29 มีนาคม 2555

ปืนใหญ่ที่งานลากพระแหลมโพธิ์

งานประเพณีของชาวแม่ทอมและตำบลอื่นๆในลุ่มน้ำอู่ตะเภานั้นแทบทั้งหมดจะเกี่ยวข้องอยู่กับผีและวัด เช่นเทศกาลทำบุญบรรพบุรุษเดือนห้า ซึ่งอาหารจะเป็นขนมจีนน้ำยา การทำบุญวันสารทเดือนสิบด้วยขนมเจาะหู ข้าวเหนียวกะทิห่อใบกะพ้อและขนมลา ซึ่งอาหารทั้งสามอย่างนี้สามารถที่จะเก็บไว้กินได้นานหลายเดือนโดยไม่บูดเน่าเสียหาย ซึ่งเป็นประโยชน์สำหรับพระ เพราะหน้าน้ำท่วมประจำปีกำลังจะมา พระจะได้อาศัยอาหารสำรองเหล่านี้ในภาวะที่ออกบิณฑบาตไม่ได้ตามปกติ

พอถึงเดือนสิบเอ็ดก็จะมีประเพณีชักพระ ซึ่งความจริงแล้วก็เป็นการหาเรื่องบันเทิงของคนคิดเสียมากกว่า เพราะไม่มีเหตุผลอะไรที่ต้องเกณฑ์ทั้งพระและชาวบ้านไปตากแดดตากฝนที่แหลมโพธิ์ ลากเรือซึ่งติดโคลนเข้าไม่ถึงตลิ่งให้เข้าถึงเพื่อพระจะได้ลงจากเรือมาฉันเพล ฉันเสร็จก็ขึ้นเรือให้ชาวบ้านลากลงทะเล ประเพณีชักพระของชาวลุ่มน้ำอู่ตะเภานั้นน่าจะเป็นการลอกเลียนมาจากท้องถิ่นอื่น เพราะการชักพระเป็นประเพณีที่ถือปฏิบัติกันมาในหลายๆพื้นที่ของปักษ์ใต้ตั้งแต่สุราษฎ์ลงมา หลังจากงานเดือนสิบ บางท้องถิ่นไม่สะดวกที่จะจัดการชักพระทางเรือ ก็มีการดัดแปลงทำเรือพระใส่ล้อลากกันไปบนถนน หนักๆเข้าไม่มีใครอยากจะฉุดลากด้วยแรง จึงมีการใช้ถถลาก หรือทำเรือพระบนรถให้คนขับเสียเลยก็มีในระยะหลังๆ

บรรดาชาวบ้านก็จะเริ่มต้นเตรียมงานลากพระ โดยการไปวางแผนกันที่วัดที่ครอบครัวตัวเองเป็นสมาชิก อันเป็นธรรมเนียมปฎิบัติที่สืบทอดมาจากพ่อแม่ปู่ย่าตายายว่าใครจะไปวัดไหน แต่ถ้าใครอยากจะเปลี่ยนวัดตอนไหนก็ไม่มีใครห้าม เด็กบ้านก็จะไปผสมโรงกับเด็กวัด ซ้อมตีกลองกันทั้งวันทั้งคืน ซึ่งความจริงก็ไม่ใช่เรื่องยากเย็นอะไร เด็กๆแต่ละคนจะใช้เวลาไม่เกินห้านาที่ในการเรียนรู้วิธีตีกลองลากพระ จังหวะการตีมีอยู่ว่า...ตือ..ลืด..ตืดท่ง..ตืดท่ง..ตืดท่ง --- ตือ..ลืด..ตืดท่ง..ตืดท่ง..ตืดท่ง --- ตือ..ลืด..ตืดท่ง..ตืดท่ง..ตืดท่ง จะตีอยู่นานเท่าไหร่ก็จะอยู่ในจังหวะที่ว่านี้ตลอดไป ในยุคสมัยที่ไม่มีทีวี ไม่มีวิดิโอเกมส์และไม่มีเครื่องผลาญเวลาอื่นใด เด็กๆจึงผลัดเปลี่ยนกันตีกลองได้ตั้งแต่เช้ายันเที่ยงคืน ทุกๆวันจนกระทั่งถึงวันลากพระ

หนุ่มๆผู้มีพลังงานเหลือใช้ทั้งหลายก็ได้มีโอกาสออกกำลังโดยการเข้าร่วมการแข่งเรือยาว ทุกๆวัดจะมีเรือยาวของตัวเองอย่างน้อยสามลำ แต่ละลำอาศัยฝีพายอย่างน้อยสิบคนแล้วแต่ขนาดของเรือ การฝึกซ้อมก็ทำกันทุกวันจนกว่าจะถึงวันแข่งจริงในวันลากพระ สถานที่แข่งเรือโดยปกติจะเป็นที่หาดหอย ซึ่งอยู่ใกล้ๆวัดท่าเมรุ บนสาขาตะวันตกของคลองอู่ตะเภาก่อนไหลออกทะเลสาบสงขลา

แต่ละวัดจะมีเรือพระของตัวเอง เรือพระเป็นเรือสินค้าท้องถิ่นสมัยเก่า กว้างประมาณ 4 เมตรยาวประมาณ 15 เมตร ตรงกลางมีมณฑปยอดแหลม ประดับประดาด้วยลวดลายแกะสลักห้อยภู่หลากสีงามตระการตา วัดนารังนกแทบจะผูกขาดรางวัลที่หนึ่งในด้านความสวยงามและวิจิตรบรรจง ทุกๆปีจะมีทั้งคนที่มารอดูขบวนเรือพระของวัดนารังนกเป็นพิเศษอยู่บนสองฝั่งคลอง พร้อมทั้งเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าต่างไปจากปีก่อนอย่างไร

งานประเพณีลากพระที่แหลมโพธิ์เมื่อปีพ.ศ.2510นั้นว่ากันว่าคึกคักเป็นพิเศษ หม่อมเจ้าทองคำเปลว ทองใหญ่ ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลาในขณะนั้นมีแผนที่จะเสด็จมาร่วมงาน โดยที่คณะของท่านจะเดินทางโดยเรือท่องเที่ยวขององค์การบริหารส่วนจังหวัด ซึ่งนับเป็นเรือนำเที่ยวทะเลสาบสงขลาที่ทันสมัยที่สุดในขณะนั้น ตามหมายกำหนดการ ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดและคณะอันประกอบด้วย ข้าราชการผู้ใกล้ชิด ครอบครัว และเจ้าสุวรรณภูมี เจ้าลาวซึ่งมาลี้ภัยทางการเมืองอยู่ในเมืองไทยและเป็นอาคันตุกะของท่านในเวลานั้น ทางจังหวัดได้ทำหนังสือเวียนผ่านมาทางหน่วยราชการต่างๆให้จัดการวางแผนต้อนรับอย่างเต็มที่ ซึ่งแน่นอนที่สุดตามระบบราชการ คนที่อยู่ล่างสุดคือคนที่แบกภาระหนักที่สุดในขณะที่ได้รับการสนับสนุนน้อยที่สุดในทุกๆด้าน

โรงเรียนวัดคูเต่าซึ่งเป็นโรงเรียนประชาบาลหลักและใหญ่ที่สุดในละแวกนี้ ได้รับคำสั่งให้จัดโชว์เพลงเรือชุด"ครูประชาบาล"  โดยการให้บรรดาครูในโรงเรียนต่างๆในกลุ่มช่วยกันจัดกระบวนเรือเพลง ด้วยสาเหตุที่ครูส่วนใหญ่เป็นครูบ้านนอกและไม่มีใครสันทัดในงานด้านศิลปวัฒนธรรม คำสั่งดังกล่าวได้สร้างความโกลาหลให้กับทั้งครูและนักเรียนเป็นอย่างมาก เป็นเวลาหลายวันที่บรรดาครูต่างก็นั่งเถียงกันว่าจะทำอย่างไรดี หลังจากที่พอจะตกลงกันได้ก็ต้องมีการเตรียมเรือ เครื่องแต่งตัวและการฝึกซ้อม การเรียนการสอนก็ให้ต้องพลอยหยุดซะงักไปด้วย ซึ่งก็เป็นที่ชื่นชอบของเด็กๆที่จะได้มีเวลาเล่นมากขึ้น

ความเรียบง่ายที่เคยบฏิบัติสืบเนื่องกันมาได้กลายเป็นความยุ่งยากซับซ้อนในปีนี้ คำสั่งจากทางอำเภอถึงกำนันตำบลคูเต่าให้มีการจัดสร้างปะรำสำหรับรับรองท่านผู้ว่าราชการจังหวัดผู้สูงศักดิ์ก็ได้รับการสนองตอบตามกำลังความสามารถและสติปัญญาของท่านกำนันเห้ง ปะรำถูกสร้างขึ้นอย่างง่ายๆตามปกติที่เคยทำกันมา มีเสาสี่เสา หลังคามุงห่างๆด้วยใบมะพร้าวสำหรับพอกันแดด ที่เป็นพิเศษนั้นกำนันเห้งได้จัดหาเก้าอี้ไม้อย่างดีมาวางในปะรำครบตามจะนวนคนที่จะมา เครื่องขยายเสียงและเครื่องกำเนิดไฟฟ้าได้รับการขนย้ายมายังแหลมโพธิ์ด้วยความทุลักทุเล เพราะถนนไปแหลมโพธิ์ยังไม่มี ของหนักทุกอย่างต้องมาทางเรือ และเนื่องจากพื้นที่มีลักษณะเป็นชายเลนและน้ำตื้น เรือใหญ่จึงเข้าไม่ถึงฝั่ง แม้กระทั่งเรือเรือเล็กก็ยังเข้าไม่ถึงหากว่าเป็นเวลาน้ำลง การลุยโคลนเลนที่ดำปี๋เหมือนชี้เป็ดจึงเป็นเรื่องธรรมดา

และแล้ววันลากพระก็มาถึง วันนี้ใครๆต่างก็มีส่วนร่วมมากบ้างน้อยบ้างไม่ทางตรงก็ทางอ้อม คนที่มีหน้าที่เรื่องอาหารการกินในบ้านก็ง่วนอยู่กับข้าวต้มใบกะพ้อและแกงคั่วหน่อไม้ เด็กและผู้ใหญ่ที่ไม่มีภาระอย่างอื่นก็จะเริ่มออกไปเตร่แถวๆริมคลองตั้งแต่เช้า รอดูเรือพระจากวัดที่มาจากเหนือน้ำ พอสายหน่อยตามท่าเรือริมคลองอู่ตะเภาก็เริ่มเห็นคนหนาตาขึ้น บ้างมาดูเรือพระ บ้างมาดูพวกพายเรือเล็กผูกเพลง การผูกเพลงคือการว่ากลอนตลกๆรับกันระหว่างต้นเพลงและลูกคู่ เนื่อหาของเพลงส่วนใหญ่จะเป็นประเภทตลกขบขันและติดเรทเอ็กซ์ โดยทั่วไปเรือเล็กผูกเพลงจะมีคนสองหรือสามคน และส่วนใหญ่จะมีการสร้างรูปอะไรบางอย่างที่เป็นจุดเด่นวางไว้กลางเรือเพื่อเรียกร้องความสนใจจากคนดูบนตลิ่ง ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะไม่ไกลไปกว่าเรื่องใต้สะดือ สร้างความขบขันเฮฮาให้คนดู คนที่จะไปแหลมโพธิ์นั้นต้องไปด้วยเรือหางยาว ตรงท่าน้ำใกล้ๆบ้านบังนั้นเป็นท่าใหญ่ คนจำนวนมากจะมาลงเรือที่นี่  ก่อนที่จะไปไหนไกล หนุ่มๆในหมู่บ้านจะมาออกันอยู่ตรงท่าน้ำเพื่อดูสาวๆที่กำลังลงเรือ ซึ่งจริงๆแล้วก็น่าดูอยู่หรอก ดูแล้วก็เก็บไปวิจารณ์กันได้ทั้งปี อย่างพี่คองลูกสาวลุงยกทอมตกนั้นใส่มินิสเกิ๊ท พวกหนุ่มปากเปียกเอาไปพูดกันว่าอีคองนุ่งปลอกหมอนไปงานลากพระ ลงเรือแล้วนั่งไม่ได้เพราะคับเกินไป ต้องบอกให้นายท้ายเรือรอเพราะต้องวิ่งกลับบ้านไปเปลี่ยนชุดใหม่

ที่แหลมโพธิ์นั้นจะมีพิธีสงฆ์และการทำบุญเลี้ยงพระอันเป็นเป้าหมายหลักของประเพณีการลากพระ จุดหมายปลายทางของผู้ที่จะมาร่วมงานในแต่ละปีจึงอยู่ที่นี่ ส่วนปีนี้ท่านผู้ว่าจะกล่าวปราศรัยหลังจากพระฉันเพล หลังจากนั้นจะมีการเคลื่อนขบวนเข้าคลองกลับมาที่หาดหอยเพื่อดูการเฉลิมฉลองและแข่งเรือ ปีนี้ดูเหมือนว่าฟ้าดินจะไม่เป็นใจ พอสักสิบโมงเช้ากว่าๆแดดเปรี้ยงๆก็กลับกลายเป็นฝนเทลงมาอย่างหนัก ท่านผู้ว่าฯ พระชายาและคณะซึ่งต้องผจญภัยมาแล้วรอบหนึ่งด้วยการลุยโคลนจากเรือใหญ่ขึ้นมาที่ปะรำต้องผจญภัยรอบสองเมื่อฝนเทลงมาและหลังคากันแดดของปะรำไม่อาจจะกันฝนได้ กว่าจะเสร็จเรื่องและกลับขึ้นเรือใหญ่ได้ทุกคนในคณะจึงพากันเปียกปอนกันไปถ้วนหน้า รวมทุกคนในคณะเรือผู้ว่าคงจะไม่ต่ำกว่า๕๐คน บังมาได้ยินทีหลังว่าหลายคนในคณะหัวเสียอย่างแรงที่การจัดการหละหลวม มีการเสนอความคิดให้เลิกล้มแผนเดิมที่จะเดินทางต่อไปที่หาดหอย แต่ด้วยเหตุผลใดไม่ปรากฏชัด เรือของท่านผู้ว่าฯก็เข้าคลองไปจนถึงหาดหอยเพื่อดูขบวนเรือ"ครูประชาบาล" การแข่งเรือและกิจกรรมอย่างอื่น

คลองที่หาดหอยนั้นค่อนข้างกว้าง จึงเหมาะสำหรับการแสดงของคณะครูและแข่งเรือยาว เมื่อเรือของท่านผู้วาฯมาถึง ก่อนที่การแสดงชุดเรือประชาบาลของคณะครูจะเริ่มขึ้น เรือของท่านผู้ว่าฯถูกห้อมล้อมด้วยเรือนาๆชนิดของบรรดาชาวบ้านผู้มาร่วมงาน ส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากความอยากรู้อยากเห็น ทั้งเรือโดยสาร เรือผูกเพลง เรือแข่งและแม้กระทั่งพวกที่ลงไปแช่อยู่ในน้ำ ในจำนวนนี้มีเรือผูกเพลงลำหนึ่งที่โดดเด่นเป็นพิเศษ มากันสองคน หัวคนท้ายคน พายวนอยู่รอบๆเรือท่านผู้ว่าฯอยู่หลายรอบ เสียงผูกเพลงนั้นคงจะไม่มีผลอะไร เพราะท่านผู้ว่าฯและคณะญาติของท่าน(ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นสตรี)คงจะฟังไม่รู้เรื่อง แต่ไอ้ของโชว์ที่อยู่กลางตัวเรือนั้นมันไม่ต้องการคำบรรยาย เปํนอวัยวะเพศชายขนาดใหญ่ทำด้วยต้นหมาก ส่วนหัวเสริมด้วยศิลปะแกะสลักฝีมือเยี่ยมมาประกบ ส่วนที่ห้อยโตงเตงใช้มะพร้าวห้าวขนาดใหญ่สองลูก ส่วนท้ายคลุมด้วยรากไทรย้อยดำสนิท รวมแล้วกลายเป็นประฏิมากรรมชั้นยอดเยี่ยมที่สามารถสื่อความหมายจากคนทำไปยังคนที่เห็นได้อย่างไม่ตกหล่น

เพลงเรือชุด "ครูประชาบาล" ที่มีครูอิ้นและครูเพิ่มเป็นพ่อเพลงใหญ่ยังไม่ทันจบดี บรรดาผู้ที่มาร่วมงานต่างก็เห็นเรือของท่านผู้ว่าแล่นฝ่าเรือต่างๆออกไปทางทะเลสาบสงขลา หลายคนถามกันเองด้วยความสงสัยว่าทำไมท่านผู้ว่าจึงไม่รอดูเการแข่งเรือยาวก่อนกลับ...หลายคนบอกว่าคงจะเป็นเพราะฤทธิ์ปืนใหญ่ที่ทำจากต้นหมากในเรือผูกเพลง...

2 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ8/11/55 21:57

    อ่านสามรอบแล้ว ขำทุกรอบ

    ตอบลบ
  2. ผมอยู่ในเหตุการณ์วันนั้นเหมือนกัน
    แต่อายุยังน้อย ไม่ค่อยรู้อะไรมากนัก
    บังเหล็มเล่าได้ละเอียดกว่า และสนุกกว่า
    ผมยังจำเหตุการณ์ได้ดี เพราะไม่เคยได้ยินว่า ผู้ว่าฯ สงขลา (ระดับเชื้อพระวงศ์) เคยมางานลากพระที่แหลมโพธิ์
    พ่อผมก็เป็นคนที่แต่งเพลงคนหนึ่ง
    น้องๆ ของผมก็เป็นเด็กนักเรียนที่ไปร้องเพลงในวันนั้น
    ยังจำชื่อเพลงเหล่านั้นได้ เพราะครูสอนบ่อยๆ เมื่อเรียนที่โรงเรียนวัดนารังนก

    สุนทร ลัภกิตโร

    ตอบลบ