09 มกราคม 2555

สตีฟ จอบส์ ตัวอย่างของคนที่มีความเป็นตัวของตัวเอง


ช่วงปลายปีที่แล้วใครๆก็คงจะได้ยินข่าวสตีฟ จอบส์(Steve Jobs)เสียชีวิตด้วยวัย๕๖ปีด้วยโรคมะเร็ง เขาเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงใหญ่ในการก่อตั้งบริษัทแอปเปิลคอมพิวเตอร์และเป็นผู้นำที่ได้รับความเชื่อมั่นจากพนักงาน ผู้ถือหุ้น และสาธารณะชนอย่างสูงสุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการหวนกลับมาของเขาหลังจากที่เขาโดนคณะกรรมการบริหารชุดใหม่แย่งยึดอำนาจ และได้นำพาเอาบริษัทแอปเปิลซึ่งกำลังจะล้มละลาย ให้กลับกลายมาเป็นบริษัทในระดับที่มีมูลค่าสูงสุดของโลก มีหลายสิ่งหลายอย่างในชีวิตความเป็นมาของเขาทั้งด้านส่วนตัวและการงาน ที่น่ารับรู้และศึกษา

พ่อของจอบส์เป็นนักศึกษาชาวซีเรียซึ่งเดินทางมาเรียนปริญาเอกทางรัฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยแห่งรัฐวิสคอนซิลประเทศสหรัฐอเมริกา ในระหว่างที่ศึกษาอยู่ ได้พบรักและแต่งงานกับแม่ของจอบส์ซึ่งกำลังเป็นนักศึกษาในมหาวิทยาลัยเดียวกัน พ่อแม่ทางฝ่ายหญิงซึ่งเป็นชาวแคทอลิคฝ่ายอนุรักษนิยมรับไม่ได้ที่ลูกสาวไปแต่งงานกับชาวมุสลิม เมื่อแม่ของจอบส์ตั้งท้องจึงได้ย้ายไปอยู่ที่แคลิฟอร์เนียร์ เมื่อคลอดจอบส์ แม่ของเขาได้ให้คนมารับลูกไปเลี้ยงผ่านสำนักงาน ซึ่งตามข้อตกลงต้องปิดเป็นความลับว่าใครคือพ่อแม่และใครคือคนที่รับเด็กไปอุปการะ ผู้รับอุปการะเป็นพ่อแม่บุญธรรมคือสองสามีภรรยานามสกุลจอบส์ จอบส์จึงได้ใช้นามสกุลนี้มาตั้งแต่นั้น ต่อมาแม่ของเขามีลูกสาวอีกคนหนึ่งก่อนแยกทางกับสามีชาวซีเรีย พ่อแม่บุญธรรมบอกเขามาตั้งแต่เด็กว่าเขาไม่ใช่ลูกที่แท้จริง และสิ่งนี้กลายเป็นปมด้อยในใจของเขามาตลอดว่าเขาเป็นคนที่พ่อแม่ไม่ต้องการ และเขาก็ไม่สนใจที่จะสืบเสาะหาผู้ให้กำเนิดที่แท้จริงจนกระทั่งเขาอยู่ในวัยเบญจเพศ เขาได้ติดต่อพูดคุยกับผู้เป็นแม่และน้องสาว แต่ไม่เคยคิดที่จะติดต่อพูดคุยกับผู้เป็นพ่อ ซึ่งไปเปิดร้านอากหารอยู่ในซิลิกอนวอลเลย์ไกล้ๆกับที่ทำงานของจอบส์  ซึ่งจอบส์เองก็ไปกินอาหารที่นั่นหลายครั้ง แต่ก็ไม่รู้ว่าเจ้าของร้านที่เขาเคยคุยด้วยคือพ่อของเขาและพ่อของเขาก็ไม่รู้เช่นเดียวกันว่าจอบส์เป็นลูก อย่างไรก็ตามเขาไม่ยอมติดต่อหลังจากที่รู้ เพราะเขาแค้นว่าเขาถูกพ่อทอดทิ้ง

พ่อแม่บุญธรรมของจอบส์ไม่ใช่คนร่ำรวยมีฐานะแค่พออยู่พอกิน เป็นลูกจ้างระดับล่างๆในบริษัทไฮเทค ซึ่งมีอยู่มากมายในละแวกเมืองที่เขาอยู่ ซึ่งเรียกกันว่าซิลิกอนวอลเลย์ในปัจจุบัน เนื่องจากมีบริษัทไฮเทคมากมาย แถมยังเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด สถาบันที่มีชื่อเสียงสูงสุดแห่งหนึ่งของอเมริกา สภาพแวดล้อมและสังคมจึงเป็นแหล่งรวมของนักวิทยาศาสตร์ วิศวกร และคนมีความรู้ในสาขาต่างๆมากมาย

ในช่วงทศวรรษ๑๙๗๐ ได้มีนวัตกรรมเกี่ยวกับไมโครโปรเซสเซอร์ จากเครื่องคอมพิวเตอร์ที่มีขนาดใหญ่หนักเป็นตันและราคาเป็นล้านดอลลาร์ ตัวไมโครโปรเซสเซอร์ซึ่งได้รับการดีไซน์ลงไปบนแผ่นซิลิกอนซึ่งมีขนาดหัวแม่มือ สามารถที่จะใช้งานได้ในลักษณะเดียวกันกับเครื่องคอมพิวเตอร์เมนเฟรมและมินิ ถึงแม้ประสิทธิภาพจะด้อยกว่า แต่ราคาถูกกว่าและขนาดก็เล็กกว่ามาก ในระยะนั้นยังไม่มีบริษัทใหญ่ๆมองเห็นผลทางการค้าของตัวไมโครโปรเซสเซอร์เพราะเป็นยุคของเครื่องเมนเฟรมและมินิ มีแต่นักอีเลคทรอนิคส์สมัครเล่นที่ได้เอามาประกอบเป็นคอมพิวเตอร์ทำเล่นกันสนุกๆ มีการรวมกลุ่มกันของคนที่ชอบเหมือนๆกันเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และอวดเครื่องที่ตัวเองทำขึ้นต่อกันและกัน เนื่องจากหมู่บ้านที่จอบส์อยู่เต็มไปด้วยคนในวงการ จึงได้มีชมรมเกิดขึ้นและทำให้เขาได้รู้จักผู้ร่วมงานคนสำคัญคือสตีฟ วอซนิแอกหรือวอซในขณะที่เขายังเรียนอยู่ในชั้นมัธยม

วอซเป็นลูกชายของวิศวกรไฟฟ้า เขาเป็นคนฉลาด เรียนหนังสือดี และเป็นคนชอบเล่นอีเลคทรอนิคส์และมีพรสวรรค์ในเรื่องนี้ เขาเรียนรู้เกี่ยวกับการออกแบบอุปกรณ์อีเลคทรอนิคส์ด้วยตนเองและอยู่ในระดับผู้เชี่ยวชาญตั้งแต่เรียนชั้นมัธยมปลาย ส่วนจอบส์นั้น ผลการเรียนก็แค่ผ่าน ไม่ได้มีทักษะอะไรมากมายในเรื่องอีเลคทรอนิคส์ แต่จอบส์เป็นคนช่างจินตนาการว่าเขาต้องการให้เครื่องมันเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ อะไรคือสิ่งที่ผู้ใช้ควรจะชอบและต้องการและอะไรจะขายได้ พูดง่ายๆก็คือจอบส์เป็นคนมีหัวเซ็งลี้ ในขณะที่วอซจะทำเล่นสนุกๆอย่างเดียว ในการประชุมของชมรมคราวหนึ่ง วอซเอาแผนทางไฟของดีไซน์อันใหม่ที่เขาทำไปแจกให้คนอื่นไปลองทำบ้าง จอบส์พยายามชักจูงให้วอซทำเป็นคิท คือขายอะไหล่พร้อมแผนทางไฟให้คนอื่นไปลองทำแทนที่จะแจกฟรีๆ

ทศวรรษ๑๙๗๐นับเป็นยุคก่อกำเนิดของคอมพิวเตอร์ที่เราเห็นกันทั่วไปในทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์ชนิดต่างๆตั้งแต่ชนิดตั้งโต๊ะ ตั้งบนพุง ตั้งบนตัก มือถือ และฯลฯ ทุกอย่างล้วนแต่อาศัยนวัตกรรมอันเดียวกันคือไมโครโปรเซสเซอร์ ในปี๑๙๗๕ นิตยสารPopular Electronics ได้ตีพิมพ์บทความเกี่ยวกับชุดอุปกรณ์หรือที่เรียกกันว่าKIT สำหรับประกอบเครื่องคอมพิวเตอร์ ALTAIR8800 ทำโดยบริษัทMITS ซึ่งเพิ่งตั้งสดๆร้อนๆโดยวิศวกรคนหนึ่งในเมืองอะบูเคอกีรัฐนิวแมกซิโก นับเป็นครั้งแรกที่มีคนทำคอมพิวเตอร์ขาย เขาขายชุดอะไหล่ราคา๓๙๙ดอลลาร์ คนซื้อต้องเอามาประกอบเอง ตอนนั้นบังก็เป็นแฟนของวงการคนหนึ่งเหมือนกัน ติดตามอ่านนิตยสารทุกเล่มเกี่ยวกับอีเลคทรอนิคส์ ได้เห็นบทความนี้ในนิตยสารดังกล่าวที่ห้องสมุดมหา'ลัย อ่านแล้วก็ได้แต่ฝัน แถมยังถ่ายเอกสารมานอนฝันต่อ เงิน๘๐๐๐บาทในตอนนั้นมันเหลือกำลังมากนัก เครื่องไม่มีจอภาพ ไม่มีแม้กระทั่งคีร์บอร์ด ใส่โปรแกรมโดยการโยกสวิทที่หน้าเครื่อง การแสดงผลที่ออกมาเป็นการการพริบของLED

ในเวลานั้นจอบส์กำลังเรียนอยู่ที่รีดส์คอลเลจในรัฐออรีกอน เป็นช่วงขณะที่ฮิบปี้กำลังเฟื่อง กูรุจากเมืองแขกกำลังได้รับความนิยมพร้อมๆกับกัญชาและยากล่อมประสาทที่เรียกกันว่าLSD จอบส์เกิดเลื่อมใสศาสนาพุทธและปรัชญาตะวันออก เรียนได้ปีเดียวก็ออก เดินทางไปอยู่อินเดียพักหนึ่ง นัยว่าจะไแสวงหาสัจจธรรม และในช่วงขณะเดียวกันนั้นเอง บิลล์ เกตส์ซึ่งกำลังเรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดและพอล อัลเลนคู่หู ซึ่งหลงไหลในเรื่องซอร์ฟแวร์มาตั้งแต่เรียนชั้นมัธยม เห็นบทความเกี่ยวกับALTAIR8800ที่บังพูดถึงข้างต้น เกตส์และอัลเล็นมองเห็นสิ่งที่ไม่มีใครเห็นในตอนนั้น ว่าเครื่องALTAIR8800นี่แหละจะเป็นจุดเริ่มต้นของคอมพิวเตอร์ที่จะแพร่หลายในอนาคต เกตส์จึงลาออกจาการเป็นนักศึกษามาตั้งบริษัทไมโครซอร์ฟเพื่อเขียนโปรแกรมภาษาเบสิกให้กับเครื่อง ซึ่งก็อยู่ได้ไม่นานเพราะบริษัทMITSเจ๊ง ไมโครซอร์ฟไปพบโชคเรื่องซอร์ฟแวร์ภายหลังกับบริษัทไอบีเอ็มที่ทำให้เขาเริ่มประสบความสำเร็จและทำให้ไมโครซอร์ฟกลายมาเป็นยักษ์ใหญ่ทางซอร์ฟแวร์ เกตส์เป็นคนเรียนเก่ง และการที่เขาตัดสินใจดร็อบจากฮาร์วาร์ดออกมาทำซอร์ฟแวร์นั้นนับว่าเขามองเห็นอนาคตและมีความเชื่อมั่นอย่างเต็มที่ สำหรับบ้านเราคงจะหาได้ยากมาก เพราะสภาพทางความคิดและค่านิยมต่างกันมาก

จอบส์กลับจากอินเดียก็มาหาวอซ ซึ่งเรียนได้นิดหน่อยแล้วดร็อบออกไปทำงานเป็นวิศวกรให้บริษัทHP เป็นที่น่าสังเกตุอย่างหนึ่งว่าในอเมริกานั้น บางครั้งในกรณีพิเศษเขาไม่ได้สนใจนักว่าใครจะเรียนอะไร จบอะไร จบหรือไม่จบ ถ้าหากว่าคนๆนั้นสามารถที่จะพิสูจน์ให้เห็นได้ว่าเขามีความสามารถพิเศษอะไรบางอย่าง เรียนจบหรือไม่จบ หรือเรียนอะไรมาไม่ใช่เรื่องใหญ่ ขอให้มีความสามารถจริงๆเป็นใช้ได้ และคนส่วนนี้เองที่เป็นพลังผลักดันสำคัญของนวัตกรรมส่วนหนึ่งและอาจจะเป็นส่วนสำคัญเสียด้วยในอเมริกา ซึ่งมีตัวอย่างให้เห็นอยู่มากมายตั้งแต่ไมเคิล เดลล์ของบริษัทเดลล์คอมพิวเตอร์ บิลล์ เกตส์แห่งบริษัทไมโครซอร์ฟ สตีฟ จอบส์แห่งแอปเปิ้ล ลารี อาลิสสันแห่งออราเคิล คนพวกนี้ไม่มีใครเรียนจบปริญญาตรีสักคน ซึ่งเช่นเดียวกับอาเสี่ยมากมายในเมืองไทยที่ไม่ได้ร่ำเีรียนอะไรมามากนัก แต่สามารถจ้างคนจบเรียนจบสูงๆมากมายมาไว้รับใช้ พวกมีการศึกษาดีๆจึงมักจะกลายเป็นขี้ข้า ทั้งข้าราชการและข้าคหบดี

จอบส์มองเห็นอนาคตของของเล่นชิ้นใหม่ จึงชวนวอซออกมาทำคอมพิวเตอร์ขาย วอซก็เหมือนกับคนทั่วๆไป ทำงานให้กับHPก็สามารถเลี้ยงตัวได้อยู่แล้ว เรื่องอะไรต้องออกไปเสี่ยง แต่ก็ทนจอบส์รุกเร้าไม่ได้ จึงอาสาที่จะออกแบบเครื่องให้นอกเวลา เริ่มต้นทำกันในโรงรถที่บ้านของพ่อของจอบส์ ปรากฏว่าขายดิบขายดีทำไม่ทัน บริษัทแอปเปิลจึงเกิดขึ้น จอบส์และวอซกลายเป็นเศรษฐีร้อยล้านในขณะที่อายุแค่ยี่สิบกว่าๆ ในขณะที่วอซมีอัฉริยภาพในทางวิศวกรรม จอบส์ก็มีอัฉริยภาพในการมองเห็นในสิ่งที่คนอื่นมองไม่เห็นและสามารถที่จะโน้มน้าวจิตใจคนอื่นให้มาร่วมงานและมีความหวังและเชื่อมั่นในความเป็นไปได้ของสิ่งใหม่ๆที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน  ในขณะที่แอปเปิลกำลังโตอย่างก้าวกระโดดนั้น จอบส์มองเห็นว่าต้องหาฝ่ายการตลาดที่มีความสามารถสูงมานำและจัดการ เป้าหมายของจอบส์คือจอห์น สกัลลีย์ผู้นำของบริษัทเป็ปซี สกัลลีย์เป็นคนเก่งที่มาสายตรง คือเรียนจบมาทางบริหารธุรกิจจากสถาบันที่มีชื่อเสียงและมีผลงานดีเด่น สกัลลีย์ไม่จำเป็นต้องมาแอปเปิลก็มีทุกอย่างพร้อมอยู่แล้ว เป็ปซีเป็นบริษัทใหญ่ระดับโลก กำไรสูงและค่าตอบแทนสำหรับสกัลลีย์นั้นเป็นจำนวนหลายสิบล้านต่อปี แต่ท้ายที่สุดสกัลลีย์ทนคำท้าทายของจอบส์ไม่ได้...คุณจะขายน้ำหวานจนกระทั่งวะระสุดท้ายของชีวิต หรือคุณจะมาร่วมงานกับแอปเปิลและมีส่วนร่วมในการสร้างประวัติศาสตร์แห่งมนุษยชาติ...

จอบส์เป็นคนที่มีความเชื่อมั่นในตัวเองสูงมาก เขามีความเชื่อของเขาที่ไม่มีใครอาจจะเปลี่ยนแปลงเขาได้ เขาเชื่อว่าสิ่งที่เขาจะนำเสนอให้ตลาดต้องเป็นสิ่งที่ดีที่สุด และผู้ใช้สินค้านั้นไม่รู้ว่าเขาต้องการอะไรจนกระทั่งเขาเห็นสินค้านั้นๆ ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของผู้ผลิตที่ต้องนำเสนอสิ่งที่ดีและมีคุณค่าที่สุด เขาจะปฏิเสธดีไซน์ครั้งแล้วครั้งเล่าที่ถูกนำเสนอ ถ้าหากว่ามีอะไรแม้กระทั่งเล็กน้อยที่ไม่สบอารมณ์ของเขา ดังนั้นจึงมีอยู่เป็นประจำที่เขาขัดกับผู้นำรายใหม่ที่เขาจ้างเข้ามาคือสกัลลีย์ สกัลลีย์เป็นคนที่แคร์กับรายได้เฉพาะหน้าเหนือสิ่งอื่นใด แต่จอบส์จะไม่ยอมนำสินค้าใหม่ออกมาหากเขาเห็นว่ามันยังไม่ดีพอ เนื่องจากแอปเปิลเป็นบริษัทมหาชน คณะกรรมการบริหารภายใต้การนำของสกัลลีย์จึงเขี่ยให้จอบส์พ้นตำแหน่งสำคัญ จอบส์ผิดหวังมาก และลาออกจากแอปเปิลในที่สุด เขาขายหุ้นของเขาจนหมดด้วยความแค้น แล้วไปตั้งบริษัทคอมพิวเตอร์ใหม่ชื่อเน็กซ์ ซึ่งประสบกับภาวะขาดทุนมาตลอด จนกระทั่งเขาไปมีส่วนร่วมในบริษัทพิกซ่าร์ จึงค่อยประสบความสำเร็จอีกครั้งหนึ่ง

แอปเปิลภายใต้การนำของสกัลลีย์ก็ต้องประสบกับภาวะขาดทุนอย่างหนักหลังจากจอบส์จากมาไม่นาน และผลสุดท้ายสกัลลีย์ก็พ้นจากการเป็นผู้นำที่แอปเปิล ในขณะที่แอปเปิลกำลังจะล้มละลาย ผู้บริหารในขณะนั้นตัดสินใจซื้อบริษัทเน็กซ์เพื่อที่จะเอาจอบส์กลับมา ภายใต้การนำของจอบส์ในช่วงหลังของทศวรรษ๒๐๐๐ แอปเปิลนำเสนอสินค้าใหม่ที่กลายเป็นสินค้ายอดนิยมในปัจจุบัน ตั้งแต่คอมพิวเตอร์ ไอพ็อด ไอโฟน และไอแพ็ด แอปเปิลได้ฟื้นกลับกลายเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่อีกครั้งหนึ่งได้อย่างน่าอัศจรรย์

เคล็ดลับสำคัญอย่างหนึ่งในการประสบความสำเร็จของจอบส์ก็คือ เขาไม่ใช่คนมักมากในทรัพย์สินสมบัติ เขาทำในสิ่งที่เขารักที่จะทำและมีความเชื่อมั่นอย่างเต็มเปี่ยม ความร่ำรวยไม่ใช่จุดประสงค์ของเขาและเขาถือว่ามันเป็นเพียงผลพลอยได้ อุปนิสัยที่โผงผางไม่เกรงใจใครของเขาสร้างความกระอักกระอ่วนไม่พอใจให้คนรอบข้างมากมาย แต่ก็มีคนรอบข้างอีกมากมายเช่นเดียวกันที่มองเห็นว่าหากไม่ใช่ความเป็นตัวของตัวเองและการมองโลกไม่เหมือนคนอื่นของเขา ก็ไม่มีหลายสิ่งหลายอย่างที่เป็นสินค้ายอดนิยมซึ่งใครๆพากันเลียนแบบ ให้ชาวโลกได้เห็นอย่างที่เห็น