06 กันยายน 2553

ความขัดแย้งและการแก้ปัญหาแบบชาวแม่ทอม


จากรุ่นบุกเบิกเมื่อสามร้อยกว่าปีก่อนที่มาถึงแม่ทอมจนถึงยุคปัจจุบัน จำนวนครอบครัวได้เพิ่มขึ้นจากไม่กี่ครอบครัวมาเป็นหลายร้อยครอบครัวในปัจจุบัน จากคำบอกเล่าที่เล่าสืบต่อกันมา แม่ทอมเมื่อครั้งที่คนเพิ่งเข้ามาตั้งถิ่นฐานนั้นเป็นพื้นที่ชายเลนกิ่งทุ่งลุ่มน้ำขังกึ่งป่าโปร่งอันประกอบไปด้วยไม้ชายเลนเช่นเสม็ดและโกงกาง ผู้อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานจับจองเลือกเอาพื้นที่ริมคลองเป็นที่ปักหลักเพราะเขามากันทางเรือ นอกจากนั้นคลองคือเส้นทางที่เขาใช้ติดต่อกับโลกภายนอก คนที่มาก่อนคือคนที่มีโอกาสดีกว่าในการเลือกที่สำหรับเพาะปลูกทำมาหากิน คนกลุ่มนี้คือพวกที่มีบ้านอยู่ริมคลอง พื้นที่ส่วนที่ๆอยู่ห่างคลองไปทางทิศตะวันตกนั้นได้รับการดัดแปลงเป็นที่สำหรับทำนาข้าว เนื่องจากสังคมการผลิตในยุคแรกเริ่มของแม่ทอมเป็นแบบผลิตเพื่อบริโภคเองในครอบครัวไม่ใช่เพื่อการค้า การจัดสรรค์แป่งปันที่ดินทำกินจึงเป็นไปอย่างเหมาะสม ไม่มีการจับจองเอาจนเกินกว่าที่ตัวเองจะใช้ประโยชน์ไหว คนมาทีหลังก็ได้รับการแบ่งปันที่ทำกินให้ ทั้งที่เป็นการให้เปล่าหรือแลกเปลี่ยนด้วยแรงงานหรืออย่างอื่นซึ่งไม่ได้เป็นไปเพื่อผลกำไร ผลที่เห็นก็คือไม่มีชาวแม่ทอมรายใดในปัจจุบันที่มีลักษณะเป็นเจ้าที่ดินรายใหญ่ ความเหลื่อมล้ำมีไม่มากนัก คนที่ไม่มีอะไรในยุคปัจจุบันมักจะเป็นพวกที่ทำให้ที่ทางที่บรรพบุรุษมอบให้สูญหายไปไม่ทางใดก็ทางหนึ่งในชั้นตัวเองหรือชั้นพ่อแม่

ในช่วง๕๐ปีที่ผ่านมา แม่ทอมก็เช่นเดียวกับบ้านอื่นและที่อื่นทั่วโลก ได้มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นแบบก้าวกระโดด จากบ้านไม้ใต้ถุนสูงมุงจากฝาไม้ไผ่ก็กลายมาเป็นบ้านอิฐและปูนซีเมนต์ทั้งหลัง จากการใช้ตะเกียงคางคกริบหรี่มาใช้ไฟฟ้าสว่างไสว จากการขี้ข้างกอไผ่มาเป็นนั่งส้วมซึมซึ่งอยู่ในบ้าน และจากทำนาปลูกข้าวกินเอง ก็มาเป็นลูกจ้างทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ทิ้งที่นาให้รกร้างว่างเปล่ามาซื้อข้าวสารกิน ที่ดินกลายสภาพจากที่ทำกินมาเป็นทรัพย์สินที่มีมูลค่ามหาศาลในตลาดอสังหาริมทรัพย์ เป็นที่น่าทึ่งว่าจากที่ดินที่เคยแบ่งปันกันด้วยด้วยความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ในยุคแรกเริ่มได้กลายเป็นชนวนให้เกิดการกินแหนงแคลงใจกัน ทั้งๆที่ส่วนใหญ่เป็นญาติพี่น้องเห็นกันมาตั้งแต่อ้อนแต่ออก และพึ่งพาอาศัยกันมาหลายชั่วอายุคน

พ้นจากยุคแห่งการแบ่งปัน ที่ดินกลายเป็นสมบัติมีค่า ที่สาธารณะกลายเป็นเป้าหมายแรกในการบุกรุกขยายอาณาเขตให้กับที่ดินเดิมของตัวเอง ภาษาที่ใช้กันคือ"ที่หัวดิน" หากที่ของใครมีอาณาเขตจดที่สาธารณะ ก็จะมีการทำประโยชน์รุกล้ำเข้าไป เสร็จแล้วอ้างว่าเป็นที่ของตัว นี่คือตัวอย่างเมื่อหลายปีก่อน เช่นการบุกรุกป่าเสม็ดที่พรุตก ซึ่งป่าเสม็ดนับร้อยไร่โดนบุกรุกจากทุกด้านโดยเจ้าของที่ๆมีอาณาเขตติดต่อ ติดตามโดยที่คลองแหวะและที่รอบๆทอม ความคิดเดิมที่มีเฉพาะเท่าที่ทำกินได้เปลี่ยนไปเสียแล้ว กลายเป็นว่าต้องเอาให้มากที่สุดจะเป็นการเอารัดเอาเปรียบคนอื่นและส่วนรวมก็ไม่ค่อยจะมีใครคิดอีกต่อไป

การแบ่งเขตนาในทุ่งแหวะ ทอมตก และทอมออกก็เอากันตามคันนาหรือหัวนา พรุที่เป็นมาตามธรรมชาตินั้นมันไม่มีเขตไม่มีคันนา ยุคแรกๆที่แบ่งกันนั้นคงจะไม่มีปัญหา คันนามันจะใหญ่เล็กคดเคี้ยวก็ไม่มีใครว่า แต่พอมายุคหลังๆก็ให้มีเหตุทะเลาะวิวาทกันอยู่เนืองๆเรื่องหัวนาและเขตแดน ใครอยู่ใกล้ๆบ้านกำนันก็จะได้ยินบ่อยๆ ถึงกรณีพิพาทที่มิอาจจะตกลงกันได้ บ้างกล่าวหากันว่ามีการเลื่อนหมุดเครื่องหมายเขต บ้างก็ว่ามีการรุกล้ำเข้ามาทำประโยชน์ในที่ของตัว หรือไม่ก็แย่งต้นตาลที่ขึ้นอยู่บนคันนา

แต่เดิมตรงโค้งหลวงผุดนั้นชาวแม่ทอมเรียกกันว่าหัวพาน เพราะมีการตัดถนนผ่านสายทอม ทุกๆฤดูฝนน้ำจะพัดพาเอาถนนขาดทุกๆปี จึงมีการขุดคูให้น้ำผ่านและทอดสะพานไม้แผ่นเดียวเอาไว้ ถัดจากบ้านหลวงผุดก็เป็นสวนของหลวงบุญและถัดมาอีกก็เป็นสวนตารอดและถัดมาอีกก็เเป็นบ้านครูนพ ตรงสายรั้วระหว่างสวนหลวงบุญและสวนตารอดนั้นมีต้นขนุนอยู่ต้นหนึ่ง เมื่อตอนต้นขนุนยังเล็กนั้นก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่พอขนุนออกลูกก็เกิดปัญหา ข้างฝ่ายหลวงบุญและชาวธรรมชาติก็อ้างกรรมสิทธิ์ ในขณะที่ตารอดก็อ้างเช่นเดียวกัน ตารอดนั้นเป็นคนมีอายุของหมู่บ้านและเป็นสังกะหรีวัด ทางธรรมชาติก็พี่น้องเยอะ เพราะขนุนบนรั้วเขตเป็นต้นเหตุ พวกธรรมชาติขนพวกมาบริภาษพวกตารอด แม้กระทั่งนายบ้านเกลี้ยง นายบ้านหมู่๔สมัยนั้นก็เอาไม่อยู่ เถียงกันจนค่ำมืดก็ยังไม่เป็นที่ตกลง หมิ่นเหม่จะมีการลงไม้ลงมือเป็นสงครามกลางเมืองระดับหมู่บ้าน ต่างฝ่ายต่างถอยพักรบไปนอน กะว่ารุ่งเช้าจะมาเถียงกันใหม่

รุ่งเช้าท่ามกลางความตกตะลึงของทั้งสองฝ่าย มีคนมาบอกว่าใครไม่รู้มาโค่นต้นขนุนต้นนั้นไปเรียบร้อยแล้ว สงสัยตั้งแต่ตอนกลางคืน ไม่มีใครเห็นว่าใครเป็นคนทำ ในขณะที่หลายคนมืดแปดด้าน อีกหลายคนก็พอจะเดาออกว่านี่คงจะเป็นฝีมือกำนันรุยอีกเช่นเคย แกคงจะสั่งให้ใครมาโค่นทิ้งเสียในฐานะที่เป็นต้นเหตุให้คนทะเลาะกัน แกมักจะมีวิธีการแปลกๆในการจัดการกับกรณีพิพาทในหมู่บ้าน เป็นที่น่าเสียดายที่เชื้อสายกำนันรุยที่สืบทอดเอาอุปนิสัยของแกไว้นั้นมีอยู่หลายคน แต่ก็ไม่มีใครอยากจะเป็นกำนัน และที่อยากจะเป็นก็ยังสงสัยกันอยู่ว่าจะทำเสียชื่อค่ายหรือเปล่า

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น