว่างจากตัวเราอยู่เสมอ ให้เป็นปกติ เป็นอยู่ด้วยความรู้สึกที่ว่า ไม่มีอะไรน่าเอา น่าเป็น

การปฏิบัติธรรม สามารถจัดทำพร้อมกันไปได้กับการทำการงาน หรือการเคลื่อนไหวในการงานประจำวันนั่นเอง เป็นการปฏิบัติธรรมะอย่างสูงยิ่งไปเลย ไม่ต้องแยกจากกัน ขอแต่ให้มีสติสัมปชัญญะอย่างนี้อยู่ งานก็ได้ผลดีด้วย ไม่ผิดพลาดด้วย และธรรมะก็เจริญก้าวหน้าอย่างยิ่งพร้อมกันไปในตัวการงานนั้นด้วย นี้เรียกว่าเป็นอยู่ตามปกติในเรื่อง ไม่มีการเอา ไม่มีการได้

สำหรับการเป็น นั้นยิ่งง่ายขึ้นมาอีก คือขอให้คิดดูว่า “เป็นอะไรบ้าง ที่จะไม่ต้องเป็นทุกข์ไปตามความเป็นนั้นๆ” นี่เป็นสูตร เป็นใจความสำคัญ คือว่าเป็นตัวสูตรตัว Formula เลยว่า “เป็นอะไรบ้างจะไม่ต้องเป็นทุกข์ไปตามความเป็นนั้นๆ” คำว่า “เป็น” นี้ก็เหมือนกัน หมายเอาแต่เป็นที่มีอุปาทาน เป็นด้วยความยึดมั่นถือมั่นว่า เราเป็น เช่นเดียวกับคำว่า “ได้” หรือ “เอา” เหมือนกัน

ยกตัวอย่าง เช่นมีทองกองอยู่เต็มห้องนี้ ถ้าไม่รู้สึกว่าเราเป็นเจ้าของ มันก็ไม่มีการได้หรือมีการเอา การเป็นนี้ แม้โดยทางโลกจะสมมติ ทางกฎหมายจะรับรองว่า ใครเป็นนั่นเป็นนี่ คนนั้นเป็นอย่างนั้น คนนี้เป็นอย่างนี้อยู่ก็จริง แต่ในใจของเราจริงๆ นั้น อย่าไปรู้สึกอย่างนั้นเข้า อย่าไปหลง ไปเข้าใจผิดตามสมมติอย่างนั้นเข้า เช่นว่า คนหนึ่งคลอดบุตรออกมา คนผู้คลอดก็ต้องเป็นแม่ คนที่เขาคลอดออกมาก็ต้องเป็นลูก นี้ก็เป็นตามธรรมชาติ ถ้าอย่าไปยึดถือว่าเป็นแม่ มันก็ไม่เป็นแม่หรอกเพราะไปหลงเอาเอง ไปว่าเอาเอง ไปเข้าใจผิดเอาเองว่าเป็นแม่ มันก็เป็นแม่ อย่างนี้ควรถือว่าเป็นสัญชาตญาณของสัตว์ (Animal Instinct) คือว่าสัตว์มันก็รู้สึกเป็น แม่ไก่ แม่สุนัข แม่วัว แม่อะไร มันก็รู้สึกว่ามันเป็นแม่และรักลูกเป็น นี้ไม่ต้องฝืน ไม่ต้องทำ ไม่ต้องสร้าง มันเป็นอยู่ตามธรรมชาติของสัตว์

ถ้าถึงขั้นที่เป็นสติปัญญา มันต้องดีกว่านั้น มันต้องรู้จักทำลายความยึดถือ ที่มาจากความไม่รู้ อย่างนั้นเสียได้

คนบางคนคงจะคิดว่า แหม! เหี้ยมโหดทารุณจริง ไม่ให้รู้สึกว่าเป็นแม่ ไม่ให้รักลูกอย่างนั้นหรือ? ฟังให้ดี ไม่ได้หมายความอย่างนั้น คือว่าการเป็นแม่นี้ เป็นด้วยสติปัญญาก็ได้ เราจะปฏิบัติหน้าที่ของแม่อย่างไรก็ทำไปด้วยสติปัญญาได้ ไม่ต้องทำด้วยตัณหา อุปาทาน ซึ่งมันจะทำให้มีความทุกข์ทุกประการ ต้องน้ำตาไหลบ่อยๆ ต้องเหี่ยวแห้งใจบ่อยๆ ต้องเป็นอะไรบ่อยๆ แล้วไม่มีความสุขเลย นั่นแหละค่าที่เป็นแม่ไม่เป็น เป็นแม่ไม่ถูกวิธีของธรรมะ ต้องเป็นทุกข์เพราะลูก นี้เรียกว่าความทุกข์ของแม่

เมื่อเป็นแม่ ก็ต้องทุกข์อย่างแม่ เมื่อเป็นลูกก็ต้องทุกข์อย่างลูก เมื่อเป็นพ่อก็ต้องทุกข์อย่างพ่อ นี่ลองถามตัวเองดูทีว่าเกิดมาเป็นแม่เขานี่สนุกไหม? เกิดมาเป็นพ่อเขานี่สนุกไหม? คนที่สูงอายุที่ได้ผ่านสิ่งเหล่านี้มาแล้ว อย่างที่เรียกว่ามีประสบการณ์ดีมาแล้ว ลองคิดดูซิว่าจะเป็นอย่างไร จะตอบว่าอย่างไร ถึงไม่ตอบก็คงสั่นหัวทั้งนั้น เป็นพ่อเขาสนุกไหม เป็นแม่เขาสนุกไหม อย่างนี้นี่คือสิ่งที่จะต้องศึกษา หรือรู้สึกอยู่เป็นปกติ แม้ในเวลาที่ไม่มีอารมณ์มากระทบ

ถ้าเป็นสามีสนุกไหม? เป็นภรรยานี้สนุกไหม? ไปคิดดูเอง คนที่เป็นสามีเป็นภรรยามาโดยสมบูรณ์แล้วจะสั่นหัวทั้งนั้น

ทีนี้ ถามว่าเป็นหญิงน่าสนุกไหม? เป็นชายน่าสนุกไหม? ถ้าสติปัญญาเดินมาโดยลำดับ และละเอียดยิ่งขึ้น ก็จะสั่นหัวทั้งนั้น เป็นผู้หญิงก็ต้องมีความทุกข์อย่างผู้หญิง เป็นผู้ชายก็ต้องมีความทุกข์อย่างผู้ชาย

เป็นเด็กสนุกไหม? เป็นผู้ใหญ่สนุกไหม? เด็กๆ เขาคงจะตอบว่าสนุก แต่เราที่เป็นผู้ใหญ่ผู้เฒ่ามาแล้ว นี้ลองย้อนกลับไปดูทีว่า มันสนุกไหม? เด็กมันก็มีทุกข์ตามประสาเด็ก ผู้ใหญ่ก็เป็นทุกข์ตามประสาผู้ใหญ่ ถ้าหากมีความยึดมั่นถือมั่น

ทีนี้ขยายให้กว้างออกไปว่า เป็นคนน่าเป็นไหม? เป็นสัตว์เดรัจฉานน่าเป็นไหม? เป็นอะไรที่เป็นคู่ตรงข้ามนี้ กับที่ไม่ต้องเป็นอะไรเลย อันไหนจะดีกว่า เป็นคนธรรมดา กับเป็นสัตว์นรก อย่างนี้น่าเป็นไหม

หรือพูดอีกอย่างหนึ่งว่า เป็นคนนี้น่าเป็นไหม? เป็นเทวดาในสวรรค์นี้น่าเป็นไหม? นี้มันเป็นเครื่องวัดสติปัญญาของบุคคลว่าคนนั้นเขามองเห็นความยึดมั่นถือมั่นอย่างสมบูรณ์ อย่างถูกต้องหรือไม่ ถ้าเขามองเป็นโทษของความยึดมั่นถือมั่นอย่างสมบูรณ์แล้ว ก็จะสั่นหัวทั้งหมดอย่างเดียวกัน เพราะว่าเป็นคนนี้ก็ต้องมีความทุกข์ตามแบบของคน เป็นเทวดาก็ต้องมีความทุกข์ตามแบบของเทวดา

หมายความว่า ถ้าเกิดไปยึดมั่นว่าเราเป็นคน หรือว่าเราเป็นเทวดาขึ้นมาแล้ว นั่นแหละจะต้องเป็นทุกข์ตามแบบคนหรือเป็นทุกข์ตามแบบเทวดาทั้งนั้น

ถ้าว่าง คือไม่ยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นอะไรเลย มันก็ไม่เป็นทั้งคน ไม่เป็นทั้งเทวดา มันก็เลยไม่มีความทุกข์อย่างคนไม่มีความทุกข์อย่างเทวดา นี่เรียกว่าว่าง ถ้าต้องเป็นคนตามความยึดมั่นถือมั่น หรือเป็นเทวดาตามความยึดมั่นถือมั่นแล้วมันสนุกไหม? นี่ขอให้คิดอย่างนี้ แล้วว่าเป็นคนสนุกไหม? เป็นเทวดาสนุกไหม? ถ้าใครเข้าถึงความจริงแล้วก็จะสั่นหัวทั้งนั้น

ทีนี้ให้ใกล้เข้ามาอีกว่า เป็นคนดีน่าเป็นไหม? เป็นคนชั่วน่าเป็นไหม? ถ้าถามว่า ใครอยากเป็นคนดีบ้าง คงยกมือกันสลอนไปหมดเลย เขายังมองไม่เห็นว่า ความยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นคนดีนั้น มันก็ต้องมีความทุกข์ไปตามแบบของคนดี ไปตามประสาของคนดี เช่นเดียวกับที่คนชั่ว จะต้องมีความทุกข์ ตามแบบประสาของคนชั่ว ถ้าลงยึดมั่นถือมั่นแล้วเป็นไม่มีความสุขเลย เพราะมันจะหนักชนิดใดชนิดหนึ่งอยู่ในตัวความเป็นนั่นเอง หากแต่ว่าความทุกข์บางอย่าง มันไม่แสดงออกมาให้เห็น แล้วมันมีความสนุกสนานเพลิดเพลินอะไรบางอย่างกลบเกลื่อนไว้ มันจึงทนทุกข์ในการมี-การเป็น-การได้ ทะเยอทะยาน ตื่น หรือเห่อที่จะเป็นนั่น-เป็นนี่อยู่ได้ด้วยการถูกหลอก

ที่จริงนั้น ธรรมชาติหลอกให้คนเราสู้ทนทุกข์ เช่นตัวอย่างที่เห็นได้ง่ายๆ ในกรณีที่ทุกข์ เพราะการสืบพันธ์ เพราะการคลอดลูกนี้ มันหลอกได้อย่างที่ตนเองก็สมัครใจทีเดียว ถ้าเขามองเห็นความจริงข้อนี้แล้ว ก็คงไม่เล่นด้วยกับการหลอกลวงของธรรมชาตินั้นเลย เป็นคนดี เป็นคนชั่วสนุกไหม? ลองคิดดู

หรือว่าใกล้เข้ามาอีกก็ว่า เป็นคนมีบุญน่าเป็นไหม? เป็นคนมีบาปน่าเป็นไหม? ทนที่ผลีผลามไม่ดูแลอะไรเลย คงจะยกมือทันทีว่า เป็นคนมีบุญน่าสนุกกันใหญ่ แต่คนที่เขาผ่านบุญมาโดยสมบูรณ์แล้ว ก็สั่นหัวว่า คนมีบุญก็ต้องเป็นทุกข์ไปตามแบบตามประสาของคนที่ยึดมั่นถือมั่นว่าตนมีบุญ นี่คนมีบุญจะต้องเป็นทุกข์ไปตามประสาคนมีบุญ เช่นเดียวกับคนที่มีบาปต้องมีทุกข์ไปตามประสาคนมีบาป ทีนี้ใกล้เข้ามาอีกก็คือ เป็นคนมีความสุขน่าเป็นไหม? เป็นคนมีความทุกข์น่าเป็นไหม? คนก็ยิ่งยกมือกันสลอนมากกว่าคราวก่อนว่า จะขอให้เป็นคนมีความสุข ทีนี้ส่วนคนที่เคยมีความสุข เสวยสุขอย่างที่เรียกๆ กันนี้มาแล้ว ได้ผ่านมาแล้วกลับสั่นหัวว่าเป็นคนมีความสุขนี้ ก็เป็นทุกข์ไปตามแบบของคนมีความสุข

ตอนนี้คงจะฟังไม่เข้าใจ ขอกล่าวซ้ำอีกว่า คนมีความสุข จะต้องมีความทุกข์ไปตามแบบของคนมีความสุข ข้อนี้ต้องนึกถึง ข้อที่ว่าในโลกนี้ชาวโลกเขาสมมติ เขาบัญญัติ เขายึดมั่นถือมั่นกันว่า คนอย่างไหนเป็นคนมีความสุข มีเงิน มีอำนาจวาสนา มีนั่นมีนี่ มีกามคุณ มีอะไรสมบูรณ์ไปหมดทุกอย่าง เป็นคนมีความสุข แต่แล้วก็จงดูให้ดี มันจะมีความทุกข์ไปอีกแบบหนึ่ง รูปหนึ่ง ตามประสาคนมีความสุข

ไม่ต้องพูดถึงความสุขชนิดมีก้างอย่างนี้ ต่อให้เป็นความสุขชนิดที่เกิดมาจากสมาธิ สมาบัติ จากฌานของพวกฤๅษี มุนี ถ้าไปยึดมั่นถือมั่น ว่าฉันเป็นคนมีความสุขขึ้นมาแล้ว มันก็จะเกิดก้างขึ้นมาในเนื้อนั่นเอง แล้วติดคอ พวกนี้ยึดมั่นถือมั่นความสุขในรูปฌานเป็นต้น เหล่านี้ก็เรียกว่า เป็นคนมีทุกข์ไปตามประสาของคนมีความสุขจากรูปฌานนั้นเอง

เพราะฉะนั้น จึงมีบทบัญญัติให้ละ รูปราคะ อรูปราคะ เสียง ในสังโยชน์เบื้องปลาย ที่จะทำให้คนเป็นพระอรหันต์อย่างนี้เป็นต้น เพราะว่าการที่ไปติด ไปยึดเข้า ว่าเรามีความสุข แม้จะเป็นความสุขที่เกิดจากธรรมะก็เถอะ มันจะยังคงเป็นก้างติดคอชนิดละเอียด อย่างใดอย่างหนึ่งอยู่เป็นธรรมดา และไม่เป็นธรรมะจริงขึ้นมาได้

ข้อที่จะไปยึดพระนิพพาน ว่าเป็นตัวตน หรือเป็นความสุขของเราขึ้นมานั้นเป็นไปไม่ได้ ถ้าเพียงแต่พูดนั้นพูดได้ ว่านิพพานนั้นเป็นสุขอย่างยิ่ง แล้วยึดพระนิพพานว่าเป็นเรา เป็นของเรา เรามีสุขอย่างนิพพาน บรรลุนิพพานนี้มันพูดได้ แต่ตามความจริงนั้นมีไม่ได้ เพราะว่าผู้ที่มีความยึดถืออย่างนั้นอยู่ จะบรรลุถึงนิพพานไม่ได้เป็นอันขาด เพราะฉะนั้น ถ้าเขาสำคัญอยู่ว่า เขาได้รับ เขาเป็นผู้มีความสุขที่เกิดแต่นิพพานอย่างนี้ มันเป็นนิพพานจอมปลอมทั้งนั้น นิพพานจริงไม่มีทางที่จะมาอยู่ในฐานะที่ถูกยึดถืออย่างนี้ได้

นี่เราไล่ความสุขขึ้นไปตั้งแต่ความสุขของเด็กๆ ความสุขของผู้ใหญ่ ของคนหนุ่มสาว คนแก่คนเฒ่า คนมีอำนาจวาสนา กระทั่งคนเป็นเทวดา มีฌาน มีสมาบัติ อะไรเป็นที่สุด ถ้าลงยึดมั่นถือมั่นว่า ฉันมีความสุขละก็ มันต้องมีความทุกข์ไปตามแบบของคนมีความสุข ผู้ที่เข้าถึงความจริงจะรู้สึกดีอย่างนี้ ส่วนผู้ที่ไม่เข้าถึงความจริงก็ตื่น ก็เห่อ กันไปตามเรื่องตามราว เห่อเงิน เห่อทอง เห่ออำนาจวาสนา เห่อความสุข ทางเนื้อทางหนัง กระทั้งเห่อวิปัสสนา เห่อฌาน เห่อสมาบัติ เห่อจนต้องส่งโรงพยาบาลปากคลองสาน อย่างนี้แหละมันเป็นการแสดงอยู่ในตัวของมันเองแล้ว ว่ายึดมั่นถือมั่นไม่ได้ เพราะถ้าไปยึดมั่นถือมั่นแล้ว คนมีความสุขก็จะต้องเป็นทุกข์ไปตามแบบของคนมีความสุข คำว่า “ทุกข์ไปตามแบบของคนมีความสุข” เด็กๆ ฟังไม่ถูก ฟังไม่ออก แต่ผู้สูงอายุควรจะฟังออก

ทีนี้ เราลองคิดดูอีกสักคู่หนึ่งว่า เกิดนี้สนุกไหม? ตายไปสนุกไหม? ให้เลือกเอาฝ่ายหนึ่งในคนคู่นี้ คือเกิดเป็นคนอยู่นี้สนุกไหม? หรือว่าตายไปก็คือไม่เป็นอยู่นี้สนุกไหม? เกิดกับตาย สองอย่างนี้อันไหนน่าสนุก คนเกิดอยู่น่าเกิด หรือคนตายน่าตาย ลองคิดดู ถ้ารู้ธรรมะจริงมันก็สั่นหัว ไม่เอาทั้งนั้น ไม่เอาทั้งเกิด ไม่เอาทั้งตาย แต่คนธรรมดาแล้วไม่อยากตาย อยากแต่เกิดแล้วไม่อยากตาย อยากเกิดเรื่อย อยากเกิดชนิดไม่รู้จักตายด้วยซ้ำไป หรือว่าถ้าจะต้องตายแน่แล้ว ก็ยังอยากเกิดอีก นั่นแหละคือความยึดมั่นถือมั่น

เราอาจตัดบทสั้นๆ ว่า คนเกิดก็ต้องมีความทุกข์ไปตามแบบของคนเกิด คนตายก็มีความทุกข์ไปตามแบบของคนตาย ต่อเมื่อไม่รู้สึกว่าเกิด ไม่รู้สึกว่าตาย คือ ว่าง นั่นแหละ จึงจะไม่มีความทุกข์เลย

ทำไมไม่นอนคิดเล่น นั่งคิดเล่น เดินคิดเล่นในเรื่องอย่างนี้ ในขณะที่ไม่มีอารมณ์อะไรมากระทบ ทำไมไม่ลองนอนคิดอย่างนี้ นั่งคิดอย่างนี้ เดินคิดอย่างนี้ หรือว่าเมื่อทำอะไรอยู่ หรือ เป็นอะไรอยู่ ทำไมไม่ลองคิดอย่างนี้

เมื่อเหน็ดเหนื่อย ยากลำบาก อยู่ด้วยความเป็นมารดาเป็นต้นอย่างนี้ ทำไม่ไม่รู้สึกบ้างว่า ความเป็นมารดาอย่างนี้ไม่น่าสนุก แล้วความเป็นสามี ความเป็นภรรยา ความเป็นอะไรต่างๆ อย่างที่ว่ามาแล้วทั้งหมดนี้ เมื่อกำลังวุ่นอยู่ด้วยอาการของความเป็นนั้นๆ ทำไมไม่รู้สึกว่านี้ไม่สนุกเลย ทั้งๆ ที่ต้องร้องไห้อยู่ ก็ยังไม่รู้สึกว่านี้ไม่สนุกเลย ยังสนุกอยู่เรื่อย สนุกอยู่ทั้งๆ ต้องร้องไห้อย่างนั้น

เพราะฉะนั้น เราจะต้องคิดดูให้ดีอีกทีหนึ่ง ในครั้งสุดท้ายว่า เกิดก็ตาม ไม่เกิดก็ตาม ไม่ไหวทั้งนั้น เกิดก็ไม่ว่าง ไม่เกิดก็ไม่ว่าง ถ้าไปยึดถือว่าไม่เกิดแล้ว มันก็ไม่ว่างเหมือนกัน ตอนนี้มันจะต้องเป็นตอนที่ฟังยากที่สุด หรือจะว่าปฏิบัติยากที่สุดก็ตามใจ ระหว่างเกิดกับไม่เกิด นี่มาถึงคู่สุดท้ายนี้ เราไม่เอาทั้งนั้น เราไม่เข้าไปยึดในคำว่า เกิด หรือ ไม่เกิด ก็ไม่ยึด มันจึงจะว่าง

เมื่อพูดถึง “เอา” ถึง “เป็น” มาเรื่อยๆแล้ว ไม่เอา ไม่เป็น มาเรื่อยๆ แล้ว มาถึง “เกิด” “ไม่เกิด” เป็นคู่ขึ้นมาอย่างนี้ ประเดี๋ยวก็จะยึดเอาที่ “ไม่เกิด” เข้าอีก ฉะนั้นในอันดับสุดท้าย ข้อปฏิบัติของเรา จะต้องสาวก้าวไปจนกระทั่งถึงว่า ความรู้ว่าไม่เกิด อย่างนี้ก็ต้องไม่เป็นที่ยึดมั่นถือมั่น คือให้สลายไปด้วยเหมือนกัน มันจึงจะว่างจริงๆ ขึ้นมา คือเกิดก็ไม่ใช่ ไม่เกิดก็ไม่ใช่ นั่นแหละจึงจะเป็นเรื่อง ไม่เกิด ที่แท้จริง คือเป็นความดับที่ไม่เหลือที่แท้จริง

คำพูดตอนนี้ออกจะฟัดไปฟัดมาอยู่ แต่ความหมายนั้นไม่ได้ฟัดไปฟัดมา มันมีความจริงอยู่ แยกออกจากกันได้เด็ดขาดเลย ฉะนั้นท่านอย่าไปยึดมั่นในนิพพานว่าเป็นความไม่เกิด แล้วก็วิเศษวิโสอย่างนั้นอย่างนี้ แล้วก็อย่าไปยึดมั่นถือมั่นในวัฏฏสงสารว่าเกิดกันใหญ่ เกิดมันสนุกดี มันต้องไม่ยึดมั่นถือมั่นทั้งสองฝ่าย มันจึงจะเป็นความว่าง และเป็นความไม่เกิด การปฏิบัติในเวลาปกติ จะต้องเป็นอย่างนี้อยู่เรื่อยๆ ไป

สำหรับในขณะที่เรากำลังทำการงานอย่างยิ่ง คืองานกัมมัฏฐาน กล่าวคือปฏิบัติสมาธิภาวนา วิปัสสนาในลักษณะที่เป็นเทคนิคจัด เพื่อให้รู้โทษของความยึดมั่นถือมั่น มันก็เรื่องว่างจากความยึดมั่นถือมั่นอย่างเดียวกันอีก ข้อนี้ต้องทำตามที่ได้เล่าเรียนศึกษามาเป็นอย่างมาก ไม่ใช่คนธรรมดาที่ไม่รู้หนังสือจะทำได้ เพราะฉะนั้นมันจึงมีหลัก มีคำอธิบาย อย่างที่เคยอธิบายมาแล้วมากมาย ไปอ่านดู หรือนึกถึงที่เคยกล่าวมาแล้ว ทั้งหมดนี้รวมกันเรียกว่าข้อปฏิบัติในขณะปกติ

ทีนี้ก็เป็น การปฏิบัติในโอกาสที่สอง คือในขณะที่อารมณ์มากระทบ หมายความว่า เมื่อมีรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส มากระทบที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ผิวหนัง เหล่านี้จะต้องปฏิบัติในลักษณะที่ให้ผัสสะ-หยุดอยู่ที่ผัสสะ ให้เวทนา-หยุดอยู่ที่เวทนา อย่างนี้เป็นต้น ซึ่งก็ได้บรรยายทั่วไปในทุกหนทุกแห่ง กระทั่งที่ได้บรรยายที่นี่คราวก่อนมาแล้ว จนบางคนก็เข้าใจ บางคนก็ไม่เข้าใจที่ว่าการกระทบแล้วหยุดอยู่แค่ผัสสะนี้ มันเป็นชั้นดีเลิศ ถ้าชั้นธรรมดา ก็เลยไปถึงเวทนา แล้วหยุดอยู่ที่เวทนา อย่าปรุงเป็นตัณหาอุปาทาน เป็นตัวกู เป็นของกูขึ้นมา

บางคน หรือนักพูดตามศาลาวัด หรือนักสอนตามโรงเรียนนักธรรมก็เหมือนกัน เขาพูดว่า หยุดอยู่แค่ผัสสะนั้นไม่มี ต้องไปถึงเวทนาเสมอ นั่นเพราะเขายึดมั่นถือมั่นหนังสือหรือถ้อยคำ หรือแบบอย่างอะไรอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่ใช่ความจริง

ความจริง พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า เมื่อเห็นรูปสักว่าเห็น ดมกลิ่นสักว่าดม ลิ้มรสสักว่าลิ้ม สัมผัสสักว่าสัมผัส นี้ก็มีอยู่ ถ้าทำได้อย่างนี้ ตัวเธอไม่มี คือตัวกูไม่เกิด แล้วก็เป็นที่สุดทุกข์ คือว่างอยู่เรื่อย ขอให้สังเกตอย่างนี้ก็แล้วกันว่า เมื่อเราทอดสายตาไปยังทางใดทางหนึ่ง เห็นภาพนั่น เห็นภาพนี่ ลองเหลือบตาไปทางประตูหน้าต่าง มันก็เป็นเพียงผัสสะเท่านั้น ไม่เกิดเวทนา พอใจ หรือไม่พอใจอะไร เมื่อรูป เสียง กลิ่น รส อันใดเข้ามา ในลักษณะผัสสะอย่างนี้ ก็ให้มันหยุดอยู่อย่างนั้นบ้างเป็นไร

เหมือนกับทหารที่นอนข้างปืนใหญ่ เมื่อปืนใหญ่ลั่นตึงออกไป มันก็เพียงแต่ได้ยินเสียงเท่านั้น ไม่เกิดเวทนาอะไร ยังนอนหลับสบายอยู่ด้วยซ้ำไป หนักๆ เข้าไม่สะดุ้งไม่ตื่น ไม่อะไรเลย มันเป็นแต่เพียงเสียงปืนใหญ่กระทบหู แล้วก็เลิกกันอย่างนี้

ให้ผัสสะหยุดอยู่เพียงแค่ผัสสะอย่างนี้ ในเมื่อได้ยินเสียงผู้หญิง เสียงผู้ชาย เสียงคู่รัก เสียงอะไรต่างๆ เหล่านี้มันจะได้หรือไม่ ถ้าทำได้ก็ต้องนับว่าเก่งมาก

ข้อนี้นึกดูอีกทีหนึ่งก็ว่า บางทีสัตว์มันจะเก่งกว่าคน เพราะสัตว์ไม่มีปัญญาชนิดรู้มากยากนาน ทีนี้ถ้าเราอยากเก่งอย่างถึงที่สุดอย่างนั้นบ้างก็ต้องหัด ชนิดผัสสะสักว่าผัสสะ

แต่ถ้าสู้ไม่ไหว ยอมแพ้ ก็ไปหยุดที่เวทนาก็ได้ พอเวทนารู้สึกสบาย ไม่สบาย พอใจ ไม่พอใจ แล้วก็ให้หยุดอยู่แค่นั้น หยุดอยู่เพียงเท่านั้น ดับไปเพียงเท่านั้น อย่าเกิดความอยากต่อไปอย่างนั้นอย่างนี้ ไปตามเรื่องของความอยากของกิเลสตัณหา อุปาทาน อย่างนี้ก็ได้ นี้เรียกว่าเราประพฤติปฏิบัติในโอกาสที่กระทบกันกับอารมณ์ ให้ปฏิบัติอย่างนี้

ทีนี้เวลายังมีเหลืออยู่เพียงนิดหน่อยนี้ อยากจะพูดเรื่อง การปฏิบัติในโอกาสที่สาม คือ ในขณะที่จะดับจิต ร่างกายจะแตกตายลงไปนี้ จะปฏิบัติอย่างไรจึงจะว่าง ข้อนี้จะต้องอาศัยหลักที่ว่า ดับไม่เหลือ-ดับไม่เหลือ มาเป็นหลักอยู่เป็นประจำ

การที่จะต้องตายไปตามธรรมชาติ คือแก่ชราแล้วจะต้องตายไปตามธรรมชาตินี้ เป็นสิ่งที่เด็ดขาดแน่นอน ถ้าใครไปถึงอายุปูนนั้นเข้า ไปถึงระยะนั้นเข้า มันเรียกว่ามีเวลาเหลือน้อยเต็มทีแล้ว จะทำอย่างไรมันจึงจะทันแก่เวลา?

ทีนี้เพื่อให้ทันแก่เวลานั่นเอง เป็นคนแก่ไม่รู้หนังสือ ไม่มีเวลาเรียกอะไรมากได้ เพราะว่าสติปัญญา มันสมองไม่อำนวยมากมายอะไร ก็จะถือหลักอย่างที่ว่า ดับไม่เหลือแห่งตัวกู ดังที่กล่าวมาแล้วนั่นเอง

ตามปกติ ก็ให้ดูอยู่ว่า เป็นคนก็ไม่สนุก เป็นคนแก่ก็ไม่สนุก เป็นเทวดาก็ไม่สนุก เป็นพ่อก็ไม่สนุก เป็นแม่ก็ไม่สนุก เป็นลูกก็ไม่สนุก เป็นสามีก็ไม่สนุก เป็นภรรยาก็ไม่สนุก เป็นบ่าวก็ไม่สนุก เป็นนายก็ไม่สนุก เป็นผู้แพ้ก็ไม่สนุก เป็นผู้ชนะก็ไม่สนุก กระทั่งเป็นผู้ดี-ผู้ชั่ว กระทั่งผู้มีบุญ-มีบาป กระทั่งผู้สุข-ผู้ทุกข์ นี้ก็ล้วนแต่ไม่สนุก อย่างนี้ก็แปลว่า จิตนี้ไม่มีที่หวังที่ไหน ที่จะไปเอา-ไปเป็น พูดว่าสิ้นหวังก็ได้

คำนี้ใช้ได้เหมือนกัน ในการบรรลุพระอรหันต์ แต่ไม่ใช่สิ้นหวังอย่างโลกๆ อย่างคนโง่ คนขี้เกียจ คนที่ไม่มีที่หวัง คนสิ้นหวัง อย่างนั้นมันอีกความหมายหนึ่งต่างหาก เดี๋ยวนี้ในที่นี้ มันเป็นความสิ้นหวังของคนที่มีปัญญาอย่างถูกต้อง มองออกว่าไม่มีอะไรที่ควรหวัง ไปเอา-ไปเป็น ที่นี่ก็ตาม ที่โลกอื่น ที่โลกไหนก็ตาม ทั้งหมดนี้ไม่น่าเอา ไม่น่าเป็นจริงๆ ทุกกาลเวลา ทุกสถานที่

ทีนี้จิตของเขาจะน้อมไปในทางไหน ขอให้ลองคิดดู จิตของเขาจะไม่น้อมไปในทางไหนได้เลย เพราะไม่มีอะไรที่น่าหวังที่ไหน เพราะฉะนั้น มันจึงเป็นไปเพื่อสลายตัวมันเอง ไม่มีความอยากเอา อยากเป็นที่ไหน มันว่างไปในตัวมันเอง มันสลายไปในตัวมันเอง

ฉะนั้น อุบายที่จะเอาเปรียบธรรมชาติได้บ้างก็ตอนนี้ คือว่าเมื่อจะต้องดับจิตลงไปจริงๆ แล้ว ก็ให้ฟื้นความรู้สึกที่ว่า ไม่มีอะไรน่าเอา ไม่มีอะไรน่าเป็น ที่ไหนหมดทุกหนทุกแห่งนั้น ให้มาอยู่ที่จิตใจในเวลาที่จะดับจิตนั้น มันจะนิพพานไปได้ ไม่มีทางที่จะหลีกเลี่ยง ให้ร่างกายกับจิตใจมันดับลงไปด้วยความรู้สึกว่า ไม่มีอะไรที่น่าเอา-น่าเป็นที่ไหน แล้วจะบรรลุนิพพานได้ในตัวมันเอง ในตัวความตายทางร่างกายนั่นแหละ

นี่เรียกว่าเป็นการได้กำไรอย่างยิ่ง ลงทุนน้อยอย่างยิ่ง แล้วแน่นอนอย่างยิ่ง ให้นักธรรมชั้นมหาเปรียญ ชั้นเอก ชั้นสูงสุดที่ไหนมาพิสูจน์ดูที ว่ามันจะเป็นอย่างไร ถ้าเขาต้องดับจิตไปด้วยความรู้สึกที่แท้จริง ว่าไม่มีอะไรที่น่าเอา-น่าเป็นที่ไหน อย่างนี้มันก็เป็นการสลายตัวชนิดที่สลายไปกับนิพพานธาตุ ไปเป็นนิพพานธาตุได้ในตัวมันเอง เป็นตาแก่ยายแก่ที่ไม่รู้หนังสือ พูดอะไรก็ไม่ได้ แต่มีความรู้สึกอย่างนี้ได้อย่างเดียวก็พอแล้ว

เพราะฉะนั้น เมื่อเราจะตายขึ้นมาจริงๆ ขอให้ความรู้สึกอย่างนี้มีอยู่ แล้วต้องรู้ว่าใกล้จะตายนั้น มันอาจจะค่อยๆเลือนไป ในการที่ร่างกายมันชำรุดลง มันจะต้องแตกดับนี้ ความรู้สึกมันจะค่อยๆ หมดไปๆ มันจะลืมนั่น-ลืมนี่ ลืมเข้ามาทุกสิ่งทุกอย่าง แม้แต่ว่าเดี๋ยวนี้กี่โมงกี่ยามแล้ว กลางวันหรือกลางคืนก็ไม่รู้สึกได้ แม้ว่าตนกำลังอยู่ที่ไหน อยู่ในบ้านไหน-เรือนไหนก็ไม่รู้สึกได้ แม้แต่ว่าตัวเองชื่อไรก็ลืมไปแล้ว จะสวด อิติปิโส ภควา ก็ไม่ถูกแล้ว แต่ที่จะอยู่ได้เป็นคู่ชีวิตจิตใจไปด้วยกัน ก็คือว่า ความรู้ว่าไม่มีอะไรที่น่าเอา-น่าเป็น ดับไม่เหลือ สมัครดับไม่เหลือ เพราะฉะนั้น ความรู้สึกว่าสมัครดับไม่เหลือนี้ขอให้อยุ่คู่กันกับจิต จนถึงวาระสุดท้าย มันจะสลายตัวเป็นความว่าง หรือเป็นนิพพานไปได้ ด้วยอุบายอย่างนี้ ด้วยเคล็ดอย่างนี้ นี่เรียกว่าข้อปฏิบัติในขณะที่ร่างกายจะแตกทำลาย ที่เรียกว่าของผู้รู้น้อย ตาแก่ยายแก่ที่ไม่รู้หนังสือ ผู้รู้น้อยมีอุบายที่จะดับไปได้ ด้วยอาการอย่างนี้ และเราเรียกอุบายนี้ว่า “อุบายตกกระไดแล้วพลอยกระโจนให้เหมาะๆ”

ที่ว่าตกกระไดก็คือหมายความว่า ร่างกายมันต้องแตกแน่ มันแก่ชราแล้ว มันถึงที่สุดแล้ว มันต้องแตกแน่ เรียกว่า ตกกระไดลงมาแล้ว ทีนี้ก็พลอยกระโจนเลย กระโจนสู่ความดับไม่เหลือ เพราะทำความรู้สึกในใจอยู่ว่า ไม่มีอะไรที่น่าเอาน่าเป็นที่ไหน นี้เรียกว่า กระโจนอย่างถูกทาง เพราะฉะนั้นมันจึงไม่เจ็บปวดอะไรเลย กระโจนอย่างนี้ ไม่เจ็บไม่ปวด แต่เป็นผลดีที่สุด คือถึงความกับไม่เหลือได้ นี่เราเรียกว่ามันเก่ง มันตกกระไดเป็น ไม่เหมือนคนโง่บางคน ตกกระไดลงมาปากคอแตก แขนขาหัก อย่างนี้มันคือคนโง่

แม้เรียนมาก เที่ยวพูดจ้ออยู่ตามศาลาวัด อย่างนี้มันก็ยังตกกระไดปากแตก ขาหักอยู่นั่นเอง มันสู้คนที่สนใจอย่างถูกทาง แม้แต่เพียงเรื่องเดียวนี้ไม่ได้ มันเอาตัวรอดได้อย่างนี้

ทีนี้ถ้าสมมติว่า การตายที่เป็นอุบัติเหตุ เช่นถูกรถยนต์ทับบี้แบนไปกลางถนน หรือถูกตึกพังทับ หรือว่าชาวไร่ชาวนาเดินอยู่ วัวควายมันขวิดข้างหลังทีเดียวตาย หรือว่าถูกระเบิดปรมาณูลงมาอย่างนี้ จะทำอย่างไร?

ถ้าฉลาดสักหน่อยก็จะมองออก มองเห็นได้ด้วยตนเองว่า มันก็อย่างเดียวกันนั่นแหละ ถ้าความรู้สึกมันเหลือนิดเดียว แวบเดียวว่า ดับไม่เหลือ สมัครดับไม่เหลือ ไม่มีอะไรที่น่าเอา-น่าเป็น เพราะได้ทำความรู้สึกดังกล่าวนั้นมาจนคล่องแคล่วชำนาญดีอยู่แล้วเป็นปกติ พอมาถึงขณะเช่นนี้ ก็รู้สึกได้เพียงแวบเดียวแล้วก็ดับไป

เช่นว่ารถยนต์ทับตาย อย่างนี้ไม่ใช่มันจะตายทันที จะไม่มีเวลาเหลือสักครึ่งวินาทีให้เรารู้สึก-ไม่ใช่ มันต้องมีเวลาเหลืออยู่แม้ครึ่งวินาที หรือแค่เศษหนึ่งส่วนสี่วินาที สักขณะจิตหนึ่ง พอรู้สึกแวบหนึ่งได้ว่า สมัครดับไม่เหลือ อย่างนี้ก็ทันถมเถไป

ทีนี้ถ้าสมมติเอาเป็นว่ามันวูบเดียว ไม่มีความรู้สึกเลย มันก็ดับไม่เหลืออยู่นั่นแหละ เพราะว่าเราเป็นอยู่ด้วยความรู้ที่ถูกต้องว่า ดับไม่เหลืออยู่เป็นประจำ ในยามปกติมาแล้ว ตามที่กล่าวแล้วข้างต้นว่า เวลาปกตินั้นเราซ้อมความดับไม่เหลืออยู่เป็นประจำ ไม่มีอะไรที่น่าเอา ไม่มีอะไรที่น่าเป็น จนจิตน้อมไปสู่ความดับไม่เหลืออยู่เป็นประจำ ทีนี้มันก็ดับไม่เหลือไปด้วยความรู้สึกอันนี้ แม้ว่าในขณะที่ถูกทำให้ร่างกายสลายแตกตายไปโดยไม่ให้โอกาสที่จะรู้สึกคิดนึกได้

ยิ่งถ้ามันให้โอกาส ที่จะรู้สึกคิดนึกได้สักขณะจิตหนึ่ง หรือว่าครึ่งวินาทีอย่างนี้ ก็คิดได้สบาย เพราะฉะนั้น อย่าได้ขลาดอย่าได้กลัว อย่าให้ความขลาดความกลัวแทรกเข้ามา เช่นขอให้ไปตามหมอมาที หามไปโรงพยาบาลที อย่างนี้แล้ว คือต้องตายตรงนั้นเอง ไม่มีประโยชน์อะไร และเรื่องอย่างนี้เขาถือกันว่าเป็นการตายโหง คือตายโดยไม่อยากจะตาย และตายโดยกะทันหันอย่างนี้ เขาบัญญัติคำเรียกกันว่าตายโหง

ธรรมะที่ประเสริฐนี่ มันป้องกันการตายโหงได้อย่างเด็ดขาด แต่ทำให้นิพพานได้ที่ตรงนั้นเอง ที่ข้างๆ ล้อรถ หรือ ใต้รถ หรือ ใต้ตึกทับ หรือว่ากลางทุ่งนา ตรงที่ควายขวิด หรือว่าในซากกองเถ้าถ่านของลูกระเบิด อย่างนี้เป็นต้น มันไม่มีการตายโหง แต่มีนิพพานแทน

ดังนั้น ควรซ้อมความเข้าใจที่ถูกต้องไว้อย่างนี้ สำหรับผู้ที่มีการศึกษาน้อย รู้น้อย กระทั่งเป็นตาแก่ยายแก่ที่ไม่รู้หนังสือ แต่ได้ฟังการพูดอย่างนี้ ก็พอจะเข้าใจได้

ทีนี้ส่วน การตายของผู้ที่รู้โดยสมบูรณ์ มีสติปัญญาสมบูรณ์ ศึกษาเพียงพอ แตกฉานในปริยัติธรรม ปฏิปัตติธรรมนั้นไม่ต้องเป็นอย่างนี้ คือไม่ต้องมีอาการตกกระไดพลอยกระโจน เพราะว่า เขาเป็นผู้ไม่ตายเสียแล้วตั้งแต่ทีแรก ตั้งแต่ยังไม่เจ็บไม่ไข้ ตั้งแต่ยังหนุ่มๆ ด้วยซ้ำไป คือ บรรลุคุณธรรมขั้นสูงเสียตั้งแต่ก่อนโน้นแล้ว เพราะฉะนั้นจึงไม่มีการตาย

ทีนี้ถ้าว่าคนรู้มากมายอย่างนี้ พอถึงเวลาจะตายเข้าจริงๆ เขาก็ยังมีการเตรียมตัวดีกว่าพวกตกกระไดพลอยโจน เขารู้จักตั้งสติสัมปชัญญะ อย่างที่ว่าไม่มีความตาย หัวเราะเยาะความตายได้ อย่างนี้ก็นับว่าเป็นการที่ว่าเหมือน ลงกระโดดไปอย่างเรียบร้อย ไม่ใช่ตกกระไดแล้วพลอยกระโจนอย่างว่า นี่เป็นเรื่องของผู้รู้สมบูรณ์ แต่สำหรับผู้รู้น้อยนี้ ควรจะฉลาดในการที่จะตกกระไดพลอยกระโจน นี่คือการปฏิบัติเพื่อว่างในวินาทีสุดท้าย

ทีนี้ อยากจะพูดถึง การเตรียมตัวตายของผู้เจ็บป่วย กันบ้าง เมื่อรู้สึกว่าจะต้องตายแน่ สำหรับผู้มีความเจ็บไข้เห็นอยู่ชัดๆ เช่น เป็นวัณโรค หรือโรคอะไรก็ตามเถอะ ซึ่งมันจะต้องตายแน่แล้ว ก็ควรจะทำให้ดีที่สุดด้วยสติสัมปชัญญะ ไม่ต้องขลาด ไม่ต้องกลัว

อยากเล่าเรื่องที่เคยพบ เกี่ยวกับวิธีเตรียมตัวตายของคนครั้งพุทธกาลให้ฟังว่า สำหรับผู้ที่เขาถือศีลสมาทานวัตรกันอยู่เป็นประจำอย่างนี้ เป็นธรรมดา การอดข้าว ย่อมไม่มีปัญหาอะไร เพราะวันอุโบสถก็อดข้าวเย็นอยู่แล้ว ทีนี้พอโรคภัยไข้เจ็บมาถึง ซึ่งเขาเชื่อว่าไม่เกินสิบวัน จะต้องตายอย่างนี้ เขาเตรียมที่จะไม่กินอาหาร ไม่เหมือนกับพวกเรา ที่ว่าคนใกล้จะตายต้องให้ไปหาอาหารดีๆ อย่างนั้นอย่างนี้ อย่างแพงที่สุดมาให้กินๆ กินจนตายไปกับอาหารก็มี

ในการที่เขาพยายามหลีกอาหารนี้ เขาทำเพื่อจะมีจิตที่เป็นปกติที่สุด เพราะเมื่อร่างกายชำรุดอย่างนี้แล้ว มันไม่ย่อยอาหาร ขืนใส่เข้าไปมันก็เป็นพิษ มันก็วุ่นวายใจ มันกระสับกระส่าย เพราะฉะนั้น จึงต้องเตรียมตัดอาหาร กินแต่น้ำ หรือกินแต่ยา

ทีนี้ถ้าใกล้เข้าไปอีก แม้แต่น้ำก็ไม่อยากกิน ยาก็ไม่ยอมกิน เพื่อจะสำรวมสติสัมปชัญญะ ที่จะตายชนิดที่ดับไม่เหลือ

พวกที่ยึดมั่นถือมั่นในบุญกุศล ก็เตรียมยึดมั่นถือมั่นในบุญกุศล พวกที่ฉลาดขั้นสูงก็เตรียมที่จะปล่อยวาง ดับไม่เหลือดังกล่าวมานั้น เขาไม่ต้องการหมด ไม่ต้องการฉีดยา ประวิงเวลาให้นานที่สุดเท่าที่จะนานได้อย่างนี้ ซึ่งเป็นการรบกวนอย่างยิ่ง การทำเช่นนี้เรียกว่า “ปลงสังขาร” ปลงสังขาร ยังไม่ทันตายนี่แหละ เขาเตรียมที่จะแตกตายทำลายร่างกายให้ดีที่สุด ในทางจิตก็น้อมไปเพื่อดับไม่เหลือ

ส่วนพวกเราสมัยนี้ มัวแต่โกลาหล ตามหมอมากันจนเต็มห้องก็มี ให้กินยา ให้กินอาหาร ฉีดยา ต่างๆ นานาทำให้พะงับพะง่อนหาความสงบไม่ได้ นี่แหละทำให้ไม่รู้ว่าจะตายอย่างไร ทำให้ไม่รู้ว่าจะตายหรือจะอยู่ อย่างนี้มันพะว้าพะวังกันไปหมด มันเลยไม่ได้ประสบชัยชนะเหนือความตาย หรือเข้าถึงความว่าง หรือความดับไม่เหลือ อย่างที่กล่าวมาแล้ว

การเตรียมตัวตายของคนครั้งพุทธกาล กับคนเดี๋ยวนี้มันต่างกัน อย่างว่าคนเดี๋ยวนี้ คงจะนึกหาเตียงที่สบายที่สุด หาห้องที่สบายที่สุด หาอาหาร หายา ที่แพงที่สุด มาไว้ แล้วก็ตายไปด้วยการกุลีกุจอ อยากจะรักษาชีวิต ถ่วงเอาไว้ให้ได้ต่อไป แม้นาทีหนึ่งก็ยังดี อย่างนี้ก็เลยระดมฉีดยาเป็นการใหญ่ ทำอะไรเป็นการใหญ่ แล้วมันก็ต้องตายอย่างไม่ “หลับตาตาย” คือว่าตายโดยไร้สติสัมปชัญญะ เรียกว่าทำกาลกิริยาด้วยความหลง

ถ้าทำถูกทาง มันก็ต้องกล้าด้วยธรรมะ และตายอย่างมีชัยชนะเหนือความตาย อย่างที่ว่ามานี้ จึงจะเรียกว่าเข้าถึงความว่างได้ในวินาทีสุดท้าย มีโอกาสกระทั่งถึงวินาทีสุดท้าย ขอให้จำคำนี้ไว้ให้ดีๆ ว่าโอกาสสำหรับพวกเรามีกระทั่งวินาทีสุดท้าย แต่ถ้าเราเอาชนะเดี๋ยวนี้ไม่ได้ เรื่อยไปในวินาทีสุดท้ายนั้นด้องชนะได้แน่ เพราะเหตุดังที่กล่าวมาแล้วนั่นเอง

นี่คือวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับความว่าง ซึ่งแบ่งเป็น ๓ ขณะ ปฏิบัติใน ๓ โอกาส ขณะปกติ ทำการทำงานอยู่ตามปกตินี้อย่างหนึ่ง ขณะที่อารมณ์มากระทบ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย จะสู้มันอย่างไร ให้เป็นความว่างนั้นก็อย่างหนึ่ง แล้วขณะที่เบญจขันธ์จะแตกสลายไปตามธรรมชาตินี้จะทำอย่างไรก็อีกอย่างหนึ่ง รวมเป็น ๓ วิธีด้วยกัน

ควรจะเป็นสิ่งที่นำมาพูด นำมาคิด มาปรึกษาหารือกันอยู่เป็นประจำ เหมือนอย่างที่คุยเรื่องวิทยุ เรื่องโทรทัศน์ เรื่องบ้านเรื่องเมือง เรื่องโลก นั้นพล่อยไปหมดทั้งวันทั้งคืน แล้วเรื่องสำคัญเห็นปานนี้ทำไมไม่ลองเอามาคุย มาปรึกษากันดูบ้าง พวกที่ชอบมวย ก็คุยกันแต่เรื่องการต่อสู้ จนเวลามีไม่พอ หายใจแทบไม่ทัน

ทีนี้เรื่องต่อสู้กับความตาย เอาชนะความตายให้ได้ ให้ว่างจากความเกิด จากความตายนี้ ทำไมไม่ลองคุยกันบ้าง มันจะเป็นของง่ายขึ้นมาทันที ถ้าว่าเราคุยกัน ปรึกษาหารือกันแต่ในเรื่องนี้ เหมือนกับที่เราคุยกันในเรื่องอื่นๆ ไม่เท่าไหร่ สิ่งเหล่านี้จะเป็นของง่ายๆ เหมือนกับทำเล่นไปได้ ไม่ยากเลย เมื่อทำถูกวิธีแล้วไม่มียากเลย ง่ายไปหมด แม้แต่การบรรลุนิพพาน และการตกกระไดพลอยโจน อย่างที่กล่าวนี้

นี่แหละสรุปรวมความแล้ว เราจะต้องเข้าใจให้ถูกต้องในเรื่องคำว่าว่าง เข้าถึงความว่าง เป็นอยู่ด้วยความว่าง ว่างอยู่เป็นปกติ แล้วเป็นความว่างเสียเอง ความว่างมีอยู่ที่สิ่งทั้งปวง เป็นลักษณะของสิ่งทั้งปวง ทำจิตใจให้ว่างจากความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งทั้งปวง แล้วจิตก็จะเป็นความว่างเสียเอง เป็นความดับไม่เหลือแห่งตัวกู-ของกู ไม่มีการเกิดมาอีก ไม่มีความรู้สึกเป็นความเกิด เป็นตัวเรา-เป็นของเรา ขึ้นมาอีก นี่คือวิธีปฏิบัติเพื่อความว่าง

อาตมาขอยุติลงด้วยการหมดเวลาเพียงเท่านี้