22 พฤศจิกายน 2555

ปีนเขาเมืองสิงหนคร



เมื่อตอนต้นเดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๕ บังได้มีโอกาสเจอเกลอเก่าคนหนึ่งที่เติบโตมาด้วยกันสมัยเรียนชั้นมัธยมที่โรงเรียนประจำจังหวัดสงขลา แต่จากกันไปเสียนานแสนนานตามวิถีชีวิตของแต่ละคน ก็อย่างที่เห็นๆกันในปัจจุบัน ว่าบางครั้งเราท่านอยู่ห่างกันแค่ไม่กี่กิโลเมตรในสังคมเมือง แต่ไม่เคยได้พบหน้ากันคราวละหลายๆปี และยิ่งระยะทางที่ยาวไกลเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยแล้ว โอกาสจะมีน้อยมากๆที่เพื่อนเก่าๆจะได้มีโอกาสพบปะกันอีกครั้งหนึ่ง

ด้วยผลพวงแห่งเทคโนโลยีของนายซัคเคอร์เบิร์กแห่งเฟสบุ๊ค ทำให้บังและเพื่อนเก่าคนนี้ได้เจอกันอีกครั้งหนึ่งในไซเบอร์สเปซแห่งยุคดิจิตอล หลังจากที่ไม่ได้เจอกันราวๆ100011ปี ด้วยสาเหตุที่เราอยู่ห่างกันเกือบ100111001000011กิโลเมตร หากนับด้วยเลขฐานสองอันเป็นภาษาของเครื่องคอมพิวเตอร์

นัดเจอกันคราวนี้ตั้งใจจะคุยกันให้เต็มที่ ทีแรกตั้งใจว่าจะร่วมเดินไปกับพวกเดินวัวชนตอนเช้ามืดจากเก้าเส้งไปหัวสนอ่อนจะได้มีเวลาคุยกันเต็มที่ แต่พอเจอกันเข้าจริงๆก็มีการเปลี่ยนแผนเป็นตามสะดวกแทน และที่ว่าตามสะดวกก็คือนั่งรถไปหัวสนอ่อนแทนที่จะเดินไป หลังจากเดินไปเดินมาอยู่บนที่ๆเขาทำไว้ให้คนเดินเที่ยวแถวๆสวนสองทะเลก็ชักจะเซ็งๆกันทั้งสองคนเพราะไม่มีอะไรแปลกใหม่ ใครมาสงขลาเขาก็มากันตรงนี้ ต่างคนต่างเดินกันจนเบื่อเสียแล้วก่อนเจอกันคราวนี้ เหลือบไปทางฝั่งเขาแดง เอ๊ะ...แล้วเอ็งเคยปีนขึ้นไปบนยอดเขาฝั่งโน้นหรือเปล่า? บังถาม...เพื่อนมันบอกว่าก็ไม่เคยเหมือนกัน บังนั้นก็ไม่เคยเหมือนกัน แต่ตั้งใจมานานแล้วที่จะขึ้นไปดูบนยอดเขาฝั่งเขาแดงให้ได้ แต่จนแล้วจนรอดก็ไม่เคยมีโอกาสได้ไป ซึ่งก็เหมือนๆกันกับชาวสงขลาแทบทั้งหมดที่ส่วนใหญ่คงไม่เคยแม้แต่จะคิด

ฝั่งเขาแดงเป็นเมืองสงขลาเก่า มีประวัติศาสตร์ที่เข้มข้นยาวนานกว่าฝั่งสงขลาปัจจุบันมากนัก และบนเขานั้นมีโบราณสถานที่หลงเหลืออยู่ไม่มาก ในขณะที่แทบจะไม่มีอะไรเหลือเลยบนพื้นราบเชิงเขา ซึ่งได้ถูกทับซ้อนด้วยการครอบครองและการปลูกสร้างใหม่ในยุคปัจจุบัน ก็เลยตกลงใจกันสดๆตอนนั้นว่าเราจะข้ามไปปีนเขาฝั่งเขาแดงกันดีกว่า

เราเริ่มต้นกันตรงท่าแพขนานยนต์ข้ามฟาก ซึ่งดูจะซบเซาไปมากเมื่อเทียบกันกับเมื่อครั้งที่ยังเป็นเส้นทางเดียวที่จะสัญจรติดต่อกับฝั่งอำเภอสิงหนคร สะทิ้งพระ และระโนดก่อนที่จะมีการสร้างสะพานเกาะยอ ตรงใกล้ที่จอดแพฝั่งสงขลา ก่อนข้ามฟากเราแวะที่ร้านขายน้ำชาแบบพื้นเมือง กินกาแฟดำใส่นมข้นคนละแก้วตามด้วยข้าวเหนียวปิ้งและช้าโขย(หรือที่คนกรุงเทพฯเขาเรียกกันว่าปาท่องโก๋) เรียกบรรยากาศเก่าๆกลับคืนมาได้เป็นอย่างดี มองไปทางริมถนน เห็นป้ายหาเสียงเก่าตั้งแต่การเลือกตั้งคราวที่แล้วของนักการเมืองท้องถิ่นที่คุ้นชื่อและคุ้นหน้ากันที่โรงเรียนเมื่อครั้งกระโน้น เขาคงจะไม่มีเวลาสำหรับกิจกรรมแบบไร้แผนของเราสองคน ทีสามารถเปลียนแปลงได้ดังใจได้ทุกขณะและไม่ต้องอาศัยมือปืนห้อมล้อมคุ้มกันและเคลียร์พื้นที่ก่อนเดินทาง

ทางขึ้นอยู่ทางด้านทิศตะวันตกของตัวเขา ซึ่งเป็นคนละฟากกันกับด้านที่ติดทะเล หลังจากข้ามฟาก เรามุ่งไปทางด้านทิศเหนือ เพื่อหาถนนเลียบเขาด้านทิศตะวันตก ด้านหน้าของทางขึ้นเป็นหน่วยงานของทางราชการสำหรับดูแลพื้นที่โบราณสถานในละแวกนี้ เนื่องจากเราไปกันเช้าเกินไปและเป็นวันอาทิตย์ จึงไม่มีโอกาสเข้าไปดูข้างใน ซึ่งน่าจะมีข้อมูลต่างๆที่น่าสนใจที่มีการรวบรวมเอาไว้ ด้านหลังที่ทำการเป็นที่จอดรถและสวนไม้ยืนต้นขนาดใหญ่นาๆชนิดรวมทั้งต้นสะตอซึ่งอยู่ตรงเชิงบันไดขึ้นเขา
เนื่องจากเป็นหน้าฝน สภาพทั่วไปจึงค่อนข้างชื้นแฉะ และเพราะบันไดทางขึ้นทำด้วยอิฐและหิน จึงค่อนข้างสะดวกที่ไม่ต้องลุยโคลนและให้ต้องไถลลื่นลงมาเนื่องจากเขาค่อนข้างชันประมาณ๓๐-๔๕องศา ยุงเยอะมากๆขนาดต้องลูบและปัดเนื้อตัวอยู่ตลอดเวลา หาไม่แล้วกว่าจะถึงยอดเขายุงคงจะช่วยกันดื่มเลือดหมดพอดี ระหว่างทางมีป้อมปืนใหญ่อยู่สองป้อมและอีกหนึ่งอยู่บนยอด สองป้อมระหว่างทางหันหน้าไปทางทิศตะวันตกอันเป็นที่ตั้งของเมืองเก่าและทะเลสาบสงขลา ส่วนป้อมบนยอดคลอบคลุมพื้นที่ได้๓๖๐องศา ไม่ได้นับว่าบันไดทั้งหมดมีกี่ขั้น แต่เท่าที่ประมาณเอาไม่น่าจะต่ำกว่าพัน มีที่พักเหนื่อยเป็นช่วงๆก่อนถึงยอด

ถัดจากป้อมบนยอดไปทางทิศตะวันออก เป็นทางไปตามที่ราบบนสันเขาไปทางทิศตะวันออกประมาณ๗๐เมตร ไปสุดที่หน้าผาซึ่งมีเจดีย์สององค์ และเจดีย์สององค์นี่เองที่สามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจนจากฝั่งแหลมสนและเมืองสงขลาปัจจุบัน วิวเมืองสงขลาจากจุดนี้สวยงามมาก แม้กระทั่งในวันนี้ที่บังและเพื่อนขึ้นไปฝนตกพรำๆเและอากาศค่อนไปทางขมุกขมัว แต่ก็ทิวทัศน์ยังคงความงดงามเอาไว้อย่างน่าพิศวง

นั่งหลับตานึกถึงประวัติศาสตร์ที่เคยอ่าน
เมืองสงขลาเป็นเมืองท่าสำคัญมาตั้งแต่ครั้งโบราณ อาณาจักรศรีวิชัยที่นักประวัติศาสตร์ไทยและสากลกำลังถกเถียงกันในรายละเอียดนั้นครอบคลุมพื้นที่แหลมมลายูทั้งหมดและพื้นที่ๆเป็นประเทศอินโดนีเซียในปัจจุบัน เคยรุ่งเรืองอยู่ก่อนกรุงสุโขทัยหลายร้อยปี มีการค้นพบศิลปกรรมแบบศรีวิชัยในพื้นที่เหล่านี้รวมทั้งในเขตอำเภอกระแสสินธุ์และสะทิ้งพระ อันแสดงถึงความสำคัญของช่องแคบหัวเขาอันเป็นเสมือนประตูเข้าออกของพื้นที่รอบๆทะเลสาบสงขลา ส่วนซากเมืองสงขลาเก่าที่เขาแดงนั้นสร้างขึ้นตรงกับสมัยพระนารายณ์มหาราช ผู้สร้างเมืองตรงจุดนี้คือศุลต่านสุไลมานผู้แข็งเมืองไม่ยอมขึ้นกับกรุงศรีอยุทธยา และถูกทำลายลงอย่างย่อยยับในที่สุด

หากใครมีเวลา เขาแดงเป็นอีกที่หนึ่งที่น่าจะไปเยียมชมนอกจากแหลมสมิหรา เขาน้อยและเขาตังกวน...




1 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ7/12/55 14:55

    เคยขึ้นไปครั้งเดียวเมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว ดูเหมือนว่าเจดีย์ทั้งสององค์สร้างโดยเชลยศึกที่แข็งข้อกับทางกรุงเทพ สมัยต้นรัตนโกสินทร์

    ตอบลบ